ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้าน โดยผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่สำคัญคือการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล
ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ภายหลังที่คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่สมาชิกในสังกัดของพรรคตนมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และมีจำนวนมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองที่สมาชิกในสังกัดมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรในขณะแต่งตั้ง เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ในกรณีที่ไม่มีพรรคการเมืองใดในสภาผู้แทนราษฎรมีลักษณะที่กำหนด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนข้างมากจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพรรคการเมืองที่สมาชิกในสังกัดของพรรคนั้นมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่มีเสียงสนับสนุนเท่ากันให้ใช้วิธีจับสลาก ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ปัจจุบันยังไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากการรัฐประหาร โดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/รายนามผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรไทย