จักรพรรดินีโคจุง (ญี่ปุ่น: ???? k?jun k?g? ?; 6 มีนาคม พ.ศ. 2446 – 16 มิถุนายน พ.ศ. 2543) พระนามเดิม เจ้าหญิงนะงะโกะแห่งคุนิ (ญี่ปุ่น: ???? Nagako Jo? ?) เป็นพระจักรพรรดินีอัครมเหสีในจักรพรรดิโชวะ และเป็นพระราชมารดาในสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ถือเป็นจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่นที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น รวม 63 ปีเต็ม
พระองค์เป็นจักรพรรดินีพระองค์แรกของญี่ปุ่นที่ไม่ได้มาจากตระกูลฟุจิวะระ โดยทั้งจักรพรรดินีโชเก็งและจักรพรรดินีเทเมล้วนมาจากตระกูลฟุจิวะระทั้งสิ้น เมื่อจักรพรรดินีนะงะโกะเสด็จสวรรคต พระนางจึงได้รับการสถาปนาเป็น จักรพรรดินีโคจุง ซึ่งมีความหมายว่า ความบริสุทธิ์หอมหวาน
เจ้าหญิงนะงะโกะ ประสูติ ณ กรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ปีเมจิที่ 36 (ค.ศ.1903,พ.ศ. 2446) เป็นพระธิดาคนที่ 3 จาก 6 พระองค์ ในเจ้าชายคุนิโยะชิ เจ้าคุนิ กับ ท่านหญิงชิกะโกะ ชิมะสึ พระองค์มีพระเชษฐา 2 พระองค์ พระขนิษฐา 2 พระองค์ และพระอนุชา 1 พระองค์ โดยในช่วงที่พระนางประสูติ เป็นช่วงที่วัฒนธรรมจากตะวันตกไหลบ่าเข้ามาในญี่ปุ่น เจ้าคุนิ พระบิดา ยังทรงเลี้ยงดูเจ้าหญิงนะงะโกะตามจารีตดั้งเดิมมาโดยตลอด โดยพระบิดาของเจ้าหญิงนะงะโกะ สืบเชื้อสายมาจากราชสกุลฟุชิมิ ซึ่งไม่ได้มาจากตระกูลฟุจิวะระ (มีตระกูลย่อย ได้แก่ ตระกูลโคโนะเอะ, อิชิโจ, นิโจ, คะซะสึคะซะ และคุโจ) ส่วนพระมารดาสืบเชื้อสายมาจากไดเมียว ทำให้เจ้าหญิงนะงะโกะ เป็นพระจักรพรรดินีพระองค์แรก ที่ไม่ได้มาจากตระกูลฟุจิวะระ
หลังจากที่เจ้าหญิงนะงะโกะสำเร็จในระดับประถมศึกษา เจ้าหญิงทรงเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนกะคุชูอิน (???) ซึ่งเป็นโรงเรียนของสตรีชั้นสูงของญี่ปุ่นในระดับนั้น มีสูงสุดถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยเจ้าหญิงนะงะโกะได้เข้ารับการศึกษาร่วมกับเจ้าหญิงมะซะโกะ นะชิโมะโตะ ซึ่งเป็นพระญาติ (ต่อมาเจ้าหญิงมะซะโกะ นะชิโมะโตะ ได้รับการสถาปนาเป็น เจ้าหญิงบังจา มกุฎราชกุมารีแห่งเกาหลี)
ระหว่างที่เจ้าหญิงนะงะโกะทรงศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มกุฎราชมารฮิโระฮิโตะ ได้เสด็จประทับรถม้ามายังโรงเรียนกะคุชูอิน เพื่อหาสตรีชั้นสูงที่มาจากราชสกุลเป็นพระคู่หมั้น ซึ่งในเวลานั้นเจ้าหญิงนะงะโกะ ถือเป็นสตรีที่ถือว่ามีพระสิริโฉมพระองค์หนึ่ง แม้พระองค์จะสวมฉลองพระองค์เป็นกิโนโม และกระโปรงฮากามะ ซึ่งเป็นกระโปรงจับจีบแบบญี่ปุ่น