สถานีสยาม (อังกฤษ: Siam Station, รหัส CEN) เป็นสถานีรถไฟลอยฟ้า ในเส้นทางรถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา (รถไฟฟ้าบีทีเอส) ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนเส้นทางระหว่างสายสุขุมวิท และสายสีลม ยกระดับเหนือถนนพระรามที่ 1 กรุงเทพมหานคร ใจกลางย่านการค้าสยามสแควร์
ถนนพระรามที่ 1 ระหว่างสี่แยกปทุมวัน (จุดบรรจบถนนพระรามที่ 1 และถนนพญาไท) และสามแยกเฉลิมเผ่า (จุดบรรจบถนนพระรามที่ 1 และถนนอังรีดูนังต์ หน้าศูนย์การค้า สยามสแควร์, สยามพารากอน และ สยามเซนเตอร์ ในพื้นที่แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
เป็นสถานีแห่งเดียวในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่เป็นแบบชานชาลาตรงกลาง (Central Platform) และมีรถไฟฟ้าวิ่งอยู่ 2 ข้าง ซึ่งการก่อสร้างยุ่งยาก แต่มีประสิทธิภาพสูง เหมาะสำหรับการเปลี่ยนขบวนรถระหว่างสายสุขุมวิทและสายสีลม และเนื่องจากต้องรองรับผู้โดยสารมากเป็นพิเศษ จึงมีขนาดใหญ่กว่าขนาดสถานีมาตรฐาน กว้าง 21 เมตร ยาว 192 เมตร
ตัวสถานีมี 3 ชั้น ประกอบด้วยชั้นจำหน่ายตั๋ว, ชานชาลาชั้นล่างสำหรับขบวนรถมุ่งหน้าสถานีชิดลมและราชดำริ และชานชาลาชั้นบนสำหรับขบวนรถมุ่งหน้าสถานีราชเทวีและสนามกีฬาแห่งชาติ ซึ่งในปัจจุบันชั้นจำหน่ายตั๋วถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน เพื่อให้ทางออกที่ 3 ไปยังห้างสยามพารากอน และทางออกที่ 4 ไปยังป้ายรถประจำทางหน้าศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน สามารถเดินข้ามถนนถึงกันได้
สถานีสยามเป็นสถานีนำร่องในการติดตั้งประตูกั้นชานชาลาแบบครึ่งความสูง ซึ่งปัจจุบันได้ติดตั้งและเปิดใช้งานแล้วทุกชานชาลา
จุดรวมพลอยู่ที่ทางออก 5 หน้าทางเข้าสยามโอเชี่ยนเวิลด์ในสยามพารากอน และทางออก 3 บริเวณลานพาร์คพารากอน
สถานีสยาม มีทางเดินเชื่อมใต้รางรถไฟฟ้า หรือสกายวอล์ก (Sky Walk) ขนาดกว้าง 7.5 เมตร ยาว 513 เมตร เชื่อมต่อกับห้างเซ็นทรัลเวิลด์, สี่แยกราชประสงค์ และสถานีชิดลม โดยบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ได้ลงทุนประมาณ 260 ล้านบาท เพื่อสร้างทางเชื่อมต่อโครงการเซ็นทรัลเวิลด์กับรถไฟฟ้าทั้ง 2 สถานี มีจุดเริ่มต้นจากสะพานลอยสามแยกเฉลิมเผ่า (ทางออกที่ 6 ของสถานีสยาม) เชื่อมต่อสยามพารากอน กับ ดิออฟฟิศเซส แอท เซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลเวิลด์, เกษรพลาซ่า, โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ, เอราวัณ บางกอก, อาคารอัมรินทร์ พลาซ่า และอาคารมณียา เซ็นเตอร์ ทำให้ย่านการค้าบริเวณสถานีสยามเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกันกับย่านสี่แยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นย่านการค้าที่สำคัญของกรุงเทพมหานครเช่นเดียวกันมากขึ้น
สถานีสยามมีมาตรการสำหรับเวลาเร่งด่วน ได้แก่เวลา 6:00–9:00 น. และ 17:00–22:00 น. ทางสถานีได้ประกาศข้อกำหนดให้ผู้โดยสารทุกคนจำเป็นต้องปฏิบัติตามเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารในช่วงเวลาเร่งด่วนทั้งนี้อาศัยอำนาจตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ว่าด้วยความปลอดภัยในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สิน การรักษาความสงบเรียบร้อย ความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในเขตระบบรถไฟฟ้า พ.ศ. ๒๕๔๗ ประกอบพระราชบัญญัติ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๗๗ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงซึ่งออกตามมาตรา ๖๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เนื่องจากบริเวณชานชาลาที่ 1 (มุ่งหน้าไปแบริ่ง) สามารถมองลงไปยังลานพาร์คพารากอนได้ และที่บริเวณดังกล่าวมักจะมีการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศิลปินและดาราอยู่บ่อยๆ ทำให้มีประชาชนบางส่วนเลือกที่จะไม่เข้าไปแออัดอยู่ในบริเวณดังกล่าว แต่เลือกที่จะเสียค่าโดยสารอัตราต่ำสุด (15 บาท) แล้วขึ้นไปยืนดูในบริเวณสถานี หรือบริเวณชานชาลาที่ 1 แทน แต่เนื่องจากเป็นเวลาที่อยู่ในระหว่างรถไฟฟ้าเปิดให้บริการ บีทีเอสซีจึงใช้วิธีการนำรั้วกั้นมากันบริเวณปลายชานชาลาของสถานี และจัดเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่ในบริเวณดังกล่าว แต่ทั้งนี้ก็ยังคงเก็บค่าปรับเกินเวลา (คิดจากอัตราค่าโดยสารสูงสุดในขณะนั้น คือ 55 บาท) สำหรับผู้ที่อยู่ในสถานีนานเกิน 120 นาทีเหมือนผู้โดยสารปกติทั่วไป[ต้องการอ้างอิง]