สถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (City Air Terminal - CAT) หรือสถานีมักกะสันแห่งใหม่ หรือสถานีมักกะสัน (อโศก) เป็นสถานีรถไฟฟ้าในเส้นทางระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Suvarnabhumi Airport Rail Link - SARL) โดยเป็นสถานีต้นทางของรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สาย Express Line (Suvarnabhumi Airport Rail Link Express Line) ซึ่งจะวิ่งตรงจากมักกะสันสู่สถานีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยไม่แวะสถานีรายทาง ระยะทาง 25.7 กิโลเมตร ใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที (ต่างจากรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สาย City Line (Suvarnabhumi Airport Rail Link City Line) ที่แวะจอดรายทางจากสถานีพญาไทถึงสุวรรณภูมิ) สถานีแห่งนี้เป็นสถานีเดียวในระบบรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานฯ ที่มีจอแสดงผลข้อมูลเที่ยวบินตรงจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิติดตั้งอยู่ และเป็นสถานีที่ผู้โดยสารสามารถมาเช็คอินและโหลดกระเป๋าได้
บนแนวเส้นทางรถไฟทางไกลสายตะวันออก ถัดจากสถานีรถไฟมักกะสันเดิมและสถานีราชปรารภ บริเวณจุดตัดถนนกำแพงเพชร 7 กับถนนรัชดาภิเษก (อโศก-ดินแดง) ฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ ในพื้นที่แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
ในแผนระยะแรกของสถานีมักกะสันนั้น จะเชื่อมต่อกับสถานีเพชรบุรีของรถไฟฟ้ามหานครที่ชั้น B ของตัวอาคาร กับชั้นศูนย์การค้าของสถานี แต่เนื่องจากว่าเมื่อสำรวจเส้นทางแล้ว พบว่าเส้นทางดังกล่าวนั้น มีท่อส่งน้ำมันของปตท. ตามแนวทางรถไฟสายตะวันออก, ท่อเมนน้ำประปาของการประปานครหลวง และท่อน้ำทิ้งลงคลองแสนแสบของกรุงเทพมหานคร ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยรื้อย้ายจากจุดเดิมเพื่อก่อสร้างสถานีเพชรบุรี ขวางอยู่ จึงทำให้การขุดเจาะตัวสถานี MRT ไม่สามารถทำได้ จึงเปลี่ยนแผนจากเดิมมาเป็น Skywalk จากลานจอดรถของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย มาเชื่อมต่อที่ชั้น 3 ของสถานีแทน
ปัจจุบัน ผู้โดยสารสามารถเดินผ่านทางเชื่อมรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สถานีมักกะสัน ไปยังรถไฟฟ้าใต้ดินได้แล้ว โดยมีระยะทาง 166 เมตร จากชั้น 2 ฝั่งรถไฟฟ้าสาย City Line ไปสิ้นสุดที่ รถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีเพชรบุรี ทางออก 1 เพื่อเป็นการเพิ่มความสะดวกในการเดินทางแก่ผู้โดยสารทั่วไป ผู้โดยสารพิการ และผู้โดยสารที่มีสัมภาระขนาดใหญ่ และเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางให้มีมากยิ่งขึ้น อีกทั้งบริเวณทางเชื่อมได้มีการติดกล้องวงจรปิดเป็นระยะๆ และเพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำจุด รวมถึงมีการติดไฟให้แสงสว่างอย่างเพียงพอ ซึ่งได้เปิดให้บริการตั้งแต่ 10 สิงหาคม 2556 เป็นต้นมา
ที่สถานีมักกะสัน ผู้โดยสารที่ต้องการต่อเครื่องบินเพื่อเดินทางภายในหรือต่างประเทศ สามารถเข้ามาเช็คอินได้ที่จุดเช็คอิน ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าของทางเข้าชานชาลาสาย Express Line ปัจจุบันมีเพียงแค่จุดเช็คอินของการบินไทย (TG) และการบินไทยสมายล์ (WE) ที่เปิดให้บริการ โดยผู้โดยสารสามารถทำการเช็คอินไฟลต์บินทุกไฟลต์และโหลดกระเป๋าขึ้นเครื่องของการบินไทยได้ที่นี่ ยกเว้น เที่ยวบินที่จะไปสหรัฐอเมริกา (LAX) ผู้โดยสารที่มีน้ำหนักของกระเป๋าเกินขนาด ผู้โดยสารที่ต้องการขอความช่วยเหลือเป็นพิเศษ และผู้โดยสารที่ต้องการเช็คอินไฟลต์ต่อเนื่องโดยเริ่มต้นจากไฟลต์ของการบินไทย ผู้โดยสารเหล่านี้จะต้องไปเช็คอินที่จุดเช็คอินในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเช่นเดิม โดยจุดเช็คอินนี้จะเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 9:00 น. - 17:00 น. (เนื่องจากรถไฟฟ้าด่วนปรับเวลาให้บริการเป็น 10:00 น. - 18:00 น. และให้บริการอีกครั้งในเวลา 22:00 น. - เวลาปิดบริการ) และจะปิดจุดเช็คอินก่อนเครื่องออก 3 ชั่วโมงเพื่อให้เดินทางไปถึงเกทได้ทัน และสามารถเช็คอินเที่ยวบินช่วงกลางคืน (ตั้งแต่ 0:00 น. - 1:20 น.) ได้ทุกเที่ยวบิน แต่เที่ยวบินตั้งแต่เวลา 5:00 น. - 9:50 น. จะไม่สามารถเช็คอินที่มักกะสันได้
เงื่อนไขการเช็คอินและโหลดกระเป๋าที่สถานีมักกะสันก็คือ ถึงจะขึ้นหรือไม่ขึ้นรถไฟฟ้าผู้โดยสารจะต้องเสียค่าโดยสารเป็นจำนวนเงิน 90 บาท โดยจะต้องซื้อเหรียญโดยสารที่ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสารและขอรับใบเสร็จก่อน เมื่อดำเนินการขั้นตอนนี้เสร็จแล้วผู้โดยสารจะได้เหรียญโดยสารสีฟ้าพร้อมใบเสร็จ ให้นำใบเสร็จพร้อมเอกสารไปทำการเช็คอิน ผู้โดยสารจะได้รับใบเสร็จที่ประทับตราของสายการบินเสร็จสิ้นพร้อม Boarding Pass เมื่อการเช็คอินเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว ผู้โดยสารจะต้องหยอดเหรียญเข้าระบบ แล้วเลือกว่าจะขึ้นรถไฟฟ้า หรือขอประทับตรา Re-Entry ในใบเสร็จ เพื่อสามารถเข้าระบบผ่านสวิงเกตได้อีกครั้ง แต่สำหรับผู้ที่มีบัตรโดยสาร ARL SmartPass ผู้โดยสารจะต้องแตะบัตรเพื่อให้ระบบหักเงินในบัตรก่อน แล้วจึงขอรับคูปองเพื่อนำไปดำเนินการเช็คอินต่อไป
ในปัจจุบัน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และการรถไฟแห่งประเทศไทย กำลังร่วมกันหารือเพื่อรื้อฟื้นจุดเช็คอินที่มักกะสันขึ้น โดยแนวทางที่ชัดเจนแล้วก็คือจะรณรงค์ให้กรุ๊ปทัวร์ต่างประเทศทุกกรุ๊ปไปทำการเช็คอินที่สถานีมักกะสันแทนการเช็คอินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการลดความแออัดของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิลง โดยสายการบินเกือบทุกสายเห็นด้วยกับแนวทางนี้ แต่ยังต้องรอนโยบายการใช้งานพื้นที่สถานีจากการรถไฟแห่งประเทศไทยต่อไป
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/สถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง