วัดพระสมุทรเจดีย์ หมู่ 3 บ้านเจดีย์ ตำบลปากคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นวัดราษฎร์ ฝั่งตรงข้ามศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ มีผู้คนมาเคารพสักการบูชา เป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดสมุทรปราการ ผู้คนทั่วไปจะเรียกกันติดปากว่า พระเจดีย์กลางน้ำ เนื่องจากเดิม บริเวณที่ก่อสร้างพระสมุทรเจดีย์เป็นเกาะที่มีน้ำล้อมรอบ ต่อมาชายตลิ่งฝั่งขวาของแม่น้ำตื้นเขินงอกออกมา เชื่อมติดกับเกาะอันเป็นที่ตั้งพระเจดีย์ สมุทรปราการ เป็นเมืองที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตัวเมืองเก่าอยู่แถบอำเภอพระประแดงและมีชื่อเรียกว่า “เมืองพระประแดง” เป็นสถานที่พักของเมืองสินค้าต่างชาติที่มาติดต่อค้าขายกับไทย ที่บริเวณริมทะเลมีการสร้างป้อมค่ายคูเมืองอย่างมั่นคงแข็งแรง ต่อมา ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดให้รื้อกำแพงเมืองพระประแดงออก
ในปี พ.ศ. 2362 สมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ทรงเห็นว่าจะเป็นช่องทางที่ข้าศึกจะยกทัพมาได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองสมุทรปราการขึ้นที่ตำบลปากน้ำ โดยใช้เวลาสร้าง 3 ปี และได้จัดสร้างป้อมปราการขึ้นทั้งสองฝั่งแม่น้ำถึง 6 ป้อม คือ ป้อมประโคนชัย ป้อมนารายณ์ปราบศึก ป้อมปราการ ป้อมประกายสิทธิ์ ป้อมนาคราช และป้อมผีเสื้อสมุทร ในขณะที่สร้างเมืองนั้น รัชกาลที่ 2 ได้เสด็จทอดพระเนตรหลายครั้งและทรงสร้างพระมหาเจดีย์ ขึ้นที่เกาะกลางน้ำแล้วพระราชทานนามว่า “พระสมุทรเจดีย์” การสร้างยังมิทันเสร็จได้เสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมา ในรัชกาลที่ 3 ได้ทรงสร้างต่อจนสำเร็จและสร้างป้อมขึ้นอีก 3 แห่ง คือ ป้อมตรีเพชร ป้อมคงกระพัน และป้อมเสือซ่อนเล็บ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2402 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้ทรงปฏิสังขรณ์พระสมุทรเจดีย์ให้สูงขึ้นและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมชายทะเลอีกแห่งหนึ่ง พระราชทานนามว่า “ป้อมพระจุลจอมเกล้า” ซึ่งในปัจจุบันป้อมต่างๆ ได้ปรักหักพังลงคงเหลือแต่ป้อมผีเสื้อสมุทรและป้อมพระจุลจอมเกล้าเท่าทุกวันนี้ บ้านสาขลา ตั้งอยู่ ใน ต.นาเกลือ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ เป็นชุมชนชาวประมงเก่าแก่ริมปากอ่าวไทยที่ตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้มาช้านานหลายชั่วอายุคน
"สันนิษฐานว่าหมู่บ้านนี้มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยหรือต้นอยุธยาตอนต้น ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 1 เกิดสงคราม 9 ทัพขึ้น ผู้ชายทุกคนในหมู่บ้านถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารหมด เหลือแต่ผู้หญิง คนแก่ และเด็ก ยุคนั้นหมู่บ้านนี้ถือเป็นแหล่งเสบียงสำคัญเพราะมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ทัพพม่าเมื่อเคลื่อนทัพผ่านมาจึงกวาดต้อนคนไทยและพยายามยามยึดเอาเสบียงอาหารไป แต่ชาวบ้านในหมู่บ้านนี้ไม่ยอมจึงได้รวมพลังผู้หญิง เด็ก และคนชรา จับอาวุธเท่าที่หาได้ไม่ว่าจะเป็นดาบ มีด พร้า รวมถึงสากตำข้าวขนาดใหญ่ออกมาต่อสู้กับพม่าอย่างห้าวหาญ และด้วยแผนการรบที่ดีและความชำนาญภูมิประเทศ ทำให้สาวๆในหมู่บ้านนี้รบกับกองลาดตระเวนของพม่าจนพม่าต้องพ่ายแพ้ถอยทัพกลับไป"