ลัทธิเหนือจริง หรือ เซอร์เรียลลิซึม (อังกฤษ: Surrealism) เป็น “ลัทธิ” หรือ “ขบวนการ” ทางวรรณศิลป์และทัศนศิลป์ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง อ็องเดร เบรอตง (Andre Breton) เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มดาดา (Dadaism) ที่มีเป้าหมายใช้ความก้าวร้าวรุนแรงเพื่อต่อต้านสงคราม ต่อต้านค่านิยมของชนชั้นกลางทุกชนิดรวมทั้งคริสต์ศาสนา ต้องการทำลายขนบประเพณีที่ชนชั้นกลางสะสมไว้รวมทั้งศิลปวรรณคดีด้วย หลังจากร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มดาดาอยู่ระยะหนึ่งเบรอตงกับเพื่อนก็แยกตัวออกมาตั้งกลุ่มใหม่ คือ กลุ่มเซอร์เรียลลิซึม ซึ่งยังรับเอาความก้าวร้าวมุ่งทำลายค่านิยมของชนชั้นกลางของดาดามาเป็นฐานแต่มุ่งสร้างค่านิยมใหม่
เอกลักษณ์ของศิลปะเซอร์เรียลลิซึมก็คือการใช้สิ่งที่เรียกว่า ความบังเอิญ (Chance) มาเป็นส่วนหนึ่งในการนำเสนอผลงานโดยเฉพาะการหยิบเอาสิ่งของสองอย่างหรือมากกว่านั้นซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้องกันมาวางไว้ด้วยกัน เหมือนเป็นการพบกันโดยบังเอิญที่ก่อให้เกิดความหมาย แม้แต่ละอย่างจะไม่มีความเกี่ยวเนื่องกันเลย แต่เมื่อมาอยู่ร่วมกันในพื้นที่เดียวกัน ก็ย่อมจะกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดจินตนาการและความรู้สึกถึงเอกภาพแบบใหม่ ซึ่งไม่ขึ้นกับเหตุผลหรือตรรกะใดๆ ในโลกกายภาพ รูปแบบผลงานศิลปะจะใช้วิธีการนำเอาสิ่งที่เป็นสภาวะปกติวิสัยตั้งแต่ 2 สิ่งที่ดูเข้ากันไม่ได้มาจัดร่วมประกอบกัน และแต่งเติมผสมผสานให้ดูเป็นสิ่งเดียวกันอย่างกลมกลืน รวมถึงการเชื่อมโยงความรู้สึกสัมผัสและประสบการณ์ทางการเห็นให้สอดคล้องกับความคิด เชื่อมโยงให้เป็นเรื่องใหม่
ก่อตั้งขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2459 ซึ่งพัฒนาต่อเนื่องมาจากกลุ่มดาดา โดยในปี พ.ศ. 2465 สมาชิกในกลุ่มดาดาได้แยกตัวออกไปและรวมกันใหม่อีกครั้งที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จากการแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเป็นลายลักษณ์อักษรชื่อว่า แถลงการณ์เซอร์เรียลลิซึม (Manifeste du Surrealisme) โดยเบรอตง ได้รับการเผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2467 โดยนับเอาจากการรวมตัวกันของบรรดาผู้จัดทำวรรณกรรมที่พวกเซอร์เรียลลิสต์เป็นกองบรรณาธิการ ซึ่งตอนนั้นวารสารฉบับนี้ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของดาดาในฝรั่งเศสอันเป็นทัศนะเดียวกับที่วอลเทอร์ เบนจามิน ได้เสนอไว้ในบทความ Surrealism: The Last Snapshot of the European Intelligentssia ซึ่งเนื้อหาสำคัญในแถลงการณ์ คือ การขบถต่อค่านิยมของชนชั้นกลางตลอดจนขนบและกฎเกณฑ์ทุกชนิดเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพในการแสดงออกซึ่ง “ตัวตนภายใน” หรือ “ความคิดบริสุทธิ์” หรือ “จิตไร้สำนึก” ที่ถูกเก็บกดไว้ต้องการแสวงหรือบรรลุถึงความจริงสูงสุดอันเกิดจากการผสานรวมของความฝันกับความจริงแห่งโลกภายนอก กล่าวคือ ต้องการแสดงออกซึ่งความรู้สึกนึกคิดภายในออกมาอย่างเสรีในทุกรูปแบบ โดยปราศจากการควบคุมใดๆทั้งสิ้น อ็องเดร เบรอตง เป็นผู้ริเริ่มเผยแพร่แนวคิดของกลุ่มเซอร์เรียลลิซึม เขาเคยเป็นนักเรียนแพทย์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งทำให้ได้มีโอกาสศึกษาแนวคิดของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ที่เซอร์เรียลลิซึมต่างเห็นว่า ทฤษฏีเกี่ยวกับจิตไร้สำนึกของฟรอยด์มีความสำคัญยิ่งต่อชีวิตและการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของมนุษย์ เบรอตงและพรรคพวกได้นำเอาวิธีการเชื่อมโยงเสรี (Free association) ของฟรอยด์มาประยุกต์ใช้กับศิลปะ โดยให้ศิลปินวาดรูปหรือเขียนสิ่งที่ลอยเข้ามาในความคิดโดยไม่ต้องสนใจเหตุผลตรรกะใดๆ งานศิลปะของเซอร์เรียลลิซึมจึงเป็นทั้งเนื้อหาและสัญลักษณ์ต่างๆ ที่ผุดบังเกิดจากจิตไร้สำนึก (หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นการสร้างสรรค์จากโลกภายในของศิลปินและโลกที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ของโลกกายภาพ)
หลุยส์ อารากง (Louis Aragon) หนึ่งในแกนนำคนสำคัญเสนอว่า แนวคิดและวาทกรรมของเซอร์เรียลลิซึมนั้นเป็นผลผลิตที่เกิดจากเวลา ความแตกต่างในแง่นี้คือ เซอร์เรียลลิซึมเป็นกลุ่มที่เริ่มต้นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เรียกว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางปรัชญาศิลปะ ที่แทรกตัวขึ้นมาท่ามกลางความวุ่นวายหายนะของอารยธรรม และเซอร์เรียลลิซึมต่อต้านความจริงที่เรารับมาจากการไตร่ตรองขนบคิดหาเหตุผล จนถึงองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ หรือปรัชญาแนวปฏิฐานนิยมด้วยว่า ความจริงเหล่านี้เป็นเพียงความจริงชั้นสองซึ่งไม่สลักสำคัญ หรือไม่อาจเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาใหญ่ๆของมนุษยชาติ พวกเซอร์เรียลลิซึมจึงมองว่าสงครามที่พรากชีวิตคนนับล้านภายในระยะเวลาไม่กี่ปีเป็นผลมาจากระบบคิดหรือจิตสำนึกที่เป็นใหญ่เหนือมนุษย์ ดังนั้นหนทางเดียวที่จะหลีกเลี่ยงมิให้เกิดสงครามซ้ำรอย ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสำรวจหาเส้นทางใหม่ (ที่ดาดาได้เริ่มไว้) ซึ่งพวกเซอร์เรียลลิซึมพบว่ามันอยู่ในห้วงความฝัน หรือดำรงอยู่ในนิยามที่จิตสำนึกและเหตุผลของเราหลับใหล