สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (อังกฤษ: Central Institute of Forensic Science; ย่อ: CIFS) เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม มีบทบาทหน้าที่ในด้านนิติวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นการตรวจพิสูจน์หลักฐานด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์เพื่อประกอบการดำเนินคดี รวมถึงการกำกับมาตรฐานการปฏิบัติงานให้อยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน
สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 มีฐานะเทียบเท่ากรมของกระทรวงยุติธรรม เริ่มให้บริการนิติเวชบริการเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2545
การจัดตั้งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 75 ที่บัญญัติให้รัฐดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล จัดระบบงานของกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพและอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนได้อย่างรวดเร็วและเท่าเทียมกัน ขณะเดียวกันต้องสนองตอบนโยบายของรัฐบาลด้วย โดยคณะรัฐมนตรีได้แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2544 ด้านการพัฒนากระบวนการยุติธรรมและการปฏิรูปกฎหมาย เรื่อง เร่งรัดการจัดโครงสร้างกระทรวงยุติธรรมให้มีบทบาทและหน้าที่ครอบคลุมกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ ทำให้มีการจัดตั้งสถาบันแห่งนี้ขึ้น
งานด้านนิติวิทยาศาสตร์มีความสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการยุติธรรมที่ต้องมีการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ หากมีระบบการตรวจเก็บหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพน่าเชื่อถือ จะทำให้กระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพ ผู้กระทำผิดก็จะถูกลงโทษตามกฎหมาย สังคมจะมีความสงบเรียบร้อยขึ้น เนื่องจากปัจจุบันคดีอาชญากรรมต่าง ๆ ทวีความรุนแรงขึ้น การรับฟังพยานบุคคลไม่อาจทำให้นำคนผิดมาลงโทษได้เต็มที่ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์จะมีหลักการและมีความถูกต้องน่าเชื่อถือมากกว่าพยานบุคคล
แต่ที่ผ่านมา งานบริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มคนด้อยโอกาส งานบางงานในกรุงเทพมหานคร ประชาชนยังได้รับการบริการไม่ทั่วถึงทุกคดี และไม่สามารถให้บริการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ประกอบกับงานบริการด้านนิติวิทยาศาสตร์กระจัดกระจายอยู่ในหลายหน่วยงานเช่นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทบวงมหาวิทยาลัย กระทรวงสาธารณสุข สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม โดยเฉพาะในอดีตที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานใดทำหน้าที่ประสานงานโดยตรงและกำหนดมาตรฐานกลางที่จะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือของงานด้านนิติวิทยาศาสตร์
ดังนั้น การจัดตั้งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์จึงช่วยให้งานนิติวิทยาศาสตร์ของไทยมีประสิทธิภาพเข้าสู่ความเป็นมาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยรวม
นอกจากนี้ยังมีภารกิจรับเรื่องราวร้องทุกข์ ในการตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์ทุกๆ สาขาซึ่งขณะนี้ทางสถาบันเปิดให้การบริการตรวจพิสูจน์เอกสารและการปลอมแปลง เช่น การตรวจพิสูจน์ลายมือเขียน ลายมือชื่อ ลายพิมพ์นิ้วมือในเอกสารต่างๆ ให้กับศาลทั่วประเทศ หน่วยงานในสังกัดของกระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม รัฐวิสาหกิจหรือเอกชนที่ร้องขอ เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน อันจะทำให้เกิด ความโปร่งใสและมีการตรวจสอบได้
นอกเหนือจากภารกิจดังกล่าวมาข้างต้น ทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ยังมีหน้าที่ร่วมสนับสนุนและพัฒนาหลักสูตรทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มประสานให้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดหลักสูตรนิติวิทยาศาสตร์ ในระดับปริญญาโท ร่วมกับมหาวิทยาลัยสตราทไคลด์ของอังกฤษ ซึ่งเป็นหลักสูตรชั้นนำของโลก ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพมานานแล้ว ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งก็กำลังเริ่มพัฒนาหลักสูตรทางด้านนี้ เช่น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก