วันพระ หรือ วันธรรมสวนะ หรือ วันอุโบสถ หมายถึง วันประชุมของพุทธศาสนิกชนเพื่อปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาในพระพุทธศาสนาประจำสัปดาห์ หรือที่เรียกกันทั่วไปอีกคำหนึ่งว่า "วันธรรมสวนะ" อันได้แก่วันถือศีลฟังธรรม (ธรรมสวนะ หมายถึง การฟังธรรม) โดยวันพระเป็นวันที่มีกำหนดตามปฏิทินจันทรคติ โดยมีเดือนละ 4 วัน ได้แก่ วันขึ้น 8 ค่ำ, วันขึ้น 15 ค่ำ (วันเพ็ญ), วันแรม 8 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ (หากเดือนใดเป็นเดือนขาด ถือเอาวันแรม 14 ค่ำ)
วันพระนั้นเดิมเป็นธรรมเนียมของปริพาชกอัญญเดียรถีย์ (นักบวชนอกพระพุทธศาสนา) ที่จะประชุมกันแสดงธรรมทุก ๆ วัน 8 ค่ำ 15 ค่ำ ซึ่งในสมัยต้นพุทธกาล พระพุทธเจ้ายังคงไม่ได้ทรงวางระเบียบในเรื่องนี้ไว้ ต่อมาพระเจ้าพิมพิสารได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกราบทูลพระราชดำริของพระองค์ว่านักบวชศาสนาอื่นมีวันประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสั่งสอนในศาสนาของเขา แต่ว่าพุทธศาสนายังไม่มี พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้มีการประชุมพระสงฆ์ในวัน 8 ค่ำ 15 ค่ำ และอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์ประชุมสนทนาและแสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชนในวันดังกล่าว โดยตามพระไตรปิฎกเรียกวันพระว่า วันอุโบสถ (วัน 8 ค่ำ) หรือวันลงอุโบสถ (วัน 14 หรือ 15 ค่ำ) แล้วแต่กรณี
หลังจากนั้น พุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันธรรมสวนะสืบมา โดยจะเป็นวันสำคัญที่พุทธศาสนิกชนจะไปประชุมกันฟังพระธรรมเทศนาจากพระสงฆ์ที่วัด ในประเทศไทยปรากฏหลักฐานว่าได้มีประเพณีวันพระมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
วันพระในปัจจุบัน คงเหลือธรรมเนียมปฏิบัติอยู่แต่เฉพาะประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท เช่น ศรีลังกา, พม่า, ไทย, ลาว และเขมร (ในอดีตประเทศเหล่านี้ถือวันพระเป็นวันหยุดราชการ) โดยพุทธศาสนิกชนเถรวาทนับถือว่าวันนี้เป็นวันสำคัญที่จะถือโอกาสไปวัดเพื่อทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์และฟังพระธรรมเทศนา สำหรับผู้ที่เคร่งครัดในพระพุทธศาสนาอาจถือศีลแปดหรือศีลอุโบสถในวันพระด้วย นอกจากนี้ชาวพุทธยังถือว่าวันพระไม่ควรทำบาปใด ๆ โดยเชื่อกันว่าการทำบาปหรือไม่ถือศีลห้าในวันพระถือว่าเป็นบาปมากกว่าในวันอื่น
ในประเทศไทย หลังจากวันพระได้ถูกยกเลิกไม่ให้เป็นวันหยุดราชการ ทำให้วันพระที่กำหนดวันตามปฏิทินจันทรคติส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกับปฏิทินที่ใช้กันอยู่ทั่วไป (เช่น วันพระไปตรงกับวันทำงานปกติ) ซึ่งคือหนึ่งในสาเหตุสำคัญในปัจจุบันที่ทำให้พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยห่างจากการเข้าวัดเพื่อทำบุญในวันพระ
นอกจากนี้ ในประเทศไทยยังมีคำเรียกวันก่อนวันพระหนึ่งวันว่า วันโกน เพราะปกติในวันขึ้น 14 ค่ำปกติ ก่อนวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เป็นธรรมเนียมของพระสงฆ์ในประเทศไทยที่จะโกนผมในวันนี้
ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสารได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกราบทูลว่า "นักบวชศาสนาอื่นเขามีวันประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสั่งสอนในศาสนาของเขา แต่ว่าในศาสนาพุทธยังไม่มี" พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์ประชุมสนทนาและแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนในวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ พุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันธรรมสวนะเพื่อกำหนดให้มีการประชุมพร้อมเพรียงกันฟังธรรม
ในสมัยพุทธกาลนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชุมพระสงฆ์สาวกเพื่อทรงสั่งสอนธรรม การประชุมสงฆ์ซึ่งเป็นสาวกของพระพุทธองค์นั้นก็ได้นัดหมายไปประชุมกัน และจะมีพระสงฆ์รูปหนึ่งเป็นผู้สวดพระปาฏิโมกข์ พระภิกษุทุกรูปก็จะนั่งฟังด้วยอาการอันสำรวม และตั้งใจจนกระทั่งจบ
คำว่า "สวนะ" แปลว่า การฟัง และคำว่า "ธรรมสวนะ" แปลว่า การฟังธรรม นั่นคือวันธรรมสวนะก็แปลว่า กำหนดประชุมฟังธรรม หรือพูดตามภาษาชาวบ้านทั่วไปว่า วันไปฟังเทศน์หรือวันพระ ในทางศาสนาก็ยังได้เรียกว่า วันอุโบสถ ซึ่งแปลว่า วันจำศีลของอุบาสกอุบาสิกาผู้ต้องการบุญกุศลเป็นกรณีพิเศษ
พิธีของชาวบ้าน โดยพุทธศาสนิกชนก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ถวายอาหารหวานคาวแด่พระสงฆ์ สมาทานศีล(รับศีล) และฟังพระธรรมเทศนาที่วัด
ในวันธรรมสวนะนี้ ชาวบ้านก็จะละเว้นการประพฤติกิจที่เป็นบาปต่างๆ การสมาทานศีลในวันนี้ เช่น รับศีล ๕ หรือ ศีล ๘ ซึ่งเรียกว่า อุโบสถศีล พระสงฆ์จะได้แสดงพระธรรมเทศนา หรือ ธรรมสากัจฉา หรือ สนทนาธรรมกัน ซึ่งนับว่าเกิดเป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง
วันพระคือวันที่มีการทำบุญ ตักบาตร ถวายสังฆทาน นั่งสมาธิ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ละเว้นความชั่ว ละเว้นอบายมุขต่างๆ ทำตัวให้มีประโยชน์ต่อสังคม ปล่อยนกปล่อยปลา ฟังธรรมเทศนา สนทนาธรรมกับพระสงฆ์ รักษาศีล มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆ มีพระสงฆ์คอยรับถวายสังฆทาน
สิ่งที่พุทธศาสนิกชนพึงกระทำในวันพระคือการถือศีลอุโบสถ(ศีล8ที่อาราธนาในวันพระเป็นเวลา1วัน1คืน หรือ3วัน3คืน และไม่จำเป็นต้องอยู่วัด)อย่างเคร่งครัด พุทธศาสนิกชนทั้งหลายพึงสวดมนต์ ทำสมาธิ นั่งฌาน ในเวลาว่างด้วย เพื่อการเข้าถึงซึ่งพระนิพพาน
การฟังธรรมตามกาลที่กำหนดเป็นประจำไว้ ย่อมก่อให้เกิดสติปัญญาและสิริมงคลแก่ผู้ฟังอย่างน้อยก็ได้รับธรรมสวนานิสงส์อยู่เสมอ วันกำหนดฟังธรรมนี้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ๔ วัน ในเดือนหนึ่งๆ คือ วัน ๘ คำ วัน ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำของปักข์ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม นับโดยจันทรคติ วันทั้ง ๔ นี้ จึงถือกันเป็นวันกำหนดประชุมฟังธรรมโดยปรกติ และนิยมเป็น วันรักษาปรกติอุโบสถสำหรับฆราวาสผู้ต้องการอบรมกุศลด้วย
วิหาร ศาลาการเปรียญ ภายในวัด หรือ พุทธสถานสมาคม แห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ จัดให้นั่งกันตามที่เป็นสัดส่วนเรียบร้อย มีพระพุทธรูปและที่บูชาประดิษฐานอยู่เบื้องหน้า จัดให้มีสง่า
แต่ถ้าผู้ใดมีอุตสาหะจะรักษาเพียงศีล ๕ เท่านั้น ก็รับสมาทานเพียง ๕ ข้อ ในระหว่างข้อที่ ๓ ซึ่งพระธรรมกถึกให้ด้วยบทว่า อพฺรหฺมจริยา...พึงรับสมาทานว่า กาเมสุมิจฺฉาจารา... เสีย และรับต่อไปจนครบ ๕ ข้อ เมื่อครบแล้วก็กราบ ๓ ครั้ง ลงนั่งราบไม่ต้องรับต่อไป