จังหวัดลำพูน (คำเมือง: ) เป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดในภาคเหนือ นับเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ ยาวนาน เคยเป็นที่ตั้งของนครหริภุญชัย ในสมัยพระนางจามเทวีเดิมชื่อเมืองหริภุญไชย เป็นเมืองโบราณ มีอายุประมาณ 1,343 ปี ตามพงศาวดารโยนกเล่าสืบต่อกันถึงการสร้างเมืองหริภุญไชย โดยฤๅษีวาสุเทพ เป็นผู้เกณฑ์พวกเม็งคบุตรหรือชนเชื้อชาติมอญมาสร้างเมืองนี้ขึ้น ในพื้นที่ระหว่างแม่น้ำสองสาย คือ แม่น้ำกวงและแม่น้ำปิง เมื่อมาสร้างเสร็จได้ส่งทูตไปเชิญราชธิดากษัตริย์เมืองละโว้พระนาม “จามเทวี” มาเป็นปฐมกษัตริย์ปกครองเมืองหริภุญไชยสืบราชวงศ์กษัตริย์ต่อมาหลายพระองค์ จนกระทั่งถึงสมัยพญายีบาจึงได้เสียการปกครองให้แก่พญามังราย ผู้รวบรวมแว่นแคว้นทางเหนือเข้าเป็นอาณาจักรล้านนา
ถึงแม้ว่าเมืองลำพูนจะตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรล้านนา แต่ก็ได้เป็นผู้ถ่ายทอดมรดกทางศิลปะและวัฒนธรรมให้แก่ผู้ที่เข้ามาปกครอง ดังปรากฏหลักฐานทั่วไปในเวียงกุมกาม เชียงใหม่ และเชียงราย เมืองลำพูนจึงยังคงความสำคัญในทางศิลปะและวัฒนธรรมของอาณาจักรล้านนา จนกระทั่งสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมืองลำพูนจึงได้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย มีผู้ครองนครสืบต่อกันมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เมื่อเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้าย คือ พลตรี เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ถึงแก่พิราลัย เมืองลำพูนจึงเปลี่ยนเป็นจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ปกครอง สืบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน นอกจากจังหวัดลำพูนจะมีชื่อเสียงในฐานะเป็นเมืองประวัติศาสตร์แล้ว ยังเป็นแหล่งเพาะปลูกลำไย พระเครื่อง โบราณสถานที่สำคัญ และผ้าทอฝีมือดี ปัจจุบันมีประตูเมืองหลักทั้งสี่ทิศคือ ทิศเหนือประตูช้างสี ทิศตะวันออกประตูท่าขาม ทิศใต้ประตูลี้ ทิศตะวันตกประตูมหาวัน มีกำแพงเมืองเก่าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือคือ ประตูท่านาง
ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา จังหวัดลำพูน แบ่งเขตการเลือกตั้งเป็น 2 เขต โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 2 คน และสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 1 คน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระดับจังหวัด และเทศบาลเมือง ได้แก่
ภาษายองเป็นภาษาที่ใช้กันแพร่หลายในจังหวัดลำพูน คนในจังหวัดลำพูนมักจะพูดสำเนียงเมืองยอง เพราะชาวลำพูนส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากไทลื้อในรัฐฉานประเทศพม่าและสิบสองปันนาประเทศจีน จึงมีสำเนียงที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างจากคำเมืองของภาคเหนือ และประชากรส่วนหนึ่งของจังหวัดลำพูนเป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ปวากะญอ โดยเฉพาะหมู่บ้านพระบาทห้วยต้มหมู่บ้านเดียวมีประชากรของกะเหรี่ยงปวากะญออาศัยพันกว่าหลังคาเรือนและเป็นหมู่บ้านต้นแบบ หมู่บ้านรักษาศีล 5