วัดหนองป่าพง (วัดป่าพง; อังกฤษ: Wat Nong Pah Pong) เป็นวัดป่าฝ่ายอรัญวาสี มีจุดเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2497 โดยพระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา สุภทฺโท) ต่อมาได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2517 ตั้งอยู่บ้านพงสว่าง หมู่ที่ 10 ตำบลโนนผึ้ง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันวัดหนองป่าพงมีวัดสาขาทั้งในและต่างประเทศไทยจำนวนมาก จากการเผยแผ่ พระพุทธศาสนาสายวิปัสนากรรมฐาน โดยบรรดาพระลูกศิษย์ซึ่งศรัทธาในปฏิปทาของหลวงปู่ชา สุภทฺโท
วัดหนองป่าพงเป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติ มุ่งหมายที่การประพฤติพรหมจรรย์ตามรอยพระยุคลบาทของพระโคตมพุทธเจ้าที่ทรงดำรงพระชนม์ชีพในป่า เพื่อค้นคว้าแสวงหาทางพ้นทุกข์ แล้วทรงนำความรู้แจ้งเห็นจริงนั้น มาเผยแผ่เกื้อกูลความสุขแก่มหาชนทั่วไป
วัดหนองป่าพงกำเนิดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2497 ตรงกับวันจันทร์ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเส็ง เมื่อหลวงปู่ชาพาคณะเดินทางมาถึงดงป่าพงอันหนาทึบ ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านก่อ บ้านเกิดของหลวงปู่ ประมาณ 2-3 กิโลเมตร ในวันนั้นคณะธุดงค์ได้ไปปักกลดค้างแรมที่ริมหนองน้ำชายป่า
ดงป่าพงในสมัยนั้น มีสภาพเป็นป่าทึบรกร้าง ชุกชุมด้วยไข้ป่าและสัตว์ป่านานาชนิด ในเวลานั้นป่าพงเป็นดงขนาดใหญ่ มีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านเรียกป่าดงดิบนี้ว่า “หนองป่าพง” เพราะใจกลางป่ามีหนองน้ำใหญ่ที่มีกอพงขึ้นอยู่หนาแน่น ดงป่าพงยังเป็นสถานที่ที่หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และลูกศิษย์เคยมาพักธุดงค์มาก่อน ดังที่หลวงปู่เคยเล่าว่า
"สมัยที่อาตมาเป็นเด็ก ได้ยินโยมพ่อเล่าให้ฟังว่า ท่านอาจารย์เสาร์ก็เคยมาพักอยู่ที่นี่ โยมพ่อเคยได้มาฟังธรรมกับท่าน อาตมาเป็นเด็ก ๆ ยังจำได้ ความจำเช่นนี้แหละ มันติดในใจตลอดเวลา นึกอยู่เสมอ ๆ เลย เพราะว่าบ้านนี้มันเป็นบ้านร้าง ดูต้นมะม่วงใหญ่ ๆ ของเก่าแก่ทั้งนั้น
โยมพ่อเคยเล่าให้ฟังว่า มากราบพระกรรมฐาน มาดูท่านฉันจังหัน ก็เอาอาหารอะไรรวมลงในบาตรทั้งนั้นแหละ ข้าวก็รวมลงในบาตร แกงก็รวมใส่ในบาตร หวานคาวใส่ในบาตรหมด โยมพ่อหม่เคยเห็น เอ๊ะ! นี่พระอะไร เคยเล่าให้อาตมาฟังตอนเป็นเด็ก ท่านเรียกว่าพระกรรมฐาน เทศน์ก็ไม่เหมือนพระธรรมดาเรา อยากจะได้ฟังเทศน์ก็ไม่ได้ฟัง มีแต่พูดไปโป้ง ๆ เท่านั้น ก็เลยไม่ได้ฟังเทศน์กัน ได้ฟังแต่คำพูดท่าน อันนั้นคือพระปฏิบัติที่มาอาศัยอยู่นี้ ครั้นเมื่อได้ออกมาประพฤติปฏิบัติเองแล้ว ความรู้สึกอันนี้มันมีอยู่ในใจตลอดเวลา เมื่อหันหน้าเข้ามาทางบ้านก็นึกถึงป่านี้ไม่ได้ขาด เมื่อธุดงค์ไปพอสมควรแล้วก็ได้กลับมาอยู่ ณ ที่นี้
ระยะหนึ่ง พระอาจารย์ดีจากอำเภอพิบูลมังสาหาร กับท่านเจ้าคุณชินฯ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) เขานิมนต์มาอยู่ที่นี่ อยากจะอยู่ที่นี่เหมือนกัน แต่ท่านว่าท่านอยู่ไม่ได้ ท่านอาจารย์ดีบอกว่าที่นี่ไม่ใช่ของท่าน ท่านเจ้าคุณชินฯ ก็ยังพูดเสมอ ที่นี่เราอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ที่อยู่ของเรา เจ้าของที่ที่นี่ ไม่นานเดี๋ยวท่านก็มาของท่าน"
ในวันถัดมา คณะธุดงค์ได้เข้าสำรวจดงป่าพงซึ่งรกทึบมาก ชาวบ้านที่มาต้อนรับ ได้จัดที่พักชั่วคราวที่บริเวณต้นมะม่วงใหญ่ (ด้านทิศใต้ของโบสถ์ปัจจุบัน) ต่อมาเมื่อพิจารณาเห็นสมควร และตกลงจัดตั้งสำนักสงฆ์ ณ ที่นั้น จึงได้เริ่มการปลูกสร้างเสนาสนะขึ้นด้วยแรงศรัทธาจากญาติโยมชาวบ้านก่อและบ้านกลาง ได้กุฏิเล็ก ๆ 3-4 หลัง มุงด้วยหญ้าคา พื้นปูด้วยฟากไม้ไผ่ ฝากั้นด้วยใบตองชาดและต้นเลาต้นแขม หลังจากมีกุฏิพอกันแดดกันฝนได้บ้างแล้ว หลวงปู่ก็พาหมู่คณะมุ่งบำเพ็ญภาวนาอย่างพากเพียร แม้ขณะนั้น จะลำบากยากไร้ปัจจัย เครื่องอาศัยแทบทุกอย่าง ดังที่หลวงปู่เล่าถึงความเป็นอยู่ในครั้งนั้นให้ว่า
"ครั้งแรกก็อยู่ด้วยกันสี่รูป ได้รับความทุกข์ยากลำบากสารพัดอย่าง แต่การประพฤติปฏิบัติเข้มข้นมาก การอดทนนี่ ยกให้เป็นที่หนึ่ง ฉันข้าวเปล่า ๆ ก็ไม่มีใครบ่น เงียบ ไม่มีใครพูด"
ต่อมาได้มีการขุดบ่อน้ำ และใช้ดินที่ขุดขึ้นมานั้นถมพื้น สร้างศาลาหลังเล็ก ๆ ซึ่งเป็นที่ประชุมสงฆ์ต่อมาอีกหลายปี หลวงปู่ยังเล่าถึงสภาพของวัดหนองป่าพง ในสมัยเริ่มก่อตั้งนั้น ให้ญาติโยมฟังว่า
"วัดป่าพงสมัยก่อนนี้ลำบากมาก ที่แห่งนี้เป็นดงใหญ่ เป็นที่อยู่ของพวกช้างพวกเสือต่าง ๆ มีหนองน้ำอยู่แห่งหนึ่งสำหรับสัตว์ป่าทั้งหลายอาศัยกิน อาตมามาอยู่ที่นี่ทีแรกไม่มีอะไรทั้งนั้น มีแต่ป่า ถนนหนทางอะไรอย่าไปพูดถึง การไปมาลำบากมาก ที่ของพวกชาวนาก็อยู่ไกลเขาไม่กล้าเข้ามาใกล้ป่านี้ เขาถือว่าเจ้าที่ที่นี่แรงมาก คือ แต่ก่อนเจ้าที่เป็นนายโขลงช้าง พาลูกน้องไปคล้องช้างมาขาย ผ่านไปผ่านมาอยู่แถบนี้เสมอ และในที่สุดจึงตั้งหลักฐานอยู่ที่นี่ รักษาดงแห่งนี้ไว้ ป่าจึงพอมีเหลือจนอาตมาได้มาอาศัย ถ้าไม่อย่างนั้นป่าไม้หมดไปนานแล้ว เคยมีชาวบ้านผึ้ง บ้านบก เข้ามาจับจอง ถากถาง ทำไร่ทำนากัน แต่ก็ต้องมีอันเป็นไปต่าง ๆ นานา พวกที่เข้ามาตัดไม้ตัดฟืนในป่านี้ ก็มักจะมีเหตุให้ล้มตายกัน มันแกวมันสำปะหลังที่ขึ้นเองก็มีอยู่มาก แต่ไม่มีใครกล้าแตะต้อง พออาตมามาอยู่แล้วจึงมีคนมาทำนาอยู่ใกล้ๆ"
หลวงปู่ตั้งชื่อวัดแห่งนี้ว่า “วัดหนองป่าพง” โดยอาศัยสภาพภูมิประเทศเป็นหลัก แต่ชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากก็คือ “ วัดป่าพง”
เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 4 ปีมะเส็ง นับได้ 10 วันหลังจากที่หลวงปู่และคณะธุดงค์พักอยู่ที่ดงป่าพง ช่วงหัวค่ำได้มีญาติโยมมาฟังธรรมประมาณสิบกว่าคน หลวงปู่ได้เตือนทุกคนล่วงหน้า ให้อยู่ในความสงบ มีอะไรเกิดขึ้นก็อย่าตกใจ อย่าส่งเสียง เมื่อหลวงปู่แสดงธรรมไปสักพักก็เกิดดวงไฟสว่างคล้ายกับดาวหาง ปรากฏขึ้นทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ แล้วลอยลับตาไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ แสงไฟนั้นสว่างจ้าดุจกลางวัน เสมือนเป็นบุพนิมิต และเป็นสิริมงคลแก่วัดหนองป่าพง แต่ตัวหลวงปู่ไม่ได้สำคัญมั่นหมายอะไร ยังคงแสดงธรรมต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ญาติโยมเกิดความสงสัยและประหลาดใจ แต่ทุกคนไม่ได้แตกตื่นกลับพากันนั่งเงียบ หลวงปู่ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้อีก และนี่ก็เป็นหลักในการอบอรมชาวบ้านของท่านตลอดมาว่า แม้สิ่งอัศจรรย์ก็เป็นสักแต่ว่าสิ่งธรรมดานั่นเอง อย่าพึงตื่นเต้นกับมันเลย
เช้าวันรุ่งขึ้นหลวงปู่จึงได้พาญาติโยมออกไปปักเขตวัด โดยอาศัยที่ขึ้นและดับของแสงสว่างนั้นเป็นประมาณ ท่านได้ประมาณที่ดินไว้ประมาณ 187 ไร่ แล้วต่อมาให้ตัดทางรอบ
วัดหนองป่าพง มีความแตกต่างจากวัดอื่นคือ มีการกำหนดข้อกติกาสงฆ์ ซึ่งเลือกสรรมาจากธรรมและวินัยของพระโคตมพุทธเจ้า โดยมิได้เพิกถอนหรือบัญญัติสิ่งใดเพิ่มเติม เพียงแต่นำธรรมและวินัยมาประกอบกันขึ้นเป็นกฎกติกา เพื่อควบคุมความประพฤติของภิกษุสามเณร ไม่ให้ออกจากแนวทางของพระพุทธองค์
สาเหตุของการที่หลวงปู่ชาได้กำหนดข้อกติกาสงฆ์นี้ขึ้น สืบเนื่องมาจากการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่องของวัดสาขาและจำนวนภิกษุสามเณร ในปี พ.ศ. 2500 หลวงปู่จึงกำหนดข้อกติกาสงฆ์ขึ้น เพื่อใช้เป็นรากฐานของข้อวัตรปฏิบัติในวัดหนองป่าพงและสาขา ซึ่งถือว่ากติกานี้ คือตัวแทนส่วนหนึ่งของหลวงพ่อในปัจจุบัน
เมื่อมีภิกษุสามเณรหรือสำนักสาขาใด ประพฤติออกนอกแนวทางพระธรรมวินัย ข้อวัตรปฏิบัติและกติกาสงฆ์นี้ จะมีการประชุมคณะสงฆ์ เพื่อพิจารณาสืบสวนหาเหตุในการกระทำนั้น หากกระทำด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไม่รุนแรง คณะสงฆ์จะตักเตือนให้แก้ไขปรับปรุงความประพฤติ แต่หากเป็นการล่วงละเมิดพระธรรมวินัยและกติกาด้วยความตั้งใจและประพฤติอยู่เป็นประจำ จะถูกเชิญออกจากหมู่คณะ ถ้าเป็นสำนักสาขาก็ตัดออกจากการเป็นสาขาของวัดหนองป่าพง
นอกจากการกำหนดกติกาสงฆ์ข้างต้นแล้ว หลวงปู่ยังได้กำหนดให้ วัตร 14 เป็นระเบียบวิธีการปฏิบัติต่างๆภายในวัดหนองป่าพงและสำนักสาขา ซึ่ง วัตร 14 (ขันธวัตร 14) นั้นก็คือ วัตตขันธกะ ขันธกะที่ ๘ แห่งคัมภีร์จุลวรรค วินัยปิฎก รวมทั้งยังได้กำหนด ธุดงควัตร 13 ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติอันบุคคลทำได้ยาก ให้ภิกษุสงฆ์วัดหนองป่าพงและสำนักสาขาได้ปฏิบัติตามความสมัครใจอีกด้วย โดยที่ขันธวัตร 14 และ ธุดงควัตร 13 นั้นถือเป็นปฏิปทาที่พระธุดงค์กรรมฐานหรือพระป่าสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ยึดถือปฏิบัติ ตามแนวปฏิปทาของหลวงปู่มั่น ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่สายกรรมฐานและเป็นพระอาจารย์องค์สำคัญของหลวงปู่ชา สุภทฺโท
หลวงปู่ชาเคยกล่าวเกี่ยวกับข้อวัตรปฏิบัติไว้ในการบรรยายธรรมอบรมภิกษุสามเณรที่วัดหนองป่าพงความว่า
"ข้อวัตรปฏิบัติ กฎกติกาที่ตั้งไว้ คือทางแห่งมรรคผลนิพพาน
ถ้าใครไปฝ่าฝืนข้อกติกานั้นแล้ว ก็ไม่ใช่พระ
ไม่ใช่คนที่ตั้งใจมาปฏิบัติ เขาจะไม่ได้พบเห็นอะไรเลย
ถึงแม้จะอยู่กับผมทุกคืนทุกวันก็ไม่เห็นผม
จะอยู่กับพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้า"
ในครั้งแรกของการไปเผยแผ่พุทธธรรมยังต่างประเทศ ชาวอังกฤษบางคนเรียนถาม หลวงพ่อว่า "ชีวิตของพระเป็นอย่างไร?... ทำไมชาวบ้านถึงได้เลี้ยงดู โดยที่พระไม่ได้ทำอะไร?" หลวงพ่อตอบแบบอุปมาว่า...
"...ถึงบอกให้ก็ไม่รู้หรอก มันเหมือนกับนกที่อยากรู้เรื่องของปลาในน้ำ ถึงปลาบอก ความจริงว่า อยู่ในน้ำเป็นอย่างไร นกก็ไม่มีทางจะรู้ได้ ตราบใดที่นกยังไม่เป็นปลา"
พวกเขาเหล่านั้นพอใจในคำตอบของหลวงพ่อมาก หลังจากกลับสู่เมืองไทยแล้ว ในปี พ.ศ. 2520 หลวงพ่อจึงได้รับหนังสือจาก บี.บี.ซี. แห่งประเทศอังกฤษ ติดต่อขอเข้าถ่ายทำภาพยนตร์เกี่ยวกับพุทธศาสนาที่วัดหนองป่าพง ตอนท้ายของหนังสือติดต่อฉบับนั้น มีข้อความอยู่ประโยคหนึ่ง ซึ่งเขาเน้นว่า "หวังว่าท่านอาจารย์ คงจะเป็นปลาที่เห็นประโยชน์ (เกื้อกูล) แก่นก"
ในต้นเดือนตุลาคมปี พ.ศ. 2520 ชาวต่างประเทศได้เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์สารคดี เกี่ยวกับชีวิต ข้อวัตรปฏิบัติ และกิจวัตรประจำวันของพระกรรมฐานที่วัดหนองป่าพง หลังจากนั้น ไม่นาน หนังสารคดีเรื่องนี้ก็ได้แพร่หลายสู่สายตาของคนค่อนโลก ในปัจจุบันสารคดีนี้ได้แพร่หลายอยู่บน Youtube โดยมีชื่อว่า "The Mildful Way"
ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 ทางมูลนิธิกิจการสงฆ์แห่งอังกฤษได้ติดต่อนิมนต์หลวงพ่อ ให้จาริกไปเผยแพร่ธรรมะที่ประเทศอังกฤษอีกครั้ง
หลวงพ่อกับพระอาจารย์ปภากโร จึงได้เดินทางสู่ประเทศอังกฤษ ในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2522 การไปอังกฤษครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากชาวต่างประเทศมากขึ้นกว่าครั้งแรกหลายเท่า และหลวงพ่อยังได้ไปดูสถานที่ซึ่งมีคนถวาย เพื่อจัดตั้งเป็นสำนักสาขาถาวร