สมบูรณาญาสิทธิราชย์อันทรงภูมิธรรม (อังกฤษ: enlightened absolutism, benevolent despotism หรือ enlightened despotism) คือรูปแบบของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และระบบใช้อำนาจเด็ดขาด ที่ซึ่งผู้ปกครองได้รับอิทธิพลจากยุคเรืองปัญญา พระมหากษัตริย์ในระบอบนี้ที่เรียกว่า ประมุขผู้ทรงภูมิธรรม เป็นผู้อุปถัมภ์หลักการของการเรืองปัญญา โดยเฉพาะความสำคัญของหลักเหตุและผล และนำไปใช้ในการปกครองดินแดนของตน พระมหากษัตริย์มีแนวโน้มที่จะมีพระบรมราชานุญาตให้มีหลักขันติธรรมทางศาสนา, เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการเผยแพร่ข่าวสาร รวมถึงสิทธิ์ของประชาชนทั่วไปในการครอบครองทรัพย์สิน อันเป็นการช่วยสร้างความเจริญก้าวหน้าทางศิลปศาสตร์, วิทยาศาสตร์ และการศึกษาในยุโรปอย่างมาก
แนวคิดนี้ได้รับการคิดค้นขึ้นโดยวิลเฮล์ม โรเชอร์ นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมันในปี พ.ศ. 2390 และยังคงเป็นที่ถกเถียงในหมู่นักวิชาการมาจนถึงปัจจุบัน
พระประมุขผู้ทรงภูมิธรรมดำรงพระราชอำนาจมิใช่จากเทวสิทธิ์ของพระมหากษัตริย์ หากแต่เป็นพระราชอำนาจที่มาจากพันธสัญญาต่อสังคมอันเป็นภาระหน้าที่ที่จะต้องปกครองอย่างทรงธรรม การพิจารณาถึงพระประมุขว่าทรงภูมิธรรมมีพื้นฐานมาจากการวิเคราะห์เชิงกว้างของการรับเอาอิทธิพลจากยุคเรืองปัญญามามากน้อยเพียงใด เช่น สมเด็จพระจักรพรรดินีเยกาเจรีนาที่ 2 แห่งรัสเซีย แม้จะทรงปฏิเสธหลักการของการมีพันธสัญญาต่อสังคมอย่างสิ้นเชิง แต่ก็ทรงรับเอาแนวคิดมากมายจากยุคเรืองปัญญามา พระนางทรงเป็นผู้อุปภัมถ์คนสำคัญของวงการศิลปะรัสเซียและยังทรงผสมผสานแนวคิดต่างๆ จากนักปรัชญา โดยเฉพาะมงแต็สกีเยอ ดังเช่นในพระราชโองการของพระนางที่ประสงค์จะให้มีการปฏิรูประบบกฎหมายของรัสเซียเป็นต้น
ในทางปฏิบัติแล้ว พระมหากษัตริย์ปกครองด้วยพระประสงค์ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรเพื่อเป็นการสร้างเสริมพระราชอำนาจและพระบารมี ซึ่งนัยของแนวคิดนี้ก็คือการที่พระมหากษัตริย์คำนึงถึงผลพระโยชน์ส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนพระองค์เอง และด้วยแนวคิดนี้เองที่กลายมาเป็นบรรทัดฐานในการครองราชย์ของกษัตริย์ วอลแตร์เป็นนักปรัชญาคนสำคัญจากยุคเรืองปัญญาที่เห็นว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันทรงภูมิธรรมเป็นหนทางที่แท้จริงเพียงเดียวที่จะทำให้สังคมเจริญรุ่งเรืองได้[ต้องการอ้างอิง]
อย่างไรก็ตามนักประวัติศาสตร์ยังคงถกเถียงกันถึงการปฏิบัติใช้สมบูรณาญาสิทธิราชย์อันทรงภูมิธรรมที่แท้จริง พวกเขาแยกแยะความภูมิธรรมโดยพระราชจริยวัตรออกจากความภูมิธรรมโดยพระราชกรณียกิจ เช่น พระเจ้าฟรีดริชมหาราชแห่งปรัสเซีย ผู้ซึ่งถูกปลูกฝังแนวคิดของการเรืองปัญญามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และก็ทรงยึดมั่นในแนวคิดดังกล่าวตลอดช่วงพระชนม์ชีพของพระองค์ แต่ในทางปฏิบัติพระองค์กลับไม่สามารถที่จะก่อให้เกิดการปฏิรูปขึ้นได้ บุคคลอื่นเช่น เซบาสเตียน โฮเซ เด คาวาโล เอ เมโล นายกรัฐมนตรีแห่งโปรตุเกส ใช้การเรืองปัญญาไม่แต่เฉพาะเพื่อการปฏิรูปเท่านั้น แต่รวมไปถึงการสร้างเสริมขุมอำนาจ, บ่อนทำลายฝ่ายตรงข้าม, ปราบปรามการวิพากษ์วิจารณ์, การแสวงหาผลประโยชน์จากอาณานิคม และการรวบรวมอำนาจและผลประโยชน์ส่วนตน
