ราชวงศ์ชิง (พ.ศ. 2187 - 2455)(ภาษาแมนจู: daicing gurun; ภาษาจีน:?? ; พินอิน: q?ng ch?o ชิงเฉา ; ) หรือบางครั้งเรียกว่า ราชวงศ์แมนจู ปกครองแผ่นดินจีนต่อจากราชวงศ์หมิง และถือเป็นราชวงศ์สุดท้ายของประเทศจีน
ราชวงศ์ชิงไม่ได้ก่อตั้งโดยชาวฮั่นซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่ของประเทศจีน แต่เป็นชาวแมนจูซึ่งอาศัยอยู่ในเขตแมนจูเรีย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบัน ในสมัยนั้น ชาวแมนจูเพียงเป็นกลุ่มชนเร่ร่อนทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งยังไม่มีคนรู้จักมากนั้น ในช่วงที่ราชวงศ์หมิงเกิดจลาจลและการเมืองไร้เสถียรภาพ ชาวแมนจูถือโอกาสรวบรวมกำลังพล โดยผู้นำตระกูลอ้ายซินเจว๋หลัว และเข้าบุกยึดกรุงปักกิ่งซึ่งเป็นราชธานีของราชวงศ์หมิง ได้ใน พ.ศ. 2187 และสถาปนาอาณาจักรต้าชิง (ภาษาจีน: ????, พินอิน: d?q?ngd?gu?) ราชวงศ์ชิงครองแผ่นดินจีนจนถึงปี พ.ศ. 2454 เกิดการปฏิวัติซินไฮ่ ซึ่งเป็นการปฏิวัติเป็นสาธารณรัฐโดยซุน ยัตเซ็น ราชวงศ์ชิงถูกยึดอำนาจในปีนั้น และใน พ.ศ. 2455 ผู่อี๋ จักรพรรดิองค์สุดท้ายถูกบังคับให้สละราชสมบัติ ถือเป็นจุดอวสานของราชวงศ์ชิง และการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของจีน
รัฐแมนจูสถาปนาโดย นู่เอ๋อร์ฮาชื่อ ในต้นพุทธศตวรรษที่ 22 โดยเริ่มแรก นู่เอ๋อร์ฮาชื่อเป็นขุนนางของราชวงศ์หมิง ครองที่ดินทางตะวันออกเฉียงเหนือ หรือมณฑลแมนจูเรียในปัจจุบัน นู่เอ๋อร์ฮาชื่อตั้งตนเป็น จักรพรรดิไท่จู่ และตั้งรัฐแมนจูขึ้นใน พ.ศ. 2152 พระองค์เร่งสร้างเศรษฐกิจ แรงงาน และเทคโนโลยีของรัฐ โดยจับชาวจีนที่อาศัยในแมนจูเรียมาเป็นทาส พ.ศ. 2168 จักรพรรดิไท่จู่ สถาปนาเมืองเสิ่นหยาง (??/?? Sh?ny?ng) แต่ในปีต่อมา พระองค์ทรงได้รับบาดเจ็บจากการรบกับแม่ทัพหมิง และสวรรคตในปีเดียวกัน ความสำเร็จที่สำคัญสิ่งหนึ่งของพระองค์คือการตั้งระบบกองธง ซึ่งเป็นระบบในการแบ่งสายการปกครองออกเป็นส่วนๆ มีประโยชน์ทั้งทางด้านการปกครองและการทหาร โดยแรกเริ่มนั้นมี 8 กองธง
ผู้สืบบัลลังก์จากจักรพรรดิไท่จู่ คือ หวงไท่จี๋ หรือจักรพรรดิไท่จง พระองค์ได้ทรงตั้งกองธงแรกที่เป็นชาวฮั่นขึ้น และได้มีการนำระบบธรรมเนียมการปกครองแบบราชวงศ์หมิงมาปรับใช้บางส่วน แต่ก็ยังให้สิทธิพิเศษกับหน่วยปกครองของแมนจูเองโดยระบบโควตา เมื่อลิงตันข่าน มหาข่านองค์สุดท้ายของมองโกลสิ้นพระชนม์ลงระหว่างเดินทางไปทิเบตในพ.ศ. 2177 บุตรของเขานาม เอเจยข่าน ได้สวามิภักดิ์ต่อกองทัพแมนจูและมอบตราประจำพระองค์ของอดีตจักรพรรดิหยวนให้จักรพรรดิไท่จง ใน พ.ศ. 2179 จักรพรรดิไท่จงเปลี่ยนชื่อรัฐแมนจูเป็น อาณาจักรต้าชิง (แปลว่า บริสุทธิ์) โดยหมายที่จะขยายอาณาเขตไปนอกแมนจูเรีย พระองค์ทรงชนะมองโกเลียใน เกาหลี และครอบครองพื้นที่ลุ่มแม่น้ำอาร์มู หรือมณฑลเฮหลงเจียงในปัจจุบัน
ในสมัยพระเจ้าหมิงซือจง (???) แห่งราชวงศ์หมิง เกิดเหตุการณ์สำคัญหลายครั้ง ได้แก่ การผนวกที่ดิน การเก็บภาษีเบ็ดเตล็ด ความไม่พอใจของทหาร และภัยแล้งครั้งใหญ่ ทั้งหมดทำให้ประชาชนและทหารไม่พอใจราชวงศ์หมิงอย่างมาก และรวมตัวเป็นกลุ่มย่อยก่อจลาจลในหลายพื้นที่ กินเวลาหลายปี ในที่สุดก็รวมตัวกันก่อจลาจลครั้งใหญ่ ซึ่งนำโดย หลี่จื้อเฉิง (???: L? Z?ch?ng) เข้ายึดครองกรุงปักกิ่ง ราชธานีของราชวงศ์หมิง ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2187 จนพระเจ้าหมิงซือจงต้องผูกพระศอปลงพระชนม์ตัวเองที่ต้นไม้บนเนินเขาที่มองเห็นพระราชวังต้องห้ามได้ชัด ถือเป็นจุดอวสานของราชวงศ์หมิง
หลังจากที่ยึดครองกรุงปักกิ่งแล้ว หลี่จื้อเฉิงได้นำกำลังพล 60,000 นาย บุกเผชิญหน้ากับอู๋ซานกุ้ย (???: W? S?ngu?) นายพลหมิงที่คุมกองกำลังกว่า 100,000 นาย ที่ประจำอยู่ในป้อมซานไฮ่กวาน (???/???: Sh?nh?i Gu?n) ป้อมซานไฮ่กวานเป็นประตูของกำแพงเมืองจีนผ่านไปสู่ตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงปักกิ่ง ป้อมซานไฮ่กวานถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่คอยกั้นพวกแมนจูอยู่ที่อ่าวไม่ให้เข้ามาสู่แผ่นดินจีนทางใต้ได้ นายพลอู๋จนมุมศัตรูทั้ง 2 ทาง ทั้งกลุ่มกบฏและกองทัพแมนจู จึงตัดสินใจที่จะสวามิภักดิ์ต่อองค์ชายทอร์กุน ผู้สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิซุ่นจื่อ ผู้ซึ่งเป็นพระโอรสของจักรพรรดิไท่จงที่สวรรคตไปหนึ่งปีก่อนหน้านั้น ในขณะนั้นจักรพรรดิซุ่นจื่อมีพระชนมายุเพียง 6 พรรษา
วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2187 ทั้งกองทัพของนายพลอู๋และกองทัพแมนจูเข้าล้อมกลุ่มกบฏไว้ กลุ่มกบฏมีกำลังไม่เพียงพอจะรักษาเมืองไว้ได้ จึงต้องตีฝ่าวงล้อมออกไปตั้งมั่นที่อื่น ฝ่ายกองทัพนายพลอู๋ก็ปล่อยให้กลุ่มกบฏตีฝ่าไปได้เพราะอ่อนแรงหลังจากต้องต่อสู้กับกองทัพแมนจูก่อนจะสวามิภักดิ์ กองทัพแมนจูได้เข้ายึดกรุงปักกิ่งได้ในวันที่ 6 มิถุนายน ในปีเดียวกัน อย่างไรก็ดี กองทัพแมนจูยังต้องใช้เวลาอีกกว่า 17 ปีเพื่อปรามปราบกลุ่มผู้ภักดีต่อราชวงศ์หมิง ผู้แสร้งทำภักดีต่อชิง และกลุ่มกบฏทั้งหลาย ผู้แสร้งภักดีต่อชิงคนสุดท้ายคือ องค์ชายกุย (??) ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ของราชวงศ์หมิง และหลบหนีอยู่ในพม่า นายพลอู๋ได้เดินทางไปนำตัวขึ้นมาและประหารชีวิตที่มณฑลยูนนานใน พ.ศ. 2205
สิ่งที่เราน่าจะรู้จักกันดีคือ ผมเปียของชาวแมนจู จักรพรรดิชิงทรงออกกฎบังคับให้ชาวฮั่นทุกคนต้องไว้ผมเปียและสวมเสื้อผ้าอย่างชาวแมนจู เพื่อเป็นการแสดงความเคารพและภักดีต่อราชวงศ์ชิง ชายชาวฮั่นทุกคนต้องโกนผมครึ่งศีรษะและหนวดเครา และผูกผมด้านท้ายเป็นหางเปียยาว กฎนี้ขัดแย้งกับประเพณีปฏิบัติเดิมของชาวฮั่นที่ห้ามตัดผม ชาวจีนทั่วประเทศต้องปฏิบัติตามโดยไม่มีทางเลือก มิฉะนั้นจะถูกตัดหัว กว่า 258 ปีที่ราชวงศ์ชิงครองประเทศ ชาวจีนได้ก่อกบฏขึ้นหลายครั้งเนื่องจากกฎดังกล่าวนี้
เนื่องจากต้นราชวงศ์มีกบฏเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากทำให้ราชวงศ์ชิงต้องร่วมมือกับขุนนางราชวงศ์หมิงที่ทรยศชาติปราบกบฏหมิงใต้ หลังจากกบฏหมิงใต้สิ้นสุดเมื่อปี 1662 ปี 1673 เกิดกบฏสามเจ้าศักดินา ราชวงศ์ชิงใช้เวลาปราบกบฏทางใต้ 8 ปี 1673-1681
พุทธศตวรรษที่ 23 ในต้นราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นยุคที่ทางราชวงศ์ต้องผจญกับขบวนการกู้หมิงต้านชิง ของชาวฮั่นทั้งหลายที่โกรธแค้นที่ชนต่างเชื้อสายมาเป็นใหญ่ประเทศจีน ดังนั้นในสมัยของ จักรพรรดิคังซี, จักรพรรดิหย่งเจิ้ง และจักรพรรดิเฉียนหลง จึงต้องใช้ทั้งนโยบายประนีประนอมเพื่อให้อยู่กับชาวฮั่นได้อย่างเป็นสุข และนโยบายแข็งกร้าวเพื่อควบคุมชาวฮั่นไว้ไม่ให้คิดต่อต้าน ซึ่งนโยบายเหล่านี้กลายเป็นแนวปฏิบัติของจักรพรรดิองค์ต่อๆ มา เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับอำนาจรัฐ
ในประวัติศาสตร์จีนได้ปรากฏว่ามีชนกลุ่มน้อยขึ้นตั้งราชวงศ์ปกครองแผ่นดินจีน 2 ราชวงศ์ นั่นคือ ราชวงศ์หยวนของเผ่ามองโกล และราชวงศ์ชิงของเผ่าแมนจู ราชวงศ์หยวนถึงแม้จะเก่งกาจ มีกำลังทหารและอาวุธที่น่าเกรงขาม แต่ไม่มีความรู้ด้านการปกครอง จึงปกครองแผ่นดินจีนได้เพียงแค่ 90 ปีเศษก็ล่มสลายไป ส่วนราชวงศ์ชิงใช้นโยบายประนีประนอมและแข็งกร้าวได้อย่างแยบยล จึงประสบความสำเร็จทั้งทางด้านการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ และสังคม จนสามารถปกครองแผ่นดินจีนได้นานถึง 260 ปี
นโยบายประนีประนอมถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการผูกมิตรเอาอกเอาใจชาวฮั่นซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่ราชวงศ์ชิงเข้าปกครองแผ่นดินจีนใหม่ๆ เพื่อสร้างบารมีให้กับราชวงศ์ชิง และขจัดความคิดต่อต้านแมนจู โดยนโยบายสำคัญๆ มีดังนี้
ในขณะเดียวกัน ราชวงศ์ชิงก็ดำเนินนโยบายแข็งกร้าวเพื่อสยบชาวฮั่นที่คิดจะต่อต้านไว้ด้วย โดยนโยบายสำคัญมีดังนี้
หลังจากเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในช่วงต้นราชวงศ์ สภาพทั่วไปในพุทธศตวรรษที่ 24 ราชวงศ์ชิงเริ่มอ่อนแอและความเจริญรุ่งเรืองลดลง เนื่องจากประเทศจีนประสบปัญหาความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงของกลุ่มคนในวงการต่างๆ โดยเฉพาะด้านการเมืองที่มีขุนนางฉ้อราษฎร์บังหลวง เศรษฐกิจหยุดนิ่ง เพราะจักรพรรดิเฉียนหลง กษัตริย์เจ้าสำราญโปรดความหรูหราฟุ่มเฟือยและทำสงครามบ่อยครั้ง เงินท้องพระคลังขัดสน และจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนที่ทำกิน จะเห็นได้ว่าราชวงศ์ชิงมีปัญหาความกดดันภายในประเทศที่สะสมมานาน ประกอบกับความกดดันภายนอกจากชาติมหาอำนาจในยุคล่าอาณานิคม ที่ราชวงศ์ชิงไม่อาจทานได้เพราะระบบการปกครอง และเศรษฐกิจที่ล้าสมัย
หลังจากพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่น รัฐบาลชิงต้องเสียดินแดนและชำระค่าฝิ่นกับค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวนสูง จึงขูดรีดภาษีจากประชาชน การคลังขาดแคลน ประชาชนอดอยาก สังคมเริ่มวุ่นวาย ไร้ความสงบสุข ประชาชนเริ่มรวมตัวต่อต้านอำนาจรัฐกลายเป็นกบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว โดยมีผู้นำคือ หงซิ่วฉวน เป็นชาวอำเภอฮัวเซี่ยน มณฑลกวางตุ้ง ซึ่งได้รับอิทธิพลของคริสต์ศาสนา จึงร่วมกับ เฝิงอวิ๋นซาน ก่อตั้งสมาคมนับถือพระเจ้าที่มณฑลก่วงซี แล้วกลายสภาพเป็นกบฏไท่ผิงเทียนกั๋วในเวลาต่อมาในปี ค.ศ. 1851 รัชศกเต้ากวง ปลายรัชสมัยปีที่ 30
กองทัพของหงซิ่วฉวนกับเฝิงอวิ๋นซานบุกยึดเมืองนานกิงได้ในปีค.ศ. 1853 รัชศกเสียนฟง ปีที่ 3 ขณะนั้นกองทัพมีกำลังพลนับล้านกว่าคน หลังจากได้ชัยชนะในหลายสมรภูมิช่วงท้ายของกบฏไท่ผิงเทียนกั๋ว ผู้นำทั้งสองเกิดความขัดแย้งกันเองด้วยการแยกตัวเป็นอิสระ การลอบสังหารกันด้วยความระแวงใจ ทำให้กองทัพกบฏเริ่มอ่อนแอลง กอปรกับราชสำนักชิงขอร้องกองทัพอังกฤษซึ่งมีอาวุธทันสมัยและทหารแข็งแกร่งให้ช่วยกวาดล้างกบฏแลกกับผลประโยชน์ที่เสนอให้อังกฤษ ฝ่ายกบฏเริ่มสูญเสียที่มั่นไปจนถึงปลายปีค.ศ. 1863 รัชศกถงจื้อ ปีที่ 2 ทหารชิงและทหารต่างชาติล้อมเมืองเทียนจิงได้ ปีถัดมาเมืองนั้นเกิดสภาพอดอยาก หงซิ่วฉวนฆ่าตัวตาย เมืองเทียนจิงแตก จึงถือเป็นการปิดฉากกบฏไท่ผิงเทียนกั๋วลง แต่จิตวิญญาณต่อต้านราชวงศ์ชิงยังฝังแน่นในหัวใจของชาวฮั่นซึ่งส่งผลสืบเนื่องให้เกิดการปฏิวัติต่อต้านแมนจูในเวลาข้างหน้าอีก
หลังการปฏิรูปเมจิในญี่ปุ่นช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นเริ่มขยายอำนาจออกนอกประเทศ โดยมีเป้าหมายที่แผ่นดินจีนอันกว้างใหญ่ ด้วยการนำกองทัพบุกยึดครองเกาหลีซึ่งเป็นประเทศราชของจีนเพื่อหวังเป็นเส้นทางเข้าสู่จีน ปี พ.ศ. 2437 (ค.ศ. 1894) รัชศกกวงซี่ ปีที่ 20 เกาหลีเกิดจลาจลกลุ่มภูมิปัญญาตะวันออก (ตงเสวียตั่ง) ขึ้น จึงร้องขอให้จีนช่วยเหลือ จีนส่งกองทัพไปตามคำขอ ส่วนญี่ปุ่นส่งกองทัพเรือไปยึดครองเกาหลีและโจมตีทหารจีนอันเป็นการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ กองทหารชิงพ่ายแพ้ ญี่ปุ่นยังรุกต่อเนื่องทำให้ราชสำนักชิงหวั่นเกรงความเข้มแข็งของกองทัพญี่ปุ่น จึงรีบขอเจรจาสงบศึกก่อน ในปีค.ศ. 1895 จึงทำสนธิสัญญา ชิโมโนเซกิ ระหว่างขุนนางหลี่หงจาง กับ ผู้นำญี่ปุ่นชื่อ นายอิโต อิโรบูมิ ความสูญเสียของจีนคือ ยกเกาหลี ไต้หวัน คาบสมุทรเหลียวตง ให้ญี่ปุ่น ใช้เงินค่าปฏิกรรมสงครามนับสองร้อยล้านตำลึง อนุญาตให้ตั้งโรงงานตามเมืองท่าของจีนได้
ผลจากสนธิสัญญานี้บางส่วนไปกระทบต่อความมั่นคงของรัสเซียซึ่งมีดินแดนบางส่วนติดกับจีนที่บริเวณคาบสมุทรเหลียวตง รัสเซียร่วมกับฝรั่งเศส เยอรมัน ทำการคัดค้านการยึดครองดินแดนผืนนั้นอย่างหนักหน่วง ญี่ปุ่นจำใจคืนคาบสมุทรเหลียวตงให้จีน โดยแลกกับเงินแท่งหลายล้านตำลึง การต้องใช้จ่ายเงินจำนวนสูงมากในหลายกรณีโดยราชสำนักชิง ทำให้ประชาชนเดือดร้อนหนักจากการรีดภาษี ความยากแค้นแผ่ขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ แรงคับแค้นใจถูกเก็บอัดแน่นมากขึ้นในหมู่ประชาชน
หลังการพ่ายแพ้สงครามต่อฝรั่งเศสและญี่ปุ่น รัชศกกวางสู์ ปีที่ 23 เยอรมันใช้กำลังยึดครองอ่าวเจียวโจว คังโหย่วเหวย ถานซือถง เสนอหลักเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบใหม่เพื่อความเข้มแข็งของชาติ ซึ่งเรียกกันว่า “แผนปฏิรูป อู๋ซีว์” โดยเน้นการผลิตบัณฑิตสมัยใหม่ เปิดกว้างการวิพากษ วิเคราะห์ พัฒนากิจการใหม่ๆที่ส่งผลต่อความเข้มแข็งของชาติ และความอิ่มท้องของชาวบ้าน ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากพระเจ้ากวางสู์ ซึ่งต้องการใช้แผนปฏิรูปนี้ยึดคืนอำนาจจากพระนางซูสีไทเฮา ข้าราชสำนักส่วนใหญ่เกิดความระแวงใจว่าแผนดังกล่าวมาจากบัณฑิตชาวฮั่น จึงร่วมมือกับพระนางซูสีทำรัฐประหาร กักขังพระเจ้ากวางสู จับถานซื่อถงกับพวกนักปฏิรูป รวมทั้งลงโทษขุนนางที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สั่งยกเลิกแผนปฏิรูปทั้งหมด เรียกว่า รัฐประหาร อู้ซีว์ ส่วนคังโหย่วเหวยกับเหลียงฉี่เชาหลบหนีไปนอกประเทศได้
หลังการปฏิรูปชาติล้มเหลว ราษฎรเริ่มตระหนักใจว่าหากไม่ล้มล้างรัฐบาลชิงซึ่งไร้ความสามารถ ราชสำนักชิงภายใต้อำนาจของพระนางซูสีเหลวแหลกและเป็นอุปสรรคในการปฏิรูปไปสู่ความเข้มแข็งของชาติ คนจำนวนมากจึงเข้าร่วมขบวนการปฏิวัติของดร.ซุนยัดเซน ในเวลาต่อไป
ตอนปลายราชวงศ์ชิงการรุกรานของต่างชาติทั้งด้านกองทหารและศาสนาคริสต์สร้างความไม่พอใจแก่ราษฎรอันเกิดจากความไม่เท่าเทียมกันที่ราชสำนักกลัวเกรงต่างชาติโดยไม่คุ้มครองชาวบ้านที่ถูกรังแกเหยียดหยาม จึงสั่งสมความแค้นกลายเป็นพลังต่อต้านต่างชาติอย่างเร็ว กอปรกับภัยพิบัติของแม่น้ำฮวงโหแล้งติดต่อกันหลายปี ทำให้เกิดความยากแค้นจึงมีกลุ่มความเชื่อลัทธิต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มอี้เหอถวนในมณฑลซานตุงกับเหอเป่ย ซึ่งนอกจากสอนมวยแล้ว ยังฝังความเชื่อเกี่ยวกับเวทมนตร์ให้ชาวบ้านด้วยพร้อมกับแนวคิดสนับสนุนราชวงศ์ชิง กำจัดต่างชาติ ทำให้มีผู้ร่วมกลุ่มเพิ่มทวีขึ้น นอกจากนั้นราชสำนักชิงโดยพระนางซูสีต้องการใช้กลุ่มนี้ต่อต้านต่างชาติซึ่งคัดค้านพระนางกักขังพระเจ้ากวางสู กลุ่มนี้จึงกลายเป็นเครื่องมือทำลายต่างชาติของและได้รับการสนับสนุนจากพระนางซูสีซึ่งคอยบงการอยู่เบื้องหลัง อันสร้างความไม่พอใจแก่ชาวต่างชาติอย่างมาก
ปี พ.ศ. 2443 (ค.ศ. 1900) รัชศก กวางสู์ ปีที่ 26 พระนางซูสีไทเฮาสั่งกลุ่มอี้เหอถวนโจมตีเขตสถานทูตของต่างชาติในปักกิ่ง ทำให้ชาติต่างๆ ซึ่งได้รับความเสียหายรวมตัวกันเป็นกองทัพพันธมิตรแปดชาติตอบโต้จีน ทหารชิงแตกพ่าย ทหารพันธมิตรบุกเข้ากรุงปักกิ่งและยึดพระราชวังต้องห้ามไว้ พระนางซูสีพาพระเจ้ากวางสูลี้ภัยหนีไปเมืองซีอาน ส่วนกองทัพพันธมิตรปล้นสะดมวังต้องห้ามและบ้านเรือนของชาวบ้าน อันสร้างความเสียหายอย่างมากทั้งสถานที่หรือสมบัติมีค่าของจีน ปีต่อมาราชสำนักชิงส่งตัวแทนเจรจาสันติภาพโดยยอมใช้ค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนสูงมาก ยอมให้ต่างชาติตั้งกองทหารในเขตที่ต้องการอันเป็นจุดยุทธศาสตร์ของชาติ รวมทั้งกำหนดขอบเขตที่ห้ามคนจีนเข้าไปทั้งที่เป็นดินแดนจีน การสูญเสียอธิปไตยเพิ่มเติมจากสัญญาต่างๆที่เคยทำไว้โดยมาจากความอ่อนแอของราชสำนักชิงสร้างความคับแค้นใจแก่คนจีนซึ่งเชื่อมั่นมากขึ้นว่า ชาติจะรอดพ้นภัยพิบัติได้ด้วยการล้มล้างราชวงศ์ชิงเท่านั้น แนวคิดนี้ลุกลามไปทั่วแผ่นดิน ขบวนการปฏิวัติจึงรวมตัวและเคลื่อนไหวเข้มข้นมากขึ้น อันสั่นคลอนต่ออำนาจของพระนางซูสีไทเฮาและราชสำนักชิงในเงื้อมเงาของพระนางหนักขึ้นทุกขณะ
ช่วงปลายลมหายใจของพระนางซูสีไทเฮา ฝ่ายต่อต้านราชสำนักชิงมีพลังมากขึ้นและแยกเป็นสองฝ่าย คือ ฝ่ายสนับสนุนให้มีรัฐธรรมนูญโดยยังมีฮ่องเต้ของคังโหย่วเหวย กับ ฝ่ายล้มล้างราชวงศ์ชิงของดร.ซุนยัดเซน เพื่อเป็นการลดความร้อนแรงของประชาชน ราชสำนักชิงเลือกจะร่างรัฐธรรมนูญตามที่ประชาชนต้องการ ทำให้ฝ่ายล้มล้างราชวงศ์ชิงไม่เป็นที่สนใจเพราะความหวังใหม่ในท่าทีอ่อนลงของราชสำนัก พระนางซูสีไทเฮาคัดเลือกรัชทายาทใหม่และถือเป็นคนสุดท้ายของราชวงศ์ชิงก่อนสิ้นลมหายใจ คือ จักรพรรดิผู่อี๋หรือผู่อี๋ ตอนนั้นมีพระชนมายุไม่ถึง 3 ขวบ และเปลี่ยนเป็นรัชศกเซียนถ่ง โดยมีพระบิดา คือ เจ้าชายฉุน (ไจ้เฟิง) เป็นผู้สำเร็จราชการบริหารแผ่นดินแทน พระบิดาร่างรัฐธรรมนูญต่อไปเมื่อประกาศใช้ในแผ่นดินกลับสร้างความผิดหวังแก่ประชาชนอย่างมาก เมื่อกำหนดให้กลุ่มผู้บริหารประเทศเป็นเชื้อพระวงศ์ชิงส่วนใหญ่ คนจีนตระหนักใจแล้วว่าความหวังเดียวของชาติ คือ ต้องใช้กำลังล้มล้างราชวงศ์ชิงเท่านั้น ฝ่ายที่เคยเรียกร้องรัฐธรรมนูญของคังโหย่วเหวยผันตัวเองไปสนับสนุนกลุ่มดร.ซุนยัดเซนมากขึ้น หลังจากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับของราชสำนักชิงแล้ว ประชาชนเปลี่ยนไปเข้าร่วมแนวคิดของดร.ซุนยัดเซนเพิ่มทวีขึ้นและถือว่าทรงอิทธิพลมาก ชะตากรรมของราชสำนักชิงเข้าสู่จุดวิกฤติ
ในช่วงต้นของพุทธศตวรรษที่ 25 ประชาชนเริ่มรวมกลุ่มกันประท้วงมากขึ้นและขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ทั้งพระนางซูสีไทเฮาและจักรพรรดิกวางสูสวรรคตใน พ.ศ. 2451 ทิ้งให้สมาชิกราชวงศ์ที่ไร้บารมีและสถานภาพทางการเมืองไม่แน่นอนยังอยู่ในพระราชวังต้องห้าม ผู่อี๋ โอรสขององค์ชายชุนที่ 2 ได้รับการอภิเษกให้เป็นจักรพรรดิองค์ต่อไปตั้งแต่พระชนมายุเพียง 2 ชันษา โดยให้พระราชบิดาเป็นผู้สำเร็จราชการแทน ต่อมา นายพลหยวน ซื่อไข่ ถูกปลดออกจากตำแหน่งทางทหาร ในกลางปี พ.ศ. 2454 องค์ชายชุนที่ 2 ทรงตั้งคณะรัฐมนตรีหลวง โดยสมาชิกเกือบทั้งหมดเป็นพระญาติสกุลอ้ายซินเจว๋หลัว มีหน้าที่บริหารประเทศจีนในเรื่องทั่วไป การตั้งคณะรัฐมนตรีหลวงครั้งนี้ได้สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งให้กับข้าราชการชั้นสูงทั้งหลาย ซึ่งรวมทั้ง จางจื่อตง ด้วย
ในวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2454 ได้เกิดจลาจลอู่จางขึ้น และต่อมา นายพลซุน ยัดเซ็น ได้ประกาศก่อตั้งรัฐบาลของตนขึ้นใหม่ ในนามสาธารณรัฐจีน ที่เมืองนานกิง หัวเมืองหลายแห่งเริ่มตีตัวแยกจากรัฐบาลราชวงศ์ชิง เมื่อสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจเช่นนี้ รัฐบาลราชวงศ์ชิงจึงเรียกตัวนายพลหยวน ซื่อไข่รู้สึกไม่พอใจราชวงศ์อยู่แล้วกลับเข้ามาควบคุมกองทัพเป่ยหยาง เพื่อปราบปรามกลุ่มผู้แข็งข้อทั้งหลาย หลังจากที่ได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลของตนแล้ว นายพลหยวนก็ได้เรียกร้องให้องค์ชายชุนลงจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการ โดยเรียกร้องครั้งนี้ได้รับคำแนะนำจาก สมเด็จพระพันปีหลวงหรงยู่
หลังจากองค์ชายชุนออกจากตำแหน่งแล้ว หยวน ซื่อไข่และนายพลจากกองทัพเป่ยหยางก็ครอบงำราชวงศ์ชิงได้สำเร็จ ประเทศจีนในครั้งนั้นก็มี รัฐบาล 2 ฝ่าย รัฐบาลหยวน ซื่อไข่ปฏิเสธการทำสงครามกับรัฐบาลสาธารณรัฐของซุน ยัดเซ็น โดยให้เหตุผลว่าเสียค่าใช้จ่ายสูงและไม่มีเหตุผล คำเรียกร้องของราชวงศ์ชิงคืออยากให้ประเทศจีนปกครองระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และซุนยัดเซ็นอยากให้ประเทศปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐ หลังจากที่ได้รับการอนุญาตจากหลงหยูไทเฮาแล้ว นายพลหยวนก็ได้เปิดการเจรจากับซุนยัดเซ็น โดยที่ซุนยัดเซ็นมีเป้าหมายว่าถ้าก่อตั้งสาธารณรัฐจีนสำเร็จแล้ว อาจจะให้นายพลหยวนขึ้นเป็นประธานาธิบดี ใน พ.ศ. 2455 หลังจากการเจรจา หลงหยูไทเฮาก็ได้ออกพระราชเสาวนีย์ประกาศให้จักรพรรดิผู่อี๋ผู้เป็นพระโอรสบุญธรรมสละราชบัลลังก์
การล่มสลายของราชวงศ์ชิงใน พ.ศ. 2454 ถือเป็นการสิ้นสุดของประวัติศาสตร์การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในจีนที่มีมายาวนานกว่า 2,000 ปี