สะพานนวรัฐ เป็นสะพานข้ามแม่น้ำปิงแห่งแรกที่ทำด้วยไม้สัก ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2433 ปัจจุบันได้รับการสร้างใหม่ให้เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก เมื่อปี พ.ศ. 2510 ตั้งอยู่บริเวณใกล้กับโรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียน และจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
สะพานนวรัฐ เป็นสะพานไม้ข้ามแม่น้ำปิงสะพานที่ 2 โดยสะพานแรก คือ สะพานไม้ที่ข้ามระหว่างตลาดต้นลำไยกับวัดเกตการาม หรือ "สะพานจันทร์สม" เมื่อปี พ.ศ. 2440 เมื่อนายปิแอร์ โอร์ต นักกฎหมายชาวเบลเยียมเดินทางมาเมืองเชียงใหม่และบันทึกเกี่ยวกับสะพานข้ามแม่น้ำปิงว่า "…เชียงใหม่ไม่ใช่เมืองเก่าแก่มากนัก (เมื่อเทียบกับเมืองในยุโรป) แบ่งออกเป็น 2 เขต แต่ละเขตมีกำแพงสูงราว 3-4 เมตร และมีป้อมสูงที่แต่ละมุมกำแพง ตัวเมืองตั้งอยู่บนฝั่งขวาของแม่น้ำ ส่วนบนฝั่งซ้ายก็มีอาคารสำคัญๆ ตั้งอยู่ มีสะพานไม่สวยงามทอดเชื่อมระหว่างสองฝั่งแม่น้ำ สะพานนี้มีเสา 14 ต้น ระหว่างที่ข้าพเจ้าพำนักอยู่ในเชียงใหม่สะพานนี้โยกคลอนเนื่องจากถูกท่อนไม้ซุงที่มากับกระแสน้ำดัน"
สะพานนี้เป็นสะพานข้ามแม่น้ำปิงที่เชียงใหม่แห่งแรกทำด้วยไม้สัก สร้างโดยนายชี้กหรือหมอชี้ก ราวปี พ.ศ. 2433 ใช้การต่อมาหลายสิบปีจนพังลง โดยชื่อ "นวรัฐ" ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์สุดท้าย
สมัยที่พระยาอนุบาลพายัพกิจได้รับแต่งตั้งไปรับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ระหว่างทางต้องมาพักเตรียมตัวเดินทางในเมืองเชียงใหม่ได้บันทึกเกี่ยวกับสะพานนวรัฐ สะพานแห่งที่สองไว้ว่า "สะพานนวรัฐที่สร้างด้วยไม้นี้ ต่อมาได้เกิดเพลิงไหม้สะพาน ทางราชการจึงสร้างสะพานเหล็กลำลองพอให้รถวิ่งข้าไปมาได้ เมื่อรถไฟมาถึงเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2464 จึงมีการรื้อสะพานไม้เดิมแล้วสร้างสะพานเหล็กขึ้นแทน"
สะพานเหล็ก ถูกสร้างขึ้นทดแทนสะพานไม้สัก และเริ่มใช้งานในปี พ.ศ. 2466 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2510 จึงรื้อสะพานเหล็กแล้วก่อสร้างเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กขึ้นแทน โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2510 พร้อมกันกับสะพานเม็งรายอนุสรณ์