บทบาทของสตรีในประเทศไทยนั้นได้เพิ่มขึ้นกว่าในอดีตอย่างมากและพบว่า ผู้หญิงได้รับการยอมรับในสังคมมากขึ้น โดยประเทศไทยเป็นประเทศแรก ๆ ในทวีปเอเชียที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2475 อย่างไรก็ดี บทบาทด้านการพัฒนาชาติยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก ผู้หญิงยังคงมีบทบาทน้อยในการเมืองไทย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมาจากความตระหนักเรื่องความเท่าเทียมทางเพศที่ไม่เพียงพอและจากทัศนคติของสังคม อย่างไรก็ดีพวกเธอก็ยังได้รับการยอมรับจากสังคมในภาพรวมมากกว่าบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ[ต้องการอ้างอิง]
ถึงแม้ว่าจะไม่มีข้อจำกัดทางกฎหมาย ก็ยังมีปัจจัยอีกหลายประการที่ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถมีบทบาททางการเมืองได้อย่างเต็มที่ ซึ่งได้แก่ การกีดขวางทางโครงสร้าง อุปสรรคทางวัฒนธรรม รวมทั้งมีคุณวุฒิ สถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่ต่ำกว่า วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2492 อรพินท์ ไชยกาล (ภรรยาเลียง ไชยกาล อดีตรัฐมนตรีและสมาชิสภาผู้แทนราษฎร) เป็นสตรีไทยคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรในรัฐสภาไทย ต่อมาวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ซึ่ง เลอศักดิ์ สมบัติศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ วิมลศิริ ชำนาญเวช รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย เป็นสตรีไทยสองคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม แม้เวลาจะล่วงมาถึงพุทธทศวรรษ 2540 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นหญิงยังมีไม่ถึงร้อยละ 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด โดยเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 28 อย่างเป็นทางการ ซึ่งนับว่าเป็นสตรีไทยคนแรก ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขฝ่ายบริหารของไทย
ในแวดวงการประกอบการ ประชากรผู้หญิงไทยคิดเป็นแรงงาน 47% ของทั้งประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนผู้หญิงทำงานที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงไทยยังเผชิญกับปัญหาการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและความไม่เท่าเทียมทางเพศในเรื่องค่าจ้างเนื่องจากผู้หญิง "กระจุกตัวอยู่ในงานรายได้ต่ำ" ในด้านสวัสดิการหญิง ผู้หญิงไทยบางคนยังมีแนวโน้มที่จะตกเป็นเหยื่อของการถูกสามีข่มขืน การค้ามนุษย์ การค้าประเวณี และรูปแบบอื่นของความรุนแรงในครัวเรือนและอาชญากรรมทางเพศ
ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ผู้หญิงไทยเฉลี่ยแล้วสมรสโดยมีอายุน้อยกว่าชาย และครัวเรือน 24% ที่ระบุว่าหญิงเป็น "หัวหน้าครอบครัว" ในปี พ.ศ. 2550 เดอะนิวยอร์กไทมส์รายงานว่า หลังสงครามเวียดนาม ประเทศไทยได้กลายมาเป็นจุดหมายของ "แหล่งพักผ่อนและสันทนาการ" และ "การท่องเที่ยวทางเพศ" สำหรับชายต่างประเทศ ซึ่งบางครั้งส่งผลให้มีการแต่งงานกับหญิงไทย ในหมู่ชายต่างประเทศที่มาแต่งงานเหล่านี้เป็นชายจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาซึ่งแสวงหาคู่และการปลดภาระทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเกษียณ ขณะที่หญิงไทยแต่งงานกับชายต่างประเทศเพื่อชดใช้ชีวิตที่ผ่านมาที่เคยเป็นโสเภณี จากการถูกทิ้งโดยอดีตคนรัก และเป็นทางหนีจาก "ความยากจนและความไม่มีความสุข" แต่ไม่ใช่หญิงไทยทุกคนที่แต่งงานกับชายต่างประเทศจะเคยเป็นโสเภณีมาก่อน
สังคมไทยในอดีตเป็นแบบ "ผัวเดียวหลายเมีย" หมายความว่า ชายมีสถานะเหนือหญิงในทุกด้าน ในสมัยสุโขทัย ตำหนิชายที่มีชู้กับภรรยาคนอื่น แต่ไม่ห้ามชายมีภรรยาหลายคน ต่อมา ในสมัยอยุธยา กฎหมายลักษณะผัวเมีย พ.ศ. 1904 ยังได้แบ่งภรรยาออกเป็น 3 ประเภท และชายจะมีภรรยากี่คนก็ได้ ทั้งยังมีภาษิตที่ว่า "ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน" ซึ่งต่อมารัชกาลที่ 4ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่าไม่ยุติธรรม ให้ยกเสีย เนื่องจากกรณีถวายฎีกาของอำแดงเหมือน จนกระทั่ง พ.ศ. 2478 จึงมีกฎหมายให้ชายมีภรรยาได้เพียงคนเดียว
สำหรับบทบาทด้านการเมือง สตรีสมัยอยุธยามีบทบาททางการเมืองอยู่ไม่มากก็น้อย ซึ่งพงศาวดารอยุธยาเน้นว่าการเข้าสู่อำนาจของหญิงนำมาซึ่งความเสื่อมเสียและความยุ่งยาก ดังเช่นกรณีท้าวศรีสุดาจันทร์ หญิงยังถูกใช้เป็นเครื่องมือแห่งอำนาจ คือ การแต่งงานเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง เป็นตัวประกัน และเป็นบำเหน็จในราชการสงคราม นอกจากนี้ ยังมีตำนานว่า สมเด็จพระศรีสุริโยทัยและท้าวสุรนารีเป็นวีรสตรีผู้สร้างวีรกรรมในประวัติศาสตร์
หญิงเริ่มมีบทบาททางเศรษฐกิจและสังคมยิ่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยหญิงได้เป็นกำนันตลาดหรือนายอากรตลาดในรัชกาลที่ 2 มีผลงานสร้างสรรค์บทกวี และบางคนได้เรียนหนังสือ พระราชบัญญัติเรื่อง "ผัวขายเมีย บิดามารดาขายบุตร พ.ศ. 2410" ห้ามไม่ให้สามีขายภรรยาหากภรรยาไม่ยินยอม หลังจากนั้นก็มีการเรียกร้องสิทธิสตรีขึ้น มีหนังสือพิมพ์สตรีเกิดขึ้นหลายฉบับ
สถานภาพของหญิงในสังคมดีขึ้นเป็นลำดับโดยเฉพาะหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 รัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกได้ให้สิทธิแก่ชายและหญิงในการเลือกตั้ง หญิงได้รับเลือกเป็นผู้ปกครองส่วนท้องถิ่นครั้งแรกใน พ.ศ. 2478 พ.ศ. 2525 มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้หญิงเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านได้
สตรีมีบทบาทในทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก โดยอัตราการมีงานทำของสตรีอยู่ที่ร้อยละ 44.1 ใน พ.ศ. 2547 ทำงานในภาคเกษตรกรรมสูงสุด (ร้อยละ 40.4) ตามมาด้วยภาคบริการและอุตสาหกรรม (ร้อยละ 40.2 และ 19.5 ตามลำดับ) สถิติสตรีเป็นนายจ้าง ลูกจ้าง และประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้างเพิ่มขึ้น และช่วยเศรษฐกิจในครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้างลดลง สตรีมีการศึกษาระดับอุดมศึกษาสูงกว่าชาย สตรียังมีสถิติทำงานในแวดวงราชการสูงกว่าชายโดยอยู่ที่ร้อยละ 60.1