สนธิสัญญาการในการตกลงขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับดินแดนเยอรมนี หรือเรียกว่า สนธิสัญญาสองบวกสี่ (เยอรมัน: Zwei-plus-Vier-Vertrag) มีการเจรจาขึ้นในปี พ.ศ. 2533 ระหว่างสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี และอีกสี่มหาอำนาจซึ่งยึดครองเยอรมนีตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติ: ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ข้อตกลงพอทสดัมได้มีการประกาศหลังจากการประชุมพอทสดัม ซึ่งตกลงเงื่อนไขเริ่มต้นซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรจะปกรองเยอรมนีและข้อตกลงเกี่ยวกับพรมแดนเยอรมนี-โปแลนด์ ซึ่งรู้จักกันว่า แนวโอเดอร์-นิซเซ่ ข้อตกลงที่บรรลุเป็นข้อตกลงที่อธิบายเพิ่มเติมซึ่งมีข้อสรุปว่า "สันติภาพสำหรับเยอรมนีจะได้รับรองโดยรัฐบาลเยอรมนีเมื่อรัฐบาลที่เหมาะสมสำหรับจุดประสงค์ดังกล่าวได้ก่อตั้งขึ้น" "คำถามเยอรมัน" กลายมาเป็นหนึ่งในประเด็นที่สำคัญที่สุดของสงครามเย็นที่กำลังดำเนินอยู่ และจนกระทั่งข้อตกลงดังกล่าวสิ้นสุดลงเมื่อปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 ได้มีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยในการสร้างรัฐบาลเดียวของเยอรมนีตามจุดประสงค์ในข้อตกลงในขั้นสุดท้าย ซึ่งหมายความว่า เมื่อพิจารณาดูแล้ว เยอรมนีมิได้มีอำนาจอธิปไตยอย่างสมบูรณ์
หลังจากการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน ชาวเยอรมันและรัฐบาลของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (เยอรมนีตะวันตก) และสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (เยอรมนีตะวันออก) มีจุดประสงค์อย่างชัดเจนที่จะสร้างรัฐเยอรมันหนึ่งเดียวที่เป็นประชาธิปไตย และเพื่อบรรลุความเป็นหนึ่งเดียวและเอกราชสมบูรณ์ พวกเขามีความปรารถนาที่จะยอมรับเงื่อนไขของข้อตกลงพอทสดัมซึ่งมีผลกระทบต่อเยอรมนี จากนั้น จึงเป็นไปได้ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะมาเจรจาการตกลงขั้นสุดท้ายตามที่ระบุในข้อตกลงพอทสดัม
สนธิสัญญาการในการตกลงขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับดินแดนเยอรมนีได้มีการลงนามในกรุงมอสโก สหภาพโซเวียต เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2533 ซึ่งมีผลนำไปสู่การรวมประเทศเยอรมนีเมื่อ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2533
ภายใต้เงื่อนไขของสนธิสัญญา มหาอำนาจทั้งสี่ละทิ้งสิทธิทั้งหมดที่เคยถือครองในเยอรมนีทั้งหมด รวมไปถึงในเบอร์ลิน ผลที่ตามมาคือ ประเทศเยอรมนีที่มีการรวมตัวนั้นมีอำนาจอธิปไตยสมบูรณ์เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2534 กองทัพโซเวียตทั้งหมดจะต้องออกจากเยอรมนีภายในสิ้นปี พ.ศ. 2537 เยอรมนีตกลงที่จะจำกัดกองทัพให้มีทหารไม่เกิน 370,000 นาย โดยที่ในกองทัพบกและกองทัพอากาศจะต้องมีทหารไม่เกิน 345,000 นาย เยอรมนียังได้ยืนยันที่จะสละสิทธิ์การผลิต การถือครอง และการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ อาวุธชีวภาพ และอาวุธเคมี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สนธิสัญญางดการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์จะยังคงมีผลบังคับใช้เต็มในประเทศเยอรมนี นอกจากนี้ ไม่มีกองทัพต่างประเทศ หรืออาวุธนิวเคลียร์ หรือการบรรทุกอาวุธนิวเคลียร์จะต้องไม่คงอยู่ในอดีตเยอรมนีตะวันออก ทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์
อีกเงื่อนไขหนึ่งที่สำคัญของสนธิสัญญา คือ การยืนยันของเยอรมนีที่จะรับรองพรมแดนกับโปแลนด์ในระดับระหว่างประเทศ และการเปลี่ยนแปลงดินแดนที่เกิดขึ้นหลังจาก พ.ศ. 2488 เพื่อป้องกันการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนทางตะวันออกของแนวโอเดอร์-นิซเซ่ในอนาคต เยอรมนียังได้ตกลงที่จะลงนามในสนธิสัญญาอีกฉบับกับโปแลนด์ ซึ่งยืนยันพรมแดนในปัจจุบัน โดยเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาพรมแดนเยอรมนี-โปแลนด์
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/สนธิสัญญาว่าด้วยการตกลงขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับดินแดนเยอรมนี