วงเวียนใหญ่ เป็นวงเวียน ถนนประชาธิปกตัดกับถนนลาดหญ้าอดีตอยู่ที่จังหวัดธนบุรีแต่จอมพล ป.พิบูลสงครามได้ผนวกจังหวัดธนบุรีเข้ากับจังหวัดกรุงเทพมหานครแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นกรุงเทพมหานคร เป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี บริเวณใกล้เคียงเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ ซึ่งเป็นสถานีต้นทางของทางรถไฟสายแม่กลอง (วงเวียนใหญ่-มหาชัย)
พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2496 ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ออกแบบและควบคุมการหล่อโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ศิลปินผู้ปั้นคือนายแสวง สงฆ์มั่งมี เป็นพระบรมรูปทรงเครื่องกษัตริย์ ประทับบนหลังม้า ทรงพระมาลา เบี่ยงหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้สู่จันทรบุรี พระหัตถ์ขวา ทรง พระแสงดาบชูออกไปเหนือพระเศียร พระหัตถ์ซ้ายทรงบังเหียน ท่านำพลรุกไล่ข้าศึก
โดยที่พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้ ทางรัฐบาลได้ให้ประชาชนออกเงินบริจาคสร้าง และเปิดโอกาสให้ได้ออกเสียงเลือกแบบด้วย ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เลือกแบบในปัจจุบันนี้
ทางราชการได้ประกอบพระราชพิธีเปิด และถวายบังคมพระบรมราชาอนุสาวรีย์ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2497 และในวันที่ 28 ธันวาคม ปีเดียวกัน จึงมีรัฐพิธีเปิด เป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงวางพวงมาลา ถวายราชสักการะ
เนื่องจากในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2310 เป็นวันที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี กอบกู้เอกราชชาติไทยกลับคืนหลังจากการเสียกรุงครั้งที่สอง ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี ทางราชการจึงกำหนดให้วันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันถวายบังคมพระบรมราชาอนุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จะมีพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณของพระองค์ ที่พระบรมราชานุสาวรีย์ วงเวียนใหญ่
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2548 กรุงเทพมหานครได้ปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์วงเวียนใหญ่ให้แลดูสวยงามขึ้น มีการติดตั้งไฟส่องพระบรมราชานุสาวรีย์ในเวลากลางคืน และมีอุโมงค์คนเดินจากทางเท้าเข้าไปถึงวงเวียนและตัวพระบรมราชานุสาวรีย์ได้ แล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2551