สถานีช่องนนทรี (อังกฤษ: Chong Nonsi Station, รหัส S3) เป็นสถานีรถไฟฟ้าในเส้นทางรถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา (รถไฟฟ้าบีทีเอส) สายสีลม ยกระดับคร่อมคลองช่องนนทรี เหนือถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ในพื้นที่เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ใจกลางย่านธุรกิจถนนสาทรและสีลม เป็นจุดเชื่อมต่อกับรถโดยสารด่วนพิเศษ (Bangkok BRT) สายสาทร-ราชพฤกษ์ ที่สถานีสาทร
อยู่บนถนนนราธิวาสราชนครินทร์ บริเวณซอยพิพัฒน์ 2 (ย่านการค้าซอยละลายทรัพย์) ระหว่างแยกสีลม-นราธิวาส และแยกสาทร-นราธิวาส ในพื้นที่แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร โดยมีสะพานทางเดินยกระดับข้ามสี่แยกสาทร-นราธิวาส เชื่อมต่อกับรถโดยสารด่วนพิเศษ (Bangkok BRT) สายสาทร-ราชพฤกษ์ ของกรุงเทพมหานครที่สถานีต้นทางสาทร บนถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ใกล้ถนนสาทรใต้
บริเวณที่ตั้งของสถานีช่องนนทรีถือเป็นจุดเชื่อมเดินทางที่สำคัญ เนื่องจากประชาชนจากย่านถนนพระรามที่ 3 ในพื้นที่เขตยานนาวาและบางคอแหลมสามารถเดินทางมาตามถนนนราธิวาสฯราชนครินทร์ เข้าสู่ใจกลางเมืองได้โดยตรง จึงเคยมีการวางแผนให้สถานีแห่งนี้เป็นต้นทางของโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอส สายช่องนนทรี-พระรามสาม ตามแนวถนนนราธิวาสราชนครินทร์ แต่ได้ยกเลิกโครงการไปในเวลาต่อมา ก่อนที่จะเกิดเป็นระบบรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) ตามแนวถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ในปัจจุบัน
เป็นแบบมีชานชาลาอยู่ 2 ข้าง (side platform station) ขนาดมาตรฐาน กว้างประมาณ 20 เมตร ยาวประมาณ 150 เมตร ประกอบด้วยชั้นขายบัตรโดยสาร และชานชาลา
ปัจจุบัน สถานีช่องนนทรีมีโครงการทำพื้นที่ในการติดตั้งประตูกั้นชานชาลาแบบ Half Height Platform Screen Door เหมือนสถานีสยาม ซึ่งปัจจุบันได้ก่อสร้างเสร็จแล้ว
สำหรับทางเข้า-ออกที่ 3 และ 4 นอกจากจะเชื่อมต่อกับทางเท้าสองฝั่งถนนนราธิวาสฯ แล้ว ยังมีบันไดทางลงสู่เกาะกลางถนนริมคลองช่องนนทรี ซึ่งสร้างเตรียมไว้เป็นจุดจอดรถในโครงการรถประจำทางชิดเกาะกลางถนนในอดีตอีกด้วย แต่ปัจจุบันไม่ได้ใช้งานแม้ได้เปลี่ยนมาเป็นระบบรถโดยสารด่วนพิเศษ (บีอาร์ที) แล้วก็ตาม เพราะเส้นทางของรถโดยสารดังกล่าวสิ้นสุดที่แยกสาทร-นราธิวาสใกล้ถนนสาทรใต้เท่านั้น ไม่ได้เดินรถผ่านทางแยกจนถึงจุดจอดรถใต้สถานีดังกล่าว เนื่องด้วยทางกรุงเทพมหานครผู้ดำเนินโครงการเห็นว่าการเดินรถผ่านทางแยกจะส่งผลกระทบต่อสภาพการจราจรแยกสาทร-นราธิวาสซึ่งติดขัดอยู่ก่อนแล้ว