วัดมหาวนาราม เดิมชื่อว่า วัดป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์ นิยมเรียกว่า วัดป่าใหญ่ เป็นพระอารามหลวง เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่บนถนนสรรพสิทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
พระปทุมวรราชสุริยวงศ์(ท้าวคำผง - ต้นสายสกุล " ณ อุบล " ) เจ้าเมืองอุบลราชธานีคนแรก ได้ได้ก่อสร้างวัดที่ริมฝั่งแม่น้ำมูล ตั้งชื่อว่า วัดหลวง เพื่อให้เป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลแก่ประชาชนทั่วไป
เมื่อพระมหาเถระได้เข้ามาอยู่จำพรรษาแล้วท่านเห็นว่า วัดนี้เป็นวัดบ้าน หรือ ฝ่ายคามวาสีไม่เหมาะแก่การปฏิบัติสมณธรรม]วิปัสสนากรรมฐาน จึงได้หาสถานที่ใหม่ คือ ป่าดงอู่ผึ้ง ห่างจากวัดหลวงไปทางทิศเหนือ 100 เส้น มีหนองน้ำ ชื่อว่า หนองสะพัง เป็นสถานที่อันสงบวิเวก เหมาะจึงได้ก่อตั้งขึ้นเป็นสำนักสงฆ์ (พ.ศ. 2322) ชื่อว่า วัดป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์ เพื่อให้คู่กับวัดหลวงซึ่งก่อตั้งขึ้นก่อนแล้วนั้น แต่ก็ยังไม่ทันได้ตั้งเป็นวัดให้เรียบร้อยสมบูรณ์ เจ้าเมืองคือ พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวคำผง - ต้นสายสกุล " ณ อุบล " ) ได้ถึงแก่อนิจกรรมเสียก่อนเมื่อ พ.ศ. 2338)
พ.ศ. 2348 เจ้าเมืองคนที่ 2 คือ พระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (ท้าวทิดพรหม - ต้นสายสกุล " พรหมวงศานนท์ " ) ได้มาก่อสร้างวิหารอารามในวัดป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดิ์ต่อจนสำเร็จใน พ.ศ. 2350 และได้ยกฐานะเป็นวัดชื่อว่า วัดป่าหลวงมณีโชติ แต่ชาวบ้านเรียกว่า วัดหนองตะพังหรือหนองสระพัง ตามชื่อหนองน้ำที่อยู่ใกล้เคียง (มีหลักฐานการสร้างวัดอยู่ที่ ศิลาจารึก ซึ่งตั้งอยู่ข้างหลัง (ด้านซ้าย) ของพระเจ้าใหญ่อินทร์แปงระบุปีที่สร้างวัดนี้ ตรงกับ พ.ศ. 2350) โดยมีพระมหาราชครูศรีสัทธรรมวงศาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก และเป็นผู้สร้างพระพุทธรูปพระอินแปง หรือ พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง
พ.ศ. 2484 ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น วัดมหาวัน หรือ วัดป่าใหญ่ และได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งตามสมัยนิยมเรียกว่า วัดมหาวนาราม ความหมายของวัด ก็ยังคงเป็นเช่นเดิม คือ แปลว่า ป่าใหญ่
ปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยลักษณะศิลปะแบบลาว ขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 3 เมตร สูงจากเรือนแท่นถึงเปลวพระโมลี 5 เมตร ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทอง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์