วุฒิสภาไทย หรือเดิมมีชื่อว่า "พฤฒสภา" เป็นวุฒิสภาของประเทศไทย โดยเป็นสภาสูงในรัฐสภาไทยคู่กับสภาผู้แทนราษฎรไทยซึ่งเป็นสภาล่าง
วุฒิสภาไทยเริ่มก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2489 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 แบ่งรูปแบบสำคัญออกเป็น 2 ยุค คือ ยุคสมาชิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้ง และยุคสมาชิกวุฒิสภาจากการเลือกตั้งและการสรรหา
วุฒิสภา ประกอบด้วย สมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งจำนวน 200 คน ตามวิธีแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง มีหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มีกำหนดวาระคราวละ 6 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง
สมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยเช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย
วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมาย ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี หรือเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาโดยไม่มีการลงมติ และมีหน้าที่อื่นตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2540) ยังได้บัญญัติให้วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่โดยเฉพาะอีกหลายประการ คือ การพิจารณาเลือก แต่งตั้ง ให้คำแนะนำ หรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งต่าง ๆ คือ
นอกจากนี้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด หรืออัยการสูงสุด รวมทั้งกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาหรือตุลาการ พนักงานอัยการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปรกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย วุฒิสภามีอำนาจถอดถอนผู้นั้นออกจากตำแหน่งได้.
วุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนรวม 150 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 1 คน และมาจากการสรรหาเท่ากับจำนวนรวมข้างต้นหักด้วยจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง (จังหวัด 77 คน และสรรหา 73 คน)
ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ในการกลั่นกรองและพิจารณากฎหมายที่ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี หรือเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาโดยไม่มีการลงมติ นอกจากนี้ ยังให้วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ ในการพิจารณาเลือก แต่งตั้ง เสนอชื่อ หรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ โดยตั้งคณะกรรมาธิการ ทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม ของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง รวมทั้งรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จำเป็น แล้วรายงานต่อวุฒิสภา เพื่อประกอบการพิจารณา ตามมาตราที่ 121 ของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อีกด้วย