ลิลิต หมายถึง หนังสือที่แต่งด้วยคำประพันธ์ประเภท โคลง และร่าย สลับกันเป็นช่วงๆ ตามธรรมเนียมแล้ว มักจะใช้โคลงและร่ายในแบบเดียวกัน กล่าวคือ โคลงดั้น สลับกับร่ายดั้น, โคลงสุภาพ สลับกับร่ายสุภาพ อย่างนี้เป็นต้น โคลงและร่ายที่สลับกันนั้น มักจะร้อยสัมผัสด้วยกัน เรียกว่า "เข้าลิลิต"
วรรณคดีที่แต่งตามแบบแผนลิลิต มักจะใช้ร่ายและโคลงสลับกันเป็นช่วงๆ ตามจังหวะ ลีลา และท่วงทำนอง และความเหมาะสมของเนื้อหาในช่วงนั้นๆ
ความเป็นมาของลิลิต ไม่ปรากฏแน่ชัด โดยสืบค้นได้เก่าสุดถึงสมัยอยุธยา ได้แก่ ลิลิตยวนพ่าย และลิลิตพระลอ (สำหรับอายุของลิลิตพระลอยังเป็นที่ถกเถียง ยังไม่ยุติ) แต่ถ้าจะนับอย่างธรรมเนียมลิลิตแล้ว น่าจะมีเพียงลิลิตพระลอ เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น เนื่องจากในยวนพ่ายนั้น มีร่ายนำ 1 บท แล้วมีร่ายแทรกตอนปลายๆ (ไม่ใช่ท้ายเรื่อง)กลางเรื่องอีก 1 บทเท่านั้น ส่วนลิลิตพระลอนั้น แต่งด้วยร่ายสุภาพและโคลงสุภาพอย่างหลากหลาย สลับเป็นช่วงๆ (โปรดอ่านรายละเอียดในหัวข้อ ลิลิตพระลอ) มีทั้งโคลงสองสุภาพ โคลงสามสุภาพ และโคลงสี่สุภาพ นอกจากนี้ยังมีร่ายสอดสร้อยอีกด้วย
สำหรับโองการแช่งน้ำ แม้จะเคยเรียกกันว่า ลิลิตโองการแช่งน้ำ มาก่อน แต่ในภายหลัง นักวรรณคดีส่วนใหญ่สมัครใจที่จะเรียกชื่อโดยไม่มีคำว่าลิลิต ทั้งๆ ที่ในโองการแช่งน้ำ ก็แต่งด้วยร่ายสลับโคลง ทว่าเป็นร่ายโบราณ สลับกับโคลงห้า ซึ่งไม่ปรากฏแบบแผนที่ไหนมาก่อน
เป็นที่น่าสังเกตว่า นิราศคำโคลง หรือที่เรียกชื่อขึ้นต้นด้วย "โคลงนิราศ" ในสมัยส่วนใหญ่ จะขึ้นต้นด้วยร่ายนำ 1 บทเสมอ เช่น นิราศนรินทร์ นิราศพระยาตรัง โคลงทวาทศมาส แต่มิได้เรียกว่าลิลิตแต่อย่างใด
วรรณคดีที่เรียกว่าลิลิตจำนวนหนึ่ง จึงเป็นเพียงวรรณกรรม คำโคลง ที่มีร่ายนำเท่านั้น นอกจากลิลิตยวนพ่ายแล้ว ยังมีลิลิตพยุหยาตราเพชรพวง มีร่ายนำเพียงหนึ่งบท
ลิลิตเป็นแบบแผนคำประพันธ์ที่มีผู้นิยมแต่งเสมอมา แม้จนปัจจุบัน เนื่องจากสามารถเปลี่ยนลีลาอารมณ์ของบบร้อยกรองได้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการส่งสัมผัสระหว่างบท หรือ "เข้าลิลิต" นั้นไม่ถือเคร่งครัดนัก