สมุทรสงคราม เป็นจังหวัดในภาคกลาง (หน่วยงานบางแห่งถือเป็นส่วนหนึ่งของภาคตะวันตก) มีขนาดพื้นที่เล็กที่สุดของประเทศ คือประมาณ 416.7 ตารางกิโลเมตร ทั้งยังมีจำนวนประชากรน้อยที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศด้วย นับเป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและมีชายฝั่งทะเลติดอ่าวไทยยาวประมาณ 23 กิโลเมตรซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มากเพราะเป็นดินดอนปากแม่น้ำ มีภูเขา 1 ลูก (เขายี่สาร) ไม่มีเกาะ มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มโดยพื้นที่ฝั่งตะวันตกจะสูงกว่าฝั่งตะวันออกเล็กน้อย
ปลายปี พ.ศ. 2550 ผลการสำรวจดัชนีความมั่นคงของมนุษย์พบว่า สมุทรสงครามเป็นจังหวัดที่มีความมั่นคงของมนุษย์สูงที่สุดในประเทศไทย
จังหวัดสมุทรสงครามหรือเมืองแม่กลอง ในอดีตคือแขวงบางช้างของเมืองราชบุรี ชื่อบางช้างอาจตั้งตามพระนามในเจ้าพลาย (ในปี พ.ศ. 2173 เจ้าพลายและเจ้าแสนซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ที่หนึ่งและพระราชโอรสองค์ที่สองตามลำดับในสมเด็จพระเอกาทศรถ (องค์ขาว) ซึ่งเป็นพระอนุชาพระองค์เดียวที่เราทราบในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (องค์ดำ) ซึ่งไม่มีพระราชโอรส ได้หนีราชภัยมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่แขวงบางช้าง) แขวงบางช้างมีศูนย์กลางอยู่ที่ตำบลบางช้าง อำเภออัมพวา จังหวัดราชบุรี (ตามการแบ่งเขตการปกครองในปัจจุบัน) แขวงบางช้างมีอีกชื่อว่าสวนนอก (มีคำกล่าวที่ว่า "สวนในบางกอก สวนนอกบางช้าง") ต่อมาปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาต่อเนื่องกับสมัยกรุงธนบุรี แขวงบางช้างแยกออกจากจังหวัดราชบุรีเรียกว่า "เมืองแม่กลอง" สมุทรสงครามมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในช่วงที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี พม่าส่งกองทัพผ่านเข้ามาถึงบริเวณตำบลบางกุ้ง พระเจ้าตากสินมหาราชทรงรวบรวมผู้คนสร้างค่ายป้องกันทัพพม่าจนข้าศึกพ่ายแพ้ไป ณ บริเวณค่ายบางกุ้ง นับเป็นการป้องกันการรุกรานของพม่าเข้ามายังไทยครั้งสำคัญในช่วงเวลานั้น
ชื่อเมืองแม่กลองเปลี่ยนเป็นสมุทรสงครามในปีใดนั้นไม่ปรากฏแน่ชัด แต่สันนิษฐานไว้ว่าเปลี่ยนราวปี พ.ศ. 2295 ถึงปี พ.ศ. 2299 เพราะจากหลักฐานในหนังสือกฎหมายตราสามดวงว่าด้วยพระราชกำหนดเรื่องการเรียกสินไหมพินัยความ ได้ปรากฏชื่อเมืองแม่กลอง เมืองสาครบุรี และเมืองสมุทรปราการอยู่ และต่อมาพบข้อความในพระราชกำหนดซึ่งตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อปี พ.ศ. 2299 ความระบุว่าโปรดเกล้าฯ ให้พระยารัตนาธิเบศร์ สมุหมณเฑียรบาล เอาตัวขุนวิเศษวานิช (จีนอะปั่นเต็ก) ขุนทิพ และหมื่นรุกอักษร ที่บังอาจกราบบังคมทูลขอตั้งบ่อนเบี้ยในแขวงเมืองจังหวัดสมุทรสงคราม เมืองราชบุรี และเมืองสมุทรปราการทั้ง ๆ ที่มีกฎหมายสั่งห้ามไว้ก่อนแล้ว มาลงโทษ (ปุถุชน บุดดาหวัง, 2543, หน้า 9)
จังหวัดสมุทรสงครามเป็นแผ่นดินที่เกิดขึ้นใหม่จากการทับถมของโคลนตะกอนบริเวณปากแม่น้ำ เกิดเป็นที่ดอนจนกลายมาเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่ ปรากฏชื่อครั้งแรกในนาม “แม่กลอง” นอกจากนั้นตามประวัติของราชินิกุลบางช้าง (ดูเพิ่มเติม ณ บางช้าง) สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีซึ่งเป็นพระราชินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระญาติวงศ์ มีพระนิวาสสถานดั้งเดิมอยู่ที่แขวงบางช้าง สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีทรงสืบเชื้อสายจากกษัตริย์ราชวงศ์สุโขทัยแห่งอาณาจักรอยุธยาและราชวงศ์พระร่วง (ราชวงศ์สุโขทัย) แห่งอาณาจักรสุโขทัยโดยที่เจ้าพลายและเจ้าแสน แห่งราชวงศ์สุโขทัยแห่งอาณาจักรอยุธยา ทรงหนีราชภัยมาตั้งถิ่นฐานที่แขวงบางช้าง จังหวัดสมุทรสงครามจึงเป็นเมืองราชินิกุลบางช้างและราชสกุลแห่งราชวงศ์สุโขทัย มีการสืบทอดนาฏศิลป์ วรรณศิลป์ และการทำอาหาร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารชาววัง) ของสมัยสุโขทัยเป็นต้นมา สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีซึ่งเคยประทับกับสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีที่แขวงบางช้างทรงรับถ่ายถอดการทำอาหารจากที่นี่และทรงเป็นผู้ทำอาหารในกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวานและว่าด้วยงานนักขัตฤกษ์
หลวงพ่อบ้านแหลม วัดเพชรสมุทรวรวิหารหรือวัดบ้านแหลม ในสมัยโบราณมีชื่อเรียกว่า วัดศรีจำปา ตั้งอยู่ในตำบลแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม ซึ่งเหตุที่ว่าชื่อวัดเป็นชื่อสถานที่ในพื้นที่แห่งหนึ่งในเมืองใกล้เคียงนั้น ก็เพราะว่าในสมัย พ.ศ. 2307 พม่าได้มารุกรานประเทศไทย เข้าตีเมืองตะนาวศรี เมืองทวาย เมืองมะริด เมืองเพชรบุรี โดยเข้ามาทางด่านสิงขร ราชสำนักกรุงศรีอยุธยาได้ส่งพระยาพิพัฒน์โกสากับพระยาตากสินเข้ามาตั้งรับข้าศึกที่เมืองเพชรบุรี การสู้รบครั้งนั้นชาวบ้านแหลมในเมืองเพชรบุรี ต้องประสบชะตากรรมสงคราม อพยพไปอยู่ในลุ่มแม่น้ำแม่กลองบริเวณเหนือวัดจำปาซึ่งไม่ไกลจากทะเล อันเป็นพื้นที่สามารถประกอบอาชีพ (ประมง) จึงได้ตั้งรกรากกันในบริเวณนี้ แล้วไปมาหาสู่กันระหว่างแม่กลองกับอำเภอบ้านแหลม
มาวันหนึ่งขณะออกเรือหาปลา ชาวประมงบ้านแหลม ได้พระพุทธรูป 2 องค์ ขณะกำลังจะกลับฝั่ง ปรากฏว่ามีพายุลมแรง ชาวประมงจึงตัดสินใจนำเรือเข้าฝั่งมาทางแม่กลอง แล้วเข้ามาในแม่น้ำแม่กลองเพื่อหลบพายุ แต่เรือก็ยังโคลงเคลงอยู่จนกระทั่งมาถึงวัดศรีจำปา พระพุทธรูปยืนอุ้มบาตรได้ตกลงน้ำ ทำให้ชาวประมงบ้านแหลมกลุ่มนั้นต้องลงไปในแม่น้ำงมหา แต่ก็ไม่พบ จนชาวบ้านแหลมที่มาตั้งรกรากที่แม่กลองได้งมหาเจอ จึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดศรีจำปา ความทราบถึงพี่น้องชาวบ้านแหลมที่อยู่ที่เพชรบุรีเข้า ก็ยกขบวนมาทวงพระคืน พี่น้องบ้านแหลมที่มาตั้งรกรากที่แม่กลองขอพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ที่วัดศรีจำปา โดยยินยอมที่จะเปลี่ยนชื่อวัดจากชื่อวัดศรีจำปาเป็น วัดบ้านแหลม เพื่อเป็นเกียรติไว้แก่ชาวบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรีที่เป็นผู้ได้พระพุทธรูปองค์นี้ ชาวบ้านแหลมเพชรบุรีจึงได้กลับไป พระพุทธรูปยืนอุ้มบาตรขนาดเท่าคนจริง สูงประมาณ 167 เซนติเมตร ส่วนอีกองค์ (หลวงพ่อทอง) ได้ไปประดิษฐาน ณ วัดเขาตะเครา ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
การปกครองแบ่งออกเป็น 3 อำเภอ 36 ตำบล 284 หมู่บ้าน 1 เทศบาลเมือง 6 เทศบาลตำบล 28 องค์การบริหารส่วนตำบล
ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการประมง ส่วนอุตสาหกรรมนั้นส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตน้ำปลา อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ อุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และมีโรงงานทั้งสิ้น 270 โรงงาน ทุนจดทะเบียนรวม 5,068,084,947 บาท จำนวนการจ้างงาน 7,099 คน สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดสมุทรสงครามขยายตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย และการประมงเป็นสาขาการผลิตในภาคเกษตรที่ทำรายได้สูงสุดของจังหวัด รองลงมาก็คือ กสิกรรม และการแปรรูปสินค้าเกษตรอย่างง่าย
ปัจจุบันเป็นสายแม่กลอง - วงเวียนใหญ่ ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับการสัญจร และขนส่งเสบียงอาหารของประชาชน การคมนาคมทางรถไฟ แบ่งเป็น 2 ตอน
จังหวัดสมุทรสงครามมีแม่น้ำไหลผ่านทั้ง 3 อำเภอ เป็นระยะทางประมาณ 30 กม. ออกสู่ปากอ่าวแม่กลอง มีคลองเล็ก ๆ อีกประมาณ 300 คลอง การคมนาคมในจังหวัดจึงใช้เรือเป็นสำคัญ ซึ่งโดยมากได้แก่ เรือยนต์ เรือหางยาว เรือแจว และมีท่าเทียบเรืออีก 7 แห่ง การติดต่อกันระหว่างจังหวัดก็มีทางเรือ คือ
จังหวัดสมุทรสงครามมีสถาบันอุดมศึกษาเพียงแห่งเดียว คือ สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2553 จัดการเรียนการสอนด้านการพัฒนาท้องถิ่น และการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน ทั้งในระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโท