ได้แก่ ลักษณะของศิลปะที่แสดงคุณลักษณะเฉพาะอย่างของรูปแบบ ศิลปะจะแสดงออกทางอิทธิพลทางภูมิอากาศ ขนบประเพณี รูปแบบของศิลปะตะวันออกจะเด่นชัดทางอิทธิพลทางศาสนา เช่น งานทางด้านจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ตลอดจนประยุกต์ศิลป์ งานประณีตศิลป์และงานหัตถกรรม ซึ่งมีส่วนในการนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันของชาวตะวันออกตามพื้นเพเดิมของการดำรงชีวิต ชาวตะวันออก คือ มนุษย์ที่อยู่อาศัยในประเทศแถบตะวันออก ตั้งแต่ตะวันออกกลางจนถึงตะวันออกไกล โดยมีรูปร่างทางร่างกายและวัฒนธรรมเป็นอีกลักษณะหนึ่งที่แตกต่างกันออกไปด้วย การนับถือศาสนาก็มีอิสระต่อกัน ประกอบด้วย ศาสนาอิสลาม ศาสนาพุทธ ศาสนาฮินดู ลัทธิเต๋า และศาสนาคริสต์ เป็นต้น สภาพความเป็นอยู่จะเป็นไปตามลักษณะของภูมิประเทศและภูมิอากาศ ซึ่งทำให้ลักษณะบ้านเรือน เครื่องแต่งกายและสิ่งของเครื่องใช้เป็นไปตามสิ่งแวดล้อม การสร้างสรรค์ศิลปะจึงเป็นไปอีกแบบหนึ่ง ศิลปะในประเทศตะวันตกนั้น มีโอกาสที่จะเป็นลักษณะเดียวกันในบางยุคบางสมัย เพราะมีความนิยมร่วมกัน แต่ในประเทศตะวันออกนั้น ล้วนมีเอกลักษณ์ประจำชาติของตนเองมาแต่ยุคโบราณ และต่างก็สืบต่อลักษณะทางศิลปะกันลงมาไม่ขาดสายจึงเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าชาวตะวันออกซึ่งประกอบด้วยเชื้อชาติต่าง ๆ นั้น มีความเคารพนับถือในขนบธรรมเนียมประเพณีของตนเองยิ่งกว่าชีวิต ทำให้ศิลปะของชาวตะวันออกมีลักษณะรูปแบบตนเอง “ ศิลปะประจำชาติ ” เด่นชัด และไม่ถือเอาความเป็นจริงตามธรรมชาติเป็นสำคัญ จึงสร้างสรรค์ศิลปะให้บังเกิดความงามที่เหนือขึ้นไปจากธรรมชาติตามรสนิยมและความรู้สึกของตน
โดยทั่วไปแล้วมักจะลงความเห็นกันว่า ศิลปะตะวันออกเป็นศิลปะอุดมคติ อันเป็นศิลปะที่มิได้ยึดถือเอาความจริงตามธรรมชาติเป็นหลักจนเกินไป หรือทำเหมือนธรรมชาติทุกกระเบียดนิ้ว และแม้ว่าจะใช้ลักษณะรูปแบบของธรรมชาติเป็นพื้นฐาน แต่ก็มิได้เน้นจนเกิดความสำคัญเท่ากับลักษณะรูปแบบที่สร้างสรรค์โดยจินตนาการ เพราะฉะนั้นเมื่อสร้างสรรค์รูปที่ประสงค์จะเอาไว้สักการบูชา จึงพยายามถ่ายทอดแนวคิดออกมาให้มีลักษณะที่สูงกว่าธรรมชาติ สังเกตได้จากพระพุทธรูป ซึ่งมีส่วนประกอบพระวรกาย เช่นเดียวกับมนุษย์ แต่ก็มิได้คล้อยตามลักษณะอันแท้จริงของมนุษย์ตามธรรมชาติ
ศิลปะตะวันออก เป็นศิลปะที่มีลักษณะเด่นชัดในเรื่องของเอกลักษณ์ อันเนื่องมาจากความคิดที่ประดิษฐ์ขึ้นอย่างวิจิตรบรรจงของคนในชาติ นอกจากนั้นศิลปะยังแบ่งออกตามฐานะของบุคคล เช่น ในราชสำนักก็ย่อมจะต้องประณีตวิจิตรตระการตา เพราะเป็นสิ่งของใกล้ชิดกับกษัตริย์ ส่วนศิลปะของบุคคลทั่วไปก็แสดงฐานะที่แตกต่างกันอีกด้วย เช่น สิ่งของเครื่องใช้ของเศรษฐีกับสามัญชนทั่วไป เป็นต้น ที่เป็นไปตามฐานะของบุคคลเช่นนี้ ก็เพื่อความเหมาะสมกับโอกาสที่จะใช้ด้วย เช่น เครื่องราชูปโภคของกษัตริย์ ก็เพื่อแสดงความสง่างามสมศักดิ์ศรีของการเป็นกษัตริย์ อันเป็นประมุขของประเทศ เพราะกษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นเอกราชของชาติอีกด้วย
ศิลปะตะวันออกได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นอย่างฉลาดและแฝงไว้ด้วยแนวคิดและรูปแบบอันสร้างสรรค์ขึ้นเฉพาะเป็นเรื่อง ๆ ไป เช่น การสร้างสถูปเจดีย์ในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พ.ศ. 300 ก็มีสิ่งสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ องค์สถูป บัลลังก์ ฉัตร ดังนั้น แม้ว่ามีการสร้างสรรค์ขึ้นในสมัยต่อมา ก็ยังรักษาแนวคิดเดิมไว้ แต่รูปแบบอาจแปรเปลี่ยนไปบ้างตามแนวความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละยุคสมัยของแต่ละชาติ เพราะความคิดของคนแต่ละยุคแต่ละสมัยไม่เหมือนกัน ความเปลี่ยนแปลงนี้เองเรียกว่า “ วิวัฒนาการ ” ซึ่งเป็นไปอย่างช้า ๆ แต่มั่นคงอยู่ในรากฐานดั้งเดิม
ดังนั้นการศึกษาลักษณะทั่วไปของศิลปะตะวันออกจึงต้องเข้าใจแหล่งอิทธิพลทั้ง 2 แหล่งนี้เป็นพื้นฐานด้วย จะช่วยให้สามารถชี้ระบุได้ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม ประยุกต์ศิลป์ และงานหัตถกรรม
มนุษย์ในโลกตะวันออกแต่ละชาติแต่ละภาษา มีความเชื่อถือที่แตกต่างกันออกไปบ้างและคล้ายคลึงกันบ้าง ส่วนที่คล้ายคลึงกันนั้น เป็นเพียงเรื่องของศาสนา ซึ่งเป็นสื่อที่ปฏิบัติอย่างเดียวกันเพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น ศาสนาพุทธ เป็นต้น มีการอุปสมบทกุลบุตร และพิธีกรรมทางศาสนาเหมือนกัน แต่การสร้างสรรค์ศิลปะของแต่ละประเทศแตกต่างกันออกไป เช่น ประเทศไทยกับประเทศพม่า เวียดนาม เป็นต้น แสดงให้เห็นว่า ขนบธรรมเนียม ประเพณี และการประพฤติปฏิบัติที่กระทำอย่างเดียวกันในแต่ละชาตินั้น ยังแตกต่างกันออกไปด้วยและทุกประเทศในตะวันออก ก็มีเอกลักษณ์ประจำชาติของตนอย่างชัดเจนในเรื่องของความเชื่อถือและขนบธรรมเนียมประเพณีอาจศึกษาได้ดังต่อไปนี้