เจ้าพระยาอัครมหาเสนา (สมุหพระกลาโหม) เจ้าพระยาพระคลัง (เสนาบดีกรมท่า) เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (เสนาบดีกรมวัง) เจ้าพระยาพลเทพ (เสนาบดีกรมนา) เจ้าพระยายมราช (เสนาบดีกรมพระนครบาล) เฮนรี เบอร์นี
สนธิสัญญาเบอร์นี (อังกฤษ: Burney Treaty) คือ สนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ฉบับแรกที่กรุงรัตนโกสินทร์ (ต่อมาคือประเทศไทย) ทำกับประเทศตะวันตกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เฮนรี เบอร์นีได้เป็นทูตอังกฤษเดินทางเข้ามายังกรุงรัตนโกสินทร์ใน พ.ศ. 2368 เพื่อเจรจาปัญหาทางการเมืองและการค้า ในด้านการค้า รัฐบาลอังกฤษประสงค์ขอเปิดสัมพันธไมตรีทางการค้ากับรัตนโกสินทร์ และขอความสะดวกในการในการค้าได้โดยเสรี การเจรจาได้เป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2369 และมีการลงนามในสนธิสัญญากัน
สนธิสัญญาเบอร์นีประกอบด้วยสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีรวม 14 ข้อ และมีสนธิสัญญาทางพาณิชย์แยกออกมาอีกฉบับหนึ่งรวม 6 ข้อ ที่เกี่ยวกับการค้า ได้แก่ ข้อ 5 ให้สิทธิพ่อค้าทั้งสองฝ่ายค้าขายตามเมืองต่าง ๆ ของอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างเสรีตามกฎหมาย ข้อ 6 ให้พ่อค้าทั้งสองฝ่ายเสียค่าธรรมเนียมของอีกฝ่าย และข้อ 7 ให้สิทธิแก่พ่อค้าจะขอตั้งห้าง เรือนและเช่าที่โรงเรือนเก็บสินค้าในประเทศอีกฝ่ายหนึ่งได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของกรมการเมือง
หลังจากบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษตั้งอาณานิคมขึ้นบนเกาะปีนัง ใน พ.ศ. 2329 แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอังกฤษก็เริ่มมีการเมืองเข้ามาแทรก และเป็นที่คาดว่าอังกฤษต้องการขยายอิทธิพลเข้าครอบครองคาบสมุทรมลายูต่อไป ต่อมา ในปี พ.ศ. 2364 เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ยกทัพมาตีเมืองไทรบุรี ซึ่งเจ้าเมืองคนเก่าได้ยกปีนังให้อังกฤษ สุลต่านไทรบุรีก็ทิ้งเมืองหนีไปยังเกาะปีนัง ทหารไทยไล่ติดตามไปก็ถอยกลับ เนื่องจากไม่ต้องการรบกับอังกฤษ ยอน ครอเฟิดเข้ามาเจรจากับไทยทั้งในด้านการค้าและขอให้สุลต่านไทรบุรีกลับไปครองเมืองอย่างเดิมก็ไม่ประสบผลแต่อย่างใด
สาเหตุที่ไทยกับอังกฤษกลับมาเจรจากันอีกครั้งมีหลายสาเหตุด้วยกัน อธิบายได้ว่า การที่ไทยได้ไทรบุรีอยู่ในปกครองนั้น ทำให้เประและสลังงอของอังกฤษเสี่ยงถูกยึดครอง อังกฤษต้องการให้ไทยถอนตัวจากไทรบุรี และให้สุลต่านกลับไปปกครองดังเดิม ครั้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2367 รอเบิร์ต ฟุลเลอตันได้เป็นเจ้าเมืองปีนังคนใหม่ ต้องการขับไล่ไทยจากไทรบุรี ก็ขอให้รัฐบาลอินเดียส่งทูตมาบังคับไทยไม่ให้แผ่อิทธิพลในคาบสมุทรมลายู ด้านการสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งแรก การรบไม่คืบหน้าเท่าที่ควร อังกฤษต้องการให้ไทยช่วยรบ นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียได้รับคำฟ้องจากพ่อค้าอังกฤษว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการค้าขายกับไทย จึงเป็นสาเหตุให้รัฐบาลอินเดียส่งเฮนรี เบอร์นีมาเป็นทูตเจรจากับไทย
ในทางการเมือง อังกฤษต้องการให้ไทยช่วยรบกับพม่า และส่งยานพาหนะให้แก่อังกฤษ ตลอดจนต้องการให้สุลต่านไทรบุรีกลับไปครองเมืองดังเดิม และให้ไทยเลิกแผ่อำนาจลงไปใต้เมืองปัตตานี ส่วนในทางการค้า อังกฤษต้องการให้ไทยผ่อนปรนการผูกขาดการค้าและเรียกเก็บภาษีอากรในการค้า ให้เหมือนกับที่พ่อค้าไทยมีเสรีภาพทางการค้าเมื่อค้าขายกับอาณานิคมอังกฤษ
เฮนรี เบอร์นีได้ลองทำหนังสือสัญญาลำลองกับเจ้าพระยานคร (น้อย) ที่เมืองนครศรีธรรมราชก่อน เพื่อดูว่าไทยต้องการทำสนธิสัญญาหรือไม่ โดยสัญญาลำลองมีใจความว่า
เมื่อรัฐบาลอินเดียพิจารณาสัญญาลำลองดังกล่าวแล้ว ก็เห็นว่าไทยยินยอมเจรจาตามแนวทางที่ตนต้องการ จึงให้เบอร์นีเดินทางไปเจรจาที่กรุงเทพมหานคร
ภายหลังการยื่นบันทึกดังกล่าวได้ 11 วัน รัฐบาลไทยทราบว่าพม่ายอมแพ้อังกฤษ ทำให้เป็นการไม่เหมาะที่จะไม่ยอมลงนามในสนธิสัญญาดังกล่าวตามที่อังกฤษต้องการ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงได้รับกราบทูลให้ทำสนธิสัญญาไว้ พระองค์จึงทรงเชิญเฮนรี เบอร์นีเข้ามาทำสนธิสัญญายังที่พัก
วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2369 ไทยและอังกฤษได้ร่วมกันลงนามในสนธิสัญญาสองฉบับ เป็นหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีและข้อตกลงเกี่ยวกับการค้าขาย หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงถอดพระยาชุมพร (ซุย) ออกจากตำแหน่ง "เพราะมีความผิเดไปตีครัวมะริดของอังกฤษ ๆ เข้ามาตามขอดี ๆ ก็ไม่ให้ ได้สู้รบกันก็แพ้เขา ทำให้เสียพระเกียรติยศ"
ในหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีและข้อตกลงเกี่ยวกับการค้าขาย พบว่า ผู้แทนรัฐบาลไทยได้รักษาเกียรติยศและผลประโยชน์ของประเทศชาติไว้ดีที่สุด โดยไม่ยอมให้อังกฤษตั้งกุงสุลและเอากฎหมายอังกฤษมาใช้ในไทย โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ ผู้กำกับกรมท่าและกรมมหาดไทย เป็นผู้มีอิทธิพลอย่างมากในการเจรจาดังกล่าว ทรงถูกมองว่าเป็นผู้ให้ "ความเห็นของรัฐบาลไทย"
หนังสือสัญญาดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกที่ไทยยอมทำกับต่างประเทศ รัฐบาลไม่ค่อยเต็มใจทำเนื่องจากเนื้อหาทำให้รัฐบาลและขุนนางกรมท่าขาดรายได้
เบอร์นีถูกกรมการเมืองปีนังและชาวอังกฤษในแหลมมลายูตำหนิเป็นอันมาก เพราะสนธิสัญญาดังกล่าวเสียเปรียบไทยทั้งในด้านการเมืองและการค้า มีคนหนึ่งถึงกับส่งหนังสือจะท้าดวลกับเบอร์นีเลยทีเดียว แต่รัฐบาลอินเดียกล่าวยกย่องเบอร์นี และปูนบำเหน็จให้เป็นเจ้าเมืองตะนาวศรี ฝ่ายเบอร์นีเองก็เป็นห่วงว่าไทยอาจจะหลีกเลียงไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญาและข้อตกลงดังกล่าว เช่นเดียวกับรอเบิร์ต ฟุลเลอตัน เจ้าเมืองปีนัง
การที่ไทยไม่ยอมส่งออกข้าวแม้จะได้รับการโน้มน้าวจากทูตอังกฤษ ให้โทษแก่เศรษฐกิจไทยมากกว่าให้คุณ เพราะในอดีตที่พระมหากษัตริย์รัชกาลก่อน ๆ ทรงห้ามมิให้ส่งออกข้าวนั้น เป็นเพราะเกิดศึกสงครามและมีการขาดแคลนข้าว นับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอันว่างศึกมาก็มีการผ่อนผันให้ส่งออกข้าวได้เป็นครั้งคราว
สนธิสัญญาดังกล่าวทำให้รัฐบาลไทยเสียผลประโยชน์ จึงมีการเพิ่มภาษีอากรให้ชดเชยรายได้ที่ขาดหายไป โดยมีการเรียกเก็บภาษีอากรใหม่ถึงเกือบ 40 อย่าง ทั้งนี้ เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 3 บ้านเมืองกลับมีสงครามมากกว่าสมัยรัชกาลที่ 2 อันทำให้รัฐบาลมีรายได้มากกว่าสมัยรัชกาลที่ 2 มาก ถึงกับสามารถให้เงินเดือนแก่เจ้านายได้ และเพิ่มเบี้ยหวัด (โบนัส) ให้แก่เจ้านายและข้าราชการได้อีกด้วย
แต่เดิมการผูกขาดการค้านั้นมีไว้เพื่อหาเงินสำหรับใช้จ่ายบำรุงบ้านเมืองและการศาสนา เมื่อรัฐบาลไม่สามารถผูกขาดสินค้าได้อีกแล้วก็ใช้วิธีโอนสิทธิ์ให้แก่เจ้าภาษีแทน ทำให้สินค้าแพงขึ้น ราษฎรได้รับความเดือดร้อน สวนทางกับข้าวเปลือกที่ราคาตกต่ำมาก ในขณะที่รัฐบาลมีรายได้ปีละหลายล้านบาท
ความสำเร็จของอังกฤษในสนธิสัญญาเบอร์นี ทำให้สหรัฐอเมริกาสนใจต้องการเข้ามาทำสนธิสัญญาด้วยอีกประเทศหนึ่ง โดยใน พ.ศ. 2376 แอนดรูว์ แจ็คสัน ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ส่งเอ็ดมันด์ โรเบิร์ตส์มายังประเทศไทย นับเป็นทูตอเมริกันคนแรก สนธิสัญญาดังกล่าวมีเนื้อหาส่วนใหญ่เหมือนกับสนธิสัญญาเบอร์นี แต่มีความพิเศษตรงที่สหรัฐอเมริกาได้รับสิทธิ์ให้สามารถตั้งกงสุลได้หากมีประเทศใดประเทศหนึ่งเข้ามาตั้งกงสุลขึ้นก่อนหน้านั้น
หลังจากที่ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาไปแล้ว พ่อค้าฝรั่งยังรู้สึกไม่พอใจเพราะรู้สึกเสียค่าธรรมเนียมแพงเกินควร ต้องอยู่ใต้บังคับกฎหมายและธรรมเนียมไทย อีกทั้งยังไม่พอใจที่รัฐบาลไทยไม่ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาต่าง ๆ ฝ่ายรัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงส่งทูตชื่อ โจเซฟ บัสเลสเตีย มาเจรจาแก้ไขสนธิสัญญา โดยจะขอตั้งกงสุลอเมริกัน และขอลดหย่อนค่าธรรมเนียมเหมา แต่การแก้ไขสนธิสัญญาไม่ประสบความสำเร็จ เพราะบัลเลสเตียปฏิบัติตนไม่เหมาะสมกับฐานะทูต ที่สำคัญคือเป็นเพียงพ่อค้ามิใช่ขุนนาง ทำให้คนไทยที่เห่อยศศักดิ์มีปฏิกิริยาชิงชังฝรั่ง ว่าไม่เคารพพระเจ้าแผ่นดินไทย บัสเลสเตรียก็เดินทางออกจากประเทศเมื่อปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2393
ในเวลาไล่เลี่ยกันน้น สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษก็ได้ทรงส่งทูตมายังกรุงเทพ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2393 โดยมีจุดประสงค์อย่างเดียวกับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา แต่การเจรจาคราวนี้ล้มเหลวอีกเช่นกัน เพราะราชทูต เซอร์เจมส์ บรุค ถือหนังสืออัครมหาเสนาบดีมาให้เสนาบดีกรมท่า จึงทำให้ไม่ได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติ ส่วนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงรู้สึกไม่ได้รับเกียรติจากทูตอังกฤษ เพราะไม่ได้เชิญพระราชสาส์นพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษมาถวายด้วย
ฝ่ายไทยปฏิเสธไม่ยอมรับการแก้ไขสนธิสัญญาด้วยเหตุผลยืดยาว ราชทูตอังกฤษข่มโทสะไม่ได้ก็ขู่ว่าจะไปบอกรัฐบาล แล้วก็เดินทางกลับประเทศไป มิชชันนารีทั้งหลายก็เกรงว่าจะเกิดสงครามระหว่างไทยกับอังกฤษ หรือไทยกับสหรัฐอเมริกา ก็เร่งจะหนีออกจากไทย