ดักลาส แม็กอาร์เธอร์ โจเซฟ สติลเวลล์ เจียง ไคเช็ค เฉิน เฉิง หยาน สี้ฉาน เผิง ตั่วฮ้วย อาร์ชิบัลด์ วาเวลล์ หลุยส์ เมานท์แบตแตน โทมัส บลามีย์ เฮนน์ เตอ พัวร์เตน อเล็กซาโดร วาสิเลฟสกี อิวาน ยูมาเชฟ
ฮะจิเมะ สุงิยะมะ ฮิเดกิ โตโจ โยะชิจิโร อุเมะซุ โอะซะมิ นะงะโนะ ชิเงะทะโร ชิเมะดะ โคะชิโร โอะอิคะวะ แปลก พิบูลสงคราม จาง จิงฮุ่ย สุภาษจันทระ โพส
สงครามแปซิฟิก (อังกฤษ: Pacific War) หรือ สงครามมหาเอเชียบูรพา (อังกฤษ: Greater East Asia War; ญี่ปุ่น: ?????, Dai T?-A Sens?) เป็นเขตสงครามหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่สอง สู้รบกันในมหาสมุทรแปซิฟิกและเอเชียตะวันออกเป็นหลัก
โดยทั่วไปแล้วถือกันว่าสงครามแปซิฟิกเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 หรือ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1941 เมื่อญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์ บุกครองประเทศไทยและโจมตีอาณานิคมของอังกฤษในมาลายา สิงคโปร์และฮ่องกง แต่มีนักประวัติศาสตร์บางคนเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1937 ซึ่งสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สองเริ่มต้นขึ้น หรือ 19 กันยายน ค.ศ. 1931 ตั้งแต่ญี่ปุ่นรุกรานแมนจูเรียของจีน หากส่วนใหญ่แล้วมักถือเอาว่าสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สองได้กลายมาเป็นยุทธบริเวณหนึ่งในสงครามโลกครั้งที่สองที่ใหญ่กว่าในภายหลัง
จักรวรรดิญี่ปุ่นเริ่มนโยบายชาตินิยมโดยใช้คำขวัญที่ว่า "เอเชียเพื่อชาวเอเชีย" (Asia for Asiatics) วันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1938 ได้ประกาศนโยบาย "การจัดระเบียบใหม่ในเอเชียตะวันออกและการสร้างวงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา" (อังกฤษ: New order in East Asia and the Greater East Asia Co-Prosperity Sphere) และให้ความร่วมมือกับฝ่ายอักษะ โดยมีเป้าหมายยึดครองประเทศจีนและประเทศในเอเชียอันตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก
สงครามสิ้นสุดลงด้วยการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ถล่มฮิโระชิมะและนะงะซะกิ และการทิ้งระเบิดทางอากาศครั้งใหญ่โดยกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ประกอบกับการรุกรานแมนจูเรียของสหภาพโซเวียต เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ส่งผลให้ญี่ปุ่นยอมจำนนและเป็นจุดสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1945 การยอมจำนนอย่างเป็นทางการเกิดขึ้นบนเรือรบยูเอสเอส มิสซูรี ที่ทอดสมอในอ่าวโตเกียวเมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945
ในกลุ่มประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร สงครามแปซิฟิกไม่ได้ถือว่าแยกออกจากสงครามโลกครั้งที่สองมากนัก และเป็นที่รู้จักกันในชื่อง่าย ๆ ว่า สงครามต่อต้านญี่ปุ่น ในสหรัฐอเมริกา คำว่า ยุทธบริเวณแปซิฟิก เป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย แม้ว่าทางเทคนิคแล้ว ยุทธบริเวณดังกล่าวจะไม่รวมไปถึงยุทธบริเวณแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ (ภายใต้บังคับบัญชาของพลเอกดักลาส แมกอาเธอร์) ยุทธบริเวณจีน พม่า อินเดีย หรือยุทธบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามปกติ
ส่วนทางด้านญี่ปุ่นใช้คำว่า สงครามมหาเอเชียบูรพา (ญี่ปุ่น: Greater East Asia War ????? Dai T?-A Sens? ?) ซึ่งถูกเลือกโดยตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1941 โดยเป็นคำที่หมายถึงทั้งสงครามกับชาติตะวันตกและสงครามที่ยังคงดำเนินอยู่กับจีน ชื่อดังกล่าวได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณชนในวันที่ 12 ธันวาคม ด้วยเหตุผลที่ต้องการปลดปล่อยชาติเอเชียจากการยึดครองของชาติตะวันตกผ่านกองทัพของวงไพบูลย์ร่วมแห่งมหาเอเชียบูรพา ทางการญี่ปุ่นยังได้จัดรวม กรณีจีน-ญี่ปุ่น (ญี่ปุ่น: Japan-Sino Incident ???? Nisshi Jihen ?) ไว้เป็นส่วนหนึ่งของสงครามมหาเอเชียบรูพาด้วย
ระหว่างการยึดครองญี่ปุ่น คำดังกล่าวถูกลบออกไปจากเอกสารทางการ สงครามดังกล่าวถูกบันทึกในชื่อว่า "สงครามแปซิฟิก" (ญี่ปุ่น: Pacific War ????? Taiheiy? Sens? ?) หรือบ้างก็เรียกว่า "สงครามสิบห้าปี" (ญี่ปุ่น: Fifteen Year War ????? J?gonen Sens? ?) ซึ่งหมายถึง สงครามกับจีนนับตั้งแต่เหตุการณ์กรณีมุกเดน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1931 จนถึงปี ค.ศ. 1945
ประเทศสมาชิกฝ่ายอักษะที่สำคัญที่ให้การสนับสนุนญี่ปุ่น รวมไปถึงรัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยมของไทย ซึ่งได้รีบจัดตั้งพันธมิตรชั่วคราวกับญี่ปุ่นอย่างรวดเร็วในปี ค.ศ. 1941 เนื่องจากกองทัพญี่ปุ่นกำลังรุกรานคาบสมุทรตอนใต้ของไทย นอกจากนี้ กองทัพพายัพยังได้ส่งกำลังพลเข้ารุกรานและยึดครองทางตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า ซึ่งเคยเป็นดินแดนของไทยในอดีตก่อนที่จะถูกบีบบังคับให้เสียแก่กองทัพอังกฤษ ประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องอีกคือ รัฐหุ่นเชิดญี่ปุ่นแมนจูกัว ซึ่งประกอบด้วยดินแดนแมนจูเรียส่วนใหญ่และบางส่วนของมองโกเลียใน และรัฐบาลหวังจิงเว่ย ซึ่งควบคุมบริเวณชายฝั่งของจีน
นโยบายอย่างเป็นทางการของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ถือว่า ประเทศไทยมิใช่พันธมิตรของฝ่ายอักษะ และสหรัฐอเมริกาไม่ได้อยู่ในสภาวะสงครามกับไทย นโยบายของรัฐบาลสหรัฐหลังปี ค.ศ. 1945 ก็มิได้ปฏิบัติต่อประเทศไทยอย่างศัตรูเก่า แต่มองว่าไทยถูกบีบบังคับให้เป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นโดยแบล็กเมล์ และหลังจากนั้น ไทยก็ได้ถูกยึดครองโดยกองทัพญี่ปุ่น ลักษณะการปฏิบัติต่อไทยของสหรัฐนั้นเหมือนกับประเทศอื่นที่ถูกฝ่ายอักษะยึดครอง อย่างเช่น เบลเยียม เชโกสโลวาเกีย เดนมาร์ก กรีซ เกาหลี นอร์เวย์ โปแลนด์และเนเธอร์แลนด์
ญี่ปุ่นเกณฑ์ทหารจำนวนมากจากอาณานิคมเกาหลีและฟอร์โมซา (ซึ่งในภายหลังรู้จักกันในชื่อไต้หวัน) และในขอบเขตเล็ก ๆ บางส่วนของวิชีฝรั่งเศส กองทัพแห่งชาติอินเดียและกองทัพแห่งชาติพม่าก็ได้ออกปฏิบัติการในพื้นที่สงครามแปซิฟิกเช่นกัน และในขอบเขตเล็กย่อยลงไปอีก กองทัพเรือเยอรมันและอิตาลี (ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วยเรือค้าขายติดอาวุธและเรือดำน้ำ) ยังได้ออกปฏิบัติการในมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียอีกด้วย
ประเทศเข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตรหลัก ๆ นั้นคือ สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐจีน สหราชอาณาจักร (รวมทั้งกองทัพอินเดียของอังกฤษ ฟิจิ ซามัว เป็นต้น) ออสเตรเลีย เครือจักรภพฟิลิปปินส์ เนเธอร์แลนด์ (ในฐานะเจ้าอาณานิคมหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์และทางตะวันตกของนิวกินี) นิวซีแลนด์และแคนาดา ซึ่งทั้งหมดข้างต้นนี้เป็นสมาชิกของสภาสงครามแปซิฟิกเม็กซิโก ฝรั่งเศสเสรีและอีกหลายประเทศยังเข้าร่วมรบด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพจากอาณานิคมอื่นของอังกฤษ และยังรวมไปถึงละตินอเมริกา
สหภาพโซเวียตเคยทำสงครามตามพรมแดนกับญี่ปุ่นอย่างไม่เป็นทางการเป็นระยะสั้น ๆ ในปี ค.ศ. 1938 และ 1939 ก่อนจะธำรงตนเป็นกลางจนกระทั่งเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945 เมื่อสหภาพโซเวียตเข้าร่วมฝ่ายสัมพันธมิตรและรุกรานแมนจูกัว สาธารณรัฐจีน มองโกเลียใน รัฐในอารักขาเกาหลีของญี่ปุ่นและหมู่เกาะที่ญี่ปุ่นอ้างสิทธิ์ เช่น เกาะซาฮาลิน
รากเหง้าของปัญหาเริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ขณะที่จีนยังคงอยู่ในวิกฤตการณ์ทางการเมือง และญี่ปุ่นกำลังพัฒนาประเทศให้ทันสมัยอย่างรวดเร็ว ตลอดช่วงเวลาปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงและท้ายที่สุดได้ผนวกเกาหลี และขยายอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจเข้าสู่ประเทศจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แมนจูเรีย การขยายอำนาจดังกล่าวง่ายเข้าจากสถานการณ์ภายในของจีนเอง เพราะในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1910 ประเทศจีนแตกออกเป็นก๊กขุนศึกต่าง ๆ โดยรัฐบาลกลางอ่อนแอและขาดประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ซึ่งประเทศจีนที่อ่อนแอไม่สามารถต้านทานความต้องการของญี่ปุ่นได้ดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อถึงปลายคริสต์ทศวรรษ 1920 ในปี ค.ศ. 1927 จอมทัพเจียง ไคเช็ค และกองทัพปฏิบัติแห่งชาติแห่งพรรคก๊กมินตั๋งได้ทำสงครามตีก๊กขุนศึกทางเหนือ เจียงสามารถเอาชนะขุนศึกทางตอนใต้และตอนกลางของจีนได้เป็นผลสำเร็จ และได้รับการสวามิภักดิ์ในนามของจาง เซวเหลียง ขุนศึกซึ่งควบคุมดินแดนแมนจูเรียอยู่ และนำไปสู่การรวมชาติจีนแต่ในนามในปี ค.ศ. 1928 ฝ่ายญี่ปุ่นซึ่งตื่นตระหนกกับจีนที่กำลังเข้มแข็งขึ้นภายใต้รัฐบาลเดียว จึงได้จัดฉากกรณีมุกเดนขึ้นในปี ค.ศ. 1931 และใช้เป็นข้ออ้างในการรุกรานแมนจูเรียและจัดตั้งรัฐหุ่นเชิดแมนจูกัว จักรพรรดิผู่อี๋ จักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ชิงซึ่งถูกโค่นล้มไปแล้ว ทรงเป็นประมุขหุ่นเชิดแห่งแมนจูกัว
เป้าหมายจักรวรรดินิยมของญี่ปุ่นในจีนนั้นเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่ปลอดภัยและเพื่อจัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดขึ้นในจีนเพื่อมิให้ดำเนินการใด ๆ ขัดขวางผลประโยชน์ของญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าพฤติการณ์ของญี่ปุ่นจะไม่ถูกมองว่าไม่เข้าที่โดยบรรดาชาติมหาอำนาจอาณานิคมยุโรปในคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่ในปี ค.ศ. 1930 การต่อต้านการล่าอาณานิคมที่เพิ่มมากขึ้นหมายความว่ากำลังทางทหารอย่างชัดเจนในการสนับสนุนการล่าอาณานิคมไม่ได้รับการยอมรับดังเช่นแต่ก่อน
พฤติการณ์ของญี่ปุ่นในแมนจูเรียถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และนำไปสู่การถอนตัวออกจากสันนิบาติชาติของญี่ปุ่น ระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1930 จีนและญี่ปุ่นยังคงคุมเชิงกันอยู่ โดยที่เจียง ไคเช็คได้มุ่งความสนใจของเขาไปยังการทำลายพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเขาพิจารณาว่าเป็นอันตรายที่สำคัญยิ่งกว่าภัยจากญี่ปุ่น อิทธิพลของลัทธิชาตินิยมในจีนต่อความคิดเห็นทั้งในหมู่ผู้นำทางการเมืองและประชากรส่วนใหญ่ทำให้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวไม่อาจป้องกันได้เพิ่มฃขึ้นเรื่อย ๆ
ถึงแม้ว่ารัฐบาลกลางและพรรคคอมมิวนิสต์จะได้ร่วมมือกันระหว่างการปราบปรามพวกขุนศึกทางเหนือ ระหว่างปี ค.ศ. 1930-1934 แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา รัฐบาลกลางและพรรคคอมมิวนิสต์ได้เข้าสู่ความขัดแย้งโดยตรง ฝ่ายญี่ปุ่นได้ฉวยโอกาสขณะที่จีนแตกแยกภายในโจมตีหนักขึ้น และยกพลขึ้นบกที่เซี่ยงไฮ้ในปี ค.ศ. 1932
ขณะเดียวกัน ในประเทศญี่ปุ่น นโยบายการลอบสังหารโดยสมาคมลับและผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ได้ทำให้คณะรัฐบาลพลเรือนสูญเสียการควบคุมฝ่ายทหาร นอกจากนั้น กองบัญชาการทหารสูงสุดก็สามารถควบคุมกองทัพภาคสนามได้เพียงจำกัด ซึ่งส่วนใหญ่มักกระทำการใด ๆ ตามผลประโยชน์ของตนเอง และบ่อยครั้งที่ขัดต่อผลประโยชน์ของชาติโดยรวม แต่โดยปกติแล้วยังคงอยู่ในพระประสงค์ของจักรพรรดิฮิโรฮิโต การรวมเอเชียยังได้ถูกใช้เป็นเหตุผลสำหรับการขยายดินแดนของญี่ปุ่น ซึ่งแนวคิดดังกล่าวได้รับการสรุปไว้ได้ดีที่สุดโดย "ลัทธิอะโมะ" ในปี ค.ศ. 1934 โดยเออิจิ เอโมะ หัวหน้ากองข้อมูลแห่งกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า "ลัทธิมอนโรแห่งเอเชีย" ลัทธิดังกล่าวประกาศเจตนาของญี่ปุ่นแก่ประเทศยุโรปให้ดำเนินนโยบาย "ละมือ" ในจีน และด้วยเหตุนี้จึงเป็นการยกเลิกนโยบายเปิดประตู นอกจากนี้ยังประกาศว่าญี่ปุ่นจะเป็นผู้นำด้านความมั่นคงในเอเชียตะวันออกแต่เพียงผู้เดียว รวมทั้งภาระในการเอาชนะคอมมิวนิสต์ เศรษฐกิจยังได้เป็นปัจจัยสำคัญอันนำไปสู่การรุกรานประเทศจีน ระหว่างภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐและยุโรปหดตัวลงอย่างรุนแรง และญี่ปุ่นได้หันมาครอบงำจีนอย่างสมบูรณ์ทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจเพื่อจัดหาตลาดที่มีเสถียรภาพ ในช่วงก่อนหน้าสงครามจะปะทุขึ้นอย่างเต็มตัวในปี ค.ศ. 1937 ญี่ปุ่นได้ใช้กำลังในท้องถิ่นเพื่อข่มขู่จีนเว้นแต่จีนจะลดกำแพงภาษีศุลกากรและหยุดยั้งกิจกรรมต่อต้านและการคว่ำบาตรญี่ปุ่น
ในปี ค.ศ. 1936 เจียง ไคเช็คถูกลักพาตัวโดยจาง เซวเหลียง เพื่อได้รับการปล่อยตัว เจียง ไคเช็คจึงตกลงที่จะตั้งแนวร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อต่อสู้กับญี่ปุ่น ต่อมา ได้เกิดเหตุการณ์สะพานมาร์โค โปโล เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1937 ซึ่งจุดชนวนให้เกิดสงครามระหว่างสาธารณรัฐจีนกับจักรวรรดิญี่ปุ่น แม้ว่ารัฐบาลชาตินิยมกับพรรคคอมมิวนิสต์ได้ตกลงที่จะร่วมมือกันในการร่วมรบกับญี่ปุ่นและร่วมมือจัดตั้งแนวร่วมแห่งชาติ แต่เหมา เจ๋อตุงปฏิเสธความต้องการของเจียง ไคเช็คในการบัญชาการกองทัพคอมมิวนิสต์โดยตรง ในปี ค.ศ. 1939 พรรคคอมมิวนิสต์มีทหาร 500,000 นายที่เป็นอิสระจากพรรคก๊กมินตั๋ง
นอกเหนือจากนั้น ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 ญี่ปุ่นได้เปลี่ยนความเห็นของมวลชนที่มีต่อชาติตะวันตกให้เป็นแง่ลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้น ประชาชนญี่ปุ่นยังคงมีความเห็นเป็นกลางต่อสหรัฐอเมริกาอยู่ อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวของกรณีปาเนย์ได้ทำให้ความเห็นของมวลชนอเมริกันเปลี่ยนเป็นต่อต้านญี่ปุ่นเช่นกัน
ในปี ค.ศ. 1939 กองทัพญี่ปุ่นพยายามที่จะขยายดินแดนไปทางภาคตะวันออกไกลของสหภาพโซเวียตจากแมนจูเรีย แต่กองทัพญี่ปุ่นปราชัยยับเยินต่อกองทัพผสมโซเวียต-มองโกเลียภายใต้การบัญชาการของนายพลเกออร์กี จูคอฟ ทำให้ญี่ปุ่นยุติการขยายตัวไปยังดินแดนทางตอนเหนือ และทั้งสองประเทศได้ดำรงรักษาสันติภาพอันไม่มั่นคงจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1945
