วินฟิลด์ เอส. แฮนด์คอค จอร์จ บี. แม็คเคิลแลน วิลเลียม ที. เชอร์แมน ยูลิสซิส เอส. แกรนท์ เดวิด จี. เฟรากัต
เสียชีวิตในที่คุมขังของสมาพันธรัฐอเมริกา ราว 25,000 นาย
เสียชีวิตด้วยเหตุผลอื่น 224,097 นาย
ได้รับบาดเจ็บ 281,881 นาย
เสียชีวิตรวมแล้ว 364,511 นาย
เสียชีวิตในที่คุมขังของสหรัฐอเมริกา ราว 30,000 นาย
เสียชีวิตด้วยเหตุผลอื่น 59,297 นาย
รวมเสียชีวิตทั้งสิ้น 133,821 นาย
ได้รับบาดเจ็บ 194,026 นาย
สงครามกลางเมืองอเมริกา (อังกฤษ: American Civil War, ค.ศ. 1861-1865) เป็นสงครามกลางเมืองซึ่งเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา โดยเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งอับราฮัม ลินคอล์น เป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา รัฐทาสทางใต้สิบเอ็ดรัฐประกาศแยกตัวออกจากสหรัฐอเมริกา และจัดตั้งเป็นสมาพันธรัฐอเมริกา ส่วนอีกยี่สิบห้ารัฐสนับสนุนรัฐบาลกลาง ("สหภาพ") หลังสงครามนานสี่ปี ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในรัฐทางใต้ ฝ่ายสมาพันธรัฐยอมจำนนและมีการเลิกทาสทั่วประเทศ ปัญหาซึ่งนำสู่สงครามบางส่วนได้รับการแก้ไขในยุคบูรณะ (Reconstruction Era) ที่เกิดขึ้นตามมา แต่ยังมีที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอีก
ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ค.ศ. 1860 พรรครีพับลิกัน นำโดย อับราฮัม ลินคอล์น รณรงค์ต่อต้านการขยายระบบทาสนอกเหนือไปจากรัฐที่มีอยู่แล้ว พรรครีพับลีกันเป็นผู้ให้การสนับสนุนชาตินิยมอย่างแข็งขัน และในแนวนโยบายของพรรคใน ค.ศ. 1860 ประณามภัยคุกคามจากความแตกแยกว่าส่อกบฏอย่างชัดเจน หลังพรรคชนะการเลือกตั้ง แต่ก่อนฝ่ายบริหารเริ่มปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1861 รัฐผลิตฝ้ายเจ็ดรัฐประกาศแยกตัวและรวมเข้าด้วยกันเป็นสมาพันธรัฐอเมริกา ทั้งรัฐบาลประธานาธิบดีเจมส์ บูคานัน และรัฐบาลชุดถัดมาไม่ยอมรับว่าการแยกตัวดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย และมองว่าเป็นการกบฏ ส่วนอีกแปดรัฐทาสยังปฏิเสธการเรียกร้องให้แยกตัวออกมาจนถึงจุดนี้ ไม่มีประเทศใดในโลกยอมรับสมาพันธรัฐ
สงครามเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1861 เมื่อกองทัพสมาพันธรัฐโจมตีที่ตั้งทหารสหรัฐที่ฟอร์ตซัมเตอร์ในเซาท์แคโรไลนา ลินคอล์นตอบสนองโดยเรียกร้องให้กองทัพอาสาสมัครจากแต่ละรัฐยึดทรัพย์สินของรัฐบาลกลางคืน ซึ่งนำไปสู่การประกาศแยกตัวออกเพิ่มอีกโดยสี่รัฐทาส ทั้งสองฝ่ายขยายกองทัพเมื่อสหภาพควบคุมรัฐชายแดนในช่วงต้นสงครามและเริ่มการปิดล้อมทางทะเล สงครามภาคพื้นในภาคตะวันออกไม่แพ้ชนะกันใน ค.ศ. 1861-62 เมื่อสมาพันธรัฐสามารถขับความพยายามของสหภาพในการยึดริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนีย เมืองหลวงของสมาพันธรัฐออกไป ที่โดดเด่นคือ ระหว่างการทัพคาบสมุทร ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1862 การทัพของสมาพันธรัฐในแมริแลนด์ยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ในยุทธการแอนตีแทม (Antietam) ซึ่งทำให้อังกฤษเปลี่ยนใจไม่เข้าแทรกแซงในสงคราม ไม่นานหลังจากยุทธการนั้น ลินคอล์นประกาศเลิกทาส ซึ่งทำให้การเลิกทาสไม่เป็นเป้าประสงค์ในสงครามอีกต่อไป
ใน ค.ศ. 1863 การบุกขึ้นเหนือของนายพลสมาพันธรัฐ โรเบิร์ต อี. ลี ยุติลงด้วยความพ่ายแพ้ที่ยุทธการเกตตีสเบิร์ก ในทางตะวันตก สหภาพควบคุมเหนือแม่น้ำมิสซิสซิปปี หลังยุทธการชิโลห์ (Shiloh) และการล้อมวิคสเบิร์ก (Vicksburg) ซึ่งเป็นผลให้สมาพันธรัฐแบ่งออกเป็นสองและทำลายกองทัพตะวันตกไปเป็นอันมาก ด้วยความสำเร็จในทางตะวันตก ยูลิสซิส เอส. แกรนท์ จึงได้รับอำนาจบังคับบัญชากองทัพตะวันออกใน ค.ศ. 1864 และจัดระเบียบกองทัพของวิลเลียม เทคุมเซห์ เชอร์แมน, ฟิลิป เชอริแดน, และคนอื่น ๆ ให้โจมตีสมาพันธรัฐจากทุกทิศทาง ซึ่งเพิ่มความได้เปรียบด้านกำลังพลของฝ่ายเหนือถึงขีดสุด แกรนท์ปรับโครงสร้างของกองทัพสหภาพ และวางตัวนายพลคนอื่นให้บังคับบัญชากองพลของกองทัพเพื่อสนับสนุนการบุกเวอร์จิเนียของเขา เขานำการทัพภาคพื้นดินเพื่อยึดริชมอนด์ แม้จะเผชิญกับการต้านทานอย่างดุเดือด เขาจะเปลี่ยนแผนและนำการล้อมปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งทำลายกองทัพที่เหลือของลีเกือบทั้งหมด แกรนท์มอบอำนาจให้เชอร์แมนยึดแอตแลนตาและเคลื่อนทัพไปยังทะเลโดยมีเป้าหมายเพื่อทำลายสาธารณูปโภคของสมาพันธรัฐ เมื่อความพยายามป้องกันปีเตอร์สเบิร์กของสมาพันธรัฐล้มเหลว กองทัพสมาพันธรัฐล่าถอย แต่ก็ถูกตามล่าและพ่ายแพ้ในที่สุด ซึ่งส่งผลให้ลียอมจำนนต่อแกรนท์ที่แอพโพแมตทอก คอร์ทเฮาส์เมื่อวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1865
สงครามกลางเมืองอเมริกันเป็นหนึ่งในสงครามอุตสาหกรรมที่แท้จริงครั้งแรก ๆ ของโลก ทางรถไฟ โทรเลข เรือกลไฟ และอาวุธซึ่งผลิตเป็นจำนวนมากมีการใช้กันอย่างกว้างขวาง แบบของสงครามเบ็ดเสร็จ ซึ่งพัฒนาโดยเชอร์แมนในรัฐจอร์เจีย และสงครามสนามเพลาะรอบปีเตอร์สเบิร์กเกิดขึ้นก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในทวีปยุโรป สงครามครั้งนี้ยังเป็นสงครามที่นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลให้ทหารเสียชีวิตกว่า 620,000 นาย และพลเรือนเสียชีวิตไม่ทราบจำนวน นักประวัติศาสตร์ จอห์น ฮัดเดิลสตัน ประเมินยอดผู้เสียชีวิตว่า ชายรัฐทางเหนือทุกคนที่อายุระหว่าง 20-45 ปี เสียชีวิตไป 10% และชายรัฐทางใต้ทุกคนที่อายุระหว่าง 18-40 ปี เสียชีวิตไป 30% ชัยชนะของฝ่ายเหนือหมายถึงจุดจบของสมาพันธรัฐและทาสในสหรัฐอเมริกา และเสริมอำนาจแก่รัฐบาลกลาง ปัญหาทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจและเชื้อชาติของสงครามมีอิทธิพลต่อยุคบูรณะซึ่งดำเนินไปจนถึง ค.ศ. 1877
สาเหตุของสงครามเกิดจากความแตกต่างระหว่างแต่ละรัฐในสหรัฐอเมริกา ที่มีรูปแบบและชีวิตความเป็นอยู่แตกต่างกันมาก ในขณะที่รัฐทางใต้ซึ่งจำเป็นต้องใช้ทาสในการเกษตรกรรมขนาดใหญ่ รัฐทางเหนือกลับเป็นรัฐอุตสาหกรรมที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทาสมากนัก เมื่ออับราฮัม ลิงคอล์นซึ่งมีแนวคิดต่อต้านระบบทาสอย่างชัดเจน ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ทำให้รัฐทางใต้ 13 รัฐที่ไม่พอใจ แยกตัวเป็นอิสระ และตั้งรัฐบาลใหม่ในนามว่าสมาพันธรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1861