สถานีโทรทัศน์ เป็นหน่วยงาน ที่เป็นเจ้าของคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์ หรือเป็นผู้รับสัมปทานคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์ รวมถึงเป็นผู้จัดสรรเวลาในการออกอากาศวิทยุโทรทัศน์ ผ่านคลื่นความถี่ดังกล่าว เป็นบริการส่งสัญญาณออกอากาศวิทยุโทรทัศน์ ไปสู่เครื่องรับโทรทัศน์ โดยผ่านคลื่นความถี่ทางอากาศ โดยมากจะอยู่ในรูปของนิติบุคคล บริษัทจำกัด
บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน (Terrestrial Television Services) เป็นการดำเนินงานออกอากาศวิทยุโทรทัศน์ ด้วยการส่งสัญญาณคลื่นไปตามอากาศ (มิใช่ส่งขึ้นสู่ชั้นอวกาศ) ซึ่งสามารถใช้เสาอากาศรับสัญญาณคลื่นดังกล่าว เพื่อใช้เครื่องรับโทรทัศน์แปลงเป็นสัญญาณโทรทัศน์เพื่อรับชมได้ทันที โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพื่อเข้าถึงการรับชมแต่อย่างใด
สำหรับในประเทศไทย คลื่นความถี่โทรทัศน์ภาคพื้นดิน เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีหน่วยราชการ, รัฐวิสาหกิจในรูปบริษัทมหาชน หรือหน่วยงานของรัฐ เป็นเจ้าของคลื่นความถี่ หรืออาจทำสัญญาสัมปทาน ร่วมกับนิติบุคคลภาคเอกชน เพื่อมอบสิทธิให้เป็นผู้ดำเนินกิจการก็ได้
วุฒิสภาไทย ลงมติให้ผ่านร่างพระราชบัญญัติ การประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นผลให้เปลี่ยนแปลงระบบคลื่นความถี่ จากเดิมที่ใช้สัญญาณแอนะล็อกไปสู่การเป็นโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ภายใน พ.ศ. 2558 โดยจะใช้ระบบโทรทัศน์ความละเอียดสูงจำนวนหนึ่ง ตามขีดความสามารถเท่าที่มีในระยะแรก
ต่อมา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) วางแผนแม่บทโทรทัศน์ระบบดิจิตอล โดยกำหนดให้มีบริการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 48 ช่อง โดยแบ่งเป็นกลุ่มช่องรายการเชิงธุรกิจ 24 ช่อง โดยมี 7 ช่องโทรทัศน์ความละเอียดสูง เป็นรายการทั่วไปทั้งหมด นอกนั้นเป็นช่องโทรทัศน์ความละเอียดมาตรฐาน ประกอบด้วย 7 ช่องรายการทั่วไป, 7 ช่องรายการประเภทข่าว และ 3 ช่องรายการเด็ก/เยาวชน ส่วนกลุ่มช่องรายการเพื่อบริการสาธารณะ 12 ช่อง จะจัดสรรให้สถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินเดิม 3 ช่องรายการ อีกส่วนหนึ่งจำแนกตามหมวดต่างๆ ดังต่อไปนี้คือ การส่งเสริมความเข้าใจระหว่างรัฐบาลและรัฐสภากับประชาชน, การส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย, ความมั่นคงของรัฐ, ความปลอดภัยสาธารณะ, เด็ก และครอบครัว (ซึ่ง กสทช.หารือเบื้องต้นว่าจะให้ไทยพีบีเอสดำเนินการเพิ่มอีกช่องหนึ่ง), การศึกษา และความรู้, ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม, สุขภาพ กีฬา และคุณภาพชีวิต, บุคคลด้อยโอกาส และเยาวชน โดยกลุ่มช่องรายการเพื่อบริการชุมชนและภูมิภาคอีก 12 ช่อง ยังไม่มีการกำหนดสัดส่วนของหมวดหมู่ โดยประมาณการว่าจะเริ่มประมูลได้ ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน พ.ศ. 2556
สำหรับสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินเดิม ซึ่งมีสถานะเป็นช่องรายการเชิงธุรกิจ (คือไทยทีวีสีช่อง 3, ช่อง 7 สี และโมเดิร์นไนน์ทีวี) จะต้องเข้าประมูลช่องรายการเชิงธุรกิจ ทั้งนี้ กสทช.อนุญาตให้ทดลองออกอากาศ โดยเข้าใช้สัญญาณ ในส่วนรายการชุมชนและภูมิภาค ไปพลางก่อนได้ เมื่อคลื่นความถี่พร้อมสำหรับการออกอากาศแล้ว ส่วนสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินเดิม ซึ่งมีสถานะเป็นช่องรายการเพื่อสาธารณะ (คือ ททบ.5, สทท. และไทยพีบีเอส) กสทช.จะอนุญาตให้เข้าใช้สัญญาณ ในส่วนช่องรายการเพื่อสาธารณะได้ เมื่อคลื่นความถี่พร้อมสำหรับการออกอากาศแล้ว
อนึ่ง องค์กรธุรกิจที่คาดว่าจะเข้าร่วมการประมูล ในส่วนช่องรายการข่าว ได้แก่ บมจ.อสมท (เอ็มคอททีวี), บมจ.เนชั่นบรอดแคสติงคอร์ปอเรชัน (เนชั่นแชนแนล), บมจ.ทรูวิชันส์ (ทีเอ็นเอ็น), บจก.สปริงคอร์ปอเรชัน (สปริงนิวส์), บจก.เทรนด์วีจีทรี (ไทยรัฐทีวี), บจก.สี่พระยาการพิมพ์ (เดลินิวส์ทีวี) บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน)(สยามกีฬา) เป็นต้น ส่วนช่องรายการทั่วไป ได้แก่ บจก.บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ (ไทยทีวีสีช่อง 3), บจก.กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ (ช่อง 7 สี), บมจ.อสมท (โมเดิร์นไนน์ทีวี), บจก.ทรูดิจิตอลคอนเทนต์แอนด์มีเดีย (ทรูไลฟ์), บมจ.เนชั่นมัลติมีเดียกรุ๊ป (คมชัดลึกทีวี), บมจ.เวิร์คพอยท์เอ็นเทอร์เทนเมนท์ (เวิร์คพอยท์ทีวี), บมจ.จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ (จีเอ็มเอ็มบรอดแคสติง) , บมจ.อาร์เอส (ช่อง 8), บมจ.ชินคอร์ปอเรชัน (อินทัช), อมรินทร์พรินติงแอนด์พับลิชชิง, ไอพีเอ็ม (โทรทัศน์เคเบิล),โมโนกรุ๊ป(เอ็มไทย) เป็นต้น ส่วนช่องรายการเด็กและเยาวชน ได้แก่ บมจ.อสมท (เอ็มคอททีวี), บจก.เอฟฟ์ (การ์ตูนคลับ), บจก.โรสมีเดียแอนด์เอ็นเตอร์เทนเมนท์ (แก๊งการ์ตูน), บมจ.เนชั่นอินเตอร์เนชันแนลเอ็ดดูเทนเมนต์ (คิดส์โซน), บมจ.เวิร์คพอยท์เอ็นเทอร์เทนเมนท์ (ช่อง 6 รอบรู้ดูสนุก), บมจ.จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ (จีเอ็มเอ็มบรอดแคสติง), บมจ.ชินคอร์ปอเรชัน (อินทัช) เป็นต้น