สงครามเจ็ดปี หรือที่เรียกในภาษาเยอรมันว่า สงครามไซลีเซียครั้งที่ 3 (อังกฤษ: Seven Years' War หรือ Third Silesian War) ที่เกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1756 จนถึงปี ค.ศ. 1763 โดยเกี่ยวข้องกับทุกประเทศมหาอำนาจในยุโรป สงครามเจ็ดปีเป็นสงครามระหว่างปรัสเซียและบริเตนใหญ่และกลุ่มนครรัฐเล็กในเยอรมนีที่ต่อต้านฝ่ายพันธมิตรที่ประกอบด้วยออสเตรีย, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, สวีเดน และแซกโซนี โดยรัสเซียเปลี่ยนข้างอยู่ระยะหนึ่งในช่วงปลายของสงคราม
ต่อมาโปรตุเกส (ฝ่ายบริเตนใหญ่) และสเปน (ฝ่ายฝรั่งเศส) ถูกดึงเข้าร่วมในสงคราม และเนเธอร์แลนด์ที่เป็นกลางก็เข้าร่วมเมื่อถูกโจมตีในอินเดีย เพราะความกว้างขวางของสงครามที่กระจายไปทั่วโลกทำให้สงครามเจ็ดปีได้รับการบรรยายว่าเป็น “สงครามโลกครั้งแรก” ที่มีผลให้ผู้คนเสียชีวิตไปประมาณ 900,000 ถึง 1,400,000 คน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสมดุลทางอำนาจต่อผู้เข้าร่วมหลายประเทศ
สงครามเจ็ดปีเริ่มขึ้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าฟรีดริชที่ 2 แห่งปรัสเซียทรงเข้ารุกรานแซกโซนี การต่อสู้ระหว่างบริเตน, ฝรั่งเศสและพันธมิตรของทั้งสองฝ่ายในทวีปอเมริกาเหนือเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1754 สองปีก่อนที่สงครามโดยทั่วไปจะเกิดขึ้น การต่อสู้ในอเมริกาเหนือบางครั้งก็ถือว่าเป็นสงครามอีกสงครามหนึ่งที่เรียกว่าสงครามฝรั่งเศส-อเมริกันอินเดียน (French and Indian War)
แม้ว่าทวีปยุโรปจะเป็นสมรภูมิหลักของสงครามโดยทั่วไปแต่ผลของสงครามก็มิได้ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไปมากจากก่อนสงครามเท่าใดนัก กลับกลายเป็นว่าผลกระทบกระเทือนในเอเชียและอเมริกามีมากกว่าและส่งผลที่ยาวนานกว่า สงครามยุติความเป็นมหาอำนาจการครองครองอาณานิคมของฝรั่งเศสในทวีปอเมริกา ที่เสียดินแดนเกือบทั้งหมดในทวีปอเมริกาเหนือและหมู่เกาะเวสต์อินดีสบางส่วน ปรัสเซียยังคงเป็นมหาอำนาจและยังคงครอบครองบริเวณไซลีเซียที่เดิมเป็นของออสเตรีย บริเตนใหญ่กลายเป็นมหาอำนาจในการเป็นเจ้าของอาณานิคมในทวีปอเมริกาเหนือ และเป็นผู้มีอำนาจมากกว่าผู้ใดในการครอบครองอาณานิคม
ในแคนาดา, ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร คำว่า “สงครามเจ็ดปี” หมายถึงความขัดแย้งในทวีปอเมริกาเหนือ ที่รวมทั้งความขัดแย้งในยุโรปและเอเชียด้วย ความขัดแย้งนี้แม้ว่าจะเรียกว่า “สงครามเจ็ดปี” แต่อันที่จริงแล้วเป็นสงครามที่ยาวเก้าปีเกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1754 จนถึงปี ค.ศ. 1763 ในสหรัฐอเมริกาสงครามส่วนที่เกิดขึ้นที่นั่นมักจะเป็นที่รู้จักกันว่า “สงครามฝรั่งเศส-อเมริกันอินเดียน” แต่นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์หลายท่านในสหรัฐอเมริกาเช่นเฟรด แอนเดอร์สันเรียกสงครามนี้ตามที่เรียกกันในประเทศอื่นว่า “สงครามเจ็ดปี” ไม่ว่าสงครามจะเกิดขึ้นที่ใด ในควิเบคความขัดแย้งนี้บางครั้งก็เรียกว่า “La Guerre de la Conqu?te” ที่แปลว่า “สงครามแห่งการพิชิต” ส่วนในอินเดียก็เรียกว่า “สงครามคาร์เนติค” (Carnatic Wars) ขณะที่การต่อสู้ระหว่างปรัสเซียและออสเตรียเรียกว่า “สงครามไซลีเซียครั้งที่ 3”