รัฐบาลของรัฐต่างๆ ในยุโรปตอบสนองต่อยุคเรืองปัญญาแตกต่างกันไป ในฝรั่งเศสที่ซึ่งรัฐบาลได้ทำการต่อต้านการเรืองปัญญา ขณะที่เหล่านักปรัชญาต่างต่อสู้กับการปิดกั้นข่าวสารของรัฐ แต่ในอังกฤษ รัฐบาลวางตัวเมินเฉยเรืองปัญญา
อย่างไรก็ตาม รัฐในยุโรปที่มีผู้ปกครองทรงอำนาจหรือที่เรียกโดยนักประวัติศาสตร์ว่า ประมุขผู้ทรงภูมิธรรม (อังกฤษ: Enlightened despots) พระประมุขเหล่านี้ต่างต้อนรับแนวคิดของยุคเรืองปัญญาเป็นอย่างดีในราชสำนัก และยังช่วยวางแผนการและกฎหมายเพื่อปฏิรูประบอบการปกครองของประเทศ รวมไปถึงการสร้างขุมอำนาจและความมั่นคงให้แก่รัฐของตนพระเจ้าฟรีดริชมหาราชแห่งปรัสเซีย ผู้ครองราชย์ช่วงปี พ.ศ. 2283 - พ.ศ. 2329 ทรงสนพระทัยในแนวคิดของฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก วอลแตร์ผู้ซึ่งถูกจองจำและทารุณโดยรัฐบาลฝรั่งเศสปรารถนาอย่างมากที่จะตอบรับคำเชิญของพระเจ้าฟรีดริชมหาราช โดยเขาถูกเชิญให้ไปพำนักยังพระราชวังในปรัสเซีย พระเจ้าฟรีดริชตรัสว่า "พันธกิจหลักของข้าพเจ้าคือการต่อสู้กับความโง่เขลาและความอยุติธรรม ... เพื่อบอกแจ้งแก่จิต, ปลูกฝังศีลธรรม, และทำให้ผู้คนมีความสุขมากที่สุดเท่าที่มันจะเหมาะสมกับธรรมชาติของมนุษย์และมากเท่าที่ข้าพเจ้าประสงค์จะให้มี", สมเด็จพระเจ้าการ์โลสที่ 3 แห่งสเปน ผู้ครองราชย์ช่วงปี พ.ศ. 2302 - พ.ศ. 2331 ทรงพยายามที่จะกอบกู้จักรวรรดิของพระองค์จากความเสื่อมโทรมด้วยการปฏิรูปซึ่งมีอิทธิพลแผ่ขยายไปทั่วอาณาจักร ช่วยลดทอนอำนาจของศาสนจักรและเหล่าเจ้าขุนมูลนาย, สนับสนุนวิทยาศาสตร์และการวิจัยในมหาวิทยาลัย, ส่งเสริมการค้าและการพาณิชย์, พัฒนาการเกษตรกรรมและหลีกเลี่ยงการก่อสงคราม ทำให้สเปนรื้อฟื้นความยิ่งใหญ่ได้หลังจากการสวรรคตของพระองค์, สมเด็จพระจักรพรรดินีเยกาเจรีนาที่ 2 แห่งรัสเซีย ผู้ครองราชย์ช่วงปี พ.ศ. 2305 - พ.ศ. 2339 ก็ทรงหลงใหลในแนวคิดยุคเรืองปัญญา, จักรพรรดิโยเซฟที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ทรงหลงใหลในแนวคิดนี้จนมากเกินควร ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงประกาศการปฏิรูปออกมานับครั้งไม่ถ้วน หากแต่การปฏิรูปทั้งหมดเหล่านั้นล้วนแต่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยแก่ประเทศ จนกลายมาเป็นเรืองขบขันของประชาชนในความล้มเหลวดังกล่าว นอกจากนี้แนวคิดของการเรืองปัญญายังมีอิทธิพลอย่างมากทั้งในโปรตุเกสและเดนมาร์ก
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/สมบูรณาญาสิทธิราชย์อันทรงภูมิธรรม