ราชวงศ์ฮั่นสถาปนาโดยหลิวปังหรือจักรพรรดิฮั่นเกาจู่ ซึ่งถือเป็นจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่องค์ที่ 2 ของชนชาติจีนที่สามารถรวมประเทศจีนเป็นปึกแผ่นอีกครั้งหนึ่ง ราชวงศ์ฮั่นแบ่งเป็น 2 ช่วง ราชวงศ์ฮั่นตอนต้นมีเมืองหลวงตั้งอยู่ที่นครฉางอันจึงได้รับการขนานนามว่าฮั่นตะวันตก เมื่อถึงสมัยราชวงศ์ฮั่นตอนปลายได้ย้ายเมืองหลวงมายังนครลั่วหยังเรียกว่าฮั่นตะวันออก
หลิวปังผู้ก่อตั้งราชวงศ์ฮั่นนั้น แต่เดิมเป็นเพียงชนชั้นขุนนางผู้น้อย เมื่อฉินสื่อหวงตี้หรือจิ๋นซีฮ่องเต้ในราชวงศ์ฉินสิ้นพระชนม์ลง อำนาจของราชวงศ์ฉินเริ่มคลอนแคลน มีการลุกฮือขึ้นก่อการจากกบฏชาวนาและบรรดาเชื้อสายเจ้าผู้ครองแคว้นเดิม มีการตั้งตัวเป็นใหญ่ในทุกหัวระแหง หลิวปังก็เป็นกลุ่มหนึ่งที่เพาะสร้างอำนาจขึ้นจากขุมกำลังเล็ก ๆ ต่อมาได้กรีฑาทัพเข้านครเสียนหยาง อยู่ใกล้กับเมืองซีอานในปัจจุบัน ปิดฉากยุคสมัยของราชวงศ์ฉิน และส่งมอบนครเสียนหยางให้กับเซี่ยงอี่ว์หรือฌ้อปาอ๋องซึ่งมีฐานอำนาจอยู่ในแคว้นฉู่และมีขุมกำลังเข้มแข็งที่สุดในขณะนั้น หลิวปังจึงได้รับการอวยยศขึ้นเป็นฮั่นจงอ๋อง หลังจากสะสมกำลังพลกล้าแกร่งขึ้น จึงเปิดศึกแย่งชิงบัลลังก์กับเซี่ยงหวี่ การศึกครั้งนั้นได้รับการขนานนามว่า สงครามฉู่ฮั่น กินเวลานาน 4 ปี
ปี 202 ก่อนคริสต์ศักราช หลิวปังได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด ก้าวขึ้นสู่บัลลังก์จักรพรรดิ สถาปนาราชวงศ์ฮั่นระบบบริหารการปกครองของราชวงศ์ฮั่นโดยรวมแล้วยังคงยึดรูปแบบเช่นเดียวกับราชวงศ์ฉิน แต่เนื่องจากราชวงศ์ฉินที่ปกครองอย่างเข้มงวดเป็นเหตุให้ล่มสลายอย่างรวดเร็ว ฮั่นเกาจู่ จึงประกาศยกเลิกกฎหมายที่ทารุณโหดร้ายบางส่วน อีกทั้งดำเนินนโยบายที่เป็นมิตรต่อประชาชน เช่น ลดการเก็บภาษีอากรและการเกณฑ์แรงงาน ปลดปล่อยกำลังทหารและประชาชนสู่บ้านเกิดของตน จัดสรรที่ดินทำกินให้กับบรรดาทหารที่ร่วมรบชนะศึกสงคราม อีกทั้งพระราชทานรางวัลเป็นเสบียงอาหารและตำแหน่งทางราชการ นอกจากนี้ ยังเข้าควบคุมพ่อค้าที่ร่ำรวย ไม่ให้ฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า ผืนดินที่ทำการเพาะปลูกได้รับการทำนุบำรุงอีกครั้ง เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้สภาพสังคมได้มีเวลาในการฟื้นฟูและจัดระเบียบใหม่ และกลับสู่ความสงบสุขที่เคยเป็นจวบจนรัชสมัยของเหวินตี้ และจิ่งตี้ ในอีกกว่า 60 ปีให้หลัง ก็ยังคงให้ความสำคัญกับเกษตรกรรม มีการจัดเก็บภาษีแต่น้อยและเกณฑ์แรงงานต่ำ สภาพเศรษฐกิจและสังคมได้รับการเยียวยาจนกระทั่งเริ่มมีความเจริญรุดหน้า ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเกลือ ธุรกิจเหล็กกล้า งานหัตถกรรม และการค้าขายต่างก็ขยับขยายเติบโตขึ้น
เนื่องจากในช่วงต้นราชวงศ์ฮั่นได้มีการปูนบำเหน็จให้กับบรรดาขุนนางและเจ้านายเชื้อพระวงศ์จำนวนมาก ดังนั้นอำนาจของเจ้านายเหล่านี้จึงนับวันจะแกร่งกล้าขึ้น ในรัชสมัยจิ่งตี้จึงเกิดเหตุการณ์ ‘กบฏ7แคว้น’ขึ้น หลังจากกบฏถูกปราบราบคาบลง อิทธิพลอำนาจของเหล่าขุนนางก็อ่อนโทรมลง อำนาจจากส่วนกลางเข้มแข็งขึ้น
รัชสมัยอู่ตี้ (ระยะเวลาครองราชย์ 54 ปี ถือเป็นกษัตริย์ชาวฮั่นที่ครองบัลลังก์ยาวนานที่สุดของจีน) จึงถือเป็นยุคทองของฮั่นตะวันตก เศรษฐกิจรุ่งเรือง ทรัพย์สินในทองพระคลังล้นเหลือ ในรัชสมัยอู่ตี้ มีการกำหนดเหรียญกษาปณ์ขึ้นใช้ภายในประเทศ มีข้อห้ามในการหลอมสร้างเหรียญกษาปณ์เป็นส่วนตัว ธุรกิจหลอมเหล็กกลายเป็นกิจการของรัฐ มีการตรากฎหมายการขนส่งลำเลียง วางข้อกฎหมายระเบียบใบอนุญาตต่าง ๆ ทำให้รายได้ท้องพระคลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ ฮั่นอู่ตี้จึงหันไปสนใจนโยบายต่อต่างแดน เช่น ชนเผ่าซงหนูที่คอยรบกวนอยู่ทางชายแดนภาคเหนือมาเป็นเวลานาน ฮั่นอู่ตี้ก็ได้ยกทัพออกปราบถึง 3 ครั้งครา ขับไล่ชนเผ่าซงหนูให้ถอยร่นกลับเข้าไปยังดินแดนทะเลทรายทางตอนเหนือ นำสันติสุขมายังดินแดนชายขอบตะวันตกของจีน อีกทั้งยังบุกเบิกพื้นที่ทำไร่นาในแถบดินแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือ ซ่อมแซมกำแพงเมืองจีน จัดตั้งระบบไฟสัญญาณแจ้งเหตุตามชายแดน และยังส่งจางเชียนไปเป็นทูตสันถวไมตรียังดินแดนตะวันตก เพื่อเปิดเส้นทางการค้าออกไปยังดินแดนเอเชียกลาง อันเป็นที่รู้จักกันในนามของ ‘เส้นทางสายไหม’
รัชสมัยของเจาตี้ และเซวียนตี้ นั้น แม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะยังคงก้าวไปข้างหน้า ทว่า กลับแฝงเร้นไว้ด้วยเงามืดของการเมือง เกิดการซ่องสุมอำนาจและความพยายามในการล้มล้างฐานอำนาจเดิม ทำให้ชาวเมืองพากันหวั่นหวาดความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ส่วนนโยบายต่อชนเผ่านอกด่านคือ ซ่งหนู ได้หันมาใช้การผูกมิตรแทน โดยมีการจัดส่งองค์หญิงหรือบุตรสาวของเจ้านายชั้นสูงไปแต่งงานกับหัวหน้าเผ่านอกด่าน จนเกิดเป็นตำนานของหวังเจาจวิน
รัชสมัยฮั่นหยวนตี้ กลุ่มขุนนางที่ไม่มีเชื้อสายชนชั้นสูงมีอำนาจมากขึ้น ระบอบการปกครองล้มเหลว เกิดการขัดแย้งทางชนชั้นและการลุกฮือของกบฏชาวนาอยู่เสมอ
รัชสมัยฮั่นเฉิงตี้ กลุ่มตระกูลหวังซึ่งเป็นญาติฝ่ายพระมารดาของเฉิงตี้เข้ากุมอำนาจทางการเมืองไว้ได้ ตระกูลหวังมีพี่น้อง 4 คนและหลานชายชื่อหวังมั่ง เข้ารวบตำแหน่งหัวหน้าทางการทหารและพลาธิการไว้ได้ อีกทั้งยังร่ำรวยทรัพย์สินมหาศาลพอล่วงเข้ารัชสมัยฮั่นอัยตี้ ราชวงศ์ฮั่นตะวันตกก็ถูกกบฏชาวนาสั่นคลอนราชบัลลังก์จนแทบไม่อาจยืนหยัดต่อไปได้ หวังหมั่งนำความคิดเรื่อง ‘สืบทอดบัญชาสวรรค์’ มาใช้เพื่อการแก้ไขวิกฤตอีกครั้ง แต่ก็ต้องประสบกับความล้มเหลว เมื่อฮั่นผิงตี้ ขึ้นครองบัลลังก์ หวังหมั่งกลับมาเรืองอำนาจอีกครั้งจึงเร่งกำจัดศัตรูทางการเมืองขนานใหญ่ รวมทั้งจัดตั้งสมัครพรรคพวก หาทางซื้อใจประชาชนและปัญญาชน เพื่อสนับสนุนฐานอำนาจแห่งตน
เมื่อฮั่นผิงตี้สิ้นพระชนม์ลง หยูจื่ออิง ซึ่งยังเป็นเด็กขึ้นครองราชย์ต่อมา หวังหมั่งเห็นเป็นโอกาส จึงถอดถอนหยูจื่ออิง แล้วตั้งตนขึ้นเป็นฮ่องเต้ (ค.ศ. 8-23) นับแต่นั้น ราชวงศ์ฮั่นตะวันตกก็ถึงกาลล่มสลายราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความเจริญรุ่งเรืองที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์ชนชาติจีน เป็นยุคสมัยที่ก่อเกิดศูนย์รวมทางจิตใจของความเป็นชนชาติจีน หรือที่ต่อมาเรียกกันว่าชาวฮั่น หลังจากฉินสื่อหวงหรือจิ๋นซีฮ่องเต้ปฐมกษัตริย์จีนที่สามารถรวมแผ่นดินจีนเป็นหนึ่งแล้ว ในสมัยจั้นกว๋อ การสู้รบระหว่างแว่นแคว้นต่าง ๆ ได้ทำให้เกิดการหล่อหลอมวัฒนธรรมของชนชาติต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
เมื่อถึงสมัยฮั่นตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการปกครอง ภาษาอักษร การศึกษาวัฒนธรรม ขนบประเพณีต่างก็ได้รับการกลืนกลายเป็นหนึ่งเดียว เกิดเป็นวัฒนธรรมร่วมกันที่เรียกว่า‘วัฒนธรรมของชนชาติฮั่น’นับแต่นั้นมา ชนชาติฮั่นซึ่งมีความเจริญมากกว่า จึงมักได้รับการยอมรับให้เป็นกลุ่มผู้นำในดินแดนแถบนี้ และนี่คือผลแห่งวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์และการหลอมกลืนโดยธรรมชาติ ในภายหลังยุคสมัยฮั่นต่อมา แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองหรือราชวงศ์อีกมากมาย แต่กลุ่มผู้นำยังคงเป็นชาวฮั่นตลอดมา
นับแต่ "หวังหมั่ง" ถอดถอน "หยูจื่ออิง" ยุวกษัตริย์องค์สุดท้ายในราชวงศ์ฮั่นตะวันตก เพื่อตั้งตนเป็นใหญ่ โดยจัดระเบียบการปกครองใหม่ และก่อตั้งราชวงศ์ซิน ขึ้น แต่ความล้มเหลวของระเบียบใหม่ได้สร้างกระแสต่อต้านจากประชาชน เกิดเป็นกบฏชาวนาในพื้นที่ต่าง ๆ อาทิ กองกำลังคิ้วแดง ที่นำโดยฝานฉงจากแถบซานตง และกองกำลังลี่ว์หลิน ซึ่งนำโดยหลิวซิ่ว จากหูเป่ย เป็นต้น โดยในบรรดากองกำลังเหล่านี้ ถือว่ากองทัพของหลิวซิ่วมีกำลังกล้าแข็งที่สุด ภายหลังการศึกที่คุนหยัง ชัยชนะอย่างเด็ดขาดของกองกำลังลี่ว์หลินต่อกองทัพราชวงศ์ใหม่ ทำให้หลิวซิ่วถือเป็นโอกาสเข้ากลืนขุมกำลังติดอาวุธขนาดเล็กทางตอนเหนือ ขยายฐานกำลังไปยังเหอเป่ย ซึ่งเป็นดินแดนทางภาคเหนือของจีนในปัจจุบัน
