วัดไทยพุทธคยา เป็นวัดไทยแห่งแรกในประเทศอินเดีย เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 มีเนื้อที่ราว 12 ไร่ (5 เอเคอร์) ตั้งอยู่บริเวณพุทธคยา อยู่ห่างจากองค์เจดีย์พุทธคยาประมาณ 500 เมตร เป็นวัดที่อยู่ในความดูแลและอุปถัมภ์ของรัฐบาลไทย ปัจจุบันมีพระเทพโพธิวิเทศเป็นเจ้าอาวาส
พระอุโบสถของวัดไทยพุทธคยาจำลองแบบมาจากวัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสถาปัตยกรรมของสมัยรัตนโกสินทร์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งการจำลองแบบจนดูเหมือนนี้ไม่ใช่เฉพาะภายนอก แต่ยังมีภายในที่เหมือนกันด้วย เช่น องค์พระประธานที่เป็นพระพุทธชินราช แกลประตู แกลหน้าต่าง เป็นต้น
ประเทศอินเดีย ได้รับได้เอกราชจากอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2490 และต่อมา ฯพณฯ ศรีเยาวหราลล์ เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศอินเดีย ได้เตรียมการจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษขึ้น หรือเรียกว่า พุทธชยันตี ใน พ.ศ. 2500 จึงได้ประกาศเชิญชวนให้ประเทศต่างๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาได้มาสร้างวัดด้วยศิลปะของตน ณ พุทธคยา ดินแดนตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยรัฐบาลอินเดีย ได้จัดสรรที่ดินให้เช่าในนามรัฐบาลต่อรัฐบาลคราวละ 99 ปี และเมื่อหมดสัญญาแล้วสามารถต่ออายุสัญญาได้อีกคราวละ 50 ปี
วัดไทยพุทธคยา ตั้งอยู่ห่างจากบริเวณต้นพระศรีมหาโพธิ สถานที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประมาณ 500 เมตร ตำบลพุทธคยา อ.คยา รัฐพิหาร ห่างจากสถานีรถไฟคยา ประมาณ 15 กิโลเมตร และสนามบินพุทธคยา ประมาณ 10 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ (5 เอเคอร์) อยู่ในความอุปถัมภ์ของรัฐบาลไทยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีฐานะเป็นพระอารามหลวงหรือ วัดหลวง เพราะได้รับพระราชทานผ้าพระกฐินเป็นประจำทุกปี