วันเข้าพรรษา (บาลี: วสฺส, สันสกฤต: วรฺษ, อังกฤษ: Vassa, เขมร: ?????, พม่า: ?????) เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่งที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดระยะเวลา 3 เดือนตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือภาษาปากว่า จำพรรษา ("พรรษา" แปลว่า ฤดูฝน, "จำ" แปลว่า พักอยู่) พิธีเข้าพรรษานี้ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง ละเว้นไม่ได้ทุกกรณี การเข้าพรรษาตามปกติเริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี (หรือเดือน 8 หลัง ถ้ามีเดือน 8 สองหน) และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา
วันเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8) หรือเทศกาลเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) ถือว่าเป็นวันและช่วงเทศกาลทางศาสนพุทธที่สำคัญเทศกาลหนึ่งในประเทศไทย โดยมีระยะเวลาประมาณ 3 เดือนในช่วงฤดูฝน โดยวันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องมาจากวันอาสาฬหบูชา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) ซึ่งพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั้งพระมหากษัตริย์และคนทั่วไปได้สืบทอดประเพณีปฏิบัติการทำบุญในวันเข้าพรรษามาช้านานแล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย
สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตการจำพรรษาอยู่ ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่งตลอด 3 เดือนแก่พระสงฆ์นั้น มีเหตุผลเพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักการจาริกเพื่อเผยแพร่ศาสนาไปตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นไปด้วยความยากลำบากในช่วงฤดูฝน เพื่อป้องกันความเสียหายจากการอาจเดินเหยียบย่ำธัญพืชของชาวบ้านที่ปลูกลงแปลงในฤดูฝน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงเวลาจำพรรษาตลอด 3 เดือนนั้น เป็นช่วงเวลาและโอกาสสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะได้มาอยู่จำพรรษารวมกันภายในอาวาสหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ด้วย
ในวันเข้าพรรษาและช่วงฤดูพรรษากาลตลอดทั้ง 3 เดือน พุทธศาสนิกชนชาวไทยถือเป็นโอกาสอันดีที่จะบำเพ็ญกุศลด้วยการเข้าวัดทำบุญใส่บาตร ฟังพระธรรมเทศนา ซึ่งสิ่งที่พิเศษจากวันสำคัญอื่น ๆ คือ มีการถวายหลอดไฟหรือเทียนเข้าพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน (ผ้าวัสสิกสาฏก) แก่พระสงฆ์ด้วย เพื่อสำหรับให้พระสงฆ์ได้ใช้สำหรับการอยู่จำพรรษา โดยในอดีต ชายไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชนเมื่ออายุครบบวช (20 ปี) จะนิยมถือบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์เพื่ออยู่จำพรรษาตลอดฤดูพรรษากาลทั้ง 3 เดือน โดยพุทธศาสนิกชนไทยจะเรียกการบรรพชาอุปสมบทเพื่อจำพรรษาตลอดพรรษากาลว่า "บวชเอาพรรษา"
นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2551 รัฐบาลได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็น "วันงดดื่มสุราแห่งชาติ" โดยในปีถัดมา ยังได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็นวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วราชอาณาจักร ทั้งนี้เพื่อรณรงค์ให้ชาวไทยตั้งสัจจะอธิษฐานงดการดื่มสุราในวันเข้าพรรษาและในช่วง 3 เดือนระหว่างฤดูเข้าพรรษา เพื่อส่งเสริมค่านิยมที่ดีให้แก่สังคมไทย
ในสมัยต้นพุทธกาล พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงวางระเบียบเรื่องการเข้าพรรษาไว้ แต่การเข้าพรรษานั้นเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์และพระสงฆ์สาวกปฏิบัติกันมาโดยปกติเนื่องด้วยพุทธจริยาวัตรในอันที่จะไม่ออกไปจาริกตามสถานที่ต่าง ๆ ในช่วงฤดูฝนอยู่แล้ว เพราะการคมนาคมมีความลำบาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพระสงฆ์ในช่วงต้นพุทธกาลมีจำนวนน้อยและส่วนใหญ่เป็นพระอริยะบุคคล จึงทราบดีว่าสิ่งใดที่พระสงฆ์ควรหรือไม่ควรกระทำ
ต่อมาเมื่อมีพระสงฆ์มากขึ้น และด้วยพระพุทธจริยาที่พระพุทธเจ้าจะไม่ทรงบัญญัติพระวินัยล่วงหน้า ทำให้พระพุทธเจ้าจึงไม่ได้ทรงบัญญัติเรื่องให้พระสงฆ์สาวกอยู่ประจำพรรษาไว้ด้วย จึงเกิดเหตุการณ์กลุ่มพระสงฆ์ฉัพพัคคีย์พากันออกเดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ต่าง ๆ โดยไม่ย่อท้อทั้งในฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน ทำให้ชาวบ้านได้พากันติเตียนว่า พวกพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาไม่ยอมหยุดพักสัญจรแม้ในฤดูฝน ในขณะที่นักบวชในศาสนาอื่น พากันหยุดเดินทางในช่วงฤดูฝน การที่พระภิกษุสงฆ์จาริกไปในที่ต่างๆ แม้ในฤดูฝน อาจเหยียบย่ำข้าวกล้าของชาวบ้านได้รับความเสียหาย หรืออาจไปเหยียบย่ำโดนสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ออกหากินจนถึงแก่ความตาย เมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่อง จึงได้วางระเบียบให้ภิกษุประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง เป็นเวลา 3 เดือนดังกล่าว
ตามพระวินัย พระสงฆ์รูปใดไม่เข้าจำพรรษาอยู่ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงปรับอาบัติแก่พระสงฆ์รูปนั้นด้วยอาบัติทุกกฎ
และพระสงฆ์ที่อธิษฐานรับคำเข้าจำพรรษาแล้วจะไปค้างแรมที่อื่นไม่ได้ แต่ถ้าหากเดินทางออกไปแล้วและไม่สามารถกลับมาในเวลาที่กำหนด คือ ก่อนรุ่งสว่าง ก็จะถือว่าพระภิกษุรูปนั้น"ขาดพรรษา" และต้องอาบัติทุกกฎเพราะรับคำนั้น รวมทั้งพระสงฆ์รูปนั้นจะไม่ได้รับอานิสงส์พรรษา ไม่ได้อานิสงส์กฐินตามพระวินัย และทั้งยังห้ามไม่ให้นับพรรษาที่ขาดนั้นอีกด้วย
แม้การเข้าพรรษานี้ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระภิกษุโดยตรง ที่จะละเว้นไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม แต่ว่าในการจำพรรษาของพระสงฆ์ในระหว่างพรรษานั้น อาจมีกรณีจำเป็นบางอย่าง ทำให้พระภิกษุผู้จำพรรษาต้องออกจากสถานที่จำพรรษาเพื่อไปค้างที่อื่น พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้ทำได้โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษาโดยมีเหตุจำเป็นเฉพาะกรณี ๆ ไป ตามที่ทรงระบุไว้ในพระไตรปิฎก ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับการพระศาสนาหรือการอุปัฏฐานบิดามารดา แต่ทั้งนี้ก็จะต้องกลับมาภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน การออกนอกที่จำพรรษาล่วงวันเช่นนี้เรียกว่า "สัตตาหกรณียะ" ซึ่งเหตุที่ทรงระบุว่าจะออกจากที่จำพรรษาไปได้ชั่วคราวนั้นเช่น
ซึ่งหากพระสงฆ์ออกจากอาวาสแม้โดยสัตตาหกรณียะล่วงกำหนด 7 วันตามพระวินัย ก็ถือว่า ขาดพรรษา และเป็นอาบัติทุกกฎเพราะรับคำ (รับคำอธิษฐานเข้าพรรษาแต่ทำไม่ได้)
ในกรณีที่พระสงฆ์สัตตาหกรณียะและกลับมาตามกำหนดแล้ว ไม่ถือว่าเป็นอาบัติ และสามารถกลับมาจำพรรษาต่อเนื่องไปได้ และหากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องออกจากที่จำพรรษาไปได้ตามวินัยอีก ก็สามารถทำได้โดยสัตตาหกรณียะ แต่ต้องกลับมาภายในเจ็ดวัน เพื่อไม่ให้พรรษาขาดและไม่เป็นอาบัติทุกกฎดังกล่าวแล้ว
เมื่อพระสงฆ์จำพรรษาครบไตรมาสได้ปวารณาออกพรรษาและได้กรานกฐินแล้ว ย่อมได้รับอานิสงส์ หรือข้อยกเว้นพระวินัย 5 ข้อ คือ
การเข้าพรรษานั้นปรากฏในพระไตรปิฎกเถรวาท ซึ่งพระสงฆ์ในนิกายเถรวาททุกประเทศจะถือการปฏิบัติการเข้าจำพรรษาเหมือนกัน (แต่อาจมีความแตกต่างกันบ้างในการให้ความสำคัญและรายละเอียดประเพณีปฏิบัติของแต่ละท้องถิ่น)
การเข้าจำพรรษาคือการตั้งใจเพื่ออยู่จำ ณ อาวาสใดอาวาสหนึ่งหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่งเป็นประจำตลอดพรรษา 3 เดือน ดังนั้นก่อนเข้าจำพรรษาพระสงฆ์ในวัดจะเตรียมตัวโดยซ่อมแซมเสนาสนะปัดกวาดเช็ดถูให้เรียบร้อยก่อนถึงวันเข้าพรรษา
เมื่อถึงวันเข้าพรรษา ส่วนใหญ่พระสงฆ์จะลงประกอบพิธีอธิษฐานจำพรรษาหลังสวดมนต์ทำวัตรเย็นเป็นพิธีเฉพาะของพระสงฆ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะลงประกอบพิธี ณ อุโบสถ หรือสถานที่ใดตามแต่จะสมควรภายในอาวาสที่จะจำพรรษา โดยเมื่อทำวัตรเย็นประจำวันเสร็จแล้วเจ้าอาวาสจะประกาศเรื่อง วัสสูปนายิกา คือการกำหนดบอกให้ให้พระสงฆ์ทั้งปวงรู้ถึงข้อกำหนดในการเข้าพรรษา โดยมีสาระสำคัญดังนี้
เมื่อแจ้งเรื่องดังกล่าวเสร็จแล้ว อาจจะมีการทำสามีจิกรรม คือกล่าวขอขมาโทษซึ่งกันและกัน เพื่อเป็นการแสดงความเคารพซึ่งกันและกันระหว่างพระเถระและพระผู้น้อย และเป็นการสร้างสามัคคีกันในหมู่คณะด้วย
จากนั้นจึงทำการอธิษฐานพรรษา เป็นพิธีกรรมที่สำคัญที่สุด โดยเปล่งวาจาว่าจะอยู่จำพรรษาตลอดไตรมาส โดยพระสงฆ์สามเณรทั้งอารามกราบพระประธาน 3 ครั้งแล้ว เจ้าอาวาสจะนำตั้งนโม 3 จบ และนำเปล่งคำอธิษฐานพรรษาพร้อมกันเป็นภาษาบาลีว่า
หลังจากนี้ ในแต่ละวัดจะมีข้อปฏิบัติแตกต่างกันไป บางวัดอาจจะมีการเจริญพระพุทธมนต์ต่อ และเมื่อเสร็จแล้วอาจจะมีการสักการะสถูปเจดีย์ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ภายในวัดอีกตามแต่จะเห็นสมควร
เมื่อพระสงฆ์สามเณรกลับเสนาสนะของตนแล้ว อาจจะอธิษฐานพรรษาซ้ำอีกเฉพาะเสนาสนะของตนก็ได้ โดยกล่าววาจาอธิษฐานเป็นภาษาบาลีว่า
เป็นอันเสร็จพิธีอธิษฐานเข้าจำพรรษาสำหรับพระสงฆ์ และพระสงฆ์จะต้องรักษาอรุณไม่ให้ขาดตลอด 3 เดือนนับจากนี้ โดยจะต้องรักษาผ้าไตรจีวรตลอดพรรษากาล คือ ต้องอยู่กับผ้าครองจนกว่าจะรุ่งอรุณด้วย
ในอดีต การเข้าพรรษามีประโยชน์แก่พระสงฆ์ในด้านการศึกษาพระธรรมวินัย โดยที่พระสงฆ์จากที่ต่าง ๆ มาอยู่จำพรรษารวมกันในที่ใดที่หนึ่ง พระสงฆ์เหล่านั้นก็จะมีการแลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายองค์ความรู้ตามพระธรรมวินัยให้แก่กัน
มาในปัจจุบัน การศึกษาพระธรรมวินัยในช่วงเข้าพรรษาในประเทศไทยก็ยังจัดเป็นกิจสำคัญของพระสงฆ์ โดยพระสงฆ์ที่อุปสมบททุกรูป แม้จะอุปสมบทเพียงเพื่อชั่วเข้าพรรษาสามเดือน ก็จะต้องศึกษาพระธรรมวินัยเพิ่มเติม ปัจจุบันพระธรรมวินัยถูกจัดเป็นหลักสูตรของคณะสงฆ์ ในหลักสูตร พระธรรม จะเรียกว่า ธรรมวิภาค พระวินัย เรียกว่า วินัยมุข รวมเรียกว่า "นักธรรม" ชั้นต่าง ๆ โดยจะมีการสอบไล่ความรู้พระปริยัติธรรมในช่วงออกพรรษา เรียกว่า การสอบธรรมสนามหลวง ในช่วงวันขึ้น 9 - 12 ค่ำ เดือน 11 (จัดสอบนักธรรมชั้นตรีสำหรับพระภิกษุสามเณร) และช่วงวันแรม 2 - 5 ค่ำ เดือน 12 (จัดสอบนักธรรมชั้นโทและเอก สำหรับพระภิกษุสามเณร)
ปัจจุบันการศึกษาเฉพาะในชั้นนักธรรมตรีสำหรับพระนวกะ หรือพระบวชใหม่ จะจัดสอบในช่วงปลายฤดูเข้าพรรษา เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่จะลาสิกขาบทหลังออกพรรษา จะได้ตั้งใจเรียนพระธรรมวินัยเพื่อสอบไล่ให้ได้นักธรรมในชั้นนี้ด้วย
การถือปฏิบัติประเพณีการบำเพ็ญกุศลเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษาในประเทศไทย สันนิษฐานว่าเริ่มมีมาแต่แรกที่รับพระพุทธศาสนาเถรวาทเข้ามาในดินแดนประเทศไทย ซึ่งอาจมีปฏิบัติประเพณีนี้มาตั้งแต่สมัยทวาราวดี แต่มาปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าชาวไทยได้ถือปฏิบัติในการบำเพ็ญกุศลในเทศกาลเข้าพรรษาในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ดังปรากฏความในศิลาจารึกหลักที่ 1 (ด้านที่ 2) ดังนี้
... คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มันโอยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ ทังชาวแม่ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขุน ทั้งสิ้นทังหลายทังผู้ชายผู้ญีง ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสน ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อโอกพรรษากรานกฐินเดือนณื่งจี่งแล้ว เมื่อกรานกฐิน มีพนมเบี้ย มีพนมหมาก มีพนมดอกไม้ มีหมอนนั่งหมอนโนน บริพารกฐิน โอยทานแล่ปีแล้ญิบล้าน ไปสูดญัตกฐินเถิงอไรญิกพู้น เมื่อจักเข้ามาเวียง เรียงกันแต่อไรญิกพู้นเท้าหัวลาน ดมบังคมกลองด้วยเสียงพาทย์เสียงพีณ เสียงเลื้อนเสียงขับ ใครจักมักเล่น เล่น ใครจักมักหัว หัว ใครจักมักเลื้อน เลื้อน เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากปตูหลวง เที้ยรย่อมคนเสียดกัน เข้ามาดูท่านเผาเทียนท่านเล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้มีดั่งจักแตก ...
นอกจากนี้ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ยังได้กล่าวถึงการเทศกาลเข้าพรรษาในสมัยสุโขทัยไว้อีกว่า "เมื่อถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ทั้งทหารบก และทหารเรือก็จัดขบวนแห่เทียนจำนำพรรษา ทั้งใส่คานหาบไปและลงเรือ ประดิษฐานอยู่ในบุษบกทองคำ ประดับ ธงทิว ตีกลอง เป่าแตรสังข์ แห่ไป ครั้นถึงพระอารามแล้วก็ยกต้นเทียนนั้นเข้าไปถวายในพระอุโบสถ หอพระธรรมและพระวิหาร จุดตามให้สว่างไสวในที่นั้น ๆ ตลอด ๓ เดือน ดังนี้ทุกพระอาราม" ซึ่งตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์นั้นสันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์โดยมี ตามความที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายเกี่ยวกับเค้าโครงของหนังสือนี้ว่าแม้มีเค้าโครงมาจากสมัยสุโขทัย แต่รายละเอียดมีการแต่งเสริมกันขึ้นมาในสมัยอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ในประเทศไทยมีประเพณีมากมายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าจำพรรษาของพระสงฆ์ไทยมาช้านาน ดังปรากฏประเพณีมากมายที่เกี่ยวกับการเข้าจำพรรษา เช่น ประเพณีถวายเทียนพรรษา แก่พระสงฆ์เพื่อจุดบูชาตามอารามและเพื่อถวายให้พระสงฆ์สามเณรนำไปจุดเพื่ออ่านคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาในระหว่างเข้าจำพรรษา ประเพณีการถวายผ้าอาบน้ำฝน หรือผ้าวัสสิกสาฏก แก่พระสงฆ์ก่อนเข้าพรรษา เพื่อให้พระสงฆ์นำไปใช้สรงน้ำฝนในพรรษา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่พุทธศาสนิกชนไทยถือว่าเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีคือ ประเพณีถวายผ้ากฐิน ที่จัดหลังพระสงฆ์ปวารณาออกพรรษา เพื่อถวายผ้ากฐินแก่พระสงฆ์ที่จำครบพรรษาจะได้กรานและได้รับอานิสงส์กฐิน เป็นต้น
มีประเพณีหนึ่งที่เนื่องด้วยวันเข้าพรรษาและจัดเป็นประเพณีที่สำคัญและสืบทอดกันเรื่อยมา ก็คือ ประเพณีหล่อเทียนพรรษา สำหรับให้พระภิกษุและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้จุดบูชาพระประธานในโบสถ์ซึ่งเทียนพรรษาสามารถอยู่ได้ตลอด 3 เดือน และเป็นกุศลทานอย่างหนึ่งในการให้ทานด้วยแสงสว่าง ซึ่งในปัจจุบันได้พัฒนามาเป็นงานประเพณี "ประกวดเทียนพรรษา" ของแต่ละจังหวัดโดยจัดเป็นขบวนแห่ทั้งทางบกและทางน้ำ
การถวายเทียนเพื่อจุดตามประทีปเป็นพุทธบูชานั้น มาจากอานิสงส์การถวายเทียนเพื่อจุดเป็นพุทธบูชา ที่ปรากฏความในพระไตรปิฎกและในคัมภีร์อรรถกถา ว่าพระอนุรุทธะเถระ เคยถวายเทียนบูชาทำให้ได้รับอานิสงส์มากมาย รวมถึงได้เป็นผู้มีจักษุทิพย์ (ตาทิพย์) ด้วย ด้วยการพรรณาอานิสงส์ดังกล่าว อาจทำให้ชาวพุทธนิยมจุดประทีปเป็นพุทธบูชามานานแล้ว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าการทำเทียนพรรษาในประเทศไทยถวายเริ่มมีมาแต่สมัยใด แต่ปรากฏความในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ที่พรรณาการบำเพ็ญกุศลในช่วงเข้าพรรษาว่ามีการถวายเทียนพรรษาด้วย
ในประเทศไทย การถวายเทียนเข้าพรรษาจัดเป็นพิธีใหญ่มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในสมัยรัตนโกสินทร์การถวายเทียนเข้าพรรษาถือเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญ โดยจะเรียกว่าพุ่มเทียน มีการพระราชทานถวายพุ่มเทียนรวมพึงโคมเพื่อจุดบูชาตามอารามต่าง ๆ ทั้งในพระนครและหัวเมือง ซึ่งพิธีนี้ยังคงมีมาจนปัจจุบัน
การถวายเทียนพรรษาโดยแกะสลักเป็นลวดลายต่าง ๆ นั้น มีมาแต่โบราณ เดิมเป็นประเพณีราชสำนักดังที่ปรากฏในเทียนรุ่งเทียนหลวงตามพระอารามต่าง ๆ สำหรับเทียนแกะสลักที่ปรากฏว่ามีการจัดทำประกวดกันเป็นเรื่องราวใหญ่โตในปัจจุบันนั้น พึ่งเริ่มมีเมื่อปี พ.ศ. 2483 ในจังหวัดอุบลราชธานี โดยนายโพธิ์ ส่งศรี ได้เริ่มทำแม่พิมพ์ปูนซีเมนต์เพื่อหล่อขี้ผึ้งเป็นทำลวดลายไทยไปประดับติดพิมพ์บนเทียนพรรษา นับเป็นการจัดทำเทียนพรรษาแกะสลักของช่างราษฏร์เป็นครั้งแรก และนายสวน คูณผล ได้ทำลวดลายนูนสลับสีต่าง ๆ เข้าประกวดจนชนะเลิศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2497 จึงเริ่มมีการทำเทียนพรรษาติดพิมพ์ประกวดแบบพิสดารโดยนายประดับ ก้อนแก้ว คือทำเป็นรูปพุทธประวัติติดพิมพ์จนได้รับรางวัลชนะเลิศติดต่อกันมาหลายปี จนปี พ.ศ. 2502 นายคำหมา แสงงาม ช่างแกะสลัก ได้ทำเทียนพรรษาแบบแกะสลักมาประกวดเป็นครั้งแรกจนได้รับรางวัลชนะเลิศ จากนั้นจึงได้มีการแยกประเภทการประกวดต้นเทียนเป็นสองแบบคือ ประเภทติดพิมพ์ และประเภทแกะสลัก จนในช่วงหลังปี พ.ศ. 2511 นายอุตสาห์ และนายสมัย แสงวิจิตร ได้เริ่มมีการจัดทำเทียนพรรษาขนาดใหญ่โต ทำเป็นหุ่นและเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งเป็นลักษณะของเทียนพรรษาขนาดใหญ่ที่ปรากฏในปัจจุบัน
ในอดีต การหล่อเทียนเข้าพรรษาถือเป็นพิธีสำคัญที่ชาวพุทธจะมารวมตัวกันนำขี้ผึ้งมาหลอมรวมเป็นแท่งเทียนเพื่อถวายแก่พระสงฆ์ แต่ในปัจจุบันชาวพุทธส่วนใหญ่จะนิยมการซื้อหาเทียนพรรษาจากร้านสังฆภัณฑ์ โดยบางส่วนมีการปรับเปลี่ยนไปซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ให้แสงสว่างถวายแก่พระสงฆ์แทนด้วย ซึ่งนับเป็นการปรับเปลี่ยนที่ได้ประโยชน์แก่พระสงฆ์โดยตรง เพราะปัจจุบันไม่ได้มีการนำเทียนมาจุดเพื่ออ่านหนังสืออีกแล้ว พระสงฆ์คงนำเทียนไปจุดบูชาตามอุโบสถวิหารเท่านั้น
ผ้าอาบน้ำฝน หรือ ผ้าวัสสิกสาฏก คือผ้าเปลี่ยนสำหรับสรงน้ำฝนของพระสงฆ์ เป็นผ้าลักษณะเดียวกับผ้าสบง โดยปรกติเครื่องใช้สอยของพระภิกษุตามพุทธานุญาตที่ให้มีประจำตัวนั้น มีเพียง อัฏฐบริขาร ซึ่งได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน แต่ช่วงหน้าฝนของการจำพรรษาในสมัยก่อนนั้น พระสงฆ์ที่มีเพียงสบงผืนเดียวจะอาบน้ำฝนจำเป็นต้องเปลือยกาย ทำให้ดูไม่งามและเหมือนนักบวชนอกศาสนา นางวิสาขามหาอุบาสิกาจึงคิดถวาย "ผ้าวัสสิกสาฏก" หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ผ้าอาบน้ำฝน เพื่อให้พระสงฆ์ได้ผลัดเปลี่ยนกับผ้าสบงปกติ จนเป็นประเพณีทำบุญสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยปรากฏสาเหตุความเป็นมาของการถวายผ้าอาบน้ำฝนในพระไตรปิฎกดังนี้
ครั้งหนึ่งสมัยพุทธกาล พระศาสดาประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร นางวิสาขาได้มาฟังธรรม แล้วทูลอาราธนาพระศาสดาและหมู่สงฆ์ไปฉันที่บ้านของนางในวันรุ่งขึ้น เช้าวันนั้น เกิดฝนตกครั้งใหญ่ ตกในทวีปทั้ง 4 พระศาสดาจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลายสรงสนานกาย พระสงฆ์ทั้งหลายที่ไม่มีผ้าอาบน้ำฝนจึงออกมาสรงน้ำฝนโดยร่างเปลือยกายอยู่
พอดีกับนางวิสาขามหาอุบสิกาสั่งให้นางทาสีไปนิมนต์ภิกษุมารับภัตตาหารที่บ้านของตน เมื่อนางทาสีไปถึงที่วัดเห็นภิกษุเปลื้องผ้าสรงสนานกาย ก็เข้าใจว่า ในอารามมีแต่พวกชีเปลือย (อาชีวกนอกพระพุทธศาสนา) ไม่มีภิกษุอยู่จึงกลับบ้าน ส่วนนางวิสาขานั้นเป็นสตรีที่ฉลาดรู้แจ้งในเหตุการณ์ทั้งปวง เมื่อถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขในวันนั้นแล้ว จึงได้โอกาสอันควรทูลขอพร 8 ประการต่อพระศาสดา
โดยนางวิสาขาได้ให้เหตุผลการถวายผ้าอาบน้ำฝนว่า เพื่อให้ใช้ปกปิดความเปลือยกายในเวลาสรงน้ำฝนของพระสงฆ์ที่ดูไม่งามดังกล่าว ดังนั้น นางวิสาขาจึงเป็นอุบาสิกาคนแรกที่ได้รับอนุญาตให้ถวายผ้าอาบน้ำฝน (วัสสิกสาฏก) แก่พระสงฆ์
ผ้าอาบน้ำฝน จึงถือเป็นบริขารพิเศษที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้พระสงฆ์ได้ใช้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำให้ถูกต้องตามพระวินัยปิฎก มิเช่นนั้นพระสงฆ์จะต้องอาบัตินิคสัคคิยปาจิตตีย์ คือ ต้องทำผ้ากว้างยาวให้ถูกขนาดตามพระวินัย คือ ยาว 6 คืบพระสุคต กว้าง 2 คืบครึ่ง ตามมาตราปัจจุบันคือ ยาว 4 ศอก 3 กระเบียด กว้าง 1 ศอก 1 คืบ 4 นิ้ว 1 กระเบียดเศษ ถ้าหากมีขนาดใหญ่กว่านี้ พระสงฆ์ต้องตัดให้ได้ขนาด จึงจะปลงอาบัติได้
นอกจากนี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงวางกรอบเวลาในการแสวงหาผ้าอาบน้ำฝนไว้ด้วย หากพระสงฆ์แสวงหาผ้าอาบน้ำฝนมาได้ภายนอกกำหนดเวลาดังกล่าว จะต้องอาบัติ โดยพระพุทธเจ้ายังได้ทรงวางกรอบเวลาในการแสวงหาผ้าอาบน้ำฝนไว้ว่า หากพระสงฆ์แสวงหาผ้าอาบน้ำฝนมาใช้ได้ภายนอกกำหนดเวลาดังกล่าว จะต้องอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์ กล่าวคือ ทรงวางกรอบเวลาหรือเขตกาลไว้ 3 เขตกาล คือ
