ราชวงศ์หลวงติ๋นมหาวงศ์
ราชวงศ์หลวงติ๋นมหาวงศ์ เป็นราชวงศ์ที่สืบเชื้อสายมาจากพญาหลวงติ๋นมหาวงศ์ ปกครองนครน่านมาตั้งแต่ พ.ศ. 2269 มาจนถึงพ.ศ. 2475มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงถือเป็นการสิ้นสุดตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครนับแต่นั้นมา พญาหลวงติ๋นมหาวงศ์นั้นเป็นเชื้อสายเจ้าในพระเจ้าศรีสองเมืองกษัตริย์แคว้นล้านนาและเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พระนาซ้ายผู้ดูแลเมืองน่านในเวลานั้นได้ขอให้ทางพม่าส่งให้มาปกครองเมืองน่าน เพราะในเวลานั้นเชื้อสายเจ้าเมืองน่านแต่เดิมนั้นไม่มีแล้วประกอบกับพญาหลวงติ๋นมหาวงศ์มีเชื้อสายเจ้าบ้านผ่านเมืองมาก่อนและตัวพระนาซ้ายไม่มีเชื้อสายเจ้าเมืองมาก่อนจึงไม่กล้าครองเมืองจึงได้เชิญพญาหลวงติ๋นมหาวงศ์มาครองเมืองน่านและมีเจ้าผู้ครองนครสืบลงมา จนกระทั่งสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เจ้าผู้ครองนครน่านได้มาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้มีมหากรุณาธิคุณทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมยกย่องเป็นเจ้าฟ้าเป็นครั้งแรกคือ"เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ"เหมือนตำแหน่งเจ้าฟ้าไทใหญ่ในพม่าและเจ้าผู้ครองนครน่านได้ถวายความจงรงภัคดีต่อราชวงศ์จักรีเรื่อยมา จวบจนกระทั่งเหตุการณ์ที่เวียงจันทน์ก่อกบฎในปี พ.ศ. 2369 เจ้าผู้ครองนครน่านมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าอนุวงศ์ เมืองน่านจึงถูกจับตาจากกรุงเทพอย่างใกล้ชิด จวบจนมาถึงสมัยเงี้ยวปล้นเมืองแพร่ เมื่อปีพ.ศ. 2445 เจ้าผู้ครองนครน่านได้ช่วยเหลือกิจการในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างดีจึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณสถาปนาขึ้นเป็นพระเจ้าประเทศราชเป็นครั้งแรกและเป็นองค์สุดท้ายในประวัติศาสตร์ล้านนา เจ้านายฝ่ายเหนือในวงศ์นี้ได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "ณ น่าน"
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/ราชวงศ์หลวงติ๋นมหาวงศ์
|