สภากรรมการองคมนตรี เป็นคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งตั้งองคมนตรี จำนวน 40 คน ตั้งเป็น สภากรรมการองคมนตรี ทำหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมาย ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งองคมนตรี ขึ้นใหม่ทุกปีในวันที่ 4 เมษายน เนื่องในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ในขณะที่กฎหมายกำหนดให้องคมนตรี ดำรงตำแหน่งจนถึงสิ้นรัชกาล และมีกำหนดหลังจากนั้นอีก 6 เดือน เมื่อสิ้นรัชกาลจึงมีองคมนตรีมากถึง 233 คน
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาขึ้นสามคณะ ประกอบด้วย อภิรัฐมนตรีสภา เสนาบดีสภา และ สภากรรมการองคมนตรี โดยอาศัยอำนาจตาม พระราชบัญญัติองคมนตรี พุทธศักราช ๒๔๗๐ ซึ่งทรงตราขึ้นมาใช้บังคับแทน พระราชบัญญัติปรีวีเคาน์ซิล พุทธศักราช ๒๔๑๗ ประกอบด้วยกรรมการองคมนตรีจำนวน 40 คน ซึ่งจะทรงตั้งจากองคมนตรี มีหน้าที่ประชุมปรึกษาหารือ ถวายความเห็นเกี่ยวกับสวัสดิภาพแห่งบ้านเมืองและประชาชน โดยกำนดให้กรรมการองคมนตรี อยู่ในตำแหน่งได้ครั้งละ 3 ปี หลังจากนั้นอาจจะทรงแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งซ้ำอีกก็ได้
สภากรรมการองคมนตรี ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีทั้งสิ้น 2 ชุด คือ ชุดที่หนึ่ง ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 2 กันยายน 2470 - 31 มีนาคม 2474 และชุดที่สอง ตั้งแต่ 1 เมษายน 2474 - 31 มีนาคม 2476 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้มีประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติองคมนตรี เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2475
(1 เมษายน 2474 - 31 มีนาคม 2476) สิ้นสุดลงเมื่อคณะราษฎรได้มีประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติองคมนตรี เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2475