ราชสภาเยอรมัน (อังกฤษ: Reichstag) คือรัฐสภาของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และต่อมาสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือ และ ของเยอรมนีจนกระทั่งถึง ค.ศ. 1945 ในปัจจุบันรัฐสภาของเยอรมนีเรียกว่า “Bundestag” (รัฐสภาแห่งเยอรมนี) แต่ตึกที่เป็นที่ประชุมรัฐสภายังคงเรียกว่า “Reichstag”
คำว่า “Reichstag” เป็นคำสมาสของคำว่า “Reich” ที่แปลว่า “จักรวรรดิ” และ “Tag” ที่แปลว่า “ที่ประชุม” (ไม่ใช่ “วัน” แต่คำที่มาจากคำกิริยา “tagen” ที่แปลว่า “มาชุมนุม”) ในปัจจุบันสภาปกครองระดับต่างๆ ก็ยังใช้คำว่า “-tag” ต่อท้ายเช่น “Bundestag” ที่หมายถึงรัฐสภาของรัฐบาลกลาง หรือ “Landtag” ที่หมายถึงสภาระดับท้องถิ่น
ระหว่างสมัยจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่ดำรงอยู่จนถึง ค.ศ. 1806 ราชสภาไม่ใช่รัฐสภาเช่นที่ปฏิบัติกันในปัจจุบัน แต่เป็นการชุมนุมของราชรัฐของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่ขึ้นตรงต่อพระมหาจักรพรรดิ บทบาทและหน้าที่ของราชสภาก็เปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของจักรวรรดิ ที่รัฐและดินแดนต่างๆ ในจักรวรรดิมีอำนาจมากขึ้นทุกขณะ ในระยะแรกการประชุมของราชสภาก็ไม่มีการกำหนดสถานที่หรือเวลากันอย่างเป็นที่แน่นอน ที่เริ่มด้วยการประชุมของดยุกของดินแดนของชนเจอร์มานิคกลุ่มต่างๆ ที่รวมตัวกันเป็นราชอาณาจักรแฟรงก์เมื่อมีการตัดสินใจอันสำคัญที่จะต้องการความเห็นของผู้เข้าร่วมประชุม และอาจจะมีพื้นฐานมาจากกฎบัตรเจอร์มานิคเดิมที่สมาชิกแต่ละคนต้องพึ่งการสนับสนุนของผู้นำของกลุ่ม เช่นราชสภาแห่งอาเคินในรัชสมัยของชาร์เลอมาญก็ได้วางกฎหมายสำหรับแซ็กซอนและชนกลุ่มอื่นๆ ราชสภาของปี ค.ศ. 919 ในฟริทซลาร์เลือกกษัตริย์องค์แรกของชาวเยอรมันผู้เป็นแซ็กซอน--เฮนรี เดอะ ฟาวเลอร์ แก้ความขัดแย้งระหว่างแฟรงค์และแซ็กซอนที่มีมานาน และเป็นการวางรากฐานของการก่อตั้งจักรวรรดิเยอรมันต่อมา ในปี ค.ศ. 1158 การประชุมราชสภาแห่งรอนคาเกลีย (Diet of Roncaglia) อนุมัติกฎหมายสี่ฉบับที่ไม่ได้บันทึกเป็นตัวอักษรอย่างเป็นทางการ แต่มีผลในการเปลี่ยนแปลงอันสำคัญของราชธรรมนูญของจักรวรรดิ และเป็นจุดเริ่มของการลดอำนาจของศูนย์กลาง ไปเป็นอำนาจที่อยู่ในมือของดยุกท้องถิ่น ในปี ค.ศ. 1356 พระราชบัญญัติทองที่ออกโดยจักรพรรดิคาร์ลที่ 4 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ก็เป็นการวางรากฐานอย่างเป็นทางการของปรัชญา “การปครองโดยท้องถิ่น” (เยอรมัน: Landesherrschaft) โดยดยุกในดินแดนในปกครอง และจำกัดจำนวนเจ้านครรัฐผู้คัดเลือกเป็นเจ็ดคนที่รวมทั้งดยุกแห่งแซ็กโซนี, มาร์เกรฟแห่งบรันเดนบูร์ก, พระมหากษัตริย์โบฮีเมีย, ผู้คัดเลือกแห่งพาลาทิเนต และอาร์ชบิชอปแห่งไมนซ์ อาร์ชบิชอปแห่งเทรียร์ และอาร์ชบิชอปแห่งโคโลญ จากนั้นเป็นต้นมาสมเด็จพระสันตะปาปาก็ไม่มีส่วนในกระบวนการการเลือกตั้งจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
ราชสภามีได้ก่อตั้งขึ้นเป็นสถาบันอย่างเป็นทางการมาจนกระทั่งปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 ก่อนหน้านั้นดยุกและเจ้าชายก็จะมาประชุมกันในราชสำนักของพระจักรพรรดิอย่างไม่เป็นทางการในบางโอกาสที่ไม่สม่ำเสมอ ที่มักจะเรียกว่า “Hoftage” (การประชุมในราชสำนัก) เมื่อมาถึงต้นปี ค.ศ. 1489 การประชุมเช่นที่ว่าจึงได้มาเรียกกันว่า “Reichstag” (การประชุมราชสภา) และแบ่งออกไปอย่างเป็นทางการออกเป็นสภา (collegia) ในระยะแรกราชสภาก็แบ่งเป็นสองสภา สภาแรกคือสภา “เจ้านครรัฐผู้คัดเลือก” และอีกสภาหนึ่งประกอบด้วยดยุกและเจ้าชายอื่นๆ ต่อมาราชนครรัฐอิสระต่างๆที่ได้รับอิมพีเรียลอิมมีเดียซีก็สามารถรวมตัวกันเป็นสภาที่สาม
ในสมัยประวัติศาตร์ของราชสภาก็ได้มีการพยายามที่จะปฏิรูปหลายครั้งในการพยายามทำให้มีความแข็งแกร่งขึ้น เช่นในปี ค.ศ. 1495 แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าใดนัก และตามความเป็นจริงแล้วก็ยิ่งทำให้ราชสภาอ่อนแอลงเร็วขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมาถึงปี ค.ศ. 1648 เมื่อสนธิสัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลียบังคับให้พระมหาจักรพรรดิยอมรับการอนุมัติทุกอย่างจากราชสภา ซึ่งก็เท่ากับเป็นการลิดรอนอำนาจที่เหลือของจักรพรรดิ ตั้งแต่บัดนั้นจนถึงปี ค.ศ. 1806 จักรวรรดิก็เป็นเพียงกลุ่มรัฐที่ต่างก็มีอำนาจในการปกครองตนเอง
การประชุมราชสภาครั้งสำคัญที่สุดก็เห็นจะเป็นการประชุมราชสภาที่เวิร์มส์ในปี ค.ศ. 1495 การปฏิรูปจักรวรรดิ (Imperial Reform), การประชุมในปี ค.ศ. 1521 ที่มาร์ติน ลูเทอร์ถูกแบนตามพระราชกฤษฎีกาแห่งเวิร์มส์), การประชุมในปี ค.ศ. 1529 ที่ชไปเออร์ และอีกหลายครั้งที่เนิร์นแบร์ก
จนเมื่อมีการเสนอการประชุมถาวรของราชสภา (เยอรมัน: Immerw?hrender Reichstag) ในปี ค.ศ. 1663 เท่านั้นที่ราชสภาเริ่มมีการประชุมอย่างเป็นทางการในที่ประชุมถาวรที่เรเกนส์บูร์ก
หลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในปี ค.ศ. 1806 คำว่า “Reichstag” ก็นำมาใช้สำหรับรัฐสภาของปี ค.ศ. 1849 ที่มีการร่างธรรมนูญฟรังเฟิร์ตที่มิได้นำมาบังคับใช้ และต่อมาสำหรับรัฐสภาของสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือระหว่าง ค.ศ. 1867 ถึง ค.ศ. 1871 และ ในที่สุดก็รัฐสภาของจักรวรรดิเยอรมัน ในปี ค.ศ. 1871 ในสองกรณีหลังสมาชิกของราชสภาเป็นผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจากชายผู้ที่มีอายุเกิน 25 ปี ซึ่งทำให้เป็นราชสภาที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดในยุโรปขณะนั้น
ในปี ค.ศ. 1919 ราชสภาของสาธารณรัฐไวมาร์มีนายกรัฐมนตรีผู้ได้รับเลือกโดยตรงจากประชาชนเป็นประมุข แต่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1930 รัฐสภาก็ใช้อำนาจทางอ้อมที่มอบให้แก่ประธานาธิบดีแห่งเยอรมนีภายใต้มาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญว่าด้วยการมอบอำนาจฉุกเฉิน หลังจากอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ได้รับตำแหน่งเป็น “นายกรัฐมนตรี” (Reichskanzler) เมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1933 หลังจากนั้นรัฐสภาก็สิ้นอำนาจ รัฐสภาของอาณาจักรที่สามประชุมกันเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1942