ตองกา (อังกฤษ: Tonga) หรือ โตงา (ตองกา: Tonga) มีชื่อทางการคือ ราชอาณาจักรตองกา (อังกฤษ: Kingdom of Tonga; ตองกา: Pule?anga Fakatu?i ?o Tonga ปูเลอางา ฟากาตูอิโอโตงา) เป็นประเทศหมู่เกาะในภูมิภาคโพลินีเซีย ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ระหว่างประเทศนิวซีแลนด์และรัฐฮาวายของสหรัฐอเมริกา โดยทะเลอาณาเขตทางตะวันตกติดกับประเทศฟิจิ ส่วนทางตะวันออกติดกับหมู่เกาะคุก นีอูเอและอเมริกันซามัว ในขณะที่ทางทิศเหนือติดกับหมู่เกาะวาลลิสและหมู่เกาะฟุตูนา ประเทศซามัวและอเมริกันซามัว ชื่อประเทศในภาษาตองกาแปลว่าทิศใต้ นอกจากนี้ประเทศนี้ได้รับฉายาว่าหมู่เกาะมิตรภาพ จากกัปตันเจมส์ คุก
ประเทศตองกาเป็นประเทศขนาดเล็กมีเนื้อที่เพียง 747 ตารางกิโลเมตร นับเป็นอันดับที่ 189 ของโลก หมู่เกาะตองกาประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่ประมาณ 177 เกาะ โดยมีเพียง 36 เกาะเท่านั้นที่มีการอยู่อาศัย เกาะที่ใหญ่ที่สุดคือเกาะตองกาตาปู ซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์กลางการปกครองคือนูกูอะโลฟา เกาะส่วนใหญ่ของตองกาเป็นเกาะที่เกิดจากการทับถมของปะการัง ประชากรของตองกามีทั้งสิ้น 103,036 คน นับเป็นอันดับที่ 192 ของโลก
สันนิษฐานว่ามนุษย์เข้ามาอยู่อาศัยในตองกาครั้งแรกเมื่อ 826 ? 8 ปีก่อนคริสตกาล ตองกาเริ่มก่อตั้งอาณาจักรเป็นของตนเองในปี ค.ศ. 950 ชื่อว่าจักรวรรดิตูอิตองกา ซึ่งปกครองโดยราชวงศ์ตูอิตองกา ตูอิฮาอะตากาเลาอาและตูอิกาโนกูโปลู ต่อมาได้เกิดสงครามกลางเมือง ในท้ายที่สุดตูอิกาโนกูโปลูเตาฟาอาเฮาได้รับชัยชนะจึงรวบรวมดินแดนทั้งหมดก่อตั้งอาณาจักรโพลินีเซีย ตองกาเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่สามารถปกป้องตนเองจากการตกเป็นดินแดนอาณานิคมของชาติตะวันตก ในปี ค.ศ. 2010 ประเทศตองกาจัดการเลือกตั้งทั่วไป การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน
ภาษาหลายภาษาของกลุ่มโพลินีเซียและภาษาตองกาเอง ได้ให้ความหมายคำว่าโตงา (ตองกา: Tonga) ไว้ว่า ใต้ ซึ่งสัมพันธ์กับตำแหน่งที่ตั้งของประเทศตองกาที่เป็นหมู่เกาะตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของภูมิภาคโพลินีเซียตอนกลาง ในภาษาตองกาชื่อประเทศออกเสียงตามระบบสัทอักษรว่า ?to?a ส่วนภาษาอังกฤษจะเรียกชื่อประเทศนี้ว่า /?t???/ หรือ /?t????/ นอกจากนี้ชื่อประเทศตองกายังมีความหมายคล้ายคลึงกับคำว่าโคนา (ฮาวาย: Kona) ในภาษาฮาวายอีกด้วย
ชาวลาพิตา กลุ่มคนที่พูดภาษาในตระกูลภาษาออสโตรนีเชียนเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่อาศัยในตองกา มีความเกี่ยวเนื่องกับกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ทางตะวันออกของประเทศปาปัวนิวกินีและหมู่เกาะโซโลมอนในปัจจุบัน ช่วงเวลาที่ชาวลาพิตาเข้ามาอาศัยในหมู่เกาะตองกาเป็นครั้งแรกยังเป็นข้อถกเถียงในปัจจุบัน โดยในระยะแรกนั้นมีการสันนิษฐานว่ากลุ่มคนที่เชื่อว่าเข้ามาอยู่อาศัยในดินแดนประเทศตองกาปัจจุบันเดินทางถึงหมู่เกาะตองกาในช่วงเวลาประมาณ 1,500 - 1,000 ปีก่อนคริสตกาล ในระยะเวลาต่อมา ได้มีการนำเครื่องมือในสมัยนั้นผ่านการหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี ซึ่งช่วยกำหนดได้ว่าชาวลาพิตาเดินทางเข้ามาอยู่ในตองกาในปี 826 ? 8 ก่อนคริสตกาล เมื่อชาวลาพิตาเดินทางมาถึงหมู่เกาะตองกาแล้ว ได้ลงหลักปักฐานในนูกูเลกา บนเกาะตองกาตาปูเป็นที่แรก และได้ลงหลักปักฐานในฮาอะไปเป็นที่ต่อมา ชาวลาพิตาใช้ชีวิตโดยพึ่งพาทะเลเป็นส่วนใหญ่ อาหารของชาวลาพิตาจึงเน้นอาหารทะเลเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น ปลานกแก้ว ปลานกขุนทอง เต่า ปลาไหล เป็นต้น ทำเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์อีกด้วย หลักฐานที่สำคัญทางโบราณคดีในช่วงเวลานี้คือเครื่องปั้นดินเผาลาพิตา ซึ่งเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ทำมาจากเปลือกหอยและหิน โดยพบมากในบริเวณเขตการปกครองฮาอะไปในปัจจุบัน
ประมาณ ค.ศ. 950 อะโฮเออิตูได้สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นตูอิตองกาแห่งจักรวรรดิตูอิตองกาพระองค์แรก จักรวรรดิตูอิตองกาเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ในรัชสมัยพระเจ้าโมโม พระเจ้าตูอิตาตูอิและพระเจ้าตาลาตามา ซึ่งพระมหากษัตริย์ทั้ง 3 พระองค์ได้ขยายอาณาเขตของจักรวรรดิจนมีอาณาเขตครอบคลุมบางส่วนของฟิจิ ซามัว โตเกเลา นีอูเอและหมู่เกาะคุก บรรดาดินแดนในการปกครองเหล่านี้จะส่งบรรณาการที่เรียกว่า อีนาซี ซึ่งต้องส่งมาถวายตูอิตองกาที่เมืองมูอาอันเป็นนครหลวงของจักรวรรดิทุกปีในฤดูเก็บเกี่ยว อำนาจของจักรวรรดิตูอิตองกาเริ่มตกต่ำลงหลังจากเกิดเหตุลอบปลงพระชนม์ตูอิตองกาหลายพระองค์ ส่งผลให้ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 พระเจ้าเกาอูลูโฟนูอาตูอิตองกาพระองค์ที่ 24 ตั้งพระอนุชาของพระองค์คือเจ้าชายโมอูงาโมตูอาขึ้นเป็นตูอิฮาอะตากาเลาอาพระองค์แรก เพื่อช่วยเหลือตูอิตองกาในการปกครองจักรวรรดิ และอีก 2 ศตวรรษต่อมาได้มีการตั้งราชวงศ์ตูอิกาโนกูโปลูขึ้นเพื่อช่วยเหลืออีก 2 ราชวงศ์ในการปกครองจักรวรรดิ ซึ่งต่อมาตูอิกาโนกูโปลูสามารถก้าวขึ้นมาเป็นราชวงศ์ที่มีอิทธิพลแทนที่ตูอิฮาอะตากาเลาอาได้
ในยุคจักรวรรดิตูอิตองกานี้ มีนักสำรวจชาวยุโรปเดินทางเข้ามาหลายกลุ่ม โดยนักสำรวจที่เดินทางเข้ามาเป็นกลุ่มแรกนั้นเป็นนักสำรวจชาวดัตช์ชื่อว่ายาค็อบ เลอแมร์และวิลเลม ชูเต็น ซึ่งเดินทางมาถึงจักรวรรดิตูอิตองกาในปี ค.ศ. 1616 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จักรวรรดิเกิดสงครามกลางเมือง โดยเข้ามาสำรวจในบริเวณเกาะนีอูอาโตปูตาปู ในปี ค.ศ. 1643 แอเบล แทสมันได้เดินทางเข้ามาในตองกาในบริเวณเกาะตองกาตาปูและฮาอะไป แต่การเดินทางเข้ามาทั้ง 2 ครั้งของชาวยุโรปนี้ ยังไม่มีการติดต่อกับชาวพื้นเมืองอย่างเป็นทางการมากเท่าใดนัก การติดต่อกับชาวพื้นเมืองอย่างเป็นทางการของชาวยุโรปและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในจักรวรรดิคือการเดินทางเข้ามาสำรวจของกัปตันเจมส์ คุกในปี ค.ศ. 1773 1774 และ 1777 ซึ่งเจมส์ คุกได้ตั้งชื่อหมู่เกาะนี้ว่า "หมู่เกาะมิตรภาพ" (Friendly Islands) โดยชื่อนี้มาจากความประทับใจของเจมส์ คุก ต่อลักษณะนิสัยของชาวพื้นเมือง หลังจากนั้นอเลสซานโดร มาลาสปินาเข้ามาสำรวจตองกาในปี ค.ศ. 1793 ในปี ค.ศ. 1797 หลังจากการเข้ามาของ อเลสซานโดร มาลาสปินาได้มีมิชชันนารีเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ให้แก่ชาวพื้นเมือง โดยคณะแรกที่เข้ามานั้นคือ London Missionary Society แต่มิชชันนารีกลุ่มนี้ไม่ประสบความสำเร็จมากนักในการเผยแผ่ศาสนา อย่างไรก็ตามมิชชันนารีในคณะเวสเลยันที่เข้ามาในตองกาปี ค.ศ. 1822 ประสบความสำเร็จในการเผยแผ่ศาสนาและเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้เตาฟาอาเฮาได้รับชัยชนะในสงครามกลางเมือง
ในช่วงปลายของจักรวรรดิเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างผู้นำตามเกาะต่าง ๆ ระหว่างกลุ่มที่นับถือศาสนาพื้นเมืองและกลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์ สงครามกลางเมืองครั้งนี้มีสาเหตุมาจากการลอบปลงพระชนม์ตูอิกาโนกูโปลูพระเจ้าตูกูอาโฮ ในท้ายที่สุดตูอิกาโนกูโปลูเตาฟาอาเฮา ซึ่งเป็นกลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์ได้รับชัยชนะและรวมดินแดนที่แตกแยกเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกันในปี ค.ศ. 1845
หลังจากที่พระเจ้าจอร์จ ตูปูที่ 1 ได้รับชัยชนะจากสงครามกลางเมืองตองกาแล้ว พระองค์ได้ตั้งเมืองปาไงในฮาอะไป ซึ่งเป็นเขตอำนาจเดิมของพระองค์เป็นเมืองหลวงในปี ค.ศ. 1845 หลังจากนั้นได้ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่ลิฟูกา ในท้ายที่สุดได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองนูกูอะโลฟาซึ่งเป็นเมืองหลวงปัจจุบันในปี ค.ศ. 1851 ในรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จ ตูปูที่ 1 มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายวาวาอู ในปี ค.ศ. 1839 ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและลดบทบาทเจ้านายในท้องถิ่นต่าง ๆ โดยประมวลกฎหมายฉบับนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญของรัฐธรรมนูญตองกาที่ประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1875 การประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกก็เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ โดยเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1862 นอกจากนี้มีการประกาศความสัมพันธ์กับสหราชอาณาจักร เยอรมนีและสหรัฐอเมริกา ประเทศเหล่านี้ต่างรับรองความเป็นเอกราชของตองกา การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จ ตูปูที่ 1 นั้นเหล่ามิชชันนารีล้วนมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองการปกครองและในรัชสมัยนี้ศาสนาคริสต์ก็แผ่ได้มากขึ้นจากการอุปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์
ในรัชกาลของพระเจ้าจอร์จ ตูปูที่ 2 ได้ลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพ (Treaty of Friendship) กับสหราชอาณาจักร ในวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1900 ส่งผลให้ตองกาเป็นรัฐภายใต้การอารักขาของสหราชอาณาจักร โดยสหราชอาณาจักรจะควบคุมทางด้านการต่างประเทศ รวมไปถึงสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเท่านั้น ส่วนกิจการภายในอื่น ๆ รัฐบาลตองกายังคงมีสิทธิบริหาร อย่างไรก็ตามพบว่ารัฐบาลอังกฤษพยายามที่จะแทรกแซงกิจการภายในของตองกาอยู่เสมอ เหตุผลที่ต้องลงนามในสนธิสัญญานี้เนื่องจากรัฐบาลตองกาเกรงว่าชาวต่างชาติอาจรุกรานและยึดตองกาเป็นอาณานิคม ตองกาเริ่มได้อำนาจการปกครองส่วนใหญ่คืนใน ค.ศ. 1958 และได้เอกราชโดยสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1970
หลังจากตองกาพ้นจากการอารักขาของสหราชอาณาจักรแล้ว ตองกาได้ปกครองตนเองโดยสมบูรณ์ภายใต้การนำของสมเด็จพระราชาธิบดีเตาฟาอาเฮา ตูปูที่ 4 ในปี ค.ศ. 1992 มีการก่อตั้งกลุ่มนิยมประชาธิปไตยขึ้นในตองกา โดยกลุ่มนิยมประชาธิปไตยได้พยายามเรียกร้องให้มีตัวแทนของประชาชนในรัฐสภามากขึ้น ซึ่งมีเพียง 9 คนเท่านั้น ส่วนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมักมาจากขุนนางและชนชั้นสูงที่มีความสนิทสนมกับราชวงศ์ ความไม่พอใจในการปกครองมีมากขึ้นจากการที่รัฐบาลเชื้อพระวงศ์และขุนนางดำเนินการผิดพลาดหลายประการ ทั้งการลงทุนที่ผิดพลาดจนสูญเสียงบประมาณ 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การพิจารณาให้ตองกาเป็นสถานที่กำจัดกากนิวเคลียร์ การขายหนังสือเดินทางตองกาแก่ชาวต่างประเทศ การอนุญาตขึ้นทะเบียนเรือต่างประเทศ การถือสัญญาเช่าเครื่องบินโบอิง 757 ระยะยาวโดยไม่ได้ใช้งาน ซึ่งนำไปสู่การล้มละลายของสายการบินรอยัลตองกาแอร์ไลน์ รวมไปถึงการเพิ่มพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์และการจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน
จากความไม่พอใจในการบริหารงานของรัฐบาลจึงเกิดการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยทั่วกรุงนูกูอะโลฟาในปี ค.ศ. 2005 เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปการปกครองให้เป็นระบอบประชาธิปไตย การประท้วงในครั้งนี้นำไปสู่การลาออกของเจ้าชายอูลูกาลาลา ลาวากา อาตานายกรัฐมนตรี และ ดร. เฟเลติ เซเวเลขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ซึ่งถือได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีพลเรือนคนแรกของตองกา อย่างไรก็ตามการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายตูอิเปเลหะเกจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ทำให้กระบวนการปฏิรูปการปกครองล่าช้ายิ่งขึ้น ความล่าช้าในการปฏิรูปการปกครองก่อให้เกิดการจลาจลทั่วกรุงนูกูอะโลฟาในปี ค.ศ. 2006 ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและเศรษฐกิจ ในปี ค.ศ. 2008 สมเด็จพระราชาธิบดีจอร์จ ตูปูที่ 5 ทรงสละพระราชอำนาจของพระองค์ส่วนใหญ่และเริ่มการปฏิรูปการปกครอง โดยปี ค.ศ. 2010 เป็นปีแรกที่มีการเลือกตั้งทั่วไปที่สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน
ตองกามีรูปแบบรัฐเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน มีรัฐสภา พระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ มีพระราชอำนาจทางพิธีการ ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา และมีพระราชอำนาจอื่นตามรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล
รัฐธรรมนูญตองกาฉบับแรกใช้บังคับในวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1875 รัฐธรรมนูญตองกาประกอบไปด้วยเนื้อหา 3 ส่วน คือ สิทธิขั้นพื้นฐาน รูปแบบของรัฐบาล และที่ดิน มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายครั้ง การแก้ไขเพิ่มเติมครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2010 สาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้ คือ ยกเลิกสมาชิกรัฐสภาที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ผู้แทนราษฎรเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ของรัฐสภา การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของตองกาสามารถทำได้โดยผ่านการพิจารณาของรัฐสภา 3 วาระ หลังจากนั้นถวายให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน การสืบราชบัลลังก์ และที่ดินมรดกของชนชั้นขุนนาง
พระมหากษัตริย์มีสถานะเป็นประมุขแห่งรัฐ และฮาอูโอเอ โฟนูอา (ประมุขสูงสุดของหัวหน้าชนเผ่าพื้นเมืองของตองกา) พระมหากษัตริย์ตองกาสืบราชสมบัติผ่านทางสายพระโลหิต พระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบันคือสมเด็จพระราชาธิบดีอะโฮเออิตู อูนูอากีโอโตงา ตูกูอาโฮ ตูปูที่ 6 ส่วนมกุฎราชกุมารพระองค์ปัจจุบันคือ เจ้าชายเซียโอซิ มานูมาตาองโก อาลาอีวาฮามามา โอ อะโฮเออิตู คอนสแตนติน ตูกูอาโฮ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่สำคัญซึ่งพระองค์ใช้ได้เองนั้นได้แก่ การดำรงสถานะเป็นจอมทัพของประเทศ การเรียกประชุมรัฐสภา การยุบสภาผู้แทนราษฎร การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี (จากการเลือกของรัฐสภา) การแต่งตั้งประธานรัฐสภา (ตามคำแนะนำของรัฐสภา) การแต่งตั้งผู้ว่าการเขตการปกครองฮาอะไปและวาวาอู (ตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี) รวมถึงการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ
สภานิติบัญญัติตองกา (ตองกา: Fale Alea) เป็นสภาเดี่ยว ประกอบด้วยสมาชิก 26 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 17 คน และมาจากขุนนางเลือกกันเองอีก 9 คน หน้าที่ของสภานิติบัญญัติตองกาหรือฟาเลอาเลอาคือการตรากฎหมาย ร่างกฎหมายจะพิจารณากันทั้งสิ้น 3 วาระ หากผ่านการลงคะแนนทั้งสามวาระ จึงจะนำถวายพระมหากษัตริย์เพื่อลงพระปรมาภิไธย เมื่อผ่านทุกกระบวนการแล้วจึงประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่กำหนดมูลค่าการเก็บภาษีของประชาชน กำหนดงบประมาณ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และถอดถอนคณะองคมนตรี รัฐมนตรี ผู้ว่าการเขตการปกครอง (ฮาอะไปและวาวาอู) และผู้พิพากษา
สมาชิกสภานิติบัญญัติมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี การเลือกตั้งในตองกาจะแบ่งเขตการเลือกตั้งออกเป็น 17 เขตเลือกตั้งสำหรับตัวแทนของประชาชน และอีก 5 เขตเลือกตั้งสำหรับขุนนาง ในแต่ละเขตการปกครองมีเขตการเลือกตั้งดังนี้
อำนาจของฝ่ายบริหารในตองกาอยู่ที่นายกรัฐมนตรี พระมหากษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามคำแนะนำของรัฐสภา นายกรัฐมนตรีมีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถวายคำแนะนำแด่พระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากสมาชิกในรัฐสภาและสมาชิกนอกรัฐสภาได้ไม่เกิน 4 คน ปัจจุบันประเทศตองกามีกระทรวง 15 กระทรวง นายกรัฐมนตรีตองกามีหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล ประธานสภาผู้แทนราษฎร เสนอแนะการแต่งตั้งผู้ว่าการเขตต่อพระมหากษัตริย์ และบริหารราชการแผ่นดิน
ฝ่ายตุลาการในประเทศตองกาเป็นอิสระจากอำนาจอื่น ศาลในตองกามี 4 ประเภท คือ ศาลอุทธรณ์ (Court of Appeal) ศาลสูงสุด (Supreme Court) ศาลที่ดิน (Land Court) และศาลแขวง (Magistrates' Court) พระมหากษัตริย๋แต่งตั้งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์และศาลสูงสุดตามคำแนะนำของคณะองคมนตรี นอกจากนี้ ศาลสูงสุดมีอำนาจไต่สวนคดีที่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐมนตรีหรือข้าราชการ รวมถึงวินิจฉัยว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วย
พรรคการเมืองในประเทศตองกาพรรคแรกก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1994 กลุ่มนิยมประชาธิปไตยคือพรรคประชาชน (People's Party) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นขบวนการสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย (Human Rights and Democracy Movement - HRDM) พรรคการเมืองเข้าร่วมเลือกตั้งในตองกาเป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 1996 ในปี ค.ศ. 2005 สมาชิกพรรคบางส่วนของพรรค HRDM ได้ร่วมกันก่อตั้งพรรคประชาธิปไตยประชาชน หลังจากปี ค.ศ. 2005 เป็นต้นมา มีการก่อตั้งพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นอีก 3 พรรค คือ พรรคการสร้างชาติอย่างยั่งยืน (Paati Langafonua Tu'uloa) ที่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 2007พรรคแรงงานประชาธิปไตยตองกา (Tongan Democratic Labor Party) ซึ่งกลุ่มข้าราชการก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2010 และพรรคประชาธิปไตยแห่งหมู่เกาะมิตรภาพ (Democratic Party of the Friendly Islands) ซึ่งก่อตั้งในปี ค.ศ. 2010 ปัจจุบันตองกามีพรรคการเมืองรวมทั้งสิ้น 5 พรรค
จากการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 2010 พรรคการเมืองทุกพรรคได้ที่นั่งในรัฐสภารวมกัน 12 ที่นั่ง จากทั้งหมด 17 ที่นั่ง ที่เหลือเป็นผู้สมัครอิสระ
ประเทศตองกาแบ่งเขตการปกครองระดับบนสุดออกเป็น 5 เขตการปกครอง โดยแต่ละเขตการปกครองมีเมืองเอกดังต่อไปนี้
แต่ละเขตการปกครองมีการแบ่งเขตย่อยลงไปเป็นอำเภอและหมู่บ้านหรือเมือง โดยในปี ค.ศ. 2013 ประเทศตองกามีเขตการปกครองระดับอำเภอ 23 อำเภอ และมีหมู่บ้านหรือเมือง 167 หมู่บ้านหรือเมือง ในระดับเขตการปกครองนั้นมีเพียง 2 เขตการปกครองเท่านั้นที่มีผู้ว่าการเขตการปกครองคือฮาอะไปและวาวาอู ส่วนในระดับย่อยลงไปนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ประจำอำเภอ (District Officer) ดูแลการปกครอง การบริหารจัดการในระดับอำเภอและทำรายงานการปกครองต่อนายกรัฐมนตรีหรือผู้ว่าการเขตการปกครอง (ในกรณีของฮาอะไปและวาวาอู) ส่วนในระดับหมู่บ้านหรือเมืองนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ประจำเมือง (Town Officer) เป็นผู้ปกครองหลัก เจ้าหน้าที่ประจำอำเภอและเจ้าหน้าที่ประจำเมืองมาจากการเลือกตั้งโดยมีวาระคราวละ 3 ปี
ประเทศตองกามีรายงานการเกิดอาชญากรรมส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินเป็นหลัก โดยพบว่าในปี ค.ศ. 2007 เกิดอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน 1,400 ครั้งจากอาชญากรรมที่มีการรายงานทั้งหมด 2,316 ครั้ง ประเทศตองกายังคงโทษประหารชีวิตไว้อยู่ แต่องค์การนิรโทษกรรมสากลจัดให้ตองกายกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ การประหารชีวิตครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1982
ประเทศตองกาเน้นสร้างสัมพันธ์อันดีกับทุกประเทศ โดยให้ความร่วมมือในภารกิจระหว่างประเทศต่าง ๆ กับหลาย ๆ ประเทศ เช่น การส่งกองกำลังเข้าร่วมรบในอัฟกานิสถาน เป็นต้น สำหรับนโยบายการต่างประเทศในปัจจุบันของตองกาคือนโยบายมองตะวันออก (Look East Policy) (ถึงแม้ว่าทวีปเอเชียจะตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศตองกาก็ตาม) ซึ่งเป็นนโยบายที่เน้นความร่วมมือทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจกับทวีปเอเชีย ประเทศตองกายึดถือนโยบายจีนเดียว โดยตัดความสัมพันธ์ทางการทูตระดับเอกอัครราชทูตกับสาธารณรัฐจีนในปี ค.ศ. 1998 สำหรับประเทศอื่น ๆ นั้นตองกามีความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ส่วนสหราชอาณาจักรซึ่งประเทศตองกามีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานนั้นไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดเหมือนในอดีต เห็นได้จากกรณีการปิดสำนักงานข้าหลวงใหญ่ในกรุงนูกูอะโลฟาเมื่อปี ค.ศ. 2006
ประเทศตองกามีความขัดแย้งระหว่างประเทศครั้งสำคัญเมื่อครั้งที่ตองกาประกาศยึดครองแนวปะการังมิเนอร์วา (สาธารณรัฐมิเนอร์วา) โดยฟิจิไม่ยอมรับการประกาศยึดครองในครั้งนี้ ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศ อย่างไรก็ตามทั้ง 2 ประเทศยังคงเจรจาในเรื่องเกี่ยวกับแนวปะการังแห่งนี้อยู่
กองกำลังป้องกันตองกา (อังกฤษ: Tonga Defense Services) เป็นกองทัพของประเทศตองกา ปัจจุบันมี 2 เหล่าทัพหลักคือกองทัพบกและกองทัพเรือ สำหรับกองกำลังทางอากาศนั้นสังกัดกองทัพเรือ หน้าที่หลักของกองกำลังป้องกันตองกาคือปกป้องอำนาจอธิปไตยของประเทศ การช่วยเหลือหน่วยงานพลเรือนในกิจการต่าง ๆ และการสนองพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์เป็นครั้งคราว ประเทศตองกาไม่มีการเกณฑ์ทหาร ผู้ที่ประสงค์เข้ารับราชการทหารในตองกาต้องมีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป โดยได้รับคำยินยอมของผู้ปกครอง อย่างไรก็ตาม ในสภาวะสงคราม พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจเรียกระดมพล ส่วนความร่วมมือทางการทหาร ตองกามีข้อตกลงความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา ประเทศจีน สหราชอาณาจักร อินเดีย และนิวซีแลนด์ โดยเป็นความร่วมมือด้านการฝึกกำลังพลและโครงสร้างพื้นฐานของกองทัพเป็นหลัก
สำหรับปฏิบัติการทางทหารของประเทศตองกาเกิดขึ้นครั้งแรกในสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพนิวซีแลนด์ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการก่อตั้งกองกำลังป้องกันตองกาขึ้น จนกระทั่งสงครามยุติจึงประกาศยกเลิกหน่วยงานนี้ อย่างไรก็ตามกองกำลังป้องกันตองกาได้เริ่มดำเนินการอีกครั้งในปี ค.ศ. 1946 นับแต่นั้น กองกำลังป้องกันตองกามีโอกาสทำหน้าที่รักษาสันติภาพในหลายดินแดน ที่สำคัญคือการรักษาสันติภาพในบูแกงวิลล์ ประเทศปาปัวนิวกินี การรักษาสันติภาพในหมู่เกาะโซโลมอน การเข้าร่วมกองกำลังผสมนานาชาติเพื่อรักษาสันติภาพในอิรัก รวมไปถึงการร่วมรบในอัฟกานิสถาน ซึ่งตองกาส่งกองกำลังครึ่งหนึ่งของทั้งกองทัพเข้าร่วมรบในครั้งนี้
ประเทศตองกาตั้งอยู่ในภูมิภาคโพลินีเซีย เหนือเส้นทรอปิคออฟแคปริคอร์นเล็กน้อย เมืองหลวงของประเทศคือนูกูอะโลฟา ห่างจากออกแลนด์ เมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศนิวซีแลนด์ ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 1,770 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากกรุงซูวา เมืองหลวงของฟิจิ ประมาณ 690 กิโลเมตร ตองกามีพื้นที่ 747 ตารางกิโลเมตร โดยที่ 30 ตารางกิโลเมตรเป็นพื้นน้ำ ประเทศตองกาประกอบด้วยเกาะ 169 เกาะ แต่มี 36 เกาะเท่านั้นที่มีประชากรอยู่อาศัย ตองกาประกอบด้วย 3 กลุ่มเกาะหลัก คือ ตองกาตาปูซึ่งประชากรเกินครึ่งหนึ่งของประเทศอาศัยอยู่ วาวาอูซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือ และฮาอะไปซึ่งตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศ ภูมิอากาศของประเทศมีลักษณะแบบเขตร้อน ดินของตองกามีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก จุดสูงสุดของประเทศมีความสูง 1,033 เมตรตั้งอยู่บนเกาะเกา
หมู่เกาะตองกาเป็นหมู่เกาะที่ตั้งอยู่ในแผ่นเปลือกโลกแปซิฟิกและอยู่ใกล้แผ่นเปลือกโลกออสเตรเลีย ทางตะวันตกของหมู่เกาะมีร่องลึกตองกา หมู่เกาะตองกามีทั้งเกาะที่เกิดจากภูเขาไฟและเกาะที่เกิดจากปะการัง หมู่เกาะตองกากำเนิดขึ้นเมื่อใดนั้นไม่สามารถกำหนดเวลาได้ชัดเจน อย่างไรก็ตามมีการคาดการณ์ว่าหมู่เกาะตองกาถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 5 ล้านปีก่อนในสมัยไพลโอซีน ผู้เชี่ยวชาญบางคนคาดว่าเกาะแรกของหมู่เกาะตองกาอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายสมัยมีโอซีนแล้ว
เกาะที่สำคัญของตองกาหลายเกาะเกิดจากภูเขาไฟ เช่น อาตา ฮาอะไป เกาและโอโงนีอูอา เป็นต้น เกาะภูเขาไฟเหล่านี้เกิดจากแนวภูเขาไฟที่วางตัวในแนวตะวันออกเฉียงใต้-ตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะอาตา แนวภูเขาไฟดังกล่าวมีส่วนสำคัญทำให้ตองกามีเกาะใหม่เพิ่มขึ้นมา ทว่าเกาะที่เกิดขึ้นมานั้นมักจะจมลงทะเลในปีถัดไป ปัจจุบันมีเกาะเกิดจากแนวภูเขาไฟแห่งนี้เพียงเกาะเดียวที่ยังคงอยู่
เกาะในเขตการปกครองวาวาอูจะพบว่ายังพบภูเขาไฟที่มีพลังอยู่ ส่วนพื้นดินเกิดจากหินปูน รอบ ๆ เกาะนั้นมักมีปะการังล้อมรอบ ส่วนในเขตการปกครองฮาอะไปพบว่ายังมีภูเขาไฟที่มีพลังอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเกาะเกาและโตฟูอา ในขณะที่สภาพดินของเกาะคล้ายกับที่วาวาอูคือเป็นดินที่เกิดจากหินปูน ส่วนในเขตการปกครองตองกาตาปูและเออัวนั้นเป็นเกาะที่กำเนิดจากปะการัง ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบที่มีความสูงไม่เกิน 30 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และมีเถ้าจากภูเขาไฟปกคลุมบริเวณเกาะ ทำให้ดินในบริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์
ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการระเบิดของภูเขาไฟในบริเวณหมู่เกาะนี้หลายครั้ง ภูเขาไฟที่ใหญ่ที่สุดของตองกามีความสูง 515 เมตร มีความกว้าง 5 กิโลเมตร ตั้งอยู่บนเกาะโตฟูอา ซึ่งเกิดการระเบิดของภูเขาไฟแห่งนี้ครั้งล่าสุดในปี ค.ศ. 2013 ส่วนภูเขาไฟที่สูงที่สุดของประเทศนี้ตั้งอยู่บนเกาะเกา มีความสูง 1,030 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง
ประเทศตองกาตั้งอยู่ในเขตร้อน โดยได้รับอิทธิพลจากลมค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศตองกามี 2 ฤดูกาลคือฤดูฝนและฤดูแล้ง ฤดูฝนในประเทศตองกายังเป็นฤดูของพายุหมุนด้วย ซึ่งอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายนของทุกปี ส่วนฤดูแล้งอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคมของทุกปี เดือนมกราคม กุมภาพันธ์และมีนาคมเป็นเดือนที่มีปริมาณน้ำฝนมากที่สุด ซึ่งอาจมีปริมาณน้ำฝนต่อเดือนสูงได้ถึง 250 มิลลิเมตร
อุณหภูมิเฉลี่ยในประเทศตองกาจะอยู่ระหว่าง 23-26 องศาเซลเซียสตามแต่ละท้องถิ่น ในฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูที่อากาศร้อนมีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 25-26 องศาเซลเซียส ในขณะที่ฤดูแล้งซึ่งอากาศเย็นมีอุณหภูมิระหว่าง 21 - 24 องศาเซลเซียส จากสถิติที่มีการบันทึกพบว่าบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงสุดในประวัติศาสตร์ตองกาอยู่ที่บริเวณหมู่เกาะวาวาอูในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1979 โดยมีอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส ขณะที่บริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำสุดในประวัติศาสตร์ตองกาอยู่ที่ฟูอาอะโมตู โดยมีอุณหภูมิ 8.7 องศาเซลเซียส ซึ่งวัดในวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1994
ทรัพยากรดินในหมู่เกาะของประเทศตองกามีความอุดมสมบูรณ์สูงมาก ยกเว้นบริเวณที่มีภูเขาไฟเกิดใหม่ ดินส่วนใหญ่ในตองกาเกิดจากการทับถมของเถ้าภูเขาไฟและหินแอนดีไซต์บนหินปูนซึ่งเกิดจากปะการัง ดินในตองกาเป็นดินที่มีคุณสมบัติที่ดี เนื่องจากเป็นดินที่การระบายน้ำดีและมีความสามารถในการเก็บกักน้ำปานกลาง
ดินในเกาะตองกาตาปูเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงมาก เหมาะแก่การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ในขณะที่บริเวณชายฝั่งดินส่วนใหญ่เป็นดินเค็ม เพราะอยู่ติดทะเล ขณะที่ดินของเกาะเออัวมีความอุดมสมบูรณ์ ยกเว้นทางตอนใต้ของเกาะที่เป็นหินปะการัง ส่วนในฮาอะไป เกาะส่วนใหญ่เกิดจากการทับถมของปะการัง โดยในฮาอะไปกำลังเผชิญปัญหาการพังทลายของหน้าดิน ซึ่งทำให้ดินในฮาอะไปลดความอุดมสมบูรณ์
หมู่เกาะตองกามีทรัพยากรน้ำจืดที่ค่อนข้างจำกัด ชาวตองกานิยมเก็บน้ำจืดไว้ในถังคอนกรีตซึ่งมาจากการเก็บกักน้ำฝนและสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในชีวิตประจำวัน แหล่งน้ำหรือทะเลสาบสำคัญมักตั้งอยู่ในเกาะภูเขาไฟ โดยแหล่งน้ำที่สำคัญและมีขนาดใหญ่ของประเทศตั้งอยู่ในเกาะวาวาอู นีอูอาโฟโออู โนมูกาและนีอูอาโตปูตาปู
พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศตองกาปกคลุมไปด้วยป่าฝนเขตร้อน อย่างไรก็ตามจากการสนับสนุนเกษตรกรรมตามเกาะต่าง ๆ ทำให้พื้นที่ป่าลดลงไปมาก หญ้าและพืชขนาดเล็กหลายชนิดเข้าปกคลุมพื้นที่ป่าเดิม ขณะที่พื้นที่ชายฝั่งและบริเวณปากปล่องภูเขาไฟมักพบไม้ล้มลุกเป็นหลัก ประเทศตองกาเป็นประเทศแรกในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ที่มีการประกาศพื้นที่เป็นเขตสงวนของชาติ ปัจจุบันในหมู่เกาะตองกามีการประกาศพื้นที่ให้เป็นอุทยานแห่งชาติแล้ว 2 แห่ง (ในเขตการปกครองเออัวและวาวาอู เขตละ 1 แห่ง) และประกาศให้เป็นเขตสงวน 6 แห่ง
สำหรับพืชที่ค้นพบในประเทศตองกานั้น พบว่ามีพืชที่มีท่อน้ำเลี้ยง 770 สปีชีส์ ซึ่งรวมไปถึงเฟิร์นที่มี 70 สปีชีส์ (3 สปีชีส์เป็นสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่น) พืชเมล็ดเปลือย 3 ชนิด (Podocarpus pallidus เป็นพืชเมล็ดเปลือยที่พบเฉพาะถิ่น) และมีพืชดอก 698 สปีชีส์ ซึ่งมี 9 สปีชีส์ที่เป็นไม้ดอกท้องถิ่น เกาะต่าง ๆ ของประเทศตองกาต่างมีสปีชีส์ของพืชที่มีความหลากหลายแตกต่างกัน เช่น เกาะตองกาตาปูมีพืช 340 สปีชีส์ ในขณะที่วาวาอูมีพืช 7 สปีชีส์
แม้จะพบพืชหลากหลายสปีชีส์ในหมู่เกาะของประเทศตองกา แต่สัตว์ที่อาศัยอยู่กลับไม่มีความหลากหลายมากนัก พบว่ามีสัตว์เลื้อยคลาน 12 สปีชีส์โดยหนึ่งในนั้นเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น ค้างคาว 2 สปีชีส์ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียงชนิดเดียวที่เป็นสัตว์ท้องถิ่น ในบริเวณชายฝั่งทะเลพบสิ่งมีชีวิตประเภทเต่า มอลลัสกาและปลาหลากหลายชนิด นอกจากนี้ในบริเวณหมู่เกาะตองกายังพบนกเป็นจำนวนมาก ซึ่งมี 75 สปีชีส์ โดยมีนก 2 สปีชีส์เป็นนกท้องถิ่นคือ Pachycephala jacquinoti ซึ่งอาศัยอยู่ในวาวาอูและ Megapodius pritchardii ซึ่งอาศัยอยู่ในนีอูอาโฟโออู การเข้ามาอยู่อาศัยของมนุษย์ในดินแดนตองกาส่งผลให้นก 23 สปีชีส์สูญพันธุ์ไปจากตองกา
ประเทศตองกามีเศรษฐกิจขนาดเล็ก อันเนื่องมาจากทรัพยากรมีจำกัดและอยู่ห่างไกลจากแหล่งตลาดโลก ซึ่งเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจเดียวกับที่กลุ่มประเทศในทวีปโอเชียเนียประสบอยู่ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของตองกาขึ้นอยู่กับปัจจัยทางธรรมชาติเป็นสำคัญ เนื่องจากผลผลิตส่วนใหญ่ของประเทศที่ส่งออกเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและการประมง การที่ประเทศตองกาอยู่ห่างไกลจากตลาดโลกไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยที่ทำให้ค่าขนส่งสินค้าแพงเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศตองกาขาดปัจจัยการผลิตอีกด้วยสำนักข่าวกรองกลาง รายงานว่า ใน ค.ศ. 2013 ตองกามีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 1
ภาคเกษตรกรรมเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญมากของตองกา อย่างไรก็ตามในปัจจุบันส่วนแบ่งรายได้ของผลิตภัณฑ์ภาคการเกษตรในผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติลดลง โดยระหว่าง ค.ศ. 1994 - 1995 ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมีส่วนแบ่งในผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติร้อยละ 34 ขณะที่ช่วง ค.ศ. 2005 - 2006 ส่วนแบ่งดังกล่าวลดเหลือร้อยละ 25 เท่านั้น สาเหตุหลักเกิดจากการที่รัฐสนับสนุนภาคบริการ จนกลายเป็นภาคที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจท้องถิ่น ซึ่งรัฐบาลมองว่าจะช่วยสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจที่ดีให้แก่ประเทศและสามารถยืนหยัดอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ได้
ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่สำคัญของตองกาคือมะพร้าว ซึ่งรวมไปถึงต้นกล้ามะพร้าว นอกจากนี้ยังส่งออกกล้วย วานิลลา ฟักทอง โกโก้ กาแฟ ขิง พืชหัวชนิดต่าง ๆ และพริกไทย
ประเทศตองกามีเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 700,000 ตารางกิโลเมตร โดยรัฐบาลตองกาอนุญาตให้กองเรือต่างชาติที่ใบอนุญาตจับปลาได้รับการอนุมัติแล้วเข้ามาทำประมงในเขตดังกล่าวได้ ซึ่งการทำประมงในเขตดังกล่าว กองเรือส่วนใหญ่นิยมจับปลาทูน่าซึ่งมีปริมาณค่อนข้างมากในบริเวณนี้ อย่างไรก็ตามด้วยการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและอิทธิพลของเอลนิโญและลานีญาส่งผลให้ปริมาณการจับปลาลดลงจากในอดีต
ปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 เริ่มมีการจับล็อบสเตอร์เพื่อการค้ามากขึ้น โดยนิยมจับบริเวณทางตอนเหนือของฮาอะไปและทางใต้ของแนวปะการังมิเนอร์วา ซึ่งสามารถจับได้ถึง 36 ตันต่อปี อย่างไรก็ตามปริมาณของลอบสเตอร์ที่จับได้ในปัจจุบันลดลงเหลือ 12 ตันต่อปี นอกจากนี้ยังพบการจับหอยสองฝาเพื่อใช้บริโภคตามครัวเรือน รวมไปถึงขายเป็นของที่ระลึกแก่นักท่องเที่ยวด้วย ปัจจุบันรัฐบาลตองกาส่งเสริมให้ประชาชนเลี้ยงหอยนางรมเพื่อนำไข่มุกมาสร้างรายได้แก่ตน การริเริ่มเลี้ยงหอยนางรมในตองกาเกิดขึ้นในวาวาอู โดยพันธุ์ที่เลี้ยงในระยะแรกเป็นพันธุ์ที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่นในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970
ในช่วงหลังยุคอาณานิคมช่วงแรก ธุรกิจการท่องเที่ยวในตองกาซบเซาและไม่มีการพัฒนามากนัก อย่างไรก็ตามใน ค.ศ. 1966 รัฐบาลตองกาตัดสินใจสร้างโรงแรมแห่งแรกในประเทศคือโรงแรมอินเตอร์เนชันแนลเดทไลน์ขึ้น การสร้างโรงแรมอินเตอร์เนชันแนลเดทไลน์ในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยว ปัจจุบันการท่องเที่ยวถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจตองกาและเป็นภาคสำคัญที่ทำให้เงินตราต่างประเทศไหลเข้าประเทศ ใน ค.ศ. 2011 มีนักเดินทางและนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศตองกา 94,960 คน เพิ่มขึ้นจาก 66,639 คน ใน ค.ศ. 2004 นักท่องเที่ยวกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดมาจากประเทศนิวซีแลนด์และประเทศออสเตรเลีย จุดประสงค์หลักของการเดินทางเข้าประเทศตองกาคือการพักผ่อนในวันหยุดและการเยี่ยมญาติเป็นหลัก กิจกรรมการท่องเที่ยวในตองกามีอยู่หลายกิจกรรม ยกตัวอย่างเช่น การพายเรือคายัค การดำน้ำ การชมวาฬใต้ทะเล การตกปลา การดูนกและการเลือกซื้อหัตถกรรมพื้นเมือง เป็นต้น
ประเทศตองกาส่งออกสินค้าไปยังประเทศเกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกาและนิวซีแลนด์เป็นหลัก โดยผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้คิดเป็นร้อยละ 18.5, 17 และ 15.6 ตามลำดับ ประเทศอื่น เช่น ฟิจิ (ร้อยละ 10.2) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 9.5) ซามัว (ร้อยละ 8.6) อเมริกันซามัว (ร้อยละ 5.4) และออสเตรเลีย (ร้อยละ 5.1) สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ตองกาส่งออกนอกประเทศคือ สควอช ปลาทะเล วานิลลาและพืชหัว
สำหรับการนำเข้าสินค้า ประเทศตองกานำเข้าสินค้าเกินครึ่งหนึ่งจากประเทศฟิจิและประเทศนิวซีแลนด์ โดยคิดเป็นร้อยละ 35.7 และ 24.4 ตามลำดับ นอกจากนี้ตองกายังนำเข้าสินค้าจาก สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 10.5) และประเทศจีน (ร้อยละ 10.2) ส่วนที่เหลือเป็นการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น ๆ สินค้าที่ตองกานำเข้ามาในประเทศคือ อาหาร เครื่องจักร เชื้อเพลิงและเคมีภัณฑ์
สำมะโนตองกาในปี ค.ศ. 2011 ได้รายงานสภาพโครงสร้างพื้นฐานของตองกาในหลาย ๆ ด้าน โดยจากผลสำรวจพบว่ามีเพียง 567 ครัวเรือนจาก 18,033 ครัวเรือนทั่วประเทศที่เข้าถึงน้ำประปา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนบนเกาะตองกาตาปู การเข้าถึงไฟฟ้านั้นพบว่าครัวเรือนร้อยละ 88.51 มีไฟฟ้าใช้ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้กระแสไฟฟ้าที่จ่ายมาตามเสาไฟฟ้า นอกจากนี้การใช้น้ำมันและพลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าก็เป็นอีกหนึ่งแหล่งพลังงานที่นิยมใช้กัน โครงสร้างพื้นฐานที่ดีของประเทศส่วนใหญ่พัฒนาอยู่แต่บนเกาะตองกาตาปู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมืองนูกูอะโลฟา อันถือได้ว่าเป็นเขตเมืองแท้จริงเพียงแห่งเดียวของประเทศ
ถนนส่วนมากในประเทศตองกาสร้างโดยใช้เงินบริจาคจากรัฐบาลต่างประเทศ ประเทศตองกามีความยาวถนนรวมกัน 680 กิโลเมตร โดย 496 กิโลเมตรยังไม่ได้ลาดยาง เนื่องจากตองกาเป็นประเทศเกาะขนาดเล็กและการจัดการที่ดินยังไม่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นปัญหาในการพัฒนาระบบถนน ประชาชนนิยมใช้การขนส่งทางเรือในการเดินทางระหว่างเกาะ โดยท่าเรือที่สำคัญของประเทศอยู่ที่นูกูอะโลฟา ปาไงและเนอิอาฟู
ประเทศตองกามีท่าอากาศยาน 6 แห่ง โดยมีเพียง 1 แห่งเท่านั้นที่มีพื้นลาดยาง (ท่าอากาศยานนานาชาติฟูอาอะโมตู) สายการบินแห่งชาติของตองกาคือรอยัลตองกาแอร์ไลน์ โดยก่อตั้งในปี ค.ศ. 1985 ซึ่งต่อมาประสบภาวะล้มละลายและเลิกกิจการในปี ค.ศ. 2004 จากการบริหารกิจการที่ล้มเหลวของรัฐบาลในขณะนั้น หลังจากนั้นได้มีการจัดตั้งสายการบินเปเอา วาวาอูขึ้นเพื่อรองรับการเดินทางภายในประเทศ อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้เพิกถอนใบอนุญาตสายการบินนี้หลังจากเหตุการณ์เพลิงไหม้สำนักงานแห่งหนึ่งของสายการบิน สายการบินของต่างประเทศ ได้แก่ แอร์นิวซีแลนด์ เวอร์จินออสเตรเลีย และฟิจิแอร์เวย์ เป็นผู้ดำเนินการการเดินทางระหว่างประเทศในตองกา ส่วนสายการบินเรียลตองกาดำเนินการการเดินทางในประเทศ
ในประเทศตองกามีสื่อพิมพ์เผยแพร่รายสัปดาห์อยู่ 2 ฉบับ คือ นิตยสารมาตางีโตงาซึ่งเป็นของเอกชนและหนังสือพิมพ์ "Tonga Chronicle" ซึ่งเป็นของรัฐบาล โดยตีพิมพ์ในวันศุกร์ของทุกสัปดาห์เป็นภาษาตองกาและภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ยังมีหนังสือพิมพ์เอกชน "the Times of Tonga" ซึ่งตีพิมพ์ในเมืองออกแลนด์ นิวซีแลนด์ โดยรายงานข่าวจากหมู่เกาะตองกา 2 อาทิตย์ต่อครั้ง ประเทศตองกามีสถานีวิทยุ 4 สถานี ดังนี้ "Kool 90FM" (รัฐบาลเป็นเจ้าของ), "Tonga Radio "Magic" 89.1 FM", "Nuku'alofa Radio" และ "93FM" ซึ่งทั้งสามสถานีหลังเป็นของเอกชน สถานีโทรทัศน์มีผู้ดำเนินการ 2 รายคือรัฐบาลและดิจิทีวีซึ่งเป็นเอกชน
ในการติดต่อสื่อสารระหว่างเกาะนั้นปรากฏการใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต โดยพบว่ามีโทรศัพท์พื้นฐานใช้งาน 30,000 เครื่อง โทรศัพท์มือถือ 56,000 เครื่อง ขณะที่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 8,400 คน
ระบบการศึกษาแบบสมัยใหม่ในตองกาเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1826 โดยคณะมิชชันนารีเวสเลยัน หลังจากนั้นไม่นานมิชชันนารีกลุ่มอื่น ๆ ทั้งโรมันคาทอลิกและโปรเตสแตนท์ได้เข้ามาจัดการศึกษา จึงอาจกล่าวได้ว่ารากฐานทางการศึกษาของประเทศตองกามาจากกลุ่มมิชชันนารีเหล่านี้ ซึ่งมีการสอดแทรกหลักคำสอนของศาสนาคริสต์ในการจัดการเรียนการสอนอีกด้วยการศึกษาภาคบังคับของประเทศตองกากำหนดให้ประชาชนจบการศึกษาไม่ต่ำกว่าชั้นประถมศึกษา ซึ่งข้อกำหนดนี้บังคับใช้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1876 การจัดการศึกษาในประเทศตองกาอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะมิชชันนารีกลุ่มต่าง ๆ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1882 เมื่อรัฐบาลเข้าบริหารระบบการจัดการศึกษาเอง อย่างไรก็ตามคณะมิชชันนารีกลุ่มต่าง ๆ ได้รับอนุญาตให้เปิดโรงเรียนอีกครั้งในปี ค.ศ. 1906 ประเทศตองกาถือได้ว่ามีระบบการจัดการศึกษาดีเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศโอเชียเนียด้วยกัน เนื่องจากประชาชนชาวตองกาส่วนมากรู้หนังสือ โดยรายงานสำมะโนตองกา ค.ศ. 2011 พบว่าประชาชนชาวตองการู้หนังสือถึงร้อยละ 98.2 นอกจากนี้ร้อยละ 86 ของประชากรสามารถสื่อสารได้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาตองกา
ประเทศตองกาจัดการศึกษาภาคบังคับให้แก่เด็กอายุตั้งแต่ 6 ถึง 14 ปี แบบให้เปล่า ซึ่งต่างจากหลายประเทศในทวีปโอเชียเนีย ระบบการศึกษาตองกาแบ่งระดับชั้นออกเป็นประถมศึกษา 6 ชั้น มัธยมศึกษา 7 ชั้นและระดับอุดมศึกษา โดยในระดับอุดมศึกษาจะมีทุนให้นักศึกษาชาวตองกาเรียนต่อต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และญี่ปุ่น ซึ่งมีโครงการให้ความช่วยเหลือตองกาในด้านการศึกษา
การสาธารณสุขของประเทศตองกาอยู่ในระดับที่ดีเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศในโอเชียเนียด้วยกัน อย่างไรก็ตามประชาชนในตองกายังนิยมการรักษาพยาบาลแบบดั้งเดิมอยู่ ประชาชนจะเข้ารับการรักษาตามแผนปัจจุบันก็เมื่อเห็นว่าเป็นวิธีที่เป็นประโยชน์กับการรักษาพยาบาลของตน ประชาชนชาวตองกาได้รับสวัสดิการจากรัฐในการรักษาพยาบาลแบบให้เปล่า แต่ต้องชำระค่ายาด้วยตนเอง การสาธารณสุขภาคเอกชนนั้นยังอยู่ในวงแคบและเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ผู้ดำเนินกิจการส่วนใหญ่เป็นแพทย์แผนโบราณและแพทย์แผนปัจจุบันที่ดำเนินกิจการหลังเสร็จสิ้นการทำงาน นอกจากนี้ในประเทศตองกายังมีระบบการประกันสุขภาพ แต่ระบบการประกันสุขภาพนี้ครอบคลุมเฉพาะข้าราชการ
รัฐบาลตองกาแบ่งเกาะต่าง ๆ ของประเทศออกเป็น 4 ส่วนในการบริหารงานด้านสาธารณสุข ตองกามีโรงพยาบาล 4 แห่ง โดยโรงพยาบาลไวโอลาในกรุงนูกูอะโลฟา เมืองหลวงของประเทศ เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ (199 เตียง) โดยเป็นโรงพยาบาลที่รองรับการรักษาพยาบาลขั้นสูง อย่างไรก็ตามการรักษาพยาบาลที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีระดับสูงมากนิยมส่งไปรักษาต่อในประเทศนิวซีแลนด์โดย Medical Transfer Board เป็นผู้อนุมัติ สำหรับโรงพยาบาลอีก 3 แห่งตั้งอยู่ที่เออัว ฮาอะไปและวาวาอู ส่วนในนีอูอาสไม่มีโรงพยาบาล แต่มีศูนย์การแพทย์ของรัฐบาลรองรับการรักษาพยาบาลในบริเวณนี้ ใน ค.ศ. 2010 ประเทศตองกามีแพทย์ 58 คน พยาบาล 379 คนและทันตแพทย์ 10 คน
จากสำมะโนครั้งล่าสุดในปี ค.ศ. 2011 ตองกามีประชากร 103,036 คน มีความหนาแน่นของประชากรอยู่ที่ราว 139 คนต่อตารางกิโลเมตร ประชากรของตองกากระจุกตัวอยู่ในเขตการปกครองตองกาตาปู โดยมีประชากรอาศัยอยู่ร้อยละ 73 ของประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่เขตการปกครองวาวาอู ฮาอะไป เออัวและนีอูอาสมีประชากรอยู่อาศัยร้อยละ 15, 7, 5 และ 1 ตามลำดับ ประชากรตองกาบางส่วนเดินทางออกนอกประเทศเพื่อทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในนิวซีแลนด์ ออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา ประชากรตองกาในประเทศส่วนมากเป็นชาวตองกา โดยมีสัดส่วนประชากรร้อยละ 96.5 ที่เหลือเป็นลูกครึ่งชาวตองกา ชาวยุโรป ชาวฟิจิ ชาวฟิจิอินเดีย ชาวจีนและอื่น ๆ ประชากรที่มีเชื้อสายอื่นส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในนูกูอะโลฟา ขณะที่เขตการปกครองโอโงนีอูอามีประชากรเชื้อสายอื่นอาศัยอยู่น้อยมาก คือ 12 คนจาก 1,282 คน
ประชากรตองกามีอายุคาดหมายเฉลี่ยประมาณ 75.60 ปี นับมีประชากรอายุยืนยาวในระดับปานกลาง คิดเป็นอันดับที่ 90 ของโลก มีอัตราการเกิดที่ 24.12 คนต่อประชากรหนึ่งพันคน มีอัตราการตาย 4.87 คนต่อประชากรหนึ่งพันคน และมีอัตราการเพิ่มประชากรอยู่ที่ร้อยละ 0.14
ประชากรตองกาใช้ภาษาตองกาเป็นภาษาหลักประจำชาติ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับภาษานีอูเออย่างมาก ประชากรของตองกาทางตอนเหนือจะพูดภาษาตองกาต่างสำเนียงกับประชากรทางตอนใต้ นอกจากนี้ประชากรตองกาส่วนใหญ่สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ทั้งนี้เนื่องจากเอกสารราชการส่วนใหญ่ตีพิมพ์เป็นภาษาตองกาและภาษาอังกฤษ
ประชากรตองกากว่าร้อยละ 90 มีน้ำหนักเกินกว่าค่ามาตรฐานตามการคำนวณดัชนีมวลกาย โดยประชากรร้อยละ 60 ของประเทศเป็นโรคอ้วน เมื่อพิจารณาเฉพาะประชากรผู้หญิง พบว่าประชากรหญิงชาวตองกาช่วงอายุระหว่าง 15 - 85 ปีเป็นโรคอ้วนถึงร้อยละ 70 ประเทศตองกาและประเทศนาอูรูมีประชากรน้ำหนักเกินและโรคอ้วนมากที่สุดในโลก
ประชากรชาวตองกาส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ โดยมีประชากรชาวตองกานับถือร้อยละ 64.9 ในนิกายโปรเตสแตนต์นั้นส่วนใหญ่แล้วนับถือ Free Wesleyan Church รองลงมาคือ Free Church of Tonga นิกายอื่นในศาสนาคริสต์ที่มีการนับถือรองลงมาคือมอร์มอน ร้อยละ 16.8 โรมันคาทอลิก ร้อยละ 15.6 ศาสนาอื่น ๆ ร้อยละ 1.1 และพบว่ามีประชากรร้อยละ 0.03 ที่ไม่นับถือศาสนา
สังคมตองกามีการแบ่งชนชั้นตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการแบ่งชนชั้นในสังคมตองกาเริ่มลดลงหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปัจจุบัน ในสังคมตองกาแบ่งผู้คนออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มเชื้อพระวงศ์และชนชั้นสูงซึ่งเป็นชนชั้นนำของสังคม กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มของนักบวชและชนชั้นนำอื่น ๆ ส่วนกลุ่มที่สามเป็นกลุ่มสามัญชน สถานภาพของบุคลในตองกาตามโครงสร้างทางสังคมและครอบครัวนั้นขึ้นอยู่กับสถานะและอำนาจของบุคคลนั้น เพศและอายุมีส่วนในการจัดโครงสร้างชนชั้นด้วย โดยทั่วไปเพศหญิงมีสถานภาพสูงกว่าผู้ชาย อย่างไรก็ตาม ชายเป็นเจ้าของที่ดินและสามารถส่งต่อบรรดาศักดิ์ของตนแก่บุตรหลานที่เป็นชายได้
