"สภาสูง" (อังกฤษ: upper house) เป็นชื่อเรียกสภานิติบัญญัติสภาหนึ่ง บางประเทศอาจมีสภานิติบัญญัติสองสภาประกอบกันเป็นรัฐสภา อีกสภาหนึ่งเรียก "สภาล่าง" ซึ่งบางประเทศอาจมีแต่สภาล่างทำหน้าที่สภานิติบัญญัติ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการกำหนดขององค์อธิปัตย์ในประเทศนั้น ๆ สำหรับประเทศไทยมีสองสภา สภาสูงเรียก วุฒิสภา สภาล่างเรียก สภาผู้แทนราษฎร ทั้งสองสภารวมกันเรียกว่า รัฐสภา
ในประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภา เช่น ประเทศไทย ประเทศอังกฤษ สภาสูง มีหน้าที่ตรวจสอบกฎหมายที่รัฐบาลหรือสภาล่างประกาศใช้ในสถานการณที่มีความจำเป็นรีบด่วน, มีหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมาย ซึ่งสภาล่างอาจไม่ปฏิบัติตามก็ได้ เช่น สภาขุนนาง (สภาสูง) ของอังกฤษ ที่กฎหมายไม่ให้อำนาจในการยับยั้งร่างกฎหมาย เพียงแต่มีอำนาจในการถ่วงการพิจารณาเอาไว้เพื่อให้รัฐบาลหรือสภาล่างนำกลับไปพิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้ แม้สภาสูงจะไม่มีอำนาจเช่นว่า แต่บรรดาสภาสูงส่วนใหญ่ก็อาจขอให้สภาล่างนำร่างกฎหมายกลับไปพิจารณาใหม่ได้ เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองจากการออกกฎหมายโดยไม่ความรอบคอบ
ในประเทศใช้ระบบดังกล่าว มักเห็นว่าสภาสูงเป็นที่ปรึกษา หรือเป็น "บรรณาธิการ" พิจารณาร่างกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ อำนาจในทางนิติบัญญัติของสภาสูงจึงมีจำกัด คือ
อย่างไรก็ดี สภาสูงแห่งบางประเทศหรือบางรัฐก็มีอำนาจมากกว่าที่ระบุไว้ข้างต้น เช่น มีอำนาจในการเสนอร่างกฎหมายให้รัฐสภาพิจารณา (ส่วนใหญ่ไม่รวมกฎหมายงบประมาณและการเงิน) กับทั้งบางครั้งรัฐธรรมนูญของบางประเทศอาจกำหนดให้สภาสูงมีอำนาจแก้ไขภาวะทางตันทางการเมืองก็มี
ในระยะหลัง ในบางประเทศมีการยุบเลิกสภาสูงเสีย เนื่องจากไม่เห็นความสำคัญของสภาสูงอีกต่อไป อนึ่ง การร่างรัฐธรรมนูญของหลายประเทศตั้งแต่ทศวรรษที่ผ่านมา มักกำหนดไม่ให้สภาสูงเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานของฝ่ายบริหาร เพื่อไม่ให้สมาชิกสภาสูงฝักไฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นผลเสียได้
ในประเทศที่ใช้ระบบประธานาธิบดี สภาสูงมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับในประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภา แต่มักได้รับอำนาจเพิ่มเติมเพื่อชดเชยข้อจำกัด เช่น
การได้มาซึ่งสภาสูง อาจกระทำได้โดยหลายวิธี เช่น การเลือกตั้งโดยประชาชน การแต่งตั้ง การได้มาแบบผสมระหว่างการเลือกตั้งและการแต่งตั้ง เช่นในประเทศไทย และการได้รับสืบทอดตำแหน่งภายในสกุล
มีสภาสูงจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน แต่ใช้วิธีการแต่งตั้งโดยหัวหน้ารัฐบาล เนื่องจากต้องการให้สภาสูงประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิอย่างแท้จริง ซึ่งการเลือกตั้งมักไม่ได้ผู้ทรงคุณวุฒิเช่นนั้น อาทิ สมาชิกวุฒิสภาแห่งแคนาดาได้มาด้วยการเลือกสรรของรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีแห่งแคนาดานำความกราบบังคมทูลฯ ให้พระมหากษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรมีพระราชโองการแต่งตั้ง
ทั้งนี้ สำหรับการได้รับสืบทอดตำแหน่งภายในสกุล เช่น (ในประเทศเยอรมัน), สภาขุนนางของประเทศอังกฤษ (มีจวบจนปัจจุบัน) และสภาขุนนางของญี่ปุ่น (ญี่ปุ่นยกเลิกวิธีการนี้เมื่อ พ.ศ. 2490)
สำหรับการเลือกตั้งโดยประชาชนมีทั้งแบบทางตรงและทางอ้อม แบบทางตรงคือ ประชาชนเลือกผู้แทนประชาชนแล้ว เมื่อผลการเลือกตั้งเป็นที่รับรอง ผู้แทนนั้นก็เป็นสมาชิกสภาสูงทันที, ส่วนแบบทางอ้อมคือ ผู้แทนนั้นไปคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิเป็นสมาชิกสภาสูงอีกที
อย่างก็ดี โดยทั่วไปแล้วสภาสูงมักประกอบด้วยผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม เช่น วุฒิสภาของสหรัฐอเมริกาก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 17 เมื่อ พ.ศ. 2456 แต่ในประเทศที่สมาชิกสภาสูงมาจากการเลือกตั้งโดยตรง มักมีสัดส่วนต่ำกว่าสภาล่าง เช่น วุฒิสภาของออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งการกำหนดจำนวนสมาชิกที่ได้จากการเลือกตั้งของรัฐต่าง ๆ ไว้ตายตัวตามจำนวนรัฐโดยไม่ใช้จำนวนประชากร
ปัจจุบัน รัฐหรือประเทศหลายแห่ง เช่น เดนมาร์ก สวีเดน โครเอเชีย เปรู เวเนซุเอลา นิวซีแลนด์ และเกือบทุกจังหวัดของแคนาดา เคยมีสภาสูงมาก่อน ก่อนที่จะยุบเลิกไปเหลือสภาล่างเป็นสภานิติบัญญัติสภาเดียว
เหตุการณ์สำคัญในการยุบเลิกสภาสูง เช่น ในรัฐควีนส์แลนด์ของประเทศออสเตรเลีย ได้ยุบเลิกสภาสูงไปเสียใน พ.ศ. 2465 เนื่องจากพบว่าสมาชิกสภาสูงไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตย
อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องภายในรัฐหรือประเทศนั้น ๆ ยังคงมีหลายประเทศที่ใช้ระบบสองสภาอยู่ในปัจจุบัน