ปีคริสต์ศักราช 25 หลิวซิ่วก็ตั้งตัวขึ้นเป็นฮ่องเต้ครองดินแดนเหอเป่ย ภายใต้สมญานามว่า ฮั่นกวงตี้ และใช้ชื่อราชวงศ์ฮั่นตามเดิม โดยทางประวัติศาสตร์ได้แบ่งยุคนี้เป็นฮั่นตะวันออก เนื่องจากนครหลวงตั้งอยู่ที่เมืองลั่วหยางภารกิจแรกของกวงอู่ตี้คือการปราบกองกำลังคิ้วแดงที่กำลังปิดล้อมเมืองฉางอัน
ปีรัชสมัยที่ 12 ของกวงตี้ ก็สามารถปราบก๊กของกงซุนซู่ในเสฉวนลงอย่างราบคาบ รวมประเทศจีนกลับมาเป็นหนึ่งเดียวกันอีกครั้ง จากนั้นตามมาด้วยประกาศปลดปล่อยแรงงานทาส ซึ่งถือเป็นการปลดปล่อยแรงงานการผลิตครั้งใหญ่ นอกจากนี้ ยังซ่อมสร้างการชลประทานทั่วประเทศ รื้อฟื้นภาคการเกษตรให้กลับมีชีวิตชีวาอีกครั้ง
รัชสมัยหมิงตี้ ก็ยกเลิกการผูกขาดการค้าเกลือและเหล็กกล้า อีกทั้งธุรกิจอื่น ๆ อาทิ ธุรกิจหลอมและหล่อทองแดง ธุรกิจผ้าไหมเป็นต้น ทำให้บ้านเมืองและการค้าขายในยุคฮั่นตะวันออกเจริญรุ่งเรืองขึ้น เมืองลั่วหยังกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าของประเทศ ส่วนศูนย์กลางทางภาคใต้ ได้แก่ เมืองหยังโจว จิงโจว อี้โจว ก็มีความเจริญในด้านธุรกิจหัตถกรรม จำนวนประชากรในเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
รัชสมัยจางตี้ และเหอตี้ ถึงกับมีการเดินทางออกไปติดต่อเชื่อมสัมพันธไมตรียังดินแดนฝั่งตะวันตก เพื่อสานต่อแนวการค้าบนเส้นทางสายไหม ขณะเดียวกัน บรรดาเจ้าที่ดินทั้งฝ่ายบุ๋นและฝ่ายบู๊ต่างก็อยู่ในช่วงสั่งสมกำลังบารมี
หลังรัชสมัยเหอตี้ บรรดาเชื้อพระวงศ์และเหล่าขุนนางชั้นสูงต่างก็มีอำนาจที่เข้มแข็งมากขึ้น มักปรากฏว่าเชื้อพระวงศ์และขุนนางผลัดกันหรือร่วมมือกันเข้ากุมอำนาจในระหว่างการผลัดแผ่นดินอยู่บ่อยครั้ง ในสี่รัชสมัยต่อมาอันได้แก่ ซุ่นตี้ ช่งตี้ จื้อตี้และเหิงตี้ กษัตริย์ทั้ง 4 มีเชื้อพระวงศ์เหลียงจี้ คอยเป็นที่ปรึกษาว่าราชการให้ถึง 20 ปี สั่งสมเงินทองทรัพย์สินกว่า 3,000 ล้าน ภายหลังยุคกลางของฮั่นตะวันออก กลุ่มครอบครัวตระกูลใหญ่เข้ากุมอำนาจทางการเมือง ทำให้เกิดสภาพเป็นขั้วการเมืองแบบผูกขาด
ยุคปลายของฮั่นตะวันออก ได้เกิดกระแสการวิพากษ์การเมืองจากกลุ่มปัญญาชนและขุนนางผู้น้อยส่วนหนึ่ง ที่ต้องการแสดงความไม่พอใจต่อระบบการเมืองการปกครองในสมัยนั้น จนเกิดวิกฤตทางการเมือง
เมื่อสิ้นรัชสมัยเหิงตี้ เหล่าขุนนางก็ยิ่งฮึกเหิมในอำนาจ ถึงกับมีการซึ้อขายตำแหน่งทางการเมืองกันอย่างเปิดเผย อำนาจบ้านเมืองล่มสลาย สังคมเต็มไปด้วยคนจรไร้ถิ่นฐาน เกิดความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้าเมื่อถึงรัชสมัยหลิงตี้ เกิดกบฏโพกผ้าเหลืองทางภาคเหนือนำโดยเตียวก๊ก เข้าล้มล้างราชวงศ์ฮั่นตะวันออก บรรดาเจ้าที่ดินที่มีกำลังกล้าแข็งต่างก็ฉกฉวยโอกาสนี้พากันตั้งตนเป็นใหญ่ ต่อสู้แย่งชิงอำนาจ จนท้ายสุดหลงเหลือเพียง 3 กลุ่มอำนาจใหญ่นั่นคือ วุ่ย สู และ อู๋ หรือที่รู้จักกันในนามของ "สามก๊ก" นั่นเอง
ในช่วงปลายราขวงศ์ฮั่นตะวันออกซึ่งเป็นช่วงสมัยยุคสามก๊ก พระเจ้าเหี้ยนเต้ทรงถูกบังคับให้สละพระราชบัลลังก์และมอบให้วุยอ๋องโจผี บุตรชายของโจโฉ แต่ว่าราชวงศ์ฮั่นยังไม่สิ้นสุดเมื่อฮันต๋งอ๋องเล่าปี่ ผู้เป็นพระเจ้าอาของพระเจ้าเหี้ยนเต้และเชื้อพระวงศ์สถาปนาตนเองขึ้นเป็นพระมหาจักรพรรดิในแดนเสฉวนเพื่อรักษาราชวงศ์ฮั่นและเชื้อสายราชตระกูลเล่าต่อไปและกอบกู้ราชวงศ์ฮั่นให้ฟิ้นคืนอีกครั้ง แต่หลังจากพระเจ้าเล่าปี่สวรรคต พระเจ้าเล่าเสี้ยนขึ้นครองราชย์ต่อแต่พระองค์กลับไม่สนใจบริหารบ้านเมือง กลับเอาเสพสุรานารีไปวันๆ แถมยังหูเบามักถูกขันทีกังฉินยุแหย่ทำให้จ๊กก๊กอ่อนแอลงและถูกวุยก๊กโจมตีจนล่มสลายลง หลังจากนั้นเวลาต่อมาสุมาเอี๋ยนได้ล้มล้างราชวงศ์วุย กลืนดินแดนเสฉวนของจ๊กก๊ก และตีง่อก๊กจนแตกเป็นเหตุให้แผ่นดีนจีนที่ได้แตกออกเป็นสามก๊กกลับมารวมกันอีกครั้งซึ่งอยู่ภายใต้การนำของราชวงศ์ใหม่คือ ราชวงศ์จิ้น อันเป็นการล่มสลายของราชวงศ์ฮั่นลงในที่สุด
ในช่วงกลางของฮั่นตะวันออก ยังมีนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงอย่าง จางเหิง ซึ่งเป็นทั้งนักคิด นักกวี และนักวิชาการ โดยเขาได้คิดประดิษฐ์เครื่องวัดตำแหน่งดวงดาวและเครื่องวัดแผ่นดินไหวที่สามารถใช้ในทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย (เครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหว จากการคิดค้นของจางเหิง สร้างขึ้นในคริสต์ศักราช 132 ถือเป็นเครื่องวัดแผ่นดินไหวเครื่องแรกของโลก) ในรัชสมัยเหอตี้ ก็ยังมีไช่หลุน ผู้ซึ่งได้ปรับปรุงกรรมวิธีการผลิตกระดาษจากพืช ซึ่งทำให้ราคากระดาษถูกลง และนิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย อันเป็นการสร้างคุณูปการต่อชาวโลกครั้งยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ องค์ความรู้ต่าง ๆ ในด้านการเกษตร การคำนวณและการแพทย์ ต่างก็ประสบความก้าวหน้าใหญ่ ศาสนาพุทธและเต๋าที่ทรงอิทธิพลล้ำลึกทางความคิด วัฒนธรรมและวิถีชีวิตในสังคมจีน ก็ล้วนเจริญรุ่งเรืองขึ้นในยุคนี้เอง
พระองค์ทรงขยายดินแดนจีนออกไปกว้างขวางจนถึงเอเชียกลางและทำสงครามขับไล่พวกซุงหนูออกไปจากภาคเหนือของจีนได้สำเร็จ ยึดครองดินแดนแมนจูเรีย เกาหลีทางตอนเหนือ ยึดครองดินแดน หนานเยียะ (กวางตุ้งและกวางสี) และเวียดนามตอนเหนือ