ในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประมาณ พ.ศ. 2417-2418 ทรงริเริ่มปฏิรูปปรับปรุงการปกครองประเทศให้ทันสมัย โดยดึงอำนาจเข้าศูนย์กลาง ทรงตั้งระบบหอรัษฎากรพิพัฒน์ (ปัจจุบันคือ กระทรวงการคลัง) เพื่อรวมรวมการเก็บภาษีมาอยู่ที่เดียวกัน ซึ่งกระทบกระเทือนเก็บรายได้ สร้างความไม่พอใจแก่เจ้านายและขุนนางเก่าแก่เป็นอันมาก โดยเฉพาะกรมพระราชวังบวรสถานมงคลซึ่งเดิมมีรายได้แผ่นดินถึง 1 ใน 3 มีทหารในสังกัดถึง 2,000 นาย และมีข้าราชบริพารเป็นจำนวนมาก และเกิดปฏิกิริยาโต้ตอบ มีการสะสมอาวุธ มีความขัดแย้งระหว่างวังหลวงกับวังหน้า ทั้งยังทรงระแวงว่าจะถูกปลดออกจากตำแหน่งเนื่องจากไม่ได้รับการทรงแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์โดยตรง จนเกือบจะเกิดสงครามกลางเมือง ซึ่งเรียกเหตุการณ์ขัดแย้งนี้ว่า วิกฤตการณ์วังหน้า
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทรงมีความรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี และเข้าไปคบค้าสนิทสนมกับนายโทมัส น็อกซ์ กงสุลอังกฤษ ประกอบกับในสมัยนั้น อังกฤษคุกคามสยาม ถึงขั้นเรียกเรือรบมาปิดปากแม่น้ำ ทางวังหลวงจึงหวาดระแวง เชื่อว่ามีแผนการจะแบ่งดินแดนเป็นสองส่วนคือ ทางเหนือถึงเชียงใหม่ ให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าครอง ทางใต้ให้กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญครอง นัยว่าเมื่อแบ่งสยามให้เล็กลงแล้วจะได้อ่อนแอ ง่ายเอาเป็นเมืองขึ้ น
ความบาดหมางระหว่างพระบรมมหาราชวังและวังหน้า กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญจึงทรงระดมกำลังเพิ่มในวังหน้า กระทั่งปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2417 เกิดอัคคีภัยใกล้กับโรงเก็บดินปืนและโรงก๊าซในวังหลวง ทางวังหน้าจะนำทหารพร้อมอาวุธไปช่วยดับเพลิง แต่วังหลวงไม่อนุญาต กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงระแวงว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงกำจัดหรือลิดรอนสิทธิอำนาจของพระองค์ จึงทรงหนีไปอยู่สถานกงสุลอังกฤษ และเรียกร้องให้ข้าหลวงอังกฤษมาช่วยไกล่เกลี่ย ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเชิญสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์เป็นผู้ไกล่เกลี่ยและทรงบอกไม่ให้พวกอังกฤษมาแทรกแซง "วิกฤตการณ์วังหน้า" ยุติลงในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2418