ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหาร หัวเมือง กำหนดไว้ว่า "สนมเอก" ทั้งสี่คนของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้แก่ อินทรสุเรนทร, ศรีสุดาจันทร์, อินทรเทวี และศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งสตรีทั้งหมดจะต้องสืบเชื้อสายมาจากเจ้านายที่ปกครองแว่นแคว้นที่รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยาแล้ว จึงเรียกว่า สนมเอกสี่ทิศ
สนมเอกสี่ทิศ คือนักนางสนมทั้งสี่คนในพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา อันได้แก่ ท้าวอินทรสุเรนทรจากราชวงศ์สุพรรณภูมิ, ท้าวศรีจุฬาลักษณ์จ่ากราชวงศ์พระร่วง, ท้าวอินทรเทวีจากราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช และท้าวศรีสุดาจันทร์จากราชวงศ์ละโว้-อโยธยา โดยทั้งหมดนี้เป็นชื่อตำแหน่งหาใช่ชื่อตัว และเมื่อได้เป็นสนมเอกก็จะได้ชื่อใดชื่อหนึ่งตามกฎพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน นาทหาร หัวเมือง ซึ่งถูกตราขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
ทั้งนี้นารีผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเป็นสนมเอกนั้นหาได้เป็นสามัญชนคนธรรมดา แต่ต้องสืบเชื้อสายมาจากเจ้านายที่ปกครองแว่นแคว้นรอบกรุงศรีอยุธยาที่ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยาแล้ว ซึ่งเจ้าเมืองเหล่านั้นต้องถวายธิดาเข้าเป็นสนมเอกเพื่อสำแดงอำนาจของกษัตริย์อยุธยาที่มีพระราชอำนาจแผ่ไปยังทิศทั้งสี่ หากมีสนมเอกนางใดให้ประสูติกาลพระราชโอรสสืบพระราชสันตติวงศ์ได้ ก็จะมีสถานะที่สูงส่งกว่าสนมเอกอีกสามท่าน ดังรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช สนมเอกนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ มีพระราชโอรสคือพระยอดฟ้า และพระศรีศิลป์ นางจึงได้รับการยกย่องว่า แม่หยัวเมือง หรือ แม่ยั่วเมือง คือแม่อยู่หัวเมือง เทียบเป็นพระมเหสี มีศักดิ์และสิทธิ์รองลงมาจากพระอัครมเหสีเท่านั้น
ครั้นกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ราชสำนักได้มีการสถาปนาตำแหน่งพระมเหสีแน่นอนแล้ว ตำแหน่งสนมเอกสี่ทิศนี้จึงถูกลดเป็นตำแหน่งของสนมเอก
ท้าวอินทรสุเรนทร หรือสะกดว่า อินทรสุเรนทร์ หรือ อินสุเรน สุจิตต์ วงษ์เทศได้สันนิษฐานว่าเป็นสนมจากราชวงศ์สุพรรณภูมิ ตัวแทนของทิศตะวันตก ด้วยแคว้นสุพรรณภูมิตั้งอยู่ทางตะวันตกของกรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานจากคำว่า "อินทร์" ซึ่งแพร่หลายในแคว้นสุพรรณภูมิ เช่นพระมหากษัตริย์ที่มาจากสุพรรณภูมิก็ว่า สมเด็จพระอินทราชา หรือ เจ้านครอินทร์, เจ้าเมืองเพชรบุรีและชัยนาทซึ่งอยู่ในปริมณฑลของแคว้นสุพรรณภูมิก็มีตำแหน่งว่า ออกพระศรีสุรินทฤๅไชย และออกพระสุรบดินสุรินทฤๅไชย ตามลำดับ ก็จะเห็นได้ว่ามาจากคำ สุร+อินทร เหมือนกัน
ส่วนพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ อธิบายว่า น่าจะเป็นตำแหน่งสำหรับสตรีจากนครศรีธรรมราชหรือสุโขทัยเสียมากกว่า
ท้าวศรีสุดาจันทร์ หรือสะกดว่า ศรีสุดาจัน จากราชวงศ์ละโว้-อโยธยา เป็นสนมเอกแห่งทิศตะวันออก ด้วยภูมิสถานของแคว้นละโว้ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงศรีอยุธยา
ท้าวศรีสุดาจันทร์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดประวัติศาสตร์ไทยคือ นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ พระมเหสีในสมเด็จพระไชยราชาธิราชและขุนวรวงศาธิราช
ท้าวอินทรเทวี สุจิตต์ วงษ์เทศได้สันนิษฐานว่าเป็นสนมจากราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช ตัวแทนแห่งทิศใต้ จากภูมิสถานของแคว้นนครศรีธรรมราชตั้งอยู่ทางใต้ของกรุงศรีอยุธยา และยังสันนิษฐานว่าแคว้นนี้คงมีความสัมพันธ์กับแคว้นสุพรรณภูมิ โดยตำแหน่ง ท้าวอินทรเทวี นี้ ได้รับการเทียบเคียงกับ ขุนอินทรเทพ ซึ่งเป็นขุนนางจากนครศรีธรรมราช
ส่วนพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ อธิบายว่าตำแหน่งดังกล่าวมีไว้สำหรับสตรีจากนครศรีธรรมราชหรือสุโขทัย
ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือสะกดว่า ศรีจุฬาลักษ หรือ ศรีจุฬาลักษณะ สุจิตต์ วงษ์เทศได้สันนิษฐานว่าเป็นสนมจากราชวงศ์พระร่วง เป็นตัวแทนแห่งทิศเหนือ จากภูมิสถานของแคว้นสุโขทัยตั้งอยู่ทางเหนือของกรุงศรีอยุธยา ในจารึกสุโขทัยระบุว่าตำแหน่งนี้เดิมเป็นตำแหน่งมเหสีของกษัตริย์สุโขทัย ปรากฏท้าวศรีจุฬาลักษณ์พระองค์หนึ่งในจารึกวัดบูรพาราม มีพระนามว่า "สมเด็จพระราชเทวี สรีจุฬาลักษณ์ อัครราชมหิศิเทพ ธรณีดิลกรัตนบพิตรเป็นเจ้า ผู้เป็นบาทบริจาริการัตนชายาแด่สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช" นอกจากนี้พระมหาธรรมราชาสุโขทัยโอรสพระยาลิไทพระองค์หนึ่งอภิเษกสมรสกับพระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งมีพระชาติกำเนิดเป็นเจ้าหญิงในวงศ์สุพรรณภูมิ มีพระโอรสสองพระองค์ คือรามราชากับอโสก ครั้นเมื่อสุโขทัยถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยาแล้ว เชื้อพระวงศ์สุโขทัยจึงถูกปรับสถานะไปรับราชการในกรุงศรีอยุธยา ส่วนตำแหน่ง "ศรีจุฬาลักษณ์" จึงลดเป็นตำแหน่งสนมเอก
ขณะที่พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ สันนิษฐานว่าตำแหน่งศรีจุฬาลักษณ์นี้น่าจะเป็นตำแหน่งสำหรับสตรีแห่งสุพรรณภูมิ โดยอ้างอิงถึงพระมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ในพระมหาธรรมราชาพระองค์หนึ่ง และท้าวศรีจุฬาลักษณ์ในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ล้วนแต่มีพื้นเพมาจากสุพรรณภูมิ
ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) ในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่ถูกประหารจากการลอบเป็นชู้กับเจ้าฟ้าน้อย พระราชอนุชา
มีการกล่าวถึง "ท้าวศรีจุฬาลักษณ์" ในโคลงกำสรวลสมุทร และ โคลงทวาทศมาส ถือเป็นนางในนิราศที่ได้รับเกียรติยกย่องอย่างสูง สุจิตต์ วงษ์เทศสันนิษฐานว่าเป็นพระราชนิพนธ์กษัตริย์อยุธยาพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ ว่าน่าจะเป็นของสมเด็จพระบรมราชาที่ 3
และปรากฏบทโต้ตอบระหว่างท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (แจ่ม) ในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับศรีปราชญ์ กวีเอกในรัชกาล ที่นางมองเขาอย่างเหยียดหยาม ความว่า
นอกจากนี้นางนพมาศ ที่ปรากฏใน เรื่องนางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ก็ว่ามียศเป็นท้าวศรีจุฬาลักษณ์ในพระร่วงเจ้าพระองค์หนึ่ง เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ราวรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีเนื้อหาว่านางนพมาศบอกเล่าถึงความเป็นไปภายในรัฐสุโขทัยว่ามีความเจริญรุ่งเรืองสมบูรณ์พูนสุขนานัปการ ในรัฐมีคนต่างชาติต่างภาษาและศาสนาอาศัยอยู่ร่วมกัน และเรื่องที่เด่นที่สุดคือการที่นางประดิษฐ์กระทงขึ้นมา