รวบพระเกศาด้วยริบบิ้นสีขาว และถุงพระบาทสีดำ เมื่อมกุฎราชกุมารฮิโระฮิโตะทอดพระเนตรเห็น และให้ความสนพระทัยเจ้าหญิงนะงะโกะ พระองค์ก็ตัดสินพระทัยที่จะเลือกมาเป็นพระคู่หมั้น ซึ่งก่อนหน้านี้มกุฎราชกุมารฮิโระฮิโตะเคยรู้จักคุ้นเคยกับเจ้าหญิงนะงะโกะมาก่อนในสมัยอนุบาล ในสมัยประถมทั้งสองพระองค์ก็เคยเสวยพระกระยาหารกลางวันด้วยกัน แม้ในสมัยมัธยมโรงเรียนกะคุชูอินจะแยกเป็นฝ่ายชาย และฝ่ายหญิงก็ตาม
พิธีหมั้นได้จัดขึ้นในเดือนมกราคม ค.ศ. 1919 เมื่อเจ้าหญิงนะงะโกะมีพระชนมายุ 14 พรรษา และศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หลังจากนั้นเจ้าหญิงนะงะโกะต้องพักการเรียน เพื่อเข้ารับการศึกษา และรับการอบรมในการเตรียมสำหรับการอบรมที่มี ได้แก่ เรื่องกิริยามารยาท การวางพระองค์ในตำแหน่งสมเด็จพระจักรพรรดินี รวมไปถึงการจัดการดูแลภายในพระราชวัง และเรียนรู้ศิลปะต่างๆ เช่น การเล่นโกโตะ ทรงเปียโน การเต้นรำ เล่นเทนนิส และการใช้ดาบญี่ปุ่น หรือนางินาตะ สำหรับด้านวิชาการก็มีในด้านภาษา เช่น ภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส คณิตศาสตร์ และวิชาการทหาร
ในระหว่างการอบรม ได้มีการตรวจพบว่า พระเชษฐาของพระองค์เป็นตาบอดสี ทำให้เกิดเสียงคัดค้านในหมู่พระราชวงศ์ และชนชั้นสูง ถึงกับมีการกราบทูลให้สมเด็จพระจักรพรรดิไทโช พระราชบิดาในมกุฎราชกุมารให้เปลี่ยนตัวพระคู่หมั้นเสียใหม่ ทำให้เจ้าหญิงนะงะโกะต้องได้รับการอบรมยาวนานเพิ่มอีกถึง 4 ปี ขณะที่พระองค์อื่นๆ อบรมเพียง 2 ปีเท่านั้น แต่สมเด็จพระจักรพรรดิไทโชหาได้ทรงเชื่อในคำกราบทูลเหล่านั้น รวมไปถึงสมเด็จพระจักรพรรดินีเทเม พระราชมารดาในมกุฎราชกุมาร ซึ่งมีความโปรดปรานในตัวของเจ้าหญิงนะงะโกะมาก ก็แสดงพระองค์ปกป้องพระคู่หมั้นของพระโอรสอย่างแข็งขัน จนเสียงคัดค้านจึงหมดสิ้นไป แต่อย่างไรก็ตามเจ้าหญิงนะงะโกะต้องใช้เวลาถึง 6 ปี สำหรับการเตรียมตัวเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินี
ในที่สุด สำนักพระราชวังก็ประกาศกฎหมายเรื่องการอภิเษกสมรสระหว่างมกุฎราชกุมารฮิโระฮิโตะ กับเจ้าหญิงนะงะโกะ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ. 1923 นับจากวันที่มีประกาศจากสำนักพระราชวังซึ่งมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1921 และผ่านมาด้วยความเรียบร้อยมากว่าสองปี โดยเหลือเวลาเพียงสองเดือนก็จะถึงวันอภิเษกสมรส ขณะนั้นได้เกิดแผ่นดินไหวในแถบคันโต สร้างความเสียหายแก่ประชาชนชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ทำให้ประชาชนไร้ที่อยู่อาศัยหลายล้านคน เพื่อเป็นการไว้อาลัยในเหตุการณ์ครั้งนี้ สำนักพระราชวังจึงได้เลื่อนกำหนดการอภิเษกสมรส เป็นวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1924 หรืออีกประมาณหนึ่งเดือนเศษ ซึงการอภิเษกสมรสเป็นไปได้อย่างราบรื่น และมกุฎราชกุมารฮิโระฮิโตะได้ประกาศยกเลิกระบบนางห้ามที่อนุญาตให้ชนชั้นสูงมีพระสนมได้หลายคน โดยมกุฎราชกุมารได้ปลดปล่อยพระสนม 39 พระองค์ โดยที่จะมีพระมเหสีเพียงพระองค์เดียว และเจ้าหญิงนะงะโกะ ได้รับการสถาปนาเป็น มกุฎราชกุมารีนะงะโกะ
สมเด็จพระจักรพรรดินีนะงะโกะ ได้ทรงให้การประสูติกาลเจ้าหญิงหลายพระองค์ตลอดเวลากว่าสิบปี ในการครองคู่กับสมเด็จพระจักรพรรดิโชวะ ทำให้เกิดเสียงซุบซิบนินทาเกี่ยวกับการสืบทอดราชบัลลังก์ จนในปี พ.ศ. 2476 สมเด็จพระจักรพรรดินีนะงะโกะได้ให้พระประสูติกาลพระโอรสพระองค์แรกคือมกุฎราชกุมารอะกิฮิโตะ
สมเด็จพระจักรพรรดินีเป็นพระจักรพรรดินีแห่งประเทศญี่ปุ่นพระองค์แรกที่เสด็จเยือนต่างประเทศ โดยได้เสด็จเยือนทวีปยุโรปเมื่อปี พ.ศ. 2514 เสด็จเยือนสหรัฐอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2518
หลังจากสมเด็จพระจักรพรรดิโชวะเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2532 พระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระจักรพรรดินีพันปีหลวง ในงานพระราชพิธีพระบรมศพของพระราชสวามี สมเด็จพระจักรพรรดินีก็มิได้เสด็จไป เนื่องด้วยพระสุขภาพที่ไม่เอื้ออำนวย และหลังจากการปรากฏพระองค์ครั้งสุดของสมเด็จพระจักรพรรดินีเมื่อปี พ.ศ. 2531 พระองค์ก็มิได้เสด็จปรากฏพระองค์ที่ไหนอีกเลย ขณะที่พระองค์ก็ดำรงพระยศพระพันปีหลวงได้ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ ทำลายสถิติของสมเด็จพระจักรรดินีคันชิซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อ 873 ปีที่แล้ว
สมเด็จพระจักรพรรดินีนะงะโกะ พระพันปีหลวง เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2543 สิริพระชนมายุได้ 97 พรรษา หลังจากพระราชพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะได้ทรงอัญเชิญพระศพไปที่ สวนฮะจิโอจิ กรุงโตเกียวเคียงข้างพระราชสวามีของพระองค์
หลังจากการสวรรคตของสมเด็จพระพันปีหลวง สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะได้สถาปนาพระนามสมเด็จพระจักรพรรดินีนะงะโกะ พระพันปีหลวง ขึ้นเป็น สมเด็จพระจักรพรรดินีโคจุง โดยพระศพถูกเก็บไว้ที่สุสานหลวงมุซะชิโนะ โนะ ฮิงะชิ โนะ มิซะซะงิ ใกล้สุสานหลวงมุซาชิโนะของพระราชสวามี
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/สมเด็จพระจักรพรรดินีโคจุน