ในความพยายามที่จะขัดขวางลัทธิทหารของญี่ปุ่น ชาติตะวันตกรวมไปถึงออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา อังกฤษและรัฐบาลผลัดถิ่นดัตช์ ซึ่งครอบครองอินเดียตะวันออกของดัตช์ซึ่งมีปิโตรเลียมอยู่ในปริมาณมาก หยุดการขายโลหะเหล็ก เหล็กกล้าและน้ำมันให้แก่ญี่ปุ่น โดยปฏิเสธที่จะให้ทรัพยากรดิบซึ่งจำเป็นต้องการดำเนินกิจกรรมต่อไปในจีนและอินโดจีนของฝรั่งเศส ในญี่ปุ่น รัฐบาลและกลุ่มชาตินิยมมองว่าการห้ามส่งสินค้าดังกล่าวเป็นพฤติกรรมลักษณะรุกราน น้ำมันนำเข้าคิดเป็นกว่า 80% ของปริมาณการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งจำเป็นสำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่น ทำให้น้ำมันไม่เหลือถึงมือทหาร และบีบให้กิจกรรมทางทหารหยุดชะงักลง สื่อญี่ปุ่น ซึ่งได้รับอิทธิพลจากนักโฆษณาชวนเชื่อทหาร เริ่มเรียกการห้ามส่งสินค้าดังกล่าวว่าเป็น "วงล้อม ABCD" (ABCD ย่อมาจาก "American-British-Chinese-Dutch") หรือ "แนว ABCD"
เมื่อต้องเผชิญหน้ากับทางเลือกระหว่างการล่มสลายทางเศรษฐกิจหรือการถอนตัวจากการพิชิตดินแดนล่าสุด (และยังเสียหน้าอีกด้วย) กองบัญชาการทหารสูงสุดจึงเริ่มต้นวางแผนทำสงครามกับชาติตะวันตกในเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม ค.ศ. 1941 วัตถุประสงค์สำคัญคือ ให้กลุ่มกองทัพรบนอกประเทศใต้ยึดทรัพยากรทางเศรษฐกิจภายใต้การควบคุมของสหราชอาณาจักรและเนเธอร์แลนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาลายาและหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันว่า "แผนใต้" นอกจากนี้กองบัญชาการยังได้ตัดสินใจจากความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างสหราชอาณาจักรกับสหรัฐอเมริกา และความเชื่อที่ว่าสหรัฐอเมริกาจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ญี่ปุ่นเรียกแผนการหลังนี้ว่า "แผนตะวันออก"
หลังจากที่วัตถุประสงค์ข้างต้นทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้ว ยุทธศาสตร์จะเปลี่ยนไปเป็นการตั้งรับ และจะเน้นการรักษาดินแดนที่พิชิตได้ใหม่ขณะที่หวังการเจรจาสันติภาพ
ญี่ปุ่นได้วางแผนในการยึดครองอาณานิคมของชาติยุโรปในทวีปเอเชียอย่างรวดเร็วเพื่อสร้างแนวป้องกันขนาดใหญ่ซึ่งลากยาวผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง เพื่ออำนวยความสะดวกในการแสวงหาทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ในเอเชียอาคเนย์อย่างอิสระขณะทำสงครามป้องกันตนเองจนทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรที่ต้องสู้รบเป็นอาณาบริเวณกว้างเหนื่อยล้า และเพื่อการป้องกันการเข้าแทรกแซงของภายนอก ญี่ปุ่นจึงพยายามวางแผนที่จะทำลายกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับแรก
เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน แผนการเหล่านี้หลัก ๆ ได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว และมีการดัดแปลงเพียงเล็กน้อยในอีกหนึ่งเดือนถัดมา ความคาดหวังความสำเร็จของนักวางแผนทางทหารของญี่ปุ่นนั้นขึ้นอยู่กับการไม่สามารถรับมือกับการโจมตีของญี่ปุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพของสหราชอาณาจักรและสหภาพโซเวียต เนื่องจากภัยคุกคามที่มาจากเยอรมนี สหภาพโซเวียตก็ยังถูกมองว่าไม่น่าจะเริ่มความเป็นปรปักษ์ก่อน
ไม่มีหลักฐานว่าญี่ปุ่นวางแผนจะเอาชนะสหรัฐอเมริกา ทางเลือกน่าจะเป็นว่าการเจรจาสันติภาพหลังจากชัยชนะในขั้นต้นแล้ว อันที่จริง กองบัญชาการทหารสูงสุดญี่ปุ่นหมายเหตุไว้ว่า หากบรรลุการเจรจาซึ่งยอมรับได้กับสหรัฐอเมริกาแล้ว การโจมตีในอนาคตก็จะถูกยกเลิก แม้ว่าคำสั่งโจมตีจะถูกแจกจ่ายไปแล้วก็ตาม
ญี่ปุ่นยังได้วางแผนว่า หากสหรัฐเคลื่อนกองเรือแปซิฟิกมายังฟิลิปปินส์ ก็จะนำกองเรือผสมเข้าขัดวางและโจมตีขณะยังไม่ถึงจุดหมาย เพื่อรักษาแผนการและแนวทางก่อนสงครามของกองทัพเรือญี่ปุ่นทั้งหมด และหากสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษโจมตีก่อน แผนการได้กำหนดเพิ่มเติมว่าฝ่ายทหารจะต้องรักษาตำแหน่งของตนและรอคำสั่งจากกองบัญชาการทหารสูงสุด นักวางแผนมองว่าการโจมตีฟิลิปปินส์และมาลายายังมีความเป็นไปได้ว่าจะสำเร็จอยู่บ้าง แม้ว่าในกรณีที่ร้ายที่สุดอาจรวมไปถึงการเปิดฉากโจมตีหลายด้านซึ่งมีกองทัพโซเวียตเข้าร่วมด้วย
ช่วงเช้ามืดของวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 (หรือวันที่ 8 ตามเวลาในเอเชีย) ญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์เช่นเดียวกับเกาะกวมและเกาะเวก ญี่ปุ่นได้โจมตีทางอากาศครั้งใหญ่โดยใช้เครื่องบินจากเรือบรรทุกเครื่องบิน ซึ่งส่งผลทำให้เรือประจัญบานของสหรัฐแปดลำไม่สามารถใช้การได้ ญี่ปุ่นได้เสี่ยงดวงว่าสหรัฐอเมริกา เมื่อเผชิญกับความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่อย่างฉับพลัน จะยอมตกลงบรรลุข้อตกลงเจรจาและยินยอมให้ญี่ปุ่นปกครองเอเชียอย่างเสรี แต่การเสี่ยงโชคดังกล่าวไม่เป็นผล ความสูญเสียของสหรัฐนั้นเสียหายน้อยกว่าที่เคยคาดกันไว้มาก เพราะเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐ ซึ่งมีความสำคัญมากกว่าเรือประจัญบานมาก ยังอยู่ในทะเล สาธารณูปโภคที่สำคัญของกองทัพเรือ (ถังน้ำมันเชื้อเพลิง อู่ต่อเรือและโรงไฟฟ้า) ฐานเรือดำน้ำ และหน่วยข่าวกรองทางสัญญาณไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ ยุทธศาสตร์ถอยทัพของญี่ปุ่นต้องอาศัยสงครามบั่นทอนกำลังเพื่อให้สหรัฐยอมรับเงื่อนไขในที่สุด ซึ่งอยู่เหนือขีดความสามารถของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น
ขณะที่เกิดการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ขึ้นนั้น สหรัฐอเมริกายังไม่ได้อยู่ในสภาวะสงครามอย่างเป็นทางการกับประเทศใด ๆ ในโลก กลุ่มอเมริกาเฟิร์สท์คอมมิตตีได้คัดค้านการแทรกแซงทางทหารของสหรัฐอเมริกาในทวีปยุโรปอย่างรุนแรง แม้ว่าสหรัฐจะขายความช่วยเหลือทางทหารต่ออังกฤษและสหภาพโซเวียตผ่านโครงการให้เช่า-ยืม แต่การต่อต้านสงครามในสหรัฐหายไปหลังจากการโจมตีดังกล่าว วันที่ 8 ธันวาคม เนเธอร์แลนด์ประกาศสงครามต่อญี่ปุ่น ตามมาด้วยออสเตรเลียในวันรุ่งขึ้น สี่วันหลังจากเพิร์ลฮาร์เบอร์ นาซีเยอรมนีและฟาสซิสต์อิตาลีประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้สหรัฐต้องเผชิญกับสงครามสองด้าน พฤติการณ์ดังกล่าวได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นความสัพเพร่าของยุทธศาสตร์หลัก เนื่องจากเยอรมนีสูญเสียประโยชน์ที่ญี่ปุ่นทำให้สหรัฐไขว้เขว และการลดการให้ความช่วยเหลือแก่อังกฤษ ซึ่งทั้งรัฐสภาและฮิตเลอร์ต่างก็พยายามหลีกเลี่ยงมาตลอดช่วงที่ต่างฝ่ายต่างยั่วยุเป็นระยะเวลาปีเศษ
กองทัพอังกฤษ ออสเตรเลียและดัตช์ ซึ่งต้องเสียกำลังพลและทรัพยากรไปกับการทำสงครามกับเยอรมนีเป็นระยะเวลากว่าสองปี และยังพัวพันอย่างหนักในตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือและที่อื่น ๆ ไม่สามารถจัดเตรียมการป้องกันได้มากไปกว่าการต้านทานที่ไม่เป็นชิ้นเป็นอันต่อทหารญี่ปุ่นผู้กรำศึก ฝ่ายสัมพันธมิตรประสบความพ่ายแพ้ถึงขั้นหายนะหลายครั้งในช่วงหกเดือนแรกของสงคราม เรือรบอังกฤษหลักถึงสองลำ เอชเอ็มเอส รีพัลซ์ และเอชเอ็มเอส ปรินส์ออฟเวลส์ ถูกจมในการโจมตีทางอากาศของญี่ปุ่นนอกชายฝั่งมาลายาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1941
ประเทศไทย ซึ่งดินแดนถูกเลือกเป็นสถานที่สำหรับเริ่มต้นการทัพมาลายาเรียบร้อยแล้ว ยอมจำนนภายใน 24 ชั่วโมงหลังถูกญี่ปุ่นรุกราน รัฐบาลไทยลงนามเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการกับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม
ฮ่องกง คราวน์โคโลนีของอังกฤษ ถูกโจมตีเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม และพ่ายแพ้เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1941 โดยที่กองทัพแคนาดาและอาสาสมัครฮ่องกงมีส่วนสำคัญในการป้องกันดังกล่าว ฐานทัพสหรัฐบนเกาะกวมและเกาะเวกเสียแก่ข้าศึกในเวลาไล่เลี่ยกัน
หลังจากปฏิญญาสหประชาชาติเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1942 (ซึ่งพบการใช้คำว่า "สหประชาชาติ" อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก) รัฐบาลฝ่ายสัมพันธมิตรได้แต่งตั้งพลเอกอังกฤษ เซอร์อาร์ชิบาลด์ เวเวลล์ ในกองบัญชาการอเมริกา-บริเตน-ดัตช์-ออสเตรเลีย (ABDACOM) ซึ่งเป็นกองบัญชาการสูงสุดกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวเวลล์มีอำนาจบัญชาการในนามเหนือกองกำลังขนาดใหญ่ แต่ก็กระจัดกระจายอย่างเบาบางเหนือพื้นที่ตั้งแต่พม่าไปจนถึงฟิลิปปินส์และทางเหนือของออสเตรเลีย ส่วนบริเวณอื่น รวมไปถึงอินเดีย ฮาวายและส่วนที่เหลือของออสเตรเลียอยู่ภายใต้การบัญชาการที่เป็นอิสระต่อกัน เมื่อวันที่ 15 มกราคม เวเวลล์เดินทางไปยังบันดุงในเกาะชวาเพื่อรับอำนาจบัญชาการ ABDACOM
ในเดือนมกราคม ญี่ปุ่นรุกรานพม่า อินเดียตะวันออกของดัตช์ นิวกินี หมู่เกาะโซโลมอน และยึดกรุงมะนิลา กัวลาลัมเปอร์และราบูล หลังจากกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรถูกขับไล่ออกจากมาลายา ในสิงคโปร์เองก็พยายามที่จะต้านทานการรุกของญี่ปุ่นแต่ต้องยอมจำนนเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1942 และทหารอินเดีย อังกฤษ ออสเตรเลียและดัตช์ตกเป็นเชลยศึกถึงกว่า 130,000 คน อัตราการพิชิตดินแดนของญี่ปุ่นเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยบาหลีและติมอร์เสียแก่ข้าศึกในเดือนเดียวกัน การต้านทานของฝ่ายสัมพันธมิตรที่ประสบความล้มเหลวอย่างรวดเร็วนั้นได้ทำให้ "พื้นที่ ABDA" ถูกแยกออกเป็นสอง เวเวลล์ลาออกจาก ABDACOM เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ โดยส่งมอบอำนาจเหนือพื้นที่ ABDA ให้แก่ผู้บัญชาการท้องถิ่นก่อนจะกลับไปดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดในอินเดียต่อไป
ในขณะเดียวกัน เครื่องบินญี่ปุ่นได้เกือบจะกำจัดแสงยานุภาพทางอากาศเกือบทั้งหมดของฝ่ายสัมพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกำลังโจมตีออสเตรเลียตอนเหนือ เริ่มต้นด้วยการโจมตีเมืองดาร์วินซึ่งส่งผลกระทบทางจิตวิทยา (แต่มีความสำคัญทางทหารเพียงเล็กน้อย) เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ และคร่าชีวิตไปอย่างน้อย 243 คน
ในยุทธนาวีทะเลชวาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์และต้นเดือนมีนาคม กองทัพเรือญี่ปุ่นได้ชัยชนะครั้งใหญ่เหนือกองทัพเรือหลักของ ABDA ภายใต้การบัญชาการของพลเรือเอกคาเรล ดอร์แมน การทัพอินเดียตะวันออกของดัตช์ในเวลาต่อมาสิ้นสุดลงด้วยการยอมจำนนของกองทัพสัมพันธมิตรบนเกาะชวาและสุมาตรา
ในเดือนมีนาคมและเมษายน การโจมตีเข้าไปในมหาสมุทรอินเดียโดยกำลังเรือบรรทุกเครื่องบินของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นส่งผลให้ซีลอนถูกโจมตีทางอากาศหลายระลอก และเรือบรรทุกเครื่องบินอังกฤษ เอชเอ็มเอส เฮอร์มีส เช่นเดียวกับเรือสัมพันธมิตรอื่น ๆ ถูกจมลง และกองเรืออังกฤษถูกขับไล่ออกจากมหาสมุทรอินเดีย อันเป็นการเปิดทางสำหรับการรุกรานพม่าและอินเดียของญี่ปุ่น
ฝ่ายอังกฤษ ภายใต้แรงกดดันอย่างหนัก สู้รบล่าถอยจากย่างกุ้งไปยังชายแดนอินเดีย-พม่า เป็นผลทำให้ถนนสายพม่า อันเป็นเส้นทางเสบียงของฝ่ายสัมพันธมิตรให้แก่กองกำลังชาตินิยมจีน ความร่วมมือระหว่างกลุ่มชาตินิยมจีนและคอมมิวนิสต์ค่อย ๆ ลดลงหลังจากเพิ่มขึ้นถึงขีดสุดในยุทธการอู่ฮั่น และความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายเลวร้ายลงเมื่อทั้งสองพยายามขยายพื้นที่ปฏิบัติการในดินแดนยึดครองของตนเอง พื้นที่กองโจรชาตินิยมส่วนใหญ่นั้นถูกแย่งชิงโดยคอมมิวนิสต์ ในอีกด้านหนึ่ง กำลังชาตินิยมบางส่วนถูกจัดวางเพื่อขัดขวางพวกคอมมิวนิสต์มิใช่ญี่ปุ่น ยิ่งไปกว่านั้น กำลังชาตินิยมจีนส่วนใหญ่เป็นขุนศึกซึ่งเป็นพันธมิตรกับเจียง ไคเช็ค แต่มิได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาโดยตรงของเขา "ทหารกว่า 1,200,000 นายที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเจียง มีเพียง 650,000 นายเท่านั้นที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาโดยตรงจากนายพลของเขา ส่วนอีก 550,000 นายนั้นอยู่ภายใต้การควบคุมของขุนศึกซึ่งอ้างความจงรักภักดีต่อรัฐบาลเท่านั้น กำลังที่เข้มแข็งที่สุดนั้นเป็นของเซอชวน ที่มีทหารอยู่ถึง 320,000 นาย ความพ่ายแพ้ของกองทัพนี้จะนำไปสู่การสูญเสียอำนาจอย่างใหญ่หลวงของเจียง" ฝ่ายญี่ปุ่นแสวงหาประโยชน์จากความขาดความสามัคคีนี้และกระหน่ำโจมตีหนักยิ่งขึ้นไปอีก
กองทัพฟิลิปปินส์และสหรัฐอเมริกายังคงทำการรบต้านทานอยู่ในฟิลิปปินส์จนถึงวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1942 เมื่อทหารมากกว่า 80,000 นายได้รับคำสั่งให้ยอมจำนน เมื่อถึงเวลานี้ พลเอกดักลาส แมกอาเธอร์ ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการฝ่ายสัมพันธมิตรสูงสุดแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้ ได้ล่าถอยไปยังออสเตรเลียที่ปลอดภัยกว่า กองทัพเรือสหรัฐ ภายใต้บังคับบัญชาพลเรือเอก เชสเตอร์ นิมิตส์ รับผิดชอบต่อส่วนที่เหลือของมหาสมุทรแปซิฟิก การแบ่งแยกบังคับบัญชาดังกล่าวสร้างผลกระทบไม่ดีต่อสงครามพาณิชย์ และตัวสงครามแปซิฟิกด้วยตามลำดับ
ปลาย ค.ศ. 1941 เมื่อญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ ส่วนใหญ่ของกองทัพที่ดีที่สุดของออสเตรเลียได้รับคำสั่งให้สู้รบกับนาซีเยอรมันในยุทธบริเวณเมดิเตอร์เรเนียน ออสเตรเลียมีการเตรียมการรับมือกับการโจมตีเลวมาก ขาดแคลนอาวุธยุทธภัณฑ์ เครื่องบินขับไล่ เครื่องบินทิ้งระเบิดหนักและเรือบรรทุกเครื่องบินที่ทันสมัย ขณะที่เรียกร้องกำลังเสริมจากเชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรี จอห์น เคอร์ทิน เรียกร้องการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาด้วยแถลงการณ์ประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1941