ลูเครเชีย (ภาษาอังกฤษ: Lucretia) เป็นบุคคลในตำนานในประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐโรมัน สามีของลูเครเชียคือลูเชียส ทาร์ควิเนียส โคลลาทินัส (Lucius Tarquinius Collatinus) พ่อคือสเปอเรียส ลูเครเชียส ทริซิพิทินัส (Spurius Lucretius Tricipitinus) และพี่ชายพูเบียส ลูเครเชียส ทริซิพิทินัส (Publius Lucretius Tricipitinus) ตามตำนานของโรมการข่มขืนของลูเครเชียและการฆ่าตัวตายที่ตามมาเป็นสาเหตุที่นำมาซึ่งการล้มราชบัลลังก์ของโรมและการก่อตั้งโรมเป็นสาธารณรัฐ
ตามคำกล่าวของนักประวัติศาสตร์โรมันลิวี (Livy) กษัตริย์โรมันมีโอรสชื่อเซ็กซทัส ทาร์ควิเนียส (Sextus Tarquinius) ผู้มีนิสัยดุร้าย ผู้เป็นผู้ข่มขืนสตรีในครอบครัวขุนนางชื่อลูเครเชียในปี 509 ก่อนคริสต์ศักราช เซ็กซทัสขู่ลูเครเชียว่าจะฆ่าถ้าไม่ยอมให้ข่มขืน และจะนำร่างที่เปลือยเปล่าของลูเครเชียไปวางเคียงข้างกับทาส เพราะการเป็นนัยว่ามีความสัมพันธ์กับชนชั้นที่ต่ำกว่าถือว่าเป็นสิ่งที่น่าอับอายเป็นอันมาก ลูเครเชียจึงต้องจำยอม หลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นลูเครเชียก็เรียกพี่น้องมารวมกัน และเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นลูเครเชียก็ฆ่าตัวตาย ครอบครัวของลูเครเชียมาพบร่างของลูเครเชียปักด้วยมีดที่หน้าอก.
ลูเชียส จูเนียส บรูทัสพี่ชายของลูเครเชียจึงยุยงผู้คนในกรุงโรมให้ลุกขึ้นต่อต้านราชตระกูลโดยนำร่างของลูเครเชียไปแสดงให้ผู้คนดู บรูทัสและสามีของลูเครเชียเป็นผู้นำการแข็งข้อ จนในที่สุดก็ขับทาร์ควิเนียสออกจากกรุงโรมไปลี้ภัยอยู่ที่อีทรูเลีย (Etruria) ผลของการกำจัดระบบพระมหากษัตริย์คือการก่อตั้งสาธารณรัฐโรมัน ในที่สุดสามีและพี่ชายของลูเครเชียก็ได้เป็นกงสุลคนแรกของโรม
นักบุญออกัสตินแห่งฮิปโปใช้ตำนานของลูเครเชียในหนังสือ “เทวนคร” (City of God) ในการยกย่องสตรีคริสเตียนผู้ถูกข่มขืนระหว่างการปล้นสดมภ์กรุงโรมและเลือกที่จะเลี่ยงการฆ่าตัวตายเพราะความอับอาย
การฆ่าตัวตายของลูเครเชียเป็นหัวข้อที่นิยมกันมากในงานศิลปะทุกแขนง ในด้านจิตรกรรมก็เช่นกันในบรรดาจิตรกรที่รวมทั้งทิเชียน, แรมบรังด์, อัลเบรชท์ ดือเรอร์, ราฟาเอล, ซานโดร บอตติเชลลี, จอร์จ บรู (ผู้พ่อ) (J?rg Breu the Elder) , โยฮันเนส โมรีลส์ (Johannes Moreelse), ดาเมีย แคมเพนีย์ (Dami? Campeny) และอื่นๆ
เรื่องของลูเครเชียเป็นตัวอย่างที่ดีของเรื่องแฝงคำสอนที่เป็นที่นิยมกันในยุคกลาง เจฟฟรีย์ ชอเซอร์ บันทึกในหนังสือ “ตำนานของสตรีที่ดี” (The Legend of Good Women), จอห์น เกาเออร์ (John Gower) ใน “Confessio Amantis” (เล่ม 7), และจอห์น ลิดเกท (John Lydgate) ใน “Fall of Princes” นอกจากนั้นก็ยังปรากฏในโคลง “การข่มขืนของลูเครเชีย” ในปี ค.ศ. 1594 โดย วิลเลียม เชกสเปียร์ และยังได้รับการกล่าวถึงใน “Titus Andronicus” และ “As You Like It” ด้วย
ต่อมาก็มีบทละคร “การข่มขืนของลูเครเชีย” (The Rape of Lucrece) ในปี ค.ศ. 1607 โดยทอมัส เฮย์วูด ลูเครเชียปรากฏในงานของดานเต อลิเกียริ ในตอนลิมโบที่มีไว้สำหรับขุนนางชาวโรมและผู้นอกศาสนาผู้มีจริยธรรมในแคนโตที่ 4 ใน “ไตรภูมิดานเต” ส่วนคริสตีน เดอ พิซานใช้ลูเครเชียเช่นเดียวกับนักบุญออกัสตินในหนังสือ “City of Ladies” ที่ป้องกันศักดิ์ศรีของสตรี
ในนวนิยาย “พาเมลา” โดยซามูเอล ริชาร์ดสัน (Samuel Richardson) ในปี ค.ศ. 1740 มิสเตอร์บีกล่าวถึงลูเครเชียว่าเป็นตัวอย่างที่พาเมลาไม่ควรกลัวว่าจะเสียชื่อเสียงถ้ามิสเตอร์บีจะข่มขืนพาเมลา แต่พาเมลาก็แก้ว่าให้อ่านให้ดี
ความสนใจในลูเครเชียมารื้อฟื้นอีกครั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ใน “Le Viol de Lucr?ce” ที่เป็นบทละครที่เขียนในปี ค.ศ. 1931 โดยอันเดร โอเบย์ (Andr? Obey) และในอุปรากร “การข่มขืนของลูเครเชีย” โดยเบ็นจามิน บริต์เต็น (Benjamin Britten) ในปี ค.ศ. 1946