จังหวัดสมุทรปราการ เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคกลางของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นครั้งล่าสุดโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดนครนายก พุทธศักราช 2489 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 เป็นจังหวัดในเขตปริมณฑลของกรุงเทพมหานคร
ในสมัยอยุธยามีชื่อเมืองสมุทรปราการในกฎหมายซึ่งตราขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2178 แต่ตัวเมืองจะตั้งอยู่ที่ใดในเวลานั้นไม่ปรากฏชัด มีหลักฐานแต่เพียงว่า ที่ปากคลองบางปลากด ฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา มีพ่อค้าชาวฮอลันดามาตั้งห้างพักสินค้าอยู่ ณ ที่นั้น และเมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงแต่งสมณทูตไปลังกา กล่าวว่า ออกเรือจากเมืองธนบุรีไปถึงตึกฮอลันดาที่ตำบลบางปลากด แสดงว่า ที่นั่นคงมีผู้คนอาศัยอยู่มาก อาจเป็นตัวเมืองสมุทรปราการในครั้งนั้นก็ได้ ต่อมา เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าใน พ.ศ. 2310 ปรากฏหลักฐานว่า พม่าได้มาปล้นบ้านเรือนราษฎรที่ตำบลบางเมืองในเขตเมืองสมุทรปราการด้วย ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองสมุทรปราการบัดนี้ที่ตำบลบางเมืองเมื่อ พ.ศ. 2362 พร้อมกับสร้างป้อมป้องกันเรือของข้าศึกรวม 6 ป้อม และใน พ.ศ. 2366 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระสมุทรเจดีย์บนเกาะกลางน้ำด้วย อนึ่ง สมุทรปราการ เรียกกันเป็นสามัญว่า "ปากน้ำ" เพราะตัวเมืองตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งซ้าย ห่างจากปากแม่น้ำเข้ามาราว 6 กิโลเมตร
จังหวัดสมุทรปราการเป็นเขตปริมณฑล จังหวัดสมุทรปราการมีเนื้อที่ 1,004 ตารางกิโลเมตร อาณาเขตทิศเหนือติดต่อกับกรุงเทพมหานคร และจังหวัดฉะเชิงเทรา, ทิศตะวันออกติดต่อกับจังหวัดฉะเชิงเทรา, ทิศใต้จรดอ่าวไทย, ทิศตะวันตกติดต่อกับกรุงเทพมหานคร ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มทั้งหมด มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านทางซีกตะวันตกของจังหวัด จากทิศเหนือไปทิศใต้ลงสู่อ่าวไทย มีชายฝั่งทะเลยาว 47.5 กม. เดิมชายฝั่งทะเลมีป่าชายเลนกว้างขวาง เนื่องจากมีตะกอนที่แม่น้ำเจ้าพระยานำพามาทับถมกันที่บริเวณปากน้ำ แต่ปัจจุบันมีการบุกรุกป่าชายเลน ทำให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเป็นบริเวณกว้าง
ในด้านเศรษฐกิจ จังหวัดสมุทรปราการมีการทำนา ประมง และอุตสาหกรรม แหล่งท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญ เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ พระสมุทรเจดีย์กลางน้ำ วัดอโศการาม วัดบางพลีใหญ่ วัดไพชยนต์พลเสพราชวรวิหาร วัดโปรดเกศเชษฐาราม ศาลพระเสื้อเมือง พิพิธภัณฑ์ทหารเรือ เมืองโบราณ สถานตากอากาศบางปู ป้อมพระจุลจอมเกล้า สวางคนิวาส ป้อมแผลงไฟฟ้า ฟาร์มจระเข้
การคมนาคมจากกรุงเทพฯ โดยทางหลวงหมายเลข 3 (สุขุมวิท ตอน กรุงเทพฯ-สมุทรปราการ) ระยะทาง 25 กิโลเมตร
พื้นที่จังหวัดสมุทรปราการประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 49 แห่ง ประกอบด้วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น โดยมี 1 องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนคร 1 แห่ง เทศบาลเมือง 4 แห่ง เทศบาลตำบล 13 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล 30 แห่ง จำแนกได้ดังนี้
สมุทรปราการมีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอยู่หลายแห่ง ได้แก่ ฟาร์มจระเข้และเมืองโบราณ ซึ่งรู้จักกันจากนักท่องเที่ยวจากที่ต่างๆ นอกจากนี้ในช่วงประมาณปลายเดือนตุลาคมและต้นเดือนพฤศจิกายน จะมีการจัดงานพระสมุทรเจดีย์หรือที่เรียกกันว่า "งานเจดีย์" เป็นเวลา 12 วัน 12 คืน ซึ่งเป็นงานประจำจังหวัดสมุทรปราการ จัดขึ้นบริเวณใจกลางเมืองของตัวอำเภอเมืองฯ โดยจะมีการปิดถนนเริ่มต้นบริเวณศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ มีการจัดตั้งร้านขายของ ร้านอาหาร การละเล่น ชิงช้าสวรรค์ ม้าหมุน และงานโชว์ต่างๆ รวมถึงของหลายหลายมาวางขาย
ในจังหวัดสมุทรปราการ การเดินทางส่วนใหญ่ใช้รถส่วนบุคคลและรถประจำทาง โดยจุดรถประจำทางที่สำคัญได้แก่ บริเวณ บางนา สำโรง ปากน้ำ บางพลี และพระประแดง สำหรับการโดยสารทางเรือ ผ่านทางแม่น้ำเจ้าพระยา มีเรือโดยสารเลียบแม่น้ำ ขึ้นได้ที่ท่าน้ำปากน้ำ และมีการโดยสารข้ามแม่น้ำหลายจุด รวมทั้งบริเวณท่าน้ำพระประแดงมีท่าแพสำหรับบรรทุกรถข้ามแม่น้ำ การเดินทางทางอากาศผ่านทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และยังสามารถเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครได้โดยทางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์จากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
นอกจากนั้น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยหรือ รฟม. จะทำการก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท เข้าสู่จังหวัดสมุทรปราการ โดยได้แบ่งออกเป็น 2 ระยะต่อจากของกรุงเทพมหานครคือ ระยะที่สอง แบริ่ง - สมุทรปราการ (บางปิ้ง) จำนวน 9 สถานี รวมระยะทาง 12.6 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดเตรียมโครงการ และน่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในไตรมาสที่ 4 พ.ศ. 2554 โดยในขณะนี้ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่เขตบางนา กรุงเทพมหานคร และอำเภอเมืองสมุทรปราการไว้แล้ว และมีผลบังคับใช้ 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2553 รวมระยะทางตามแนวโครงการ 14 กิโลเมตร โดยผู้ที่ถูกเวนคืนที่ดินจะถือว่าเป็น ผู้เสียสละ โดยจะได้รับเกียรติบัตร และยังได้รับการจารึกชื่อลงในแผ่นหินและนำไปแสดงไว้ที่สถานีปลายทางของโครงการในระยะที่สอง นอกจากนั้นยังมีการศึกษาแนวทางในการเดินรถระยะที่สาม ต่อจากบางปิ้งไปจนถึงบางปู (สถานพักผ่อนตากอากาศบางปู) จำนวน 4 สถานี ระยะทาง 7 กิโลเมตร