วันสะบาโต (อังกฤษ: Sabbath Day; ฮีบรู: ????? ?????) เป็นวันสำคัญทางศาสนายูดาห์และศาสนาคริสต์ สะบาโต มาจากภาษาฮีบรู "ซับบาธ" แปลว่า "พัก" พระเจ้าทรงสร้างโลก 6 วัน และทรงพักในวันที่ 7 เพื่อให้มนุษย์ได้ปฏิบัติเป็นแบบอย่าง ถือเป็นวันบริสุทธิ์ห้ามทำกิจกรรมใด ๆ ได้ถือว่าวันนี้เป็นวันพักผ่อน เป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ ให้ทำกิจกรรมที่ถวายแด่พระเจ้า เช่น การอธิษฐาน การอ่านพระคัมภีร์ และการขอบคุณพระเจ้า
วันสะบาโต ในศาสนายูดาห์ คือ เวลาดวงอาทิตย์ตก(18.00 น.)ของวันศุกร์ ถึง เวลาดวงอาทิตย์ตก(17.59 น.)ของวันเสาร์ ตามระบบปฏิทินสุริยคติ หรือ วันเสาร์ ตามระบบปฏิทินฮีบรู
วันสะบาโต ในศาสนาคริสต์ นิกายโปรเตสเตนต์ (เซเวนต์เดย์แอดเวนทิสต์) ตามระบบปฏิทินสุริยคติ คือ วันเสาร์
วันสะบาโต ในศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก และ นิกายโปรเตสแตนต์ (ส่วนใหญ่) ตามระบบปฏิทินสุริยคติ คือ วันอาทิตย์
ในพระคริสตธรรมคัมภีร์มีข้อพระธรรมหลายข้อที่กล่าวถึงคำบัญชาของพระเจ้าให้ถือรักษาวันสะบาโต และมีคำตำหนิอย่างรุนแรงสำหรับคนที่ไม่ถือรักษาวันสะบาโต และคำสั่งเรื่องการถือรักษาวันสะบาโตก็เป็นพระบัญญัติข้อที่ 4 จากบัญญัติ 10 ประการ ที่พระเจ้าทรงประทานผ่านทางโมเสส ซึ่งข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ได้สร้างความรู้สึกไม่สบายใจต่อ คริสเตียนจำนวนมาก เนื่องจากเกรงว่าตนเองกำลังละเมิดพระบัญชาเรื่องวันสะบาโต อีกทั้งคริสตจักรคณะต่าง ๆ ก็มีความเห็นแตกต่างกัน เกี่ยวกับเรื่องวันสะบาโต เราจะมีคำถามหลักอยู่ 2 ประเด็น คือ
วันสะบาโตเป็นวันเสาร์หรือเป็นวันอาทิต์เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันของคริสเตียนสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งถือว่าวันสะบาโตเป็นวันเสาร์ กลุ่มนี้เรียกว่าคริสตจักรเซเวนต์เดย์แอดเวนทิสต์ กลุ่มนี้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการถือรักษาวันสะบาโตในวันเสาร์ จะยึดถือปฏิบัติตามกฎระเบียบเรื่องวันสะบาโตตามที่บันทึกในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม นอกจากกฎเรื่องวันสะบาโตแล้วกลุ่มคริสตจักรเซเวนต์เดย์แอดเวนทิสต์ก็ยังรักษากฎอื่น ๆ ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมด้วย เช่นกฎเกี่ยวกับอาหาร คริสตจักรเซเวนต์เดย์แอดเวนทิสต์เป็นกลุ่มคริสเตียนที่มีวิถีปฏิบัติที่ใกล้เคียงกับศาสนายูดาห์มากที่สุด แต่ก็มีกฎบางประการที่คริสตจักรเซเวนต์เดย์แอดเวนทิสต์ไม่ได้ยึดถือปฏิบัติ คือ พิธีปัสคาและพิธีสุหนัต ซึ่งพิธีทั้งสองก็เป็นเรื่องสำคัญในระดับเดียวกันกับวันสะบาโต และพระเจ้าก็ทรงบัญชาอย่างหนักแน่นชัดเจนให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกับวันสะบาโต คำถามที่ตามมาก็คือกลุ่มคริสตจักรเซเวนต์เดย์แอดเวนทิสต์ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการที่จะเลือกปฏิบัติและไม่ปฏิบัติตามพระบัญญัติบางประการ
คริสเตียนอีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าวันสะบาโตคือวันอาทิตย์ กลุ่มคริสเตียนที่ถือว่าวันสะบาโตเป็นวันอาทิตย์ คือ นิกายโรมันคาทอลิก และนิกายโปรเตสแตนต์ส่วนใหญ่ กลุ่มนี้เชื่อว่าเดิมทีวันสะบาโตเป็นวันเสาร์แต่ต่อมาได้ถูกเปลี่ยนมาเป็นวันอาทิตย์ โดยได้ให้เหตุผลในการเปลี่ยนแปลงไว้สองประการคือ หนึ่งเมื่อจักรพรรดิคอนสแตนตินได้เปลี่ยนจักรวรรดิโรมันมาเป็นคริสเตียนในช่วงศตวรรษที่ 4 ก็ได้ร่วมกับคริสตจักรประกาศให้เปลี่ยนแปลงวันสะบาโตจากวันเสาร์มาเป็นวันอาทิตย์ คำถามที่ตามมาก็คือ มนุษย์เราเอาอำนาจอะไรมาเปลี่ยนแปลงพระบัญญัติของพระเจ้า เหตุผลประการที่สองคือคริสตจักรในยุคอัครทูตก็ได้นมัสการในวันอาทิตย์ โดยให้เหตุผลว่าสาเหตุที่คริสตจักรนมัสการวันอาทิตย์ก็เพื่อเป็นการรำลึกถึงการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูในวันอาทิตย์ เป็นความจริงที่มีการนมัสการพระเจ้าในวันอาทิตย์ของคริสตจักรในสมัยแรก แต่นี้ก็ไม่ได้มีเหตุผลเพียงพอที่จะอ้างว่าวันสะบาโตได้เปลี่ยนจากวันเสาร์มาเป็นวันอาทิตย์ เพราะเราพบจากพระคัมภีร์ว่าทุกวันเสาร์อัครทูตก็ยังไปที่ธรรมศาลา อีกทั้งคริสตจักรยุคอัครทูตในเวลาเริ่มต้นมีการนมัสการทุกวัน
วันสะบาโตเป็นวันที่สถาปนาโดยพระเป็นเจ้าและพระองค์ตรัสว่าเป็นพันธสัญญาตลอดชั่วชาติพันธุ์ ดังนั้นวันสะบาโตจึงตรงกับวันเสาร์ไม่เคยเปลี่ยนแปลง (เริ่มจากดวงอาทิตย์ตก(18.00 น.)ของวันศุกร์ ถึง เวลาดวงอาทิตย์ตก(17.59 น.)ของวันเสาร์ ตามการนับวันเวลาของพระคัมภีร์) วันสะบาโตตั้งขึ้นโดยอำนาจของพระเจ้า ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องเปลี่ยนโดยอำนาจของพระเจ้าไม่ใช่อำนาจของคริสตจักรหรือรัฐ และเราไม่เคยพบข้อความใดในพระคัมภีร์ที่แสดงให้เห็นว่าพระเจ้าทรงเปลี่ยนวันสะบาโตจากวันเสาร์มาเป็นวันอาทิตย์
ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นคริสเตียนส่วนใหญ่เชื่อว่าตนยังต้องถือรักษาวันสะบาโตอยู่ เพียงแต่บางส่วนยึดถือว่าวันสะบาโตเป็นวันเสาร์และบางส่วนถือว่าวันสะบาโตได้เปลี่ยนจากวันเสาร์มาเป็นวันอาทิตย์ แต่จากนี้ไปจะเป็นเหตุผลและหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าคริสเตียนไม่ได้อยู่ภายใต้พันธสัญญาเรื่องวันสะบาโต คริสเตียนจึงไม่ได้มีหน้าที่ในการถือรักษาวันสะบาโต
คำสั่งเรื่องวันสะบาโตเป็นคำสั่งเฉพาะสำหรับวงศ์วานอิสราเอลเท่านั้น หากเราพิจารณาดูทุกครั้งที่มีการกล่าวถึงคำสั่งของพระเจ้าเรื่องการถือรักษาวันสะบาโตจะเป็นการกล่าวกับวงศ์วานอิสราเอล และจะเป็นการกล่าวภายใต้พันธสัญญาระหว่างพระเจ้ากับวงศ์วานอิสราเอล โดยตั้งอยู่บนเหตุการณ์ที่พระเจ้าทรงช่วยกู้ชนชาติอิสราเอลออกจากการเป็นทาสในอียิปต์ วันสะบาโตเป็นเครื่องหมายแห่งพันธสัญญาระหว่างอิสราเอลกับพระเจ้า และชนชาติอิสราเอลได้รับพระบัญชาถือรักษาวันสะบาโตไว้ตราบเท่าที่ยังมีคนอิสราเอลอยู่ ดังนั้นคริสเตียนจึงไม่ต้องถือรักษาวันสะบาโตเพราะเราไม่ใช่ชนชาติอิสราเอลที่ต้องอยู่ภายใต้พันธสัญญาระหว่างชนชาติอิสราเอลกับพระเจ้า คริสเตียนไม่ได้อยู่ภายใต้พันธสัญญาที่ตั้งอยู่บนการช่วยกู้จากอียิปต์เหมือนชนชาติอิสราเอล แต่อยู่ภายใต้พันธสัญญาใหม่ที่ตั้งอยู่บนการช่วยกู้ให้พ้นจากบาปโดยพระคริสต์ และเรามีเครื่องหมายแห่งพันธสัญญาระหว่างเรากับพระเจ้าคือพิธีบัพติศมาและพิธีมหาสนิทศักดิ์สิทธิ์ สรุปให้เข้าใจโดยง่ายก็คือคริสเตียนและคนยิวถือหนังสือสัญญาคนละฉบับ เนื้อหาของหนังสือสัญญาแต่ละฉบับย่อมมีความแตกต่างกัน การนำเนื้อหาและเงื่อนไขทั้งสองฉบับมาปะปนกันย่อมก่อให้เกิดปัญหาทั้งในด้านการทำความเข้าใจและในการปฏิบัติ ซึ่งสภาพการณ์เช่นนี้ก็เป็นดังที่พระเยซูตรัสเปรียบเทียบว่าเหมือนการนำเหล้าองุ่นหมักใหม่มาใส่ในถุงหนังใบเก่า ซึ่งผลที่ตามมาคือความเสียหายเพราะถุงหนังเก่าจะไม่สามารถทนแรงดันของเหล้าองุ่นหมักใหม่
สภาของอัครทูตและผู้ปกครองในกรุงเยรูซาเลมตามที่บันทึกในหนังสือกิจการของอัครทูต บทที่ 15 มีมติให้คริสเตียนที่เป็นชาวต่างชาติไม่ต้องเข้าพิธีสุหนัตหรือถือตามกฎข้อปฏิบัติของคนอิสราเอล ปัญหาใหญ่ของคริสตจักรยุคแรกเกิดจากความเข้าใจเรื่องข้อปฏิบัติต่าง ๆ ในศาสนายูดาห์ พระเยซูคริสต์ทรงเกิดเป็นชาวยิว อัครทูตและสาวกกลุ่มแรกก็เป็นชาวยิว ความเข้าใจเรื่องพระเจ้าของคริสเตียนก็มีพื้นฐานมาจากพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิม หรือคัมภีร์โทราห์ของชาวยิว ดังนั้นจึงมีคริสเตียนกลุ่มใหญ่ที่เชื่อว่าเมื่อคนต่างชาติจะมาเป็นคริสเตียนนั้นจะต้องเข้าพิธีสุหนัตก่อน เพราะพิธีสุหนัตเป็นเหมือนประตูเข้าสู่ศาสนายูดาห์ เหมือนพิธีบัพติศมาเป็นประตูเข้าสู่ศาสนาคริสต์ และเมื่อรับพิธีสุหนัตแล้วก็ต้องถือรักษาระเบียบพิธีต่าง ๆ แบบชาวยิว แต่ท่านเปาโลและพวกได้ต่อสู้กับความเชื่อดังกล่าวอย่างเต็มที่ ความขัดแย้งนี้จึงถูกนำเข้าสู่ที่ประชุมของสภาอัครทูตและผู้ปกครองในหนังสือกิจการของอัครทูต บทที่ 15 ซึ่งที่ประชุมมีมติให้คริสเตียนต่างชาติไม่ต้องเข้าพิธีสุหนัต และเมื่อไม่ต้องเข้าพิธีสุหนัตก็หมายความว่าไม่ต้องเข้าสู่พันธสัญญาระหว่างชนชาติอิสราเอลกับพระเจ้า ดังนั้นกฎอื่น ๆ ในศาสนายูดาห์จึงไม่เป็นกฎที่คริสเตียนถูกผูกมัดให้ถือปฏิบัติ เมื่อเราอ่านถึงสิ่งที่คริสเตียนในหนังสือกิจการของอัครทูตกระทำ เราต้องเข้าใจว่ามีวิถีการปฏิบัติที่แตกต่างกันระหว่างคริสเตียนยิวกับคริสเตียนที่เป็นคนต่างชาติ คริสเตียนต่างชาติที่ไม่ใช่ยิวจะถือรักษาเฉพาะพิธีบัพติศมาและพิธีมหาสนิท แต่คริสเตียนยิวในฐานะที่เป็นคริสเตียนเขาจะถือรักษาพิธีบัพติศมาและพิธีมหาสนิท และในฐานะที่เขาเป็นยิวเขาจะถือพิธีสุหนัต พีธีปัสคาและถือรักษาวันสะบาโตด้วย ในหนังสือกิจการของอัครทูต บทที่ 21 ข้อ 17-26 ท่านเปาโลถูกกล่าวหาว่าสั่งสอนคนยิวในต่างแดนให้ละทิ้งวิถีปฏิบัติของยิว แต่เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง ท่านจึงต้องทำการบนตัวตามหลักของพระบัญญัติที่พระวิหารเพื่อแสดงว่าท่านเองก็ยังปฏิบัติตามวิถีของคนยิวอย่างเคร่งครัด เพราะท่านก็เป็นยิวด้วย
มีหลักฐานจากข้อพระคัมภีร์ที่ต่อต้านคำสอนเรื่องให้คริสเตียนต่างชาติถือรักษาวันสะบาโต ในจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโคโลสี บทที่ 2 ข้อ 16 กล่าวว่า ”เพราะ?ฉะนั้น?อย่า?ให้?ใคร?พิพาก?ษา?ท่าน?ทั้ง?หลาย?ใน?เรื่อง?การ?กิน การ?ดื่ม ใน?เรื่อง?เทศ?กาล หรือ?วัน?ต้น?เดือน หรือ?วัน?สะ?บา?โต” (จดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโคโลสีเป็นจดหมายที่เขียนถึงคริสเตียนในเมืองโคโลสีซึ่งไม่ได้เป็นคนยิว) และเราก็ไม่เคยพบว่าพระคริสต์หรืออัครทูตได้มีคำสั่งให้คริสเตียนถือรักษาวันสะบาโตสักครั้งเดียว ถ้าหากว่าคำสอนเรื่องการถือรักษาวันสะบาโตเป็นเรื่องสำคัญพระคริสต์และอัครทูตก็ย่อมต้องกล่าวถึงเรื่องนี้หลายครั้ง การที่พระคริสต์และอัครทูตไม่เคยสั่งการให้ถือรักษาวันสะบาโตก็ย่อมแสดงว่าเรื่องวันสะบาโตไม่ใช่หน้าที่ของคริสเตียนที่จะต้องถือปฏิบัติ
ในสมัยพระเยซูคริสต์ชาวยิวกับชาวสะมาเรียถกเถียงกันเรื่องสถานที่ที่ถูกต้องในการนมัสการพระเจ้า ชาวสะมาเรียเชื่อว่าภูเขาเกริชิมคือสถานที่ซึ่งพระเจ้าทรงกำหนดไว้เพื่อเป็นสถานนมัสการ ส่วนชาวยิวเชื่อว่าพระเจ้าทรงกำหนดกรุงเยรูซาเลมให้เป็นที่ตั้งของพระวิหารเพื่อการนมัสการ แต่พระคริสต์ตรัสสอนในพระวรสารนักบุญยอห์น บทที่ 4 ว่าสาระสำคัญของการนมัสการไม่ไช่เรื่องสถานที่แต่เป็นท่าทีของเราในการนมัสการ พระเยซูสอนว่าการนมัสการที่แท้จริงเป็นการนมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง ในปัจจุบันเราก็ถกเถียงกันเรื่องว่าวันใดคือวันที่พระเจ้าทรงตั้งไว้เพื่อการนมัสการพระองค์ บางคนก็ว่าวันเสาร์ บางคนก็ว่าวันอาทิตย์ แต่พระคริสต์ก็ตรัสเหมือนเดิมว่าสาระสำคัญของการนมัสการไม่ได้อยู่ที่วันเสาร์หรือวันอาทิตย์ สาระสำคัญคือการนมัสการด้วยจิตวิญญาณและความจริง