โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เป็นโรงเรียนประจำชาย(โรงเรียนชายล้วน) สถาปนาขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระองค์พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อสร้างโรงเรียนแก่กุลบุตรชาวไทยแทนการสร้างพระอารามซึ่งมีอยู่มากแล้วนั้น ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้มีพระบรมราชโองการให้รวมโรงเรียนมหาดเล็กหลวง กรุงเทพ และ โรงเรียนราชวิทยาลัยเข้าด้วยกัน โดยให้นักเรียนย้ายมาเรียนรวมกันที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพ พร้อมทั้งได้พระราชทานนามโรงเรียนขึ้นใหม่ว่า “วชิราวุธวิทยาลัย” เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนสืบต่อไป
วชิราวุธวิทยาลัยมีตึกที่พักนักเรียน เรียกว่า "คณะ" เป็นเสมือนบ้านของนักเรียน แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือ คณะเด็กโต สำหรับนักเรียนชั้นมัธยม แบ่งออกเป็น ๖ คณะ คือ คณะผู้บังคับการ คณะดุสิต คณะจิตรดา คณะพญาไท คณะจงรักภักดี คณะศักดิ์ศรีมงคล ส่วนคณะเด็กเล็กสำหรับนักเรียนชั้นประถม แบ่งออกเป็น ๓ คณะ คือ คณะสนามจันทร์ คณะนันทอุทยาน และ คณะสราญรมย์ นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังส่งเสริมให้นักเรียนได้เล่นกีฬาต่าง ๆ เช่น รักบี้ฟุตบอล แบดมินตัน นอกจากนี้ ยังมีการจัดการแข่งขันรักบี้ประเพณีกับมาเลย์ คอลเลจ (Malay College Kuala Kangsar) จากประเทศมาเลเซีย เป็นประจำทุก ๆ ปี
ปัจจุบัน ดำเนินการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตั้งอยู่ที่ ถนนราชวิถี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกำเนิดโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้น เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2453 เพื่อโรงเรียนแห่งนี้เป็นสถาบันที่ให้การศึกษาอย่างแท้จริงแก่กุลบุตรชาวไทย และเป็นเสมือนพระอารามหลวงประจำรัชกาล ซึ่งมิได้โปรดฯ ให้สร้างขึ้น เพราะมีพระราชดำริว่า ในรัชสมัยของพระองค์พระอารามหลวงต่างๆ มีอยู่มากแล้ว หากจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอารามหลวงขึ้นอีกก็จะเป็นพระราชภาระในการปฏิสังขรณ์อีกโดยมิควร ประกอบกับในรัชสมัยของพระองค์นั้นการศึกษาได้เปลี่ยนแปลงไป มิได้อยู่กับวัดดังเช่นกาลก่อน นักเรียนต้องการครูบาอาจารย์ที่เป็นคฤหัสถ์ เพื่อทำการอบรมสั่งสอน ดังนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนขึ้นตามแบบโรงเรียนรัฐบาลของประเทศอังกฤษ และพระราชทานนามโรงเรียนแห่งนี้ว่า "โรงเรียนมหาดเล็กหลวง"
ในการสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง พระองค์ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดสร้างอาคารเรียนชั่วคราวเป็นเรือนไม้ หลังคามุงจากขึ้นก่อนในที่ดินส่วนพระองค์ที่สวนกระจัง ริมคลองเปรมประชากร ตำบลสวนดุสิต แล้วโปรดฯ ให้ย้ายนักเรียนมหาดเล็กหลวงซึ่งเปิดการสอนเป็นการชั่วคราวจากโรงเรียนราชกุมาร (เก่า) ใกล้หอพิธีพราหมณ์ในพระบรมมหาราชวัง มาดำเนินการสอนในสถานที่ซึ่งพระราชทานให้ใหม่นี้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2454 ต่อมาใน พ.ศ. 2458 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กรมศิลปากรมาดำเนินการก่อสร้างอาคารถาวรของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ซึ่งประกอบด้วยหอประชุมและอาคารที่พักของนักเรียนที่มุมโรงเรียนอีก 4 หลัง และได้ทรงพระมหากรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาพระฤกษ์สร้างอาคารโรงเรียนเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2458 ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2459 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนโรงเรียนราชวิทยาลัยจากกระทรวงยุติธรรมมาไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวงขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่อีกแห่งหนึ่งใน พ.ศ. 2459
การดำเนินการศึกษาในโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จำต้องยุติลง เนื่องจากพระองค์ได้ด่วนเสด็จสู่สวรรคาลัย เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ในรัชสมัยต่อมา ประเทศสยามต้องประสบสภาวะฝืดเคืองทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง จึงทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจำต้องทรงตัดทอนรายจ่ายส่วนพระองค์ลง ทั้งนี้เพื่อให้การเงินในประเทศเข้าสู่สมดุล ดังนั้น ใน พ.ศ. 2469 ได้มีพระบรมราชโองการให้รวมโรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพฯ และ โรงเรียนราชวิทยาลัยเข้าด้วยกัน โดยให้ย้ายนักเรียนมาเรียนรวมกันที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพ และได้พระราชทานนามโรงเรียนให้ใหม่ว่า “วชิราวุธวิทยาลัย” เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดโรงเรียนสืบต่อไป
ในรัชกาลปัจจุบันเมื่อพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีและสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวรในปี พ.ศ. 2502 ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระประสงค์จะสนองพระเดชพระคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็นพระบรมชนกนาถ และ พระราชสวามี จึงทรงต้องพระประสงค์จะอุปถัมภ์กิจการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มไว้ ดังนั้นพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีและสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จึงทรงรับวชิราวุธวิทยาลัยไว้ในพระอุปถัมภ์ โดยจะทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อบำรุงวชิราวุธวิทยาลัย และทรงเสด็จพระดำเนินมาบำเพ็ญพระกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้เมื่อพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี จะเสด็จสิ้นพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ก็ยังทรงพระราชทานเงินเพื่อบำรุงไว้เช่นเดิมจนถึงปัจจุบัน
อาคารเรียน พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกำเนิดโรงเรียนมหาดเล็กหลวง โดยพระราชทานที่ดินและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ซึ่งลักษณะของหอประชุม หอนาฬิกา อาคารจิตรลดา และตึกขาว เป็นอาคารที่มีรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทย ผสมผสานสถาปัตยกรรมตะวันตก โดยได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ. 2525
วชิราวุธวิทยาลัยส่งเสริมให้นักเรียนได้เล่นกีฬา รวมทั้ง มีการจัดการแข่งขันกีฬาภายในทุกปี โดยมีการแบ่งประเภทกีฬาออกเป็นภาคการศึกษา ดังนี้
โดยกีฬาแต่ละประเภทที่แข่งขัน คณะที่ชนะเลิศจะได้รับถ้วยรางวัลซึ่งแต่ละถ้วยรางวัลจะเป็นถ้วยรางวัลที่ได้รับพระราชทาน อาทิเช่น ถ้วยชนะเลิศรักบี้ฟุตบอลรุ่นใหญ่ เป็นถ้วยพระราชทานของ กีฬาหลักของโรงเรียน คือ รักบี้ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่ารักบี้นั้นจะเป็นกีฬาที่สอนให้นักเรียนรู้จักแพ้ ชนะ และอภัย และจะฝึกให้นักเรียนเป็นสุภาพบุรุษอย่างสมบูรณ์แบบ รักบี้ประเพณีกับมาเลย์ คอลเลจ (Malay College Kuala Kangsar) จากประเทศมาเลเซียจะถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุก ๆ ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 และรักบี้ประเพณีกับ Saad foundation school ประเทศมาเลเซีย
วชิราวุธวิทยาลัยมีหอพัก หรือที่เรียกว่า "คณะ" เพื่อให้นักเรียนใช้เป็นที่พักอาศัยในช่วงระหว่างที่อยู่โรงเรียนสองอาทิตย์ คณะหนึ่งนั้นจะมีนักเรียนประมาณ 80 คน แต่ละคณะนั้นจะแบ่งกระจายนักเรียนของแต่ละชั้นเรียนให้เท่า ๆ กัน แบ่งเป็นสองฝั่ง คือ คณะเด็กใน และ คณะเด็กเล็ก
โดยที่คณะเด็กในจะใช้เป็นที่พักพิงของนักเรียนตั้งแต่ชั้น ม.1 ถึง ม.6 ทั้งนี้ มีด้วยกันอยู่ 6 คณะ คือ คณะผู้บังคับการ คณะดุสิต คณะจิตรดา คณะพญาไท คณะจงรักภักดี คณะศักดิ์ศรีมงคล
ส่วนคณะเด็กเล็กนั้นจะใช้เป็นที่พักของเด็กนักเรียนชั้น ป.4 ถึง ป.6 เมื่อนักเรียนแต่ละคนเข้าเรียนชั้น ม.1 แล้วจะทำการย้ายเข้าไปอยู่เด็กในกับรุ่นพี่ คณะของคณะเด็กเล็ก ได้แก่ คณะสนามจันทร์ คณะนันทอุทยาน และ คณะสราญรมย์
การปกครองของคณะเด็กใน และเด็กเล็กนั้นจะต่างกันเพียงเล็กน้อย โดยคณะเด็กเล็กนั้นจะมีหัวหน้าครูคณะ และครูคณะมาช่วยดูแล และควบคุมเด็ก ๆ ส่วนคณะเด็กในนั้นจะมีเพียงผู้กำกับคณะคอยดูแล และหน้าที่ควบคุมเด็กในคณะนั้นจะตกอยู่กับรุ่นพี่หัวหน้าคณะโดยมีผู้กำกับคณะเป็นที่ปรึกษา
การปกครองในคณะเด็กในนั้นจะเป็นระบบรุ่นพี่ รุ่นน้อง โดยจะเน้นอยู่ว่า "การจะเป็นผู้นำที่ดีได้ ต้องเคยเป็นผู้ตามที่ดีมาก่อน" ดังนั้น ก่อนที่นักเรียนแต่ละคนจะมาเป็นหัวหน้าคณะปกครองรุ่นน้อง ก็จะเคยเป็นผู้ตามถูกปกครองโดยรุ่นพี่มาก่อน และเรียนรู้การปกครองนั้นมาปกครองรุ่นน้องถัด ๆ ไป
การแต่งกายของนักเรียนวชิราวุธเมื่อยามที่โรงเรียนมีงานพิธีสำคัญ นักเรียนจะแต่งกายด้วยชุดราชปะแตน ซึ่งเป็นชุดพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้นักเรียนแต่งตัวให้มีระเบียบเรียบร้อย โดยชุดนั้นประกอบไปด้วย
หนึ่งในประเพณีของวชิราวุธวิทยาลัย คือ การร้องเพลงในงานสำคัญต่างๆ รวมถึงเพลงเชียร์กีฬา โดยเพลงที่มักจะได้ยินบ่อยๆ มีดังนี้
ผู้บังคับการ คือ ผู้ที่มีความรับผิดชอบสูงสุดในการดูแลจัดการวชิราวุธวิทยาลัย เป็นทั้งหัวหน้าฝ่ายบริหาร และครูใหญ่ รวมทั้งผู้รับใบอนุญาตผู้จัดการโรงเรียน ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้าดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย ต้องเป็นผู้ที่ผ่านพระบรมราชานุมัติจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว