สถานีสะพานตากสิน (อังกฤษ: Saphan Taksin Station, รหัส S6) เป็นสถานีรถไฟลอยฟ้า ในเส้นทางรถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา (รถไฟฟ้าบีทีเอส) สายสีลม ยกระดับระหว่างสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน 2 สะพานที่ขนานกัน และคร่อมบริเวณปากคลองสาทร ช่วงริมแม่น้ำเจ้าพระยาถึงจุดตัดถนนเจริญกรุง เป็นสถานีรถไฟฟ้าแห่งเดียวในกรุงเทพมหานครที่เชื่อมต่อกับการสัญจรทางเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ท่าเรือสาทร (Central Pier) เป็นที่ตั้งของศูนย์บริการนักท่องเที่ยวบีทีเอส
เชิงสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนคร ในพื้นที่แขวงสีลม เขตบางรัก และแขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร
สถานีสะพานตากสินเปิดให้บริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542 สถานีนี้เป็นจุดเชื่อมเดินทางที่สำคัญจากพื้นที่ฝั่งธนบุรีในย่านคลองสาน วงเวียนใหญ่ ท่าพระ ภาษีเจริญ บางแค ตลาดพลู จอมทอง และราษฎร์บูรณะ กับส่วนพื้นที่ฝั่งพระนครในย่านบางคอแหลมบางรักและถนนตก ยังรวมไปถึงพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ห่างออกไป เช่น ย่านวังหลัง ปิ่นเกล้า บางพลัดและจังหวัดนนทบุรี อีกด้วยก็เพราะด้วยที่ตั้งสถานีที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตัวสถานีมีท่าเรือสาทรเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญ
สถานีนี้มีเพียง 1 ชานชาลาด้านทิศใต้ ผู้โดยสารที่จะเดินทางไปสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ และผู้ที่จะเดินทางไปสถานีบางหว้า จะใช้ชานชาลาร่วมกันแต่ได้กำหนดให้ตำแหน่งประตูขึ้นรถไม่ตรงกัน โปรดสังเกตเครื่องหมายบอกตำแหน่งประตูที่พื้นชานชาลา โดยตำแหน่งของประตูรถขบวนที่จะมุ่งหน้าไปสถานีบางหว้าจะใช้สัญลักษณ์สีม่วงติดบริเวณที่พื้น ส่วนตำแหน่งของประตูรถขบวนที่จะมุ่งหน้าไปสถานีสนามกีฬาแห่งชาติจะใช้สัญลักษณ์สีเขียว (ทิศทางที่กล่าวมานั้นมองจากชานชาลา)
ประกอบด้วยชั้นขายบัตรโดยสาร และชานชาลาเหมือนสถานีทั่วไปในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่เนื่องจากพื้นที่ค่อนข้างจำกัดที่กว้างเพียง 16.5 เมตร ทำให้เป็นสถานีหนึ่งเดียวที่เป็นแบบชานชาลาข้างเพียงรางเดียว โดยรถไฟฟ้าสามารถผ่านสถานีและข้ามสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ด้วยการสับราง ซึ่งรางคู่จากด้านสถานีสุรศักดิ์ก่อนเข้าสู่ชานชาลาจะมีรางหนึ่งที่กลายเป็นรางตัน ส่วนด้านสถานีกรุงธนบุรีก่อนเข้าสู่ชานชาลาจะเป็นรางคู่ตามปกติแต่ได้มาบรรจบกันก่อนเป็นรางเดียว เนื่องจากสถานีนี้มีความยาวเพียง 115 เมตร ชานชาลาจึงสามารถรองรับขบวนรถได้สูงสุดเพียง 5 ตู้โดยสารเท่านั้น (จากความยาวสถานีปกติ 120 เมตร ที่สามารถรองรับได้ 6 ตู้โดยสาร)
สถานีนี้เป็นสถานีที่มีการบอกกำหนดการรถไฟฟ้าที่จะเทียบเข้าชานชาลาเป็นสถานีแรก โดยบนจอโทรทัศน์จะแสดงไว้ว่า "รถไฟฟ้าขบวนถัดไป... The next train is for..." แล้วตามด้วยชื่อสถานีปลายทางของขบวนนั้นๆ ส่วนรถไฟฟ้าที่จะเทียบชานชาลาและจะมีการแบ่งพื้นที่สำหรับผู้โดยสารที่จะรอรถไฟฟ้า โดยทางไปฝั่งตะวันตก (ไปบางหว้า) จะเป็นสีม่วง แต่ถ้าจะไปฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ (ไปสนามกีฬาแห่งชาติ) จะเป็นสีเขียวเข้ม
เนื่องจากสถานีสะพานตากสิน ตามแผนแม่บท พ.ศ. 2538 เมื่อมีการก่อสร้างส่วนต่อขยายจะต้องมีการทุบสถานีทิ้งและทำเป็นรางรถไฟฟ้าจากสถานีสุรศักดิ์ไปยังสถานีกรุงธนบุรีแทน ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเนื่องจากประชาชนเรียกร้องนั้น กรุงเทพมหานครจึงได้ทำการปรึกษากับกรมทางหลวงชนบท ซึ่งเป็นเจ้าของสะพานสมเด็จพระเจ้าตากสิน เพื่อทำการขยายเลนสะพานอีก 1 เลนทั้งสองข้าง แล้วทำการขยายพื้นที่ชานชาลาของสถานีและสร้างรางเพิ่มอีก 1 ราง (ลักษณะที่เป็นไปได้มากที่สุด คือชานชาลาตรงกลาง) โดยยังไม่มีความคืบหน้าในกรณีนี้ และด้านกรมทางหลวงชนบทก็ไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ด้วย บีทีเอสซีจึงต้องแก้ปัญหาโดยใช้รถไฟฟ้าที่มีความยาวเพิ่มขึ้น และจัดการเดินรถใหม่ตามที่กล่าวมาข้างต้น
แต่มติที่ประชุมของกรุงเทพมหานคร มีมติให้ดำเนินการก่อสร้างทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ (Skywalk) แบบปรับอากาศตั้งแต่สถานีสะพานตากสินไปจนถึงสถานีสุรศักดิ์ โดยใช้ทางเลื่อนไฟฟ้าทั้งเส้น และจะมีการก่อสร้างทางขึ้นลงตลอดเส้นทาง จากนั้นจะให้รื้อถอนชานชาลาสถานีสะพานตากสิน เพื่อดำเนินการก่อสร้างรางรถไฟฟ้าต่อไป โดยจะทำการรื้อถอนชานชาลา รวมถึงโครงสถานีด้านบน ส่วนพื้นที่ชั้นจำหน่ายตั๋วของสถานีสะพานตากสินยังคงเปิดบริการตามปกติ เพื่อสามารถให้บริการจากช่วงสะพานตากสิน - สุรศักดิ์ ได้อย่างเข้าถึง โดยจะมีกำหนดการทุบชานชาลาในกลางปี พ.ศ. 2557 หลังสร้างทางเดินเลื่อนอัตโนมัติ ไปจนถึงสถานีสุรศักดิ์ให้เสร็จสิ้นก่อน โดยขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะมีการทุบสถานีสะพานตากสินเพื่อสร้างทางเดินเลื่อนอัตโนมัติหรือไม่