เมื่อราชวงศ์ซินสิ้นสุดอำนาจ หลิวซิ่ว ซึ่งเป็นราชนิกุลในราชวงศ์ฮั่นตะวันตกและเป็นผู้นำกองทัพชงหลิงโค่นล้มราชวงศ์ซินเริ่มฟื้นฟูราชวงศ์ใหม่โดยตั้งเมืองหลวงที่ เมืองลั่วหยัง แล้วสถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าฮั่นกวงอู่ นักประวัติศาสตร์เรียกช่วงเวลาปกครองนี้ว่า อาณาจักรฮั่นตะวันออก ช่วงต้นราชวงศ์มีการฟื้นฟูบูรณะเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ของราษฎร ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ของบ้านเมือง เชิดชูหลักคำสอนของลัทธิขงจื๊อซึ่งเน้นคุณธรรมอันส่งผลให้เกิดกระแสที่ปัญญาชนกล้าวิจารณ์ราชสำนักเพิ่มขึ้น ราชวงศ์ฮั่นตะวันออกสามารถครองแผ่นดินจีนต่อเนื่องกันนาน 200 ปี ท่ามกลางความวุ่นวายของสังคมและการแย่งชิงอำนาจระหว่างพระญาติวงศ์และขันทีอย่างดุเดือด
หลายครั้งที่จักรพรรดิสิ้นพระชนม์กะทันหัน รัชทายาทผู้เยาว์วัยต้องขึ้นครองราชย์ด้วยพระชนมายุน้อย จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งอาจเป็นพระราชชนนีหรือพระญาติวงศ์ การบริหารงานแทนจักรพรรดิทำให้บุคคลเหล่านี้ถือโอกาสกำจัดผู้ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายตนเพื่อเสริมสร้างอำนาจให้เข้มแข็งขึ้น ครั้นจักรพรรดิน้อยเติบโตเป็นผู้ใหญ่กลับไม่ยินดีจะคืนพระราชอำนาจ พระองค์จึงต้องวางแผนชิงอำนาจคืนมาโดยอาศัยพวกขันทีสังหารพระญาติผู้เป็นต้นเหตุ ความช่วยเหลือของฝ่ายขันทีสร้างอำนาจครอบงำจักรพรรดิและราชสำนักแทนกลุ่มเดิมในท้ายที่สุด การแย่งชิงอำนาจและชัยชนะของฝ่ายใดก็ตามส่งผลปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ตามปกติของข้าราชการ บ้านเมืองตกอยู่ในบรรยากาศของความหวาดระแวงกันและระส่ำระสายหนักขึ้น อันกลายเป็นสาเหตุหนึ่งในการล่มสลายของราชวงศ์นี้
ช่วงกลางของราชวงศ์ฮั่นตะวันออกซึ่งขันทีครองอำนาจในแผ่นดินและครอบงำจักรพรรดิไว้ บรรดาปัญญาชนซึ่งถือเป็นบัณฑิตผู้รู้หนังสือต่างวิจารณ์อิทธิพลของเหล่าขันทีซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน บ้านเมืองปั่นป่วน บัณฑิตบางคนร่วมมือกับขุนนางในราชสำนักก่อกบฏ ดังเช่น หลี่อิงและเฉินฝาน บัณฑิตสมัยพระเจ้าฮั่นหวนตี้ หรือ โต้วอู่ พระญาติพระวงศ์ซึ่งไม่พอใจพวกขันทีในสมัยพระเจ้าฮั่นหลิงเต้ เป็นต้น
บรรดาขันทีสามารถสยบกลุ่มต่อต้านได้ จึงเหิมเกริมและผยองใจมากขึ้น การกุมอำนาจในราชสำนัก การเชื่อฟังของจักรพรรดิ สร้างความระส่ำระสายในสังคม ราษฎรไม่พอใจการบริหารตามอำเภอใจของเหล่าขันที แรงบีบคั้นต่างๆ กระตุ้นให้ประชาชนลุกขึ้นต่อต้านผู้ปกครอง กลายเป็นกบฏประชาชน ราชสำนักจึงเพิ่มอำนาจให้ขุนนางท้องถิ่นเพื่อรับมือกับกบฏ ทำให้พวกขุนนางเหล่านั้นมีกำลังทหารเป็นของตนเอง จึงฉวยโอกาสนี้สร้างอำนาจและเพิ่มกำลังคนจนกลายเป็นขุนศึกแล้วแบ่งแยกดินแดนออกเป็นเอกเทศ ต่งจัว (ตั๋งโต๊ะ) ถือเป็นขุนศึกรุ่นแรกที่มีบทบาทโดดเด่นของยุคนี้
เมื่อพระเจ้าฮั่นเซ่าตี้ขึ้นครองราชย์แล้ว อำมาตย์หยวนเซ่า (อ้วนเสี้ยว) เริ่มกำจัดขันทีกว่า 2000 คน อันเป็นการกวาดล้างอิทธิพลของขันทีทั้งหมด ต่อมาต่งจัว (ตั๋งโต๊ะ) นำกองทหารบุกโจมตีลั่วหยางและปลงพระชนม์พระเจ้าฮั่นเซ่าตี้ แล้วยก พระเจ้าฮั่นเซี่ยนตี้ (เหี้ยนเต้) ขึ้นครองราชย์แทน พร้อมกับบีบให้หยวนเซ่าออกจากเมืองหลวง ไม่นานหยวนเซ่ากับพันธมิตรยกทัพมาตีต่งจัว เขาจึงพาจักรพรรดิลี้ภัยไปฉางอาน (เตียงอัน) ต่อมา หลี่ปู้ (ลิโป้) กับพวก วางแผนลอบสังหารต่งจัวสำเร็จ จักรพรรดิจึงเดินทางกลับลั่วหยัง (ลกเอี๋ยง) แต่ถูกนายทัพเฉาเชา (โจโฉ) ย้ายพระองค์ไปอยู่ที่เมืองสี่ชาง (ฮูโต๋) ตั้งแต่บัดนั้นมาเฉาเชาจึงควบคุมและใช้อำนาจบริหารบ้านเมืองในนามจักรพรรดิ ถือเป็นผู้ครองอำนาจสูงสุดแท้จริง ปี ค.ศ. 220 เฉาเชาเสียชีวิตลง บุตรชายของเขา คือ เฉาพี (โจผี) ขึ้นสืบทอดตำแหน่งแทน แล้วถอดถอนพระเจ้าฮั่นเซี่ยนตี้ สถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิ ราชวงศ์ฮั่นตะวันออกจึงล่มสลายอย่างสมบูรณ์