ด้วยกรอบพระพุทธานุญาตและกรอบเวลาตามพระวินัยดังกล่าว เมื่อถึงเวลาที่พระสงฆ์ต้องแสวงหาผ้าอาบน้ำฝน พุทธศานิกชนจึงถือโอกาสบำเพ็ญกุศลด้วยการจัดหาผ้าอาบน้ำฝนมาถวายแก่พระสงฆ์ จนเป็นประเพณีสำคัญเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษามาจนปัจจุบัน
ผ้าจำนำพรรษา หรือ ผ้าวัสสาวาสิกสาฎก เป็นผ้าไตรจีวรที่ถวายแก่พระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน ที่ผ่านวันปวารณาไปแล้ว หรือที่ผ่านวันปวารณาและได้กรานและอนุโมทนากฐินแล้ว ซึ่งผ้าจำนำพรรษานี้พระสงฆ์สามารถรับได้ภายในกำหนด 5 เดือน ที่เป็นเขตอานิสงส์กฐิน คือ ตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4
แต่สำหรับพระสงฆ์ที่จำพรรษาครบ 3 เดือน และผ่านวันปวารณาไปแล้ว ซึ่งไม่ได้กรานและอนุโมทนากฐิน ก็สามารถรับและใช้ผ้าจำนำพรรษาได้เช่นกัน แต่สามารถรับได้ในช่วงกำหนดเพียง 1 เดือน ในเขตจีวรกาลสำหรับผู้ไม่ได้กรานกฐินเท่านั้น
การถวายผ้าจำนำพรรษาในช่วงดังกล่าว เพื่ออนุเคราะห์แก่พระสงฆ์ที่ต้องการจีวรมาเปลี่ยนของเก่าที่ชำรุด พุทธศาสนิกชนจึงนิยมถวายผ้าจำนำพรรษามาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ในประเทศไทยก็ปรากฏว่ามีพระราชประเพณีการถวายผ้าจำนำพรรษาแก่พระสงฆ์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ตามความที่ปรากฏในหนังสือพระราชนิพนธ์พระราชพิธี 12 เดือน ซึ่งปัจจุบันแม้ทางราชสำนักได้งดประเพณีนี้ไปแล้ว แต่ประเพณีนี้ก็ยังคงมีอยู่สำหรับชาวบ้านทั่วไป โดยนิยมถวายเป็นผ้าไตรแก่พระสงฆ์หลังพิธีงานกฐิน แต่เป็นที่สังเกตว่าปัจจุบันจะเข้าใจผิดว่าผ้าจำนำพรรษาคือผ้าอาบน้ำฝน ซึ่งความจริงแล้วมีความเป็นมาและพระวินัยที่แตกต่างกันสิ้นเชิง
ผ้าอัจเจกจีวร แปลว่า จีวรรีบร้อน หรือผ้าด่วน คือผ้าจำนำพรรษาที่ถวายล่วงหน้าในช่วงเข้าพรรษา ก่อนกำหนดจีวรกาลปกติ ด้วยเหตุรีบร้อนของผู้ถวาย เช่น ผู้ถวายจะไปรบทัพหรือเจ็บไข้ไม่ไว้ใจว่าจะมีชีวิตรอดหรือไม่ชีวิต หรือเป็นบุคคลที่พึ่งเกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา ควรรับไว้ฉลองศรัทธา
อัจเจกจีวรเช่นนี้ พระวินัยอนุญาตให้พระสงฆ์รับเก็บไว้ได้ แต่ต้องรับก่อนวันปวารณาไม่เกิน 10 วัน (คือตั้งแต่ขึ้น 6 ค่ำ ถึง 15 ค่ำเดือน 11) และต้องนำมาใช้ภายในช่วงจีวรกาล
ผ้าอัจเจกจีวรนี้ เป็นผ้าที่มีความมุ่งหมายเดียวกับผ้าจำนำพรรษา เพียงแต่ถวายก่อนฤดูจีวรกาลด้วยวัตถุประสงค์รีบด่วนด้วยความไม่แน่ใจในชีวิต ซึ่งประเพณีนี้คงมีสืบมาแต่สมัยพุทธกาล ปัจจุบันไม่ปรากฏเป็นพิธีใหญ่ เพราะเป็นการถวายด้วยสาเหตุส่วนตัวเฉพาะรายไป ส่วนมากจะมีเจ้าภาพผู้ถวายเพียงคนเดียวและเป็นคนป่วยหนักที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า
อย่างไรก็ตาม บางประเทศที่นับถือพุทธศาสนาอาจกำหนดวันไม่ตรงกับของไทยในบางปี เนื่องจากประเทศเหล่านั้นอยู่ในตำแหน่งบนโลกที่ต่างไปจากประเทศไทย ทำให้วันเวลาคลาดเคลื่อนไป
แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของภิกษุ แต่พุทธศาสนิกชนก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญ รักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส โดยจัดเตรียมสิ่งของเพื่อนำไปถวายแก่พระสงฆ์ที่จะจำพรรษา การตั้งใจรักษาศีล 5 หรือศีล 8 และตั้งใจบำเพ็ญความดี เข้าวัดฟังธรรมตลอดพรรษากาล ซึ่งไม่เฉพาะแต่ชาวบ้านทั่วไปเท่านั้น สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ให้ความสำคัญกับการเข้าพรรษาของพระสงฆ์เป็นอย่างมากเช่นกัน
การพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันเข้าพรรษานี้มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในวันอาสาฬหบูชา และเทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งเดิมก่อน พ.ศ. 2501 เรียกเพียง การพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในวันเข้าพรรษา แต่หลังจากที่ทางคณะสงฆ์มีการกำหนดให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง (ก่อนหน้าวันเข้าพรรษา 1 วัน) ในปี พ.ศ. 2501 แล้วสำนักพระราชวังจึงได้กำหนดเพิ่มการบำเพ็ญพระราชกุศลในวันอาสฬหบูชาเพิ่มเติมขึ้นมาด้วยอีกวันหนึ่ง รวมเป็นสองวัน
การพระราชพิธีนี้โดยปกติมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นองค์ประธานในการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล และบางครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จแทน โดยสถานที่ประกอบพระราชพิธีหลักจะจัดในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดบวรนิเวศวิหาร และภายในพระบรมมหาราชวัง การสำคัญของพระราชพิธีคือการถวายพุ่มเทียนเครื่องบูชาแก่พระพุทธปฏิมาและพระราชาคณะ รวมทั้งการพระราชทานภัตตาหารแก่พระราชาคณะ ฐานานุกรม เปรียญ ซึ่งรับอาราธานามารับบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวังจำนวน 150 รูป ในวันเข้าพรรษาทุกปี เป็นต้น ซึ่งการพระราชพิธีนี้เป็นการแสดงออกถึงพระราชศรัทธาอันแน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนา ขององค์พระมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงเป็นเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภก์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนนิยมไปทำบุญตักบาตร ถวายเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน โดยมักจะจัดเครื่องสักการะเช่น ดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น มาถวายพระภิกษุ สามเณร หรือมีการช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่นๆ โดยนิยมไปร่วมทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรมและรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น ซึ่งพอสรุปกิจที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในพรรษากาลได้ดังนี้
ในปัจจุบัน มีพระสงฆ์จากประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะพระสงฆ์จากประเทศไทย พม่า ศรีลังกา และบางส่วนของญี่ปุ่น จะไปทำพิธีวันเข้าพรรษาที่ประเทศอินเดียและประเทศเนปาล ในสถานที่ต่าง ๆ เช่น พุทธคยา เมืองราชคฤห์ สารนาถ เมืองกุสินารา สวนลุมพินี เมืองกบิลพัสดุ์ เมืองสาวัตถี และกรุงนิวเดลี เป็นต้น ขณะเดียวกันในส่วนอื่น ๆ ของประเทศอินเดีย ต่างก็ถือว่าวันเข้าพรรษาเป็นวันเริ่มต้นการถือศีลและปฏิบัติธรรมไปจนครบ 3 เดือน และกำหนดให้วันเข้าพรรษาให้เป็นวันเริ่มการทำความดีเช่นเดียวกัน
สำหรับในประเทศอินเดียนั้น ไม่ได้กำหนดให้วันเข้าพรรษาและวันอาสาฬหบูชาเป็นวันหยุดราชการทั่วประเทศเหมือนกับวันวิสาขบูชา ส่วนประเทศอื่น ๆ นอกจากนี้ ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันเข้าพรรษาและวันอาสาฬหบูชาให้เท่าเทียมกับวันวิสาขบูชาด้วย