สงครามลวง เป็นช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง ตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ. 1939 หลังจากการประกาศสงครามของอังกฤษและฝรั่งเศสไม่นานหลังจากการรุกรานโปแลนด์ ถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1940 ก่อนยุทธการฝรั่งเศส เป็นช่วงซึ่งปราศจากปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ในยุโรปภาคพื้นทวีป อังกฤษและฝรั่งเศสไม่ได้มีปฏิบัติการทางทหาร ทั้ง ๆ ที่ผูกมัดตามเงื่อนไขของพันธมิตรทางการทหารอังกฤษ-โปแลนด์ และพันธมิตรทางการทหารฝรั่งเศส-โปแลนด์ ซึ่งผูกมัดทั้งสองประเทศให้ช่วยเหลือโปแลนด์
ขณะที่กองทัพเยอรมันส่วนใหญ่ยังทำการรบอยู่ในโปแลนด์ เยอรมนีก็ส่งกองทัพไปขัดฝรั่งเศสตามแนวชายแดนด้านตะวันตกซึ่งเรียกว่าแนวซีกฟรีด ส่วนแนวเมกินนอต กองทัพสัมพันธมิตรได้ตั้งเผชิญหน้า แต่ก็มีเพียงการรบประปราย กองทัพอากาศของอังกฤษได้โปรยใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อเหนือน่านฟ้าเยอรมนี และกองทัพแคนาดาชุดแรกก็มาเสริมกำลังแก่อังกฤษบนเกาะบริเตน แนวรบด้านตะวันตกนั้นสงบเป็นเวลากว่าเจ็ดเดือน แต่ว่าเยอรมนีก็สามารถครอบครองดินแดนจำนวนมากของยุโรปไปเสียแล้ว กองทัพสัมพันธมิตรรีบเสริมกำลังทันที โดยซื้ออาวุธจากสหรัฐอเมริกา และวัตถุดิบเพื่อป้อนเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม สหรัฐอเมริกาได้ให้สิทธิพิเศษแก่อังกฤษและฝรั่งเศสที่จะได้ซื้อสินค้าในราคาถูกลง และต่อมาก็ได้ให้เช่า-ยืม แต่ว่ายังมีบริษัทเอกชนบางแห่งของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษยังคงสนับสนุนฝ่ายเยอรมนีอยู่ โดยปราศจากการอนุมัติและการลงโทษ ซึ่งโรงงานบางแห่งในอังกฤษยังคงผลิตเครื่องยนต์ให้แก่เครื่องบินรบเยอรมนี และบริษัทเอกชนในสหรัฐอเมริกาก็ได้ขายวัตถุดิบทางอุตสหากรรมแก่เยอรมนี ฝ่ายเยอรมนีนั้นพยายามที่จะขัดขวางการค้าขายระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกของฝ่ายสัมพันธมิตร และก่อให้เกิดยุทธนาวีมหาสมุทรแอตแลนติก
ในเดือนกันยายน 1939 ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ทหารฝรั่งเศสได้ล้ำพื้นที่แคว้นซาร์เข้าไปลึก 3 ไมล์ก่อนที่จะถอนตัวออกมา ในการรบดังกล่าว กองทัพฝรั่งเศสมีกำลังพลกว่า 98 กองพล และรถถังกว่า 2,500 คัน แต่ว่าฝ่ายเยอรมนีมีทหารเพียง 43 กองพล และปราศจากการสนับสนุนจากรถถังเลย
เหตุการณ์สำคัญหนึ่งในสงครามลวงก็คือ สงครามฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่สหภาพโซเวียตโจมตีฟินแลนด์เมื่อวันที่ 30 กันยายน 1939 ประชาชนส่วนใหญ่ของอังกฤษและฝรั่งเศสนั้นมีความเห็นเข้าข้างฟินแลนด์ และเรียกร้องให้รัฐบาลทั้งสองร่วมกันช่วยเหลือฟินแลนด์ แต่ว่ากองทัพฟินแลนด์ก็สามารถยันทัพโซเวียตได้ สหภาพโซเวียตนั้นก็ถอนตัวออกจากสันนิบาตชาติ แผนการส่งทหารของอังกฤษและฝรั่งเศสเข้าไปช่วยเหลือฟินแลนด์นั้นได้ถูกคัดค้านอย่างหนัก กองทัพอังกฤษนั้นได้ประชุมก่อนที่จะส่งไปช่วยเหลือฟินแลนด์ ทว่าก็มิได้ส่งไปก่อนที่สงครามฤดูหนาวจะสิ้นสุดลง แต่กลับส่งไปช่วยเหลือนอร์เวย์ในการทัพนอร์เวย์แทน เมื่อวันที่ 20 มีนาคม หลังจากสงครามฤดูหนาวยุติ นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสก็ขอลาออก เนื่องจากประสบความล้มเหลวที่จะส่งความช่วยเหลือไปยังฟินแลนด์
ได้มีการประชุมของฝ่ายสัมพันธมิตรที่จะส่งกองทัพไปยังสแกนดิเนเวียตอนเหนือ แต่ว่ายังมิได้รับการยินยอมจากประเทศเป็นกลางเหล่านั้น และเหตุการณ์อัทมาร์กในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ได้ส่งสัญญาณเตือนแก่กองทัพเรือเยอรมันและประเทศเยอรมนี เนื่องจากต้องการที่จะคุกคามแหล่งโลหะและสินแร่ และสามารถยึดครองพื้นที่แถบชายฝั่งนอร์เวย์ เยอรมนีได้โจมตีเดนมาร์กและนอร์เวย์ในปฏิบัติการเวแซร์รืบุง เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน ระหว่างวันที่ 12-15 เมษายน กองทัพสัมพันธมิตรได้ขึ้นบกที่นอร์เวย์ แต่ว่าภายในสองสัปดาห์ นอร์เวย์ส่วนใหญ่ก็ตกอยู่ในมือของเยอรมัน กองทัพสัมพันธมิตรที่เหลือได้ถอนตัวออกจากนอร์เวย์
ความล้มเหลวของการทัพของฝ่ายสัมพันธมิตรในนอร์เวย์ นั้นเป็นผลมาจากแผนการที่เพ้อฝันที่จะช่วยเหลือฟินแลนด์ ได้ก่อให้เกิดการโต้เถียงที่มีชื่อเสียงในสภาสามัญ นายเนวิลล์ เชมเบอร์แลนด์ได้ถูกโจมตีอย่างหนัก ตามตัวเลขแล้วผลจากการลงมติไว้วางใจในคณะรัฐบาลของเขานั้นชนะไปด้วยเสียง 281 ต่อ 200 เสียง แต่ว่าผู้สนับสนุนเขาจำนวนมากได้ลงมติไม่ไว้วางใจเขา ขณะที่อีกส่วนหนึ่งไม่ออกเสียง นายเชมเบอร์แลนด์ผู้อับอายนั้นพบว่าเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะนำพาพรรคชาตินิยมของเขาต่อไป ในวันที่ 10 พฤษภาคม เขาก็สละตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมของเขา พระเจ้าจอร์จที่ 6 ได้เลือกนายวินสตัน เชอร์ชิลล์ ผู้ซึ่งมีแนวคิดขัดแย้งกับนโยบายเอาใจเยอรมนีของนายเชมเบอร์แลนด์อย่างสิ้นเชิง ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทน นายเชอร์ชิลล์นั้นต่อมาได้ตั้งรัฐบาลผสมอันประกอบด้วยพรรคอนุรักษนิยม พรรคแรงงานและพรรคเสรีนิยม และรัฐมนตรีหลายตำแหน่งที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาก่อน
ในวันเดียวกันนี้เอง กองทัพเยอรมันได้เคลื่อนทัพสู่เบลเยียม เนเธอร์แลนด์และลักซ์เซมเบิร์ก สงครามลวงได้สิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์