วารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (อังกฤษ: New England Journal of Medicine ตัวย่อ NEJM) เป็นวารสารการแพทย์ภาษาอังกฤษ ตีพิมพ์โดยสมาคมการแพทย์รัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Medical Society) เป็นวารสารที่ทบทวนโดยผู้รู้เสมอกันที่มีเกียรติที่สุดฉบับหนึ่งของโลก และที่ตีพิมพ์ต่อเนื่องกันมายาวนานมากที่สุด ในประเทศไทย เว็บไซต์ของวารสารเปิดให้อ่านฟรีเป็นบางเนื้อหา
ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2354 นพ.ชาวบอสตันสองคน (John Collins Warren และ James Jackson) ยื่นหนังสือชี้ชวนเพื่อจัดตั้ง วารสารการแพทย์ ศัลยกรรม และวิทยาศาสตร์สาขาเคียงข้างของนิวอิงแลนด์ (New England Journal of Medicine and Surgery and Collateral Branches of Science) โดยเป็นวารสารการแพทย์และปรัชญา ต่อมา วารสารโดยชื่อที่ว่าก็พิมพ์เป็นครั้งแรกในเดือนมกราคม 2355 โดยเป็นวารสารพิมพ์ทุก ๆ 3 เดือน
ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2371 วารสารได้ซื้อวารสารการแพทย์อีกวารสารหนึ่งชื่อว่า Boston Medical Intelligencer ที่เริ่มพิมพ์ตั้งแต่ปี 2366 แล้วรวมวารสารทั้งสองภายใต้ชื่อ Boston Medical and Surgical Journal โดยพิมพ์เป็นรายสัปดาห์
ในปี 2464 สมาคมการแพทย์รัฐแมสซาชูเซตส์ซื้อวารสารเป็นราคา 1 ดอลลาร์สหรัฐ แล้วเปลี่ยนชื่อวารสารเป็น วารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (New England Journal of Medicine) ต่อมาในปี 2471
ในวันที่ 25 เมษายน 2539 วารสารประกาศว่ามีเว็บไซต์ใหม่ ที่พิมพ์เป็นประจำอาทิตย์บทคัดย่อของงานวิจัยต่าง ๆ และข้อความเต็มสำหรับบทบรรณาธิการ กรณีคนไข้ และจดหมายส่งถึงบรรณาธิการ นี่เป็นครั้งแรกที่วารสารใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อในการตีพิมพ์หลังจากที่ดำเนินการมาแล้ว 184 ปี อีกสองปีต่อมา ระบบออนไลน์ก็เริ่มรวมบทความเต็มทั้งหมดที่มี
วารสารได้รับ "George Polk Awards" ในปี 2520 โดยองค์กรที่ให้กล่าวว่า เป็นการให้กับ "สิ่งตีพิมพ์ที่จะได้ความสนใจและเกียรติคุณอย่างมหาศาลในทศวรรษต่อ ๆ ไป"
วารสารปกติมีปัจจัยกระทบสูงสุดของวารสารอายุรศาสตร์ เช่นที่ 55.873 ในปี 2557 ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ 1 ในบรรดาวารสาร 153 วารสารในหมวดหมู่ "การแพทย์ทั่วไปและอายุรศาสตร์" และเป็นวารสารเดียวในหมวดหมู่ที่มีปัจจัยสูงกว่า 50 โดยเปรียบเทียบกับวารสารตำแหน่งที่ 2 และ 3 (คือ เดอะแลนเซ็ต และ JAMA) ที่มีปัจจัยกระทบที่ 45.217 และ 35.289 ตามลำดับ
วารสารบังคับให้บทความที่จะพิมพ์ไม่เคยพิมพ์หรือเผยแพร่ในที่อื่นมาก่อน ซึ่งช่วยรักษาความดั้งเดิมของบทความ เป็นกฎที่กล่าวถึงเป็นครั้งแรกในปี 2512 ซึ่งต่อมาวารสารการแพทย์และวิทยาศาสตร์อื่น ๆ จึงเริ่มใช้กฎเดียวกันนี้ด้วย
ต้นคริสต์ทศวรรษ 2000 วารสารเกี่ยวข้องกับข้อโต้เถียงเรื่องปัญหางานวิจัยของยา Vioxx (ชื่อสามัญ Rofecoxib) คือ มีงานศึกษาที่พิมพ์ในวารสารในเดือนพฤศจิกายน 2543 โดยรับการสนับสนุนจากบริษัทที่ผลิตยาเมอร์ค ที่แสดงว่ามีกรณีกล้ามเนื้อหัวใจตายเหตุขาดเลือดสูงขึ้นในคนไข้ที่ใช้ยา แต่นักวิจัยตีความว่า เป็นผลการป้องกันโรคหัวใจของยาที่ใช้ในกลุ่มควบคุม ไม่ใช่ผลที่เกิดจากยา Vioxx
ตามอดีตบรรณาธิการของวารสารการแพทย์ BMJ มีการบอกความสงสัยเรื่องความถูกต้องของงานศึกษากับบรรณาธิการของ NEJM ไม่เกินเดือนสิงหาคม 2544 และในปีนั้น ทั้งองค์การอาหารและยาสหรัฐและวารสาร JAMA ต่างก็ตั้งข้อสงสัยถึงความสมเหตุสมผลของการตีความข้อมูลที่พิมพ์ใน NEJM ต่อมาในเดือนกันยายน 2547 บ.เมอร์ค จึงได้ถอนยาออกจากตลาด แล้วในเดือนธันวาคม 2548 วารสารจึงได้พิมพ์นิพจน์แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับงานศึกษาดั้งเดิม หลังจากที่พบว่า ผู้เขียนรู้ถึงอาการไม่พึงประสงค์ (adverse event) มากกว่าที่เปิดเผยเมื่อตีพิมพ์งานศึกษา โดยนิพจน์แสดงว่า "จนกระทั่งปลายเดือนพฤศจิกายน 2548 เราเชื่อว่าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงหลัง ๆ ที่ผู้เขียนไม่รู้ท่วงทันพอที่จะรวมเข้าในบทความที่พิมพ์ในวารสารวันที่ 23 พฤศจิกายน 2543 แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่า จากหนังสือบันทึกช่วยจำวันที่ 5 กรกฎาคม 2543 ที่ได้โดยหมายศาลในคดี Vioxx และเปิดเผยให้แก่วารสาร ผู้เขียนอย่างน้อยสองท่านรู้ถึงเหตุการณ์กล้ามเนื้อหัวใจตายเหตุขาดเลือดอีก 3 กรณีอย่างน้อย 2 อาทิตย์ก่อนที่ผู้เขียนจะส่งบทความแก้ไข 2 รุ่นแรก และสี่เดือนครึ่งก่อนที่บทความจะตีพิมพ์"
ในช่วงเวลา 5 ปีระหว่างการตีพิมพ์บทความดั้งเดิมกับการตีพิมพ์นิพจน์แสดงความเป็นห่วง มีการประเมินว่า บ.เมอร์คจ่าย NEJM มากถึง 836,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 36 ล้านบาท) เพื่อพิมพ์เพิ่มบทความดั้งเดิมเพื่อใช้โปรโหมตยา และต่อมาวารสารก็ถูกตำหนิอย่างเป็นสาธารณะเรื่องการตอบสนองต่อปัญหางานวิจัย ในบทความบรรณาธิการต่าง ๆ รวมทั้งในวารสารการแพทย์ BMJ และ Journal of the Royal Society of Medicine
โดยปี 2550 บ.เมอร์คได้ตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการฟ้องร้องในศาลเรื่องยา Vioxx เป็นมูลค่า 970 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 29,429 ล้านบาท) และได้ตั้งกองทุนมีมูลค่า 4,850 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 147,149 ล้านบาท) เพื่อสะสางคดีข้อเรียกร้องเอาทรัพย์โดยคนอเมริกัน
วารสารให้เข้าถึงบทความได้ฟรีแต่ถ่วงเวลา คือหลังจาก 6 เดือนที่พิมพ์บทความ และให้เข้าถึงบทความย้อนหลังได้ถึงปี 2533 แต่การถ่วงเวลาไม่มีสำหรับประเทศที่ประชากรมีรายได้ต่ำที่สุด ซึ่งสามารถเข้าถึงบทความทุกเนื้อหาได้ฟรีเมื่อใช้เป็นส่วนบุคคล แต่ไม่รวมประเทศไทยในปี 2559
วารสารยังมีพอดแคสต์ 2 รายการ รายการแรกเป็นการสัมภาษณ์แพทย์และนักวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร และรายการที่สองเป็นการสรุปเนื้อความของวารสารแต่ละฉบับ สื่อรายการอื่น ๆ รวมทั้ง Continuing Medical Education (การศึกษาแพทย์ต่อเนื่อง), Videos in Clinical Medicine (วิดีโอในการแพทย์คลินิก) ที่ฉายวิธีการทางการแพทย์, และ Image Challenge (ภาพปริศนา) ที่เปลี่ยนทุกอาทิตย์
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/วารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์