ในสาขาการแพทย์ รายงานผู้ป่วย หรือ รายงานกรณี หรือ รายงานเค้ส (อังกฤษ: case report) เป็นรายงานอย่างละเอียดเกี่ยวกับอาการ อาการแสดง การวินิจฉัย การรักษาพยาบาล และการติดตามผู้ป่วยคนหนึ่ง และอาจจะมีข้อมูลทางประชากรอื่น ๆ เกี่ยวกับผู้ป่วย ปกติจะเป็นรายงานเกี่ยวกับเค้สที่แปลกหรือใหม่ และบางครั้งจะมีการทบทวนวรรณกรรมของเค้สอื่น ๆ ที่ได้รับรายงานมาแล้ว
รายงานเค้สปกติจะพิจารณาว่า เป็นรูปแบบหนึ่งของหลักฐานโดยเรื่องเล่า (anecdotal evidence) เพราะมีความจำกัดโดยธรรมชาติของระเบียบวิธีที่ใช้ รวมทั้งการขาดการสุ่มตัวอย่างทางสถิติ รายงานเค้สจัดเป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้น้อยที่สุดในลำดับชั้นหลักฐานทางคลินิก เช่นเดียวกับ case series แต่ก็ยังมีประโยชน์ในงานวิจัยทางการแพทย์และเวชปฏิบัติอิงหลักฐาน โดยเฉพาะก็คือ ช่วยให้รู้จักโรคใหม่ ๆ และผลที่ไม่พึงประสงค์ของการรักษาพยาบาล (ยกตัวอย่างเช่น ความสัมพันธ์ระหว่างการให้ยาคุมภูมิคุ้มกัน thalidomide แก่หญิงตั้งครรภ์ กับการพัฒนาอย่างผิดปกติของทารกในครรภ์ รู้จักเป็นครั้งแรกเนื่องจากรายงานเค้สกรณีหนึ่งโดยเฉพาะ) รายงานเค้สมีบทบาทในการศึกษาเกี่ยวกับอาการไม่พึงประสงค์จากยา (pharmacovigilance) ช่วยให้เข้าใจขอบเขตทางคลินิกของโรคหายากและอาการปรากฏที่ไม่ทั่วไปของโรคสามัญ ช่วยสร้างสมมุติฐานเพื่อการศึกษารวมทั้งกลไกของโรค และอาจช่วยแนะนำแนวทางในการปรับการรักษาพยาบาลให้เข้ากันกับคนไข้แต่ละคน
ผู้สนับสนุนแบบงานศึกษาได้ร่างข้อดีอย่างย่อ ๆ ของรายงานเค้ส คือ ทั้ง case report (รายงานเค้ส) และ case series มีความไวสูงในการตรวจจับความแปลกใหม่ และดังนั้นจะดำรงเป็นหลักสำคัญในความก้าวหน้าทางการแพทย์ และสามารถให้ไอเดียใหม่ ๆ มากมายทางการแพทย์ เปรียบเทียบกับการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมซึ่งสามารถตรวจสอบตัวแปรอย่างหนึ่งหรือไม่กี่อย่าง ที่ไม่สามารถสะท้อนสภาพความเป็นจริงของสถานการณ์ทางการแพทย์ที่ซับซ้อน รายงานเค้สสามารถให้รายละเอียดด้านต่าง ๆ มากมายเกี่ยวกันสถานการณ์ของคนไข้ (เช่น ประวัติผู้ป่วย การตรวจร่างกาย ข้อวินิจฉัย สภาพจิตและสังคม และการดูแลติดตาม)
แต่เพราะว่า เค้สที่ทั่วไปไม่แปลกมักจะไม่มีการตีพิมพ์ ดังนั้น การใช้รายงานเค้สเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จะต้องระมัดระวังเกี่ยวกับความเอนเอียงในการตีพิมพ์ รายงานเค้สบางงานอาจจะมีการทบทวนวรรณกรรมทางการแพทย์อย่างละเอียดที่เกี่ยวข้องกับประเด็น และบางครั้งแม้แต่มีการปริทัศน์เป็นระบบของหลักฐานที่มีทั้งหมด รายงานที่ใช้วิธีการเช่นนี้สามารถกำหนดโดยใช้คำเช่นว่า "case report and review of the literature"
ข้อดีของรายงานคนไข้อีกอย่างหนึ่งก็คือ สามารถตีพิมพ์ได้อย่างรวดเร็ว (ถ้าเทียบกับการศึกษาแบบอื่น ๆ ที่ละเอียดกว้างขวางยิ่งกว่าเช่นการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม) ซึ่งสามารถใช้เป็นสื่อข้อมูลแบบสั้น ๆ ที่ทำได้อย่างรวดเร็วระหว่างแพทย์รักษาที่งานยุ่ง ที่ไม่มีเวลาหรือทรัพยากรที่จะทำงานวิจัยที่ละเอียดกว้างขวางยิ่งกว่านั้น
คุณภาพในการรายงานกรณีคนไข้โดยเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์นั้นมีความต่าง ๆ กัน แต่การรายงานที่ไม่สมบูรณ์จะขัดขวางการใช้รายงานเค้สเพื่อออกแบบการทดลองหรือเพื่อแนะแนวทางเวชปฏิบัติทางคลินิก ดังนั้น จึงมีการพัฒนาแนวทางการรายงาน (reporting guideline) ที่กำลังเป็นไปหลายแนว ที่จะช่วยสร้างความโปร่งใสและความสมบูรณ์ของข้อมูลที่ให้ในกรณีคนไข้แต่ละกรณี EQUATOR Network (ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มนานาชาติมีจุดมุ่งหมายที่จะสนับสนุนการรายงานงานวิจัยสุขภาพที่โปร่งใสและแม่นยำ เพื่อเพิ่มคุณค่าและความน่าเชื่อถือได้ของผลงานวิจัย) ได้ออกแนวทาง CARE (ย่อมาจาก CAse REport) ที่มีรายการตรวจสอบ ที่เข้าถึงได้ทางเว็บไซต์ของโครงการ และโดยงานที่พิมพ์ในปี ค.ศ. 2013
รายงานเค้สเป็นบทความบรรยายของผู้เชี่ยวชาญที่ร่างการวินิจฉัย การบำบัดรักษา และผลการรักษาของคนไข้จำนวนหนึ่ง ข้อมูลจากรายงานเค้สสามารถใช้เป็นฟี้ดแบ็กของแนวทางการปฏิบัติทางคลินิก สามารถให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับประสิทธิผล ผลที่ไม่พึงประสงค์ และค่าใช้จ่ายของการรักษา สามารถเผยแพร่เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์ และทางการศึกษา รายการเช็ค 13 รายการรวมทั้งวิธีการเขียนชื่อ คำหลัก (keyword) บทคัดย่อ (abstract) บทแนะนำ (introduction) ข้อมูลคนไข้ สิ่งที่พบทางคลินิก ไทม์ไลน์ วินิจฉัย วิธีการบำบัด (therapeutic interventions) การติดตามดูแล (follow-up) และผล, บทสนทนา (discussion), มุมมองคนไข้ (patient perspective), และการยินยอมอนุญาตของคนไข้ (informed consent)
วารสารนานาชาติจำนวนมากรับพิมพ์รายงานเค้ส แต่ว่าจะจำกัดจำนวนในฉบับพิมพ์ เพราะว่า จะมีผลต่อค่าวัดการอ้างอิงบทความ (impact factor) ของวารสาร บ่อยครั้งวารสารจะเผยแพร่รายงานทางอินเทอร์เน็ต แต่ว่าก็ยังต้องเสียค่าสมาชิกเพื่อจะเปิดดู แต่ว่า เริ่มมีวารสารจำนวนหนึ่งที่อุทิศพิมพ์แต่รายงานเค้สล้วน ๆ และเปิดให้เข้าถึงได้อย่างเสรี (open access) วารสารแรกเช่นนี้รายแรกเริ่มเผยแพร่ในปี ค.ศ. 2001 คือ วารสาร Grand Rounds วารสารอื่น ๆ รวมทั้ง Case Reports in Medicine (รายงานเค้สในเวชศาสตร์)Journal of Medical Case Reports (วารสารรายงานเค้สทางการแพทย์), Oncology Reports (รายงานวิทยาเนื้องอก), Oncology Letters (จดหมายวิทยาเนื้องอก) และ Cases Journal (วารสารกรณีผู้ป่วย); ซึ่งล้วนแต่เป็นวารสารทางการแพทย์ในสาขาการแพทย์ต่าง ๆ ที่มีการปริทัศน์โดยผู้ชำนาญงาน
Cases Journal พึ่งรวมตัวกับ Journal of Medical Case Reports แต่ก็ยังมีเว็บไซต์เป็นของตนเอง ส่วน BMJ Case Reports (รายงานเค้สของวารสารการแพทย์ BMJ) เป็นวารสารออนไลน์ มีการปริทัศน์โดยผู้ชำนาญ ที่พิมพ์กรณีผู้ป่วยในทุก ๆ สาขา ส่วน Radiology Case Reports (รายงานเค้สรังสีวิทยา) และ Journal of Radiology Case Reports (วารสารรายงานเค้สรังสีวิทยา) เป็นวารสารที่เข้าถึงได้อย่างเสรี ที่มีการปริทัศน์โดยผู้ชำนาญ ที่พุ่งความสนใจไปที่การสร้างภาพรังสี (medical imaging) ส่วน Journal Of Surgical Case Reports (วารสารรายงานเค้สศัลยกรรม) เป็นวารสารที่เข้าถึงได้อย่างเสรี ที่มีการปริทัศน์โดยผู้ชำนาญ ที่พิมพ์รายงานในสาขาศัลยกรรม ส่วน Journal of Orthopaedic Case Reports (วารสารรายงานเค้สออร์โทพีดิกส์) เป็นวารสารที่เข้าถึงได้อย่างเสรี ที่มีการปริทัศน์โดยผู้ชำนาญ ส่วน Oncology Reports และ Oncology Letters พิมพ์รายงานเค้สโดยเข้าถึงได้อย่างเสรีอย่างล้วน ๆ และมีการปริทัศน์โดยผู้ชำนาญ ในสาขาวิทยาเนื้องอก
ยังมีเว็บไซต์จำนวนหนึ่งอีกด้วย ที่เปิดโอกาสให้คนไข้แจ้งกรณีของตนเพื่อแชร์กับผู้อื่น PatientsLikeMe (คนไข้เหมือนกับฉัน) และ Treatment Report (รายงานการรักษา) เป็นตัวอย่างเว็บไซต์ประเภทนี้