ลิเก เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์ คำว่า ลิเก เพี้ยนมาจากคำว่า ซิเกร์ ในภาษาเปอร์เซีย ที่ยืมมาจากคำว่า ซิกรุ (Zakhur) ในภาษาอาหรับ อันหมายถึงการอ่านบทสรรเสริญเป็นการรำลึกถึงอัลลอหฺพระเจ้าในศาสนาอิสลาม พระครูศรีมหาโพธิคณารักษ์ก็ได้กล่าวถึงลิเกไว้ ว่า พวกมุสลิมนิกายชีอะห์ หรือเจ้าเซ็นจากเปอร์เซีย นำสวดลิเกที่เรียกว่า ดิเกร์ เข้า มาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยกรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ทรง บันทึกว่า ยี่เกนั้น เพี้ยนมาจาก จิเก
มีบันทึกว่า พวกแขกเจ้าเซ็นได้สวดถวายตัวในการบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อ พ.ศ. 2423 ต่อมาคิดสวดแผลงเป็นลำนำต่าง ๆ คิดลูกหมดเข้าแกมสวด ร้องเป็นเพลงต่างภาษา และทำตัวหนังเชิด โดยเอารำมะนาเป็นจอก็มี ลิเกจึงกลายเป็นการเล่นขึ้น ต่อมามีผู้คิดเล่นลิเกอย่างละคร คือ เริ่มร้องเพลงแขก แล้วต่อไปเล่นอย่างละครรำ และใช้ปี่พาทย์อย่างละคร
วิธีแสดง เดินเรื่องรวดเร็ว ตลกขบขัน การแสดงเริ่มด้วยโหมโรง 3 ลา จบแล้วบรรเลงเพลงสาธุการ ให้ผู้แสดงไหว้ครู แล้วจึงออกแขก บอกเรื่องที่จะแสดง ในอดีตมีการรำถวายมือหรือรำเบิกโรง แล้วจึงดำเนินเรื่อง ต่อมาการรำถวายมือก็เลิกไป ออกแขกแล้วก็จับเรื่องทันที การร่ายรำน้อยลงไปจนเกือบไม่เหลือเลย คงมีเพียงบางคณะที่ยังยึดศิลปะการรำอยู่
ผู้แสดง เดิมใช้ผู้ชายล้วน ต่อมานายดอกดิน เสือสง่า ให้บุตรสาวชื่อละออง แสดงเป็นตัวนางประจำคณะ ต่อมาคณะอื่นก็เอาอย่างบ้าง บางคณะให้ผู้หญิงเป็นพระเอก เช่น คณะกำนันหนู บ้านผักไห่ อยุธยา การแสดงชายจริงหญิงแท้นั้น คณะ หอมหวล นาคศิริ เริ่มเป็นคณะแรก ผู้แสดงต้องมีปฏิภาณในการร้องและเจรจา ดำเนินเรื่องโดยไม่มีการบอกบทเลย หัวหน้าคณะจะเล่าให้ฟังก่อนเท่านั้น นอกจากนี้ การเจรจาต้องดัดเสียงให้ผิดปกติ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ ของลิเก แต่ตัวสามัญชนและตัวตลกพูดเสียงธรรมดา ในยุคหลังจากนั้นก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยโดยเกิดรายการลิเกทางโทรทัศน์ขึ้นมาเช่น ลิเกรวมดาวของ คุณ วิญูญู จันทร์เจ้า โดยมี สมศักดิ์ ภักดี เป็นพระเอกลิเกคนแรกของประเทศไทยที่ได้ออกโทรทัศน์ และต่อมาก็เริ่มมีคณะลิเกรุ่นใหม่ๆรวมถึงลิเกเด็กเกิดขี้นมาตามลำดับเช่น คณะลิเกไชยา มิตรไชย คณะลิเกกุ้ง สุทธิราช คณะลิเกเด็กวัดสวนแก้ว คณะลิเก ศรราม-น้ำเพชร ฯลฯ
เพลงและดนตรี ดำเนินเรื่องใช้เพลงหงส์ทองชั้นเดียว แต่ดัดแปลงให้ด้นได้เนื้อความมาก ๆ แล้วจึงรับด้วยปี่พาทย์ แต่ถ้าเล่นเรื่องต่างภาษา ก็ใช้เพลงที่มีสำเนียงภาษานั้นๆ ตามท้องเรื่อง แต่ด้นให้คล้ายหงส์ทอง ต่อมานายดอกดิน เสือสง่า ได้ดัดแปลงเพลงมอญครวญของลิเกบันตนที่ใช้กับบทโศก มาเป็นเพลงแสดงความรัก
เรื่องที่แสดง นิยมใช้เรื่องละครนอก ละครใน และเรื่องพงศาวดารจีน มอญ ญวน เช่น สามก๊ก ราชาธิราช ฉันใดเวือง
การแต่งกาย แต่งตัวด้วยเครื่องประดับสวยงาม เลียนแบบเครื่องทรงกษัตริย์ จึงเรียกว่าลิเกทรงเครื่อง บางครั้งก็ลดเครื่องแต่งกายที่แพรวพราวลงไป โดยตัวนายโรงยังแต่งเลียนแบบเครื่องทรงของกษัตริย์ในส่วนที่มิใช่เครื่องต้น เช่น นุ่งผ้ายกทอง สวมเสื้อเข้มขาบหรือเยียรบับ แขนใหญ่ถึงข้อมือ คาดเข็มขัดนอกเสื้อ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่าง ๆ แต่ดัดแปลงเสียใหม่ เช่น เครื่องสวมศีรษะ เครื่องประดับหน้าอก สายสะพาย เครื่องประดับไหล่ ตัวนางนุ่งจีบยกทอง สวมเสื้อแขนกระบอกยาว ห่มสไบปักแพรวพราว สวมกระบังหน้าต่อยอดมงกุฎ ที่แปลกกว่าการแสดงอื่น ๆ คือสวมถุงเท้ายาวสีขาวแทนการผัดฝุ่นอย่างละคร แต่ไม่สวมรองเท้า
สถานที่แสดง ลานวัด ตลาด สนามกว้าง ในโทรทัศน์ ฯลฯ โดยปลูกเพิงสูงระดับตา ด้านหน้าเป็นที่แสดง ด้านหลังเป็นที่พักที่แต่งตัว มีฉากเป็นภาพเมือง วัง หรือป่าเขาลำเนาไพร