ข้อมูลเกี่ยวกับดนตรีและเครื่องดนตรีพื้นเมืองของตองกาช่วงก่อนมีการติดต่อกับชาวตะวันตกนั้นมีอยู่น้อยมาก อย่างไรก็ตามกัปตันเจมส์ คุกและวิลเลียม มาริเนอร์ได้บันทึกเกี่ยวกับดนตรีและเพลงของตองกาไว้ เครื่องดนตรีตองกาส่วนใหญ่เป็นประเภทเครื่องกระทบ เครื่องดนตรีในกลุ่มเครื่องกระทบที่สำคัญของตองกา เช่น กลองนาฟาซึ่งทำจากไม้ ตาฟูอาซึ่งทำจากไม้ไผ่และอูเตเตซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพิณ เป็นต้น นอกจากกลุ่มนี้แล้ว เครื่องดนตรีพื้นเมืองของตองกายังมีทั้งกลุ่มเครื่องสายและกลุ่มเครื่องลม อย่างไรก็ตาม เครื่องดนตรีในกลุ่มเครื่องหนังนั้นเพิ่งเข้ามาแพร่หลายในตองกาเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยนำเข้าจากซามัว พร้อมกับการเต้นมาอูลูอูลู ปัจจุบันดนตรีและบทเพลงของตองกาได้รับอิทธิพลจากดนตรีของยุโรปและแคริบเบียน โดยนำดนตรีที่ได้รับอิทธิพลจากภูมิภาคอื่นเหล่านี้มาใช้ร่วมกับดนตรีพื้นเมืองและบทเพลงพื้นเมือง
การเต้นรำของตองกาได้รับการอนุรักษ์และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน การเต้นรำที่ขึ้นชื่อที่สุดของตองกาในปัจจุบันคือการเต้นเมเอตูอูปากี ซึ่งเป็นการเต้นรำที่ใช้ผู้ชายแสดงเท่านั้น โดยใช้เครื่องดนตรีประกอบการแสดง 3 ชิ้น คือ กลอง อูเตเตและ Ratchet โดยมีผู้ชายและผู้หญิงที่นั่งอยู่ด้านหน้าผู้เต้นเป็นผู้ร้องสนับสนุน ในอดีตการเต้นเมเอตูอูปากีจะเต้นในโอกาสการเฉลิมฉลองระดับชาติเท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีการจัดแสดงเมเอตูอูปากีตามหมู่บ้านต่าง ๆ บ่อยครั้ง เต้นรำอีกแบบหนึ่งซึ่งเรียกว่าโอตูฮากา ที่ใช้นักแสดงทั้งชายและหญิง การแสดงประเภทนี้เป็นการแสดงที่ใช้มือประกอบการแสดงบ่อยมาก เครื่องดนตรีที่นิยมใช้ประกอบการแสดงคือเครื่องดนตรีตะวันตกผสมผสานกับเครื่องดนตรีพื้นเมือง โดยเครื่องดนตรีตะวันตกที่นำมาใช้คือกีตาร์ ในขณะที่ตาฟูอาเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองที่ใช้ประกอบการแสดง
การเต้นรำอีกประเภทหนึ่งของตองกาที่มีชื่อเสียงมากและได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในปี ค.ศ. 2013 คือลากาลากา โดยเต้นรำประเภทนี้ถือได้ว่าเป็นนาฏศิลป์ประจำชาติของประเทศตองกา การเต้นรำลากาลากาเป็นการเต้นรำที่ใช้ทั้งการเต้น การพูด การใช้เสียงและเครื่องดนตรี การเต้นลากาลากาจะใช้ผู้แสดงประมาณ 100 คน ผสมผสานกันทั้งชายและหญิง ชายจะแสดงท่าทางที่มีพลัง ขณะที่หญิงจะแสดงท่าทางที่สวยงาม
ชาวตองกาสมัยก่อนนิยมรับประทานผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเป็นอาหารหลัก อันได้แก่ มันเทศ กล้วย มะพร้าวและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่น ๆ ผลิตภัณฑ์จากทะเลก็สำคัญเนื่องจากสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น ชาวตองกาสมัยโบราณนิยมบริโภคปลาและสัตว์จำพวกหอย โดยที่ปลาต้องผ่านกรรมวิธีการอบความร้อนก่อน ขณะที่สัตว์จำพวกหอยชาวตองกาสมัยโบราณนิยมบริโภคแบบดิบ นิยมบริโภคน้ำกะทิเป็นเครื่องดื่ม นอกจากนี้ยังพบหลักฐานการเลี้ยงสุกรในครัวเรือนชาวตองกาสมัยโบราณอีกด้วย
หลังชาวยุโรปเข้ามา ชาวยุโรปได้นำพืชต่างถิ่นเข้ามาในตองกาส่งผลให้อาหารและเครื่องดื่มของตองกาในยุคหลังได้รับอิทธิพลมาจากพืชเหล่านั้น โดยพืชที่ชาวยุโรปนำเข้ามาในตองกาคือหัวหอม กะหล่ำปลี แครอท มะเขือเทศ ส้ม มะนาว ยัคคา รวมไปถึงแตงโม แตงโมกลายเป็นหนึ่งในพืชที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศตองกา เนื่องจากแตงโมเป็นวัตถุดิบสำคัญทำเครื่องดื่มของตองกาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอย่างหนึ่งคือโอไต ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่มีแตงโมและมะพร้าวเป็นส่วนประกอบ บางครั้งมีการนำมะม่วงหรือสับปะรดเป็นวัตถุดิบด้วย ชาวตองกานอกจากจะนำพืชที่ชาวยุโรปนำเข้ามาทำเป็นเครื่องดื่มแล้ว ยังนำพืชนั้นมาปรุงเป็นอาหารพื้นเมืองด้วย ยกตัวอย่างเช่น ลูปูลู ซึ่งนำมะเขือเทศและหัวหอมมาปรุงพืชพื้นเมืองตองกาและเนื้อจนได้เป็นอาหารที่ได้รับความนิยมในตองกาอย่างหนึ่ง
นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ประเทศตองกายังมีเครื่องดื่มยอดนิยมอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า คาวา โดยคาวานั้นทำมาจากต้นคาวา นิยมใช้ในพิธีการรวมทั้งพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ชาวตองกานิยมนำคาวามาใช้รักษาโรคและบรรเทาอาการหลากหลาย ซึ่งคาวามีสรรพคุณในการรักษาอาการปวดข้อ วัณโรค หนองในและอาการไข้
กีฬาประจำชาติและได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศตองกา คือ รักบี้ ประเทศตองกาเข้าร่วมการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987 ซึ่งเป็นการจัดชิงแชมป์โลกครั้งแรก การแข่งขันที่ตองกาประสบความสำเร็จมากที่สุดคือการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกในปี ค.ศ. 2007 และ ค.ศ. 2011 ซึ่งสามารถจบในอันดับที่ดีพอที่จะเข้าแข่งขันในครั้งต่อไปโดยอัตโนมัติ
ด้านกีฬาฟุตบอล ประเทศตองกาเป็นสมาชิกของฟีฟ่าและโอเอฟซีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994ฟุตบอลทีมชาติตองกาเข้าแข่งขันระดับนานาชาติครั้งแรกในเซาธ์แปซิฟิกเกมส์ โดยแข่งขั้นในครั้งแรกนั้นพบกับฟุตบอลทีมชาติตาฮีติ ซึ่งฟุตบอลทีมชาติตองกาแพ้ 8–0 ผลการแข่งขันที่แย่ที่สุดของฟุตบอลทีมชาติตองกาคือการแพ้ต่อฟุตบอลทีมชาติออสเตรเลีย 22–0 ในปี ค.ศ. 2001 ส่วนผลการแข่งขันที่ดีที่สุดของฟุตบอลทีมชาติตองกาคือการชนะฟุตบอลทีมชาติไมโครนีเซีย 7 –0 ในปี ค.ศ. 2003
คณะกรรมการโอลิมปิกของประเทศตองกานั้นก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1963 และได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากลในปี ค.ศ. 1984 ประเทศตองกาเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งแรกในปี ค.ศ. 1984 ประเทศตองกาเคยได้รับ 1 เหรียญรางวัลจากการแข่งขันโอลิมปิกในปี ค.ศ. 1996 ที่ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา โดยในครั้งนั้น ปาเออา วอฟแฟรม นักกีฬามวยสากลสมัครเล่น ได้เหรียญเงิน ส่วนการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวนั้น ตองกาจะเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว 2014 ที่เมืองโซชิ ประเทศรัสเซีย เป็นครั้งแรก
ประเทศตองกาประกาศให้มีวันหยุดราชการ 10 วัน โดยมีวันหยุดราชการที่มีความเกี่ยวข้องกับประเทศ 6 วันและมีวันหยุดราชการที่เป็นสากลอีก 4 วัน เช่น วันอีสเตอร์และวันคริสต์มาส