ศาสนาอิสลาม เป็นชนกลุ่มน้อยทางศาสนาในประเทศไทย แต่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยสถิติระบุว่าประชากรมุสลิมมีระหว่าง 2.2 ล้านคน ถึง 7.4 ล้านคน ซึ่งมีความหลากหลายจากการอพยพเข้ามาจากทั่วโลก มุสลิมในไทยส่วนใหญ่เป็นนิกายซุนนีย์
กลุ่มชาติพันธุ์ที่คนไทยเรียกกันว่า แขก คาดว่าหมายถึงชาวมุสลิมโดยรวม ทั้งนี้พ่อค้าชาวมุสลิมในคาบสมุทรเปอร์เซียที่เข้ามาค้าขายในแหลมมลายู (อินโดนีเซียและมาเลเซีย) ได้นำศาสนาอิสลามเข้ามาด้วย ภายหลังคนพื้นเมืองจึงได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ส่วนในประเทศไทยนี้พบหลักฐานว่าคนไทยได้ติดต่อสัมผัสกับชาวมุสลิมตั้งแต่ยุคสมัยสุโขทัย และช่วงกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมา โดยชาวมุสลิมบางคนนั้น เป็นถึงขุนนางในราชสำนัก ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีชาวมุสลิมอพยพมาจากมลายูและเปลี่ยนสัญชาติเป็นไทย นอกจากนี้ยังมีชาวมุสลิมอินเดียที่เข้ามาตั้งรกราก รวมถึงชาวมุสลิมยูนนานที่หนีภัยการเบียดเบียนศาสนาหลังการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในประเทศจีน
ประชากรมุสลิมของไทยมีความหลากหลายและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน โดยมีกลุ่มเชื้อชาติอพยพเข้ามาจากจีน ปากีสถาน กัมพูชา บังกลาเทศ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เช่นเดียวกับชาวไทย ขณะที่มุสลิมในประเทศไทยราวสองในสามมีเชื้อสายมาเลย์
คนส่วนใหญ่เชื่อว่าชาวมุสลิมส่วนใหญ่ของประเทศอาศัยอยู่ในสามจังหวัดใต้สุดของประเทศไทย ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส อย่างไรก็ตาม การศึกษาของกระทรวงการต่างประเทศ ชี้ว่า ชาวไทยมุสลิมเพียงร้อยละ 18 เท่านั้นที่อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดนี้ ส่วนที่เหลืออาศัยอยู่กระจายไปทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและตลอดพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2548 มุสลิมในภาคใต้คิดเป็นประชากรร้อยละ 30.4 ของประชากรอายุมากกว่า 15 ปี แต่ในส่วนอื่นของประเทศกลับมีเพียงน้อยกว่าร้อยละ 3
ยกเว้นในวงจำกัดของหมู่ผู้เชื่อที่ได้รับการฝึกอบรมทางศาสนศาสตร์มาแล้ว โดยทั่วไปศาสนาอิสลามในประเทศไทย เช่นเดียวกับศาสนาพุทธ ได้ผสมผสานความเชื่อต่างๆ เข้ากับหลักปฏิบัติของอิสลาม ในภาคใต้ เป็นการยากที่จะลากเส้นแบ่งระหว่างวิญญาณนิยมกับวัฒนธรรมมาเลย์ซึ่งใช้เพื่อขับไล่วิญญาณร้ายและพิธีกรรมอิสลามท้องถิ่น เนื่องจากความคล้ายคลึงกันระหว่างทั้งสอง
ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2550 ประเทศไทยมีมัสยิด 3,494 แห่ง โดยมีในจังหวัดปัตตานีมากที่สุด (636 แห่ง) ตามกรมการศาสนา มัสยิดกว่าร้อยละ 99 เป็นนิกายซุนนีย์ และอีกร้อยละ 1 เป็นชีอะหฺ
งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย เป็นงานเฉลิมฉลองการประสูติของศาสดามุฮัมมัด (ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ในประเทศไทย จัดโดยคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ร่วมกับองค์กรภาครัฐ องค์กรการกุศล และองค์กรเอกชน ซึ่งได้จัดเป็นประจำทุกปีโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จแทนพระองค์เพื่อเปิดงาน
งานเมาลิดเป็นงานฉลองการเกิดของศาสดามุฮัมมัด ซึ่งตรงกับวันที่ 12 เดือนรอบิอุลเอาวัล ตามปฏิทินอิสลามซึ่งนับตามจันทรคติ โดยงานเมาลิดนั้นมักจะจัดในประเทศอียิปต์ และประเทศมุสลิมอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย เป็นต้น โดยประเทศไทยนั้นมีการจัดงานนี้มาอย่างช้านาน แต่เริ่มเป็นกิจลักษณะในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยใช้ชื่อว่า งานเมาลิดสนามหลวง ซึ่งจัดงานฉลองดังกล่าวที่ท้องสนามหลวง เพื่อสนับสนุนกิจการศาสนาอิสลามในราชอาณาจักรและได้พระราชทานเสื้อคลุมให้กับอิหม่ามในการประกอบศาสนกิจ
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญแล้ว ก็ยังมีการจัดงานเมาลิดโดยใช้ชื่อว่า งานเมาลิดส่วนกลาง แต่ต่อมาก็ได้หยุดไปเนื่องจากการดำเนินนโยบายรัฐนิยมของรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ต่อมาก็ได้รื้อฟื้นการจัดงานนี้ขึ้นมาอีกครั้งหลังจากจอมพลแปลกพ้นจากอำนาจ โดยในปี พ.ศ. 2506 นายต่วน สุวรรณศาสน์ จุฬาราชมนตรีในขณะนั้นได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถในการเปิดงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย และในปีใดที่พระองค์ทรงติดภารกิจก็โปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารหรือสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีเสด็จแทนพระองค์เป็นประจำทุกปี
งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทย เป็นงานที่มีการกล่าวบทสดุดีศาสดามุฮัมมัดหรือที่ชาวมุสลิมเรียกกันว่าบัรซันญีซึ่งเป็นบทกลอนอาหรับที่มีความไพเราะและมีการขอพรให้กับศาสดามุฮัมมัดหรือที่ชาวมุสลิมเรียกว่าซอลาวาต อ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานโดยชาวไทยและชาวต่างประเทศ การเผยแพร่จริยวัตรอันงดงามและเรียบง่ายของศาสดามุฮัมมัด การบรรยายทางวิชาการ แต่ที่เด่นชัดในงานนี้คือการจำหน่ายสินค้ามุสลิม อาหารฮาลาลนานาชนิด นอกจากนี้งานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยจัดว่าเป็นงานเดียวที่ชาวมุสลิมทั่วประเทศได้มีโอกาสมารวมตัวกัน