สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (ส.ท.ญ.) เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ก่อตั้งโดย สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) เมื่อปี พ.ศ. 2549 ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการจัดอบรมสัมมนาด้านเทคโนโลยีและการจัดการ การให้บริการสอบเทียบเครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรม และวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม การจัดสอนภาษาต่างประเทศ การจัดพิมพ์หนังสือและวารสารทางด้านเทคโนโลยีและการจัดการใหม่ๆ และให้คำปรึกษาแก่สถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรม
สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท.เป็นสถาบันที่ก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือร่วมใจ และความเสียสละของกลุ่มบุคคลที่เคยไปศึกษาและฝึกงานในประเทศญี่ปุ่น โดยมี ฯพณฯ สมหมาย ฮุนตระกูล เป็นประธานคณะกรรมการก่อตั้ง และได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจาก อาจารย์โงอิจิ โฮซุมิ อดีตประธานคณะกรรมการสมาคมความร่วมมือทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น-ไทย ส.ส.ท.ได้รับการสนับสนุนด้านการดำเนินกิจกรรมจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและ อุตสาหกรรม (METI) ประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ส.ส.ท.ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2516 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ แก่บุคลากรไทย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการดำเนินงานของส.ส.ท.มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และสร้างชื่อเสียงในหลายด้าน อาทิเช่น การจัดอบรมสัมมนาด้านเทคโนโลยีและการจัดการ การจัดสอนภาษาต่างประเทศ คือ ภาษาญี่ปุ่น ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน การให้บริการสอบเทียบเครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรมและวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม การจัดพิมพ์หนังสือและวารสารทางด้านเทคโนโลยีและการจัดการใหม่ๆ และให้คำปรึกษาแก่สถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรมมากมาย จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในด้านการฝึกอบรมวิชาการสาขาต่างๆ ให้กับสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ประกอบกับการเป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา จึงทำให้ ส.ส.ท.มีดำริที่จะจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาที่สร้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีเฉพาะทางขึ้น เพื่อป้อนบุคลากรให้แก่สถานประกอบการภาคอุตสาหกรรมของไทย และในปี พ.ศ. 2548 ส.ส.ท.จึงได้ดำเนินโครงการจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาขึ้นในนาม “สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น” โดยใช้คำย่อว่า ส.ท.ญ. หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า “Thai-Nichi Institute of Technology” โดยใช้คำย่อว่า “TNI” แล้วเสร็จพร้อมเปิดรับนักศึกษาในปี พ.ศ. 2550
ฟันเฟือง หมายถึง การพัฒนาที่ต่อเนื่อง ไม่หยุดนิ่ง ซึ่งแสดงว่าเป็นคุณลักษณะของสถาบันฯ ที่เป็นสถาบันการศึกษาด้านเทคโนโลยีที่จะต้องมีความทันสมัย และพัฒนาตนเองให้ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา เพื่อสามารถผลิตบุคลากรได้ตรงกับความต้องการตามกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป
สัญลักษณ์ตัวอักษร A ที่มีรูปทรงคล้ายหน้าจั่วทรงไทย หมายถึง การเป็นสถาบันฯ แห่งภูมิภาคเอเชียที่คงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ส่วนปลายยอดทะลุฟันเฟืองออกไป แสดงถึงองค์ความรู้และปัญญาที่ไม่มีกรอบ ไม่มีพรมแดน ซึ่งแทนความเป็นสถานศึกษาด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่ไร้พรมแดน
สีน้ำเงิน เป็นสีประจำ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ซึ่งเป็นองค์การผู้ก่อตั้งและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์นอกจากนี้สีน้ำเงินยังหมายถึง สติปัญญา ความกว้างไกล ความสูงส่งและมีเกียรติ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งที่ต้องการให้สถาบันฯ แห่งนี้ เป็นสถานศึกษาที่ส่งเสริมการศึกษาของบุคลากรของไทยให้มีวิสัยทัศน์ ความรู้และสติปัญญาที่กว้างไกล สามารถนำความรู้ไปปฏิบัติได้ด้วยความภาคภูมิ ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรี
สีแดง เป็นสีของพระอาทิตย์และทิศตะวันออก ซึ่งบ่งบอกความเป็นสถาบันฯ ที่มุ่งสั่งสมและถ่ายทอดความรู้ แนวคิด ปรัชญา และเทคโนโลยีตะวันออก โดยเฉพาะจากญี่ปุ่น นอกจากนี้สีแดง ยังเป็นสีแห่งความเจริญรุ่งเรือง ความสำเร็จ และคุณธรรม ซึ่งถือเป็นเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งที่ต้องการให้บัณฑิตที่จบจากสถาบันฯ เป็นบุคลากรที่มีคุณธรรม มีความสำเร็จ สามารถสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่ตนเอง องค์การ และประเทศชาติ
ปัจจุบัน สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น เปิดหลักสูตรปริญญาตรีและปริญญาโท โดยมี 3 คณะที่บริหารหลักสูตรและดำเนินการจัดการเรียนการสอน คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ (Faculty of Engineering) คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ (Faculty of Information Technology) และคณะบริหารธุรกิจ (Faculty of Business Administration)
- ผลิตนักศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติตามแนวคิด (????? monodzukuri) ทำให้นักศึกษามีความรู้ความสามารถตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
- ฝึกงานจริงในสถานประกอบการ จบแล้วมีโอกาสได้งานทำทันที นักศึกษามีโอกาสได้เลือกฝึกงานในสถานประกอบการในส่วนที่ตนเองถนัด และสนใจเป็นเวลา 1 ภาคเรียน ทำให้มีประสบการณ์ทำงาน และมีโอกาสที่จะได้รับการว่าจ้างงานต่อในบริษัทนั้นๆเมื่อเรียนจบ
- เน้นภาษาญี่ปุ่นและภาษาอังกฤษ การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับชาวต่างประเทศ และทางสถาบันได้มีการมุ่งเน้นไปที่บริษัทญี่ปุ่น จึงมีการเรียนภาษาญี่ปุ่นเป็นวิชาบังคับอีกหนึ่งภาษา นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ
- มีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น ทางสถาบันได้มีการทำสัญญาร่วมมือทางการศึกษา (MOU) กับมหาวิทยาลัยในประเทศญี่ปุ่น นักศึกษาจะมีโอกาสไปศึกษาต่อยังประเทศญี่ปุ่น
- มีทุนการศึกษาสนับสนุนจากองค์กรและบริษัทต่างๆ สถาบันได้รับการสนับสนุนทางด้านอุปกรณ์ สถานที่ฝึกงาน และเงินทุนจากองค์กรและบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทญี่ปุ่น มากกว่า200องค์กร
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น