วินสตัน เชอร์ชิลล์ บรรยายสงครามนี้ว่าเป็น “สงครามโลก” เพราะเป็นความขัดแย้งที่นำมาซึ่งสงครามไปทั่วทุกหนทุกแห่งในโลกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แม้ว่าผู้ที่มีความขัดแย้งกันส่วนใหญ่มาจากยุโรปและจากอาณานิคมโพ้นทะเลที่เป็นของประเทศเหล่านั้น ส่วนหนึ่งของความขัดแย้งเป็นความขัดแย้งระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสในการขยายจักรวรรดิ สงครามเป็นเหตุการณ์สำคัญของคริสต์ศตวรรษที่ 18 ของสงครามร้อยปีครั้งที่ 2
สงครามเจ็ดปีมักจะถือกันว่าเป็นสงครามที่ต่อเนื่องมาจากสงครามสืบราชบัลลังก์ออสเตรียที่เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1740 – ค.ศ. 1748 เมื่อพระเจ้าฟรีดริชที่ 2 แห่งปรัสเซียหรือพระเจ้าฟรีดริชมหาราชได้ดินแดนไซลีเซียมาจากออสเตรีย สมเด็จพระจักรพรรดินีนาถมาเรีย เทเรซาแห่งออสเตรียทรงจำต้องลงพระนามในสนธิสัญญาเอซ์-ลา-ชาเปลเพื่อเป็นการยุติสงคราม และซื้อเวลาในการสร้างเสริมกองทัพออสเตรีย และเสาะหาพันธมิตรทางการทหารใหม่ซึ่งทรงได้รับความสำเร็จอย่างคาดไม่ถึง แผนที่การเมืองของยุโรปได้รับการร่างใหม่ภายในสองสามปีหลังจากที่ออสเตรียยุติการเป็นพันธมิตรกับอังกฤษหลังจากที่ดำเนินมากว่ายี่สิบห้าปี ระหว่างช่วงที่เรียกกันว่าการปฏิรูปทางการทูตของปี ค.ศ. 1756 คู่อริเก่าที่ประกอบด้วยฝรั่งเศส ออสเตรีย และ รัสเซียก็ตกลงเป็นพันธมิตรในการต่อต้านปรัสเซียร่วมกัน
พันธมิตรหลักของปรัสเซียก็มีเพียงบริเตนใหญ่ ที่มีผู้ครองที่เป็นเจ้าของอาณาจักรเลือกตั้งแห่งฮาโนเวอร์ ผู้มีความพะวงถึงอันตรายของฮาโนเวอร์ที่มาจากฝรั่งเศส เมื่อดูตามสถานะการณ์แล้วคู่พันธมิตรดังกล่าวก็เป็นคู่ที่เหมาะสมกันอย่างที่สุด บริเตนมีราชนาวีที่ใหญ่ที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุดในโลกในขณะนั้น ขณะที่ปรัสเซียมีกองทัพบกที่เป็นที่น่าเกรงขามที่สุดในยุโรป ซึ่งเป็นผลทำให้บริเตนใหญ่สามารถหันความสนใจไปในด้านการขยายตัวของอาณานิคมได้อย่างเต็มที่ บริเตนมีความหวังว่าการปฏิรูปทางการทูตจะมีผลให้สันติภาพมีโอกาสได้ดำเนินอยู่ต่อไป แต่อันที่จริงแล้วกลับเป็นสาเหตุของการปะทุของสงครามในปี ค.ศ. 1756
กองทัพออสเตรียได้รับการปรับปรุงสร้างเสริมขึ้นใหม่ตามแบบของระบบปรัสเซีย จักรพรรดินีนาถมาเรีย เทรีซาผู้มีพระปรีชาสามารถทางด้านการทหารไม่น้อยกว่าผู้ใดทรงมีบทบาทสำคัญในการสร้างความกดดันที่เป็นผลให้เกิดการปฏิรูประบบการทหารขึ้น ออสเตรียได้รับความพ่ายแพ้อันน่าอับอายหลายครั้งต่อปรัสเซียในสงครามก่อนหน้านั้น และมีความไม่พึงพอใจต่อความช่วยเหลืออันจำกัดของฝ่ายบริติช ออสเตรียจึงได้ตั้งความหวังใหม่ว่าฝรั่งเศสจะมาเป็นพันธมิตรผู้สามารถช่วยกู้ไซลีเซียคืนจากปรัสเซียได้และยุติการขยายอำนาจของปรัสเซีย
สาเหตุที่สองของสงครามมาจากความขัดแย้งระหว่างจักรวรรดิอังกฤษ และ จักรวรรดิฝรั่งเศสเรื่องการขยายอาณานิคม ที่เป็นผลให้มีการกระทบกระทั่งกันอย่างประปราย ความขัดแย้งหนึ่งคืออำนาจในดินแดนโอไฮโอ (Ohio Country) ซึ่งเป็นหัวใจของทั้งสองจักรวรรดิในการขยายอำนาจในทวีปอเมริกาเหนือ จักรวรรดิทั้งสองจึงอยู่ในสถานะภาพของสงครามมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1754 แต่การปะทะกันขณะนั้นยังคงจำกัดอยู่แต่ในทวีปอเมริกาเท่านั้น