ศาสนาซิกข์ หรือ ศาสนาสิกข์ (ปัญจาบ: ?????, สัท.: [?s?k??i?], อังกฤษ: Sikhism) เป็นศาสนาที่ถือกำเนิดขึ้นในราวคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในตอนเหนือของอินเดีย จากคำสอนของ นานัก และคุรุผู้สืบทอดอีก 9 องค์ หลักปรัชญาของศาสนาซิกข์และการปฏิบัติตามหลักศาสนา นิยมเรียกว่า "คุรมัต" (ความหมายโดยพยัญชนะ หมายถึง "คำสอนของคุรุ" หรือ "ธรรมของซิกข์")
คำว่า "ซิกข์" หรือ "สิกข์" มาจากภาษาสันสกฤตว่า "ศิษฺย" หมายถึง ศิษย์ ผู้เรียน หรือ "ศิกฺษ" หมายถึง การเรียน และภาษาบาลีว่า "สิกฺข" หรือ "สิกฺขา" หมายถึง การศึกษา ผู้ศึกษา หรือผู้ใฝ่เรียนรู้
ศาสนาซิกข์ เป็นศาสนาแบบเอกเทวนิยม เนื่องจากหลักความเชื่อของศาสนาซิกข์ คือ ศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว คือ "วาหคุรู" ปฏิบัติสมาธิในนามของพระเจ้า และโองการของพระเจ้า ศาสนิกชาวซิกข์จะนับถือหลักคำสอนของคุรุซิกข์ทั้ง 10 หรือผู้นำผู้รู้แจ้ง และคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ ที่เรียกว่า "คุรุ ครันถ์ สาหิพ" ซึ่งเป็นบทคัดสรรจากผู้เขียนมากมาย จากภูมิหลังทางศาสนา และเศรษฐกิจสังคมที่หลากหลาย คัมภีร์ของศาสนาเป็นบัญญัติของคุรุ โคพินท์ สิงห์ คุรุองค์สุดท้ายแห่งขาลสา ปันถ (Khalsa Panth) การสอนและหลักปฏิบัติของศาสนาซิกข์มีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมของภูมิภาคปัญจาบในลักษณะต่างๆ กัน
ชาวสิกข์ทุกคนต้องทำพิธี "ปาหุล" คือพิธีล้างบาป เมื่อเสร็จพิธีแล้วก็จะรับเอา "กะ" คือสิ่งที่เริ่มต้นด้วยอักษร "ก" 5 ประการ ดังต่อไปนี้
ผู้ที่ทำพิธีปาหุลแล้วจะได้นามว่า "สิงห์" แปลว่า สิงโต หรือ ราชสีห์ ต่อท้ายเหมือนกันทุกคน ถือว่าผ่านความเป็นสมบัติของพระเจ้าแล้ว ถ้าเป็นหญิงจะมีคำว่า "กอร์" (ผู้กล้า) ต่อท้ายชื่อ การทำพิธีล้างบาปและรับอักษร 5 ก. เพื่อเป็นชาวสิกข์โดยสมบูรณ์นั้น มีขึ้นในภายหลัง คือในสมัยของคุรุโควินทสิงห์ ซึ่งเป็นศาสดาองค์สุดท้ายของศาสนาสิกข์ ศาสนาสิกข์ เป็นศาสนาของชาวอินเดีย แคว้นปัญจาบและบริเวณใกล้เคียง ทุกคนที่นับถือสิกข์ ถือว่าเป็นพวกเดียวกัน เป็นพี่น้องกันโดยศาสนา และขนบธรรมเนียมประเพณี ชาวสิกข์นิยมเรียกพระเจ้าว่า "พระนาม" (The Name) โดยมีคำสอนสรรเสริญพระพุทธคุณของพระเจ้าว่าเป็นผู้ฉลาด มีพระกรุณา มีพระหฤทัยเผื่อแผ่
ศาสนาซิกข์นับเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากเป็นอันดับที่ 9 ของโลก ปัจจุบันมีผู้นับถือศาสนาซิกข์มากกว่า 23 ล้านคนทั่วไป ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐปัญจาบ ของอินเดีย
การเขียน และการออกเสียงชื่อศาสนาซิกข์นั้น หากเขียนว่า "สิกข์" ในภาษาไทยจะอ่านออกเสียงว่า "สิก" ซึ่งไม่ตรงกับเสียงในภาษาปัญจาบ และจะทำให้ความหมายเปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นเพื่อให้อ่านออกเสียง และความหมายถูกต้อง จึงต้องเขียนว่า "ซิกข์" และอ่านออกเสียงว่า "ซิก", หรืองานวิ่งการกุศล ไทย-ซิกข์ มาราธอนซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ก็ใช้การเขียนว่า "ซิกข์" ขณะที่ในสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนมีการสะกดว่า "สิกข์"
ในพจนานุกรมภาษาไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดว่าคำนี้สามารถสะกดได้ถึงสี่แบบ ได้แก่ "ซิก, ซิกข์, สิกข์, สิข"
ศาสดา หรือ คุรุ แห่งศาสนาสิกข์มี 10 ท่าน ต่อจากนั้นศาสดาองค์ที่ 10 ได้ประกาศให้ถือพระคัมภีร์เป็นศาสดาแทน และไม่มีการแต่งตั้งศาสดาต่อไปอีก (ยกเว้นนิกายนามธารีถือว่ายังมีศาสดาต่อไปได้อีกจนบัดนี้ รวม 16 องค์แล้ว) ศาสดาทั้ง 10 ท่าน ได้แก่
พระศาสดาองค์ที่ห้า พระศาสดาคุรุอารยันเทพ ได้ทรงรวบรวมพระคัมภีร์ของพระศาสดาองค์ก่อนๆทั้งสี่พระองค์ รวมทั้งของพระองค์เอง และนักบุญนักบวชต่างๆไม่ว่าจะศาสนาใด ที่มีแนวคิดปรัชญาและความสัตย์รู้แจ้งเห็นจริง ในปี พ.ศ. ๒๑๔๗ ซึ่งมีพระนามว่า อาดิครันถ์ซาฮิบ เป็นพระคัมภีร์พระองค์เดียวในสากลโลกที่ได้มีการเรียบเรียงโดยพระศาสดา (ผู้ก่อตั้งศาสนา) ในช่วงสมัยพระชนมายุของพระองค์เอง แบ่งออกเป็น 2 เล่ม ดังนี้
ในศาสนาสิขแบ่งออกเป็นหลายนิกาย แต่มีนิกายที่สำคัญ ๆ ๒ นิกาย คือ นิกายนานักปันณิ แปลว่า ผู้ปฏิบัติตามธรรมของท่านคุรุนานัก (ศาสดาองค์แรก) ผู้นับถือนิกายนี้จะไม่เข้าปาหุล หรือ ล้างบาป และไม่รับ “ก” ทั้ง ๕ ประการ นิกายนิลิมเล แปลว่า นักพรตผู้ปราศจากมลทิน บางแห่งเรียกนิกายนี้ว่า “นิกายขาลสา” หรือ “นิกายสิงห์” ผู้นับ ถือนิกายนี้จะดำเนินตามคำสอนของท่านคุรุโควินทร์สิงห์ (ศาสดาองค์ที่ ๑๐) โดยเฉพาะในเรื่องปาหุล หรือล้างชำระล้าง บาป ให้ตนเป็นผู้บริสุทธิ์ (ขาลสา) และเมื่อรับ “ก” ทั้ง ๕ แล้วก็ใช้นามสิงห์ต่อท้ายได้ นิกายอุทาสี หมายความว่า ผู้วางเฉยต่อโลก นิกายอกาลี คือ ผู้บูชาพระผู้เป็นเจ้านิรันดร นิกายสุธเร คือ นักพรตผู้บริสุทธิ์ นิกายทิวเนสาธุ หมายถึง นักบุญผู้เมา (ในพระเจ้า) นิกายริมเลสาธุ หมายถึง นักบุญผู้ไม่มีมลทิน นิกายนามธารี แปลว่า ผู้ทรงไว้ หรือผู้เทิดทูลพระนามของพระเจ้า หรือผู้มั่นอยู่ในนามของพระเจ้า ผู้นับถือนิกายนี้จะแต่งตัวขาวล้วน ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มของมึนเมา ไม่กินเนื้อสัตว์ กระนั้นก็ตามนิกายอื่น ๆ ที่มิได้กล่าวถึงในที่นี้กว่า ๒๐ นิกายล